รายงานพิเศษ: ไปเรียนรู้ "คุณค่าสาละวิน" ก่อนเผชิญกับความหายนะที่ชื่อว่า "เขื่อน" (2)

 

"สาละวิน ถือเป็นกุญแจทางประวัติศาสตร์ เป็นเส้นทางทางการค้าและวัฒนธรรม และน่าจะเชื่อมโยงกับจีนและภูมิภาคนี้   ดังนั้น สาละวิน จึงถือว่าเป็นเส้นทางจราจรโบราณ แต่ถ้าหากมีการสร้างเขื่อน คาดว่าจะทำให้แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่บริเวณสาละวินได้รับผลกระทบทั้งหมด"

 

ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

                        ……………………………………………………………

 

 

เมื่อพูดถึงความสำคัญของแม่น้ำสาละวิน ในแง่ของประวัติศาสตร์และโบราณคดี นับว่ามีประเด็นที่น่าสนใจเลยทีเดียว ว่าสาละวินนั้นมีความสำคัญต่อผู้คนแม่ฮ่องสอน ต่อประเทศไทย รวมทั้งผู้คนในแถบเอเชียใต้มาก น้อยเพียงใด

 

ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 

 

ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดีในเขตพื้นที่แม่ฮ่องสอนมานาน บอกว่า การสำรวจแหล่งโบราณคดีในแถบลุ่มแม่น้ำสาละวินในเขตแม่ฮ่องสอนในครั้งนี้ เมื่อนำมาเชื่อมโยงกัน นับว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการดำรงอยู่ ระหว่างธรรมชาติ มนุษย์และสังคมได้เป็นอย่างดี

 

โดย ผศ.ดร.รัศมี ได้ยกตัวอย่างแหล่งโบราณคดีที่ขุดค้นพบในหลายพื้นที่ เช่น โบราณคดีบ้านท่าตาฝั่ง ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาริมแม่น้ำสาละวิน โดยมีการค้นพบเนินโบราณสถาน เครื่องมือหินคล้ายขวานหิน   เครื่องมือสะเก็ดหินกะเทาะ เครื่องมือโกลนหินขัดและขวานหินขัด กล้องยาสูบดินเผา และเศษภาชนะดินเผากระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งจากหลักฐาน บอกได้ว่า น่าจะอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และในยุคประวัติศาสตร์

 

"ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เศษภาชนะดินเผาที่ค้นพบ เป็นเศษภาชนะดินเผาที่มาจากแหล่งเตาบ้านเตาไห จ.ลำปาง   เศษภาชนะดินเผาที่มาจากเตาเวียงกาหลง จ.เชียงราย ซึ่งอายุของแหล่งเตาจะอยู่ในสมัยล้านนา ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22 รวมทั้งยังมีการขุดค้นพบเศษภาชนะดินเผาลายครามจีน เป็นภาชนะดินเนื้อละเอียด เขียนลายด้วยสีน้ำเงินฟ้าเป็นลายดอกไม้และใบไม้เคลือบใสทั้งด้านนอกและด้านใน ซึ่งเครื่องถ้วยจีนนี้น่าจะผลิตขึ้นในช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิงจีน ซึ่งเป็นสินค้าต่างประเทศที่พบมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย"

 

และเมื่อมาดูตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ จะสามารถมองเห็นแม่น้ำสาละวินได้ค่อนข้างกว้าง เพราะมีลักษณะเป็นคุ้งน้ำ ซึ่งผู้ที่สัญจรไปมาตามแม่น้ำ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีนั้น อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญสำหรับการติดต่อกับผู้คนที่เดินทางโดยใช้แม่น้ำสาละวินเป็นเส้นทางคมนาคม นอกจากนี้ แหล่งโบราณคดีที่ค้นพบ จะอยู่ในบริเวณที่เป็นสบน้ำ เพราะเป็นบริเวณที่ลำห้วยแม่กองคาไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน   นั่นน่าจะหมายถึงการติดต่อกับชุมชนที่อยู่อาศัยหรือที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ  

 

"จะสังเกตได้เลยว่า ตรงไหนที่มีสบน้ำ ตรงนั้นมีโบราณคดี เพราะฉะนั้น จากการค้นพบภาชนะดินเผา เราสามารถบอกได้เลยว่า ชุมชนแถบนี้มีการติดต่อสัมพันธ์แลกเปลี่ยนสินค้ากันไปมาโดยอาศัยแม่น้ำเป็นเส้นทางของการติดต่อ และน่าจะเชื่อมโยงกับจีน และภูมิภาคอินโดจีนกันมานาน โดยผ่านแม่น้ำสาละวิน

 

รศ.ดร.รัศมี ยังบอกอีกว่า จริง ๆ แล้ว แม่ฮ่องสอนนั้นร่ำรวยทางโบราณคดีมาก แต่เรายังขาดการศึกษากันอย่างจริงจัง ซึ่งยังกระจายไปทั่ว เช่น ที่ อ.ปางมะผ้า ซึ่งตนได้ออกสำรวจโบราณคดีไปตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน บริเวณถ้ำลอด หรือถ้ำผีแมน พบโลงไม้ และโครงกระดูกมนุษย์โบราณซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่ามีอายุกว่า   12,00-13,000 ปี ว่าน่าจะมีอายุมากกว่านั้น อย่างการค้นพบมนุษย์แคระ มีการสันนิษฐานกันว่า น่าจะมีอายุกว่า 35,000 ปี อย่างไรก็ตามในตอนหลังมีข้อโต้แย้งกันเยอะมาก ยังไม่จบ

 

นักวิชาการคนเดิมยังชี้ให้เห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์อีกว่า การค้นพบโครงมนุษย์โบราณในถ้ำลอดนั้น ยังมีการสำรวจพบเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์โบราณ จนชาวต่างชาติถึงระบุว่า แหล่งกสิกรรมของโลกนั้นอยู่ที่ไทย   นอกจากนั้น ยังมีการค้นพบสายพันธุ์สัตว์โบราณ เช่น ช้าง แรด ปลา ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในแถบนี้ ตามลำน้ำสาขา ไปจนถึงแม่น้ำสาละวิน ประเทศจีน ดังนั้น แม่น้ำสาละวินจึงเป็นกุญแจสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทำให้เราเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพ ทางวัฒนธรรมของผู้คนแถบนี้มากยิ่งขึ้น

 

"เมื่อเรามองในแง่ของคุณค่าทางวิชาการ สาละวินถือว่าเป็นเส้นทางจราจรโบราณทางประวัติศาสตร์ และหากมีการสร้างเขื่อน คาดว่าจะทำให้แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่บริเวณสาละวินได้รับผลกระทบทั้งหมด และหากใครเข้าใจว่า สาละวินเป็นเพียงป่าเขา และเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยเท่านั้น ถือเป็นความคิดที่คลาดเคลื่อน หากเป็นเช่นนั้นจริง   ในอนาคตเราจะไม่รู้อะไรเลย...ว่าคนเรามาจากไหน" รศ.ดร.รัศมี บอกย้ำให้หลายคนได้ครุ่นคิด

 

 

 

 

 

ในขณะที่ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในฐานะนักประวัติศาสตร์อาวุโส จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ก่อนนั้นมีคนรู้จัก จ.แม่ฮ่องสอนในฐานะเป็นไซบีเรียเมืองไทย ที่ส่งข้าราชการที่ไม่พึงประสงค์มาอยู่ เหมือนกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัจจุบันแม่ฮ่องสอนได้เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ขนาดหนังสือท่องเที่ยวระดับโลก ยังมีการนำเสนอข้อมูลของ จ.แม่ฮ่องสอนเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญ แม่ฮ่องสอน นั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นอย่างมาก รวมไปถึงคุณค่าของแม่น้ำสาละวิน

 

"ยังมีอีกหลายคน ไม่เคยมีใครรู้กันมาก่อนว่า แม่น้ำสาละวินนั้นเป็นแม่น้ำสากล เป็นอู่อารยธรรมทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นแม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแม่น้ำที่ความร่ำรวยมหาศาลทางชาติพันธุ์ รวมทั้งเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ทางการค้า โดยมีแม่ฮ่องสอนอยู่ตรงกลางเส้นทางการค้าไปถึงเมาะละแหม่ง..."

 

เมื่อพูดถึงประเด็นที่มีข่าวว่าจะมีการสร้างเขื่อนสาละวิน ดร.ชาญวิทย์ ได้เปรียบเทียบถึงการสร้างเขื่อนไตรโตรก ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก กั้นแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีการสร้างเขื่อนบริเวณนั้นได้มีการขุดค้นพบโลงศพมากมาย เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่ยืนยันว่ามีชุมชนอาศัยอยู่จำนวนมาก แต่จีนกลับปกปิดบิดเบือน   ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาก่อนการสร้างเขื่อน เพราะขณะนั้นผู้ปกครองจีนนิยมสร้างเขื่อน

 

"เพราะฉะนั้น เมื่อมีข่าวการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ถือได้ว่าสาละวินและแม่ฮ่องสอน เรากำลังมาถึงทาง 2 แพร่ง ว่าเราจะเลือกหนทางไหน ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีการแสวงหาองค์ความรู้ให้มากขึ้น เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันว่า ระหว่างแม่น้ำโขง แม่น้ำแยงซี หรือแม่น้ำฮวงโห ซึ่งปัจจุบันนั้น น้ำในแม่น้ำเริ่มแห้งแล้ว"

 

ดร.ชาญวิทย์ ยังเสนอทางออกให้มีการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และมีการเผยแพร่ข้อมูลความสำคัญของแม่น้ำสาละวินให้กว้างขวางยิ่งขึ้น   ชี้ให้เห็นถึงคุณโทษของการสร้างเขื่อนเป็นอย่างไร และแท้จริงแล้ว การสร้างเขื่อนนั้นเป็นวิกฤติหรือโอกาสของคนบางกลุ่มกันแน่  

 

 

 

 

"นี่เป็นการต่อสู้ระหว่างพัฒนาระหว่างกระแสหลักกับกระแสทางเลือก เราต้องเลือกเอา ระหว่างโครงการขนาดใหญ่กับโครงการที่เป็นมิตรกับคน ระหว่างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมกับเศรษฐกิจแบบพอเพียง เราต้องมานั่งศึกษากันให้ชัดว่า ผลประโยชน์ของการสร้างเขื่อน โดยที่รัฐกล่าวอ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และเพื่อความมั่นคงของชาติ แต่กลับจะมีผู้คนที่ถูกผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสาละวิน ต้องอพยพทะลักเข้ามาในประเทศไทยเช่นนั้นหรือ" ดร.ชาญวิทย์ กล่าวทิ้งเป็นประเด็นให้ทุกคนได้ขบคิด

 

หลังจากมีข่าวการแอบลงบันทึกความตกลง ระหว่างกรมไฟฟ้าพลังน้ำ กระทรวงไฟฟ้า ประเทศสหภาพพม่า กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตัวแทนรัฐบาล เพื่อเตรียมจะทำโครงการไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี หรือการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินในประเทศพม่า เมื่อเดือน ธ.ค.2548 ที่ผ่านมา

 

ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนดังกล่าวขึ้น นอกจากจะกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนในฝั่งไทยในเขตแม่ฮ่องสอนโดยตรงแล้ว ยังจะส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชนในเขตพม่าอีกจำนวนนับ 10,000 คนที่จะต้องหนีตายจากน้ำท่วมที่อยู่อาศัย หนีเข้ามายังฝั่งไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท