พรรคฝ่ายค้านคว่ำบาตร กกต. ไม่ร่วมถกหาวันเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2549 นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมตามคำเชิญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อหารือในการกำหนดวันเลือกตั้ง ร่วมกับตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ พร้อมด้วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่กำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 15 พ.ค. ที่สำนักงาน กกต. หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน โดยระบุความเห็นส่วนตัวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่ หรือมีอำนาจที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวได้

 

"ผมได้รับทราบข่าวเรื่องดังกล่าว ก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมอยู่ๆ กกต.จึงมีความคิดที่จะเชิญผมไปเข้าร่วมประชุมด้วย ตอนแรกคิดว่าอาจจะเชิญหารือถึงผลคำวินิจฉัยกลางที่ออกมา แต่มาคิดอีกทีคำวินิจฉัยก็น่าจะชัดเจนอยู่แล้วคงไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในการทำความเข้าใจ อีกทั้งในข่าวที่รับทราบว่าจะมีการเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ  และเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม ถ้าเป็นอย่างนี้คิดว่าตัวผมนั้นคงไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะศาลรัฐธรรมนูญเราไม่ใช่หน่วยงานธุระการที่จะไปร่วมกำหนดหรือไปชี้ขาดกับองค์กรใดๆ ได้ จุดหนึ่งผมคิดว่ามันพ้นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ และเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเราที่มีอยู่ ดังนั้นหากมีการติดต่อโดยตรงมายังผม ก็คงจะต้องตอบปฎิเสธการเข้าร่วมร่วมประชุมตามวันเวลาดังกล่าวอย่างแน่นอน"นายไพบูลย์กล่าว

 

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อเตรียมการเลือกตั้งว่า การที่ กกต. เรียกพรรคการเมืองไปหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งนั้น พรรคประชาธิปัตย์น้อมรับกระแสพระราชดำรัส คำวินิจฉัยของศาล และคำวินิจฉัยของ กกต. ที่ชอบธรรม แต่ในช่วงที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาชัดเจนว่า กกต.ชุดนี้จัดการเลือกตั้งขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เลขาธิการศาลฎีกาก็ได้แสดงความเห็นว่าขอให้ กกต.เสียสละด้วยการลาออก และพร้อมจะเข้ามาสรรหา กกต.ชุดใหม่ เพื่อจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมและทุกฝ่ายยอมรับ และจากการที่ศาลระบุว่าการกำหนดการเลือกตั้งให้เป็นภาระหน้าที่รัฐบาลและ กกต. พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า กกต.ชุดนี้ขาดความชอบธรรมในการจัดการเลือกตั้ง

 

"ได้หารือกับพรรคชาติไทยและพรรคมหาชน พรรคจึงจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมหารือในวันที่ 15 พฤษภาคม เพื่อกำหนดการเลือกตั้ง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคารพกติกาหรือไม่ให้ความสำคัญแก่ กกต. แต่พรรคให้ความสำคัญแก่สถาบัน กกต. และมีความเห็นว่า กกต.ยังเป็นองค์กรที่จำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมและไม่มีปัญหาเป็นการส่วนตัวกับตัวบุคคล แต่ต้องการเห็น กกต.ในชุดที่จะอำนวยความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้งได้ตามที่ศาลฎีกาได้แถลงไว้ และพร้อมจะให้ความร่วมมือหากเป็นเช่นนี้"

 

อย่างไรก็ตาม หากการประชุมหารือเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งมีเพียง กกต.และพรรคไทยรักไทยเท่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ยังคงยืนยันที่จะส่งผู้สมัคร เพียงแต่เห็นว่า ผู้ที่จะจัดการเลือกตั้งควรถือแนวทางของศาลที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ เพราะทุกฝ่ายบอกว่าน้อมจะรับแนวทางของศาล นอกเหนือจากพระราชดำรัสที่เทิดทูนไว้เหนือเกล้าแล้ว และเมื่อศาลบอกว่าพร้อมจะเข้ามาสรรหา กกต.ชุดใหม่ ก็ถือเป็นแนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์ยึดถือ หากพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่ามีคณะกรรมการที่พรรคมั่นใจว่าจะอำนวยความสะดวกยุติธรรมให้ได้ก็จะเป็นที่ยอมรับและแก้วิกฤตการเมืองได้ แทนที่อาจจะนำไปสู่วิกฤต

 

ด้านนายอรรคพล สรสุชาติ รองหัวหน้าพรรคมหาชน ยืนยันเช่นเดียวกันว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หัวหน้าพรรคมหาชน จะไม่ไปร่วมประชุมอย่างเด็ดขาดและจะไม่ส่งตัวแทนพรรคเข้าร่วมประชุมด้วย เพราะการเชิญประชุมดังกล่าวแสดงว่ากกต.ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดของคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง และยังไม่แสดงท่าทีรับผิดชอบอย่างชัดเจน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท