Skip to main content
sharethis

ประชาไท—16 พ.ค. 2549 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 13.30น. คณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดการอภิปรายเรื่อง "การแปรรูป ปตท....เปลี่ยนรูป หรือปฏิรูป" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.


 


นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์และพัฒนาองค์กรบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่หลายฝ่ายห่วงใยว่า การแปรรูปทำให้ ปตท. ผูกขาดกิจการท่อส่งก๊าซฯ และทำให้ค่าไฟสูงขึ้นนั้นไม่เป็นความจริง ผู้รับสัมปทานในอ่าวไทยทุกคนมีสิทธิ์ลงทุนได้ ปตท. ไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในการผูกขาดกิจการท่อก๊าซฯ นอกจากนี้ ปตท. ก็ไม่ได้เป็นผู้กำหนดโครงสร้างราคาขายก๊าซให้กฟผ. หรืออัตราค่าผ่านท่อ โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมาตลอดทั้งก่อนและหลังการแปรรูป


 


โดยปตท.มีกำไรจากกิจการท่อส่งก๊าซเพียง 11% จากการจัดจำหน่ายก๊าซฯ 5% เท่านั้น ไม่ใช่ 90% เหมือนอย่างที่เข้าใจกัน ซึ่งกำไรที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากธุรกิจในเครือปตท.เป็นหลัก


 


ทั้งนี้ การแปรรูป ปตท. มีความโปร่งใส และดำเนินการถูกต้องทุกขั้นตอนของ พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 โดย พ.ร.บ.ทุนฯ ให้โอนสิทธิ อำนาจ และประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจเดิมมายังบริษัทใหม่เท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินงานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมถึงการยุบเลิกรัฐวิสาหกิจเดิม ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ


 


สำหรับในเรื่องการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษาว่า ปตท. มีอำนาจในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อได้ นอกจากนี้ การแปรรูป ปตท. ก็ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกชุด มีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมาย


 


ด้านราคาค่าไฟฟ้าของไทยถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาก๊าซฯ ของไทยถูกกว่าอีกหลายประเทศ โดยที่ผ่านมา ปตท. สามารถเจรจาลดราคาก๊าซฯ กับกลุ่มผู้ขายได้ สำหรับราคาน้ำมันที่อิงตลาดสิงคโปร์นั้น เป็นเพราะตลาดน้ำมันโลกที่เป็นศูนย์รวมการซื้อขายในเอเชียคือ ตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานตัวแทนบริษัทน้ำมันรายใหญ่ทั่วโลก ซึ่งจะมาทำการตกลงราคาซื้อขายน้ำมัน ราคาสิงคโปร์จึงเป็นราคากลางของตลาดเอเชียที่ทุกประเทศในภูมิภาคจะใช้อ้างอิงกัน


 


ด้านนางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการแปรรูปปตท. ตรงข้ามกับแนวทางตามมติครม. เมื่อวันที่ 10 ก.ค.44 โดยในธุรกิจน้ำมันและโรงกลั่น มีแนวทางคือ รัฐจะไม่ใช่ปตท. เป็นกลไกในการแทรกแซงราคาอีกต่อไป และปตท. จะใช้ไทยออยล์เป็นโรงกลั่นหลักในธุรกิจน้ำมัน โดยจะขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทบางจากฯ เมื่อมีโอกาสเอื้ออำนวย และทยอยลดสัดส่วนการถือหุ้นในโรงกลั่นระยองฯ โรงกลั่นสตาร์ฯ


 


แต่หลังการแปรรูปปรากฏว่ารัฐแทรกแซงราคาน้ำมัน โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้หนี้กองทุนน้ำมันเพิ่มจาก 10,000 ล้านบาทในปี 2544 เป็น 70,000 ล้านบาทในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการขยายสัดส่วนตลาดของปตท. ในธุรกิจโรงกลั่นอีกด้วย


 


สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีมติให้ปตท. ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่าย หลังการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ภายใน 1 ปี โดยให้ปตท. คงการถือหุ้นในกิจการดังกล่าวในสัดส่วนร้อยละ 100 เร่งดำเนินการเปิดให้บริการขนส่งก๊าซทางท่อแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access-TPA)


 


และเปิดให้มีการแข่งขันในแหล่งก๊าซฯ และตลาดก๊าซใหม่ และให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับกระทรวงพลังงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติในระยะสั้น หลังจากนั้น จะมีองค์กรกำกับดูแลอิสระจัดตั้งตามพรบ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.... ทำหน้าที่กำกับดูแลในระยะยาว


 


แต่หลังการแปรรูป อำนาจผูกขาดและอำนาจในการเวนคืน รอนสิทธิถูกโอนให้บมจ. ปตท. ไม่มีการแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ และเปิดให้บริการ TPA แต่อย่างใด ด้านร่างพรบ. การประกอบกิจการพลังงานก็ถูกแช่แข็งและต่อมาส่วนของก๊าซธรรมชาติก็ถูกตัดออกไปเหลือเพียงร่างพรบ. การประกอบกิจการไฟฟ้า


 


อีกทั้ง ปตท. ยังตัดเรื่องนโยบายการปรับโครงสร้างกิจการก๊าซฯ ออกจากหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหุ้นกู้ และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี ตั้งแต่ปี 2547 ด้วย


 


นางชื่นชม แสดงความเห็นว่า สำหรับกำไรที่เพิ่มขึ้น 600% ของปตท. ในช่วง 4 ปี แม้ปตท. จะมองว่า เกิดจากการทำงานที่มีประสิทธิภาพของผู้บริหารและภาวการณ์ของตลาดโลกและภายในประเทศที่เอื้ออำนวย แต่ในมุมมองของผู้บริโภค เห็นว่า ปตท. เลือกใช้สถานะของการเป็นรัฐวิสาหกิจและเอกชนในการหาประโยชน์ทางธุรกิจ


 


ยกตัวอย่างเช่น ใช้สถานะรัฐวิสาหกิจในการได้รับสิทธิ์ผูกขาด สิทธิ์รับซื้อก๊าซจากผู้รับสัมปทานเป็นรายแรก สิทธิ์ในการสำรวจพัฒนาผลิตปิโตรเลียม ได้รับการอุดหนุนจากกองทุนอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอ็นจีวี เป็นต้น และใช้สถานะของเอกชนในการขอรับเงินส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)


 


ทั้งนี้ เสนอทางแก้ไขว่า ปตท. ควรมีธรรมาภิบาล มีกระบวนการกำกับดูแลที่โปร่งใส และตราร่างพรบ. การประกอบกิจการพลังงานเพื่อให้ผลประโยชน์อยู่กับประชาชน


 


นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ปตท. เป็นตัวแทนของระบอบทักษิโณมิกส์ เนื่องจากมีเป้าหมายเหมือนกันคือ เพิ่มมูลค่าการลงทุนของตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าทรัพย์สิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแล้ว จะไม่ยึดติดกับกฎหมายและความชอบธรรมโดยแก้ไขกฎหมายได้ และใช้โฆษณาและการตลาดสร้างความชอบธรรมให้องค์กร โดยจะสังเกตว่า ช่วงนี้โฆษณาของปตท. เพิ่มขึ้น


 


นอกจากนี้ ยังเหมือนกันที่จะสร้างสายสัมพันธ์บริษัทและทุนการเมืองให้เติบโตไปด้วยกัน พร้อมทั้งมีกรรมการที่เข้าไปบริหารมักมีสายสัมพันธ์กันด้วย


 


นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เดิมรัฐวิสาหกิจปตท. มีเรื่องที่ต้องแก้ไขอยู่แล้ว แต่เมื่อนำเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์โดยไม่มีการปรับโครงสร้าง จึงเป็นการสร้างปัญหาความไม่ชอบธรรมเพิ่มขึ้น


 


ทั้งนี้ เสนอให้มีพรบ. การประกอบกิจการพลังงานและองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลกิจการพลังงานโดยรวม ไม่ใช่แค่ไฟฟ้า กิจการจัดหาและกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้ดำเนินการโดยรัฐ ให้อำนาจมหาชนที่ติดไปกับปตท. เป็นขององค์กรกำกับดูแลฯ มีการกำกับดูแลกิจการโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาด


 


แยกกิจการที่ดำเนินการแบบธุรกิจที่มีตลาดและคู่แข่งออกจากกิจการผูกขาดที่ดำเนินการแบบรัฐวิสาหกิจ ให้ชัดเจน โดยให้อยู่ในข้อบังคับของกฎหมายต่างๆ โดยไม่มีข้อยกเว้น มีมาตรการป้องกันการเอื้อประโยชน์โดยมิชอบและขาดความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจระหว่างบริษัทในเครือเดียวกันที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อส่วนรวม รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และพิจารณาทางเลือกด้านพลังงานอื่นๆ ให้มากขึ้น นายวิฑูรย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net