นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญหาไฟใต้ : มุมมอง วิธีคิด ทฤษฎีและทางออก

วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2006 11:30น.

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

(ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้บรรยายในหลักสูตร "มลายูศึกษาเพื่อความสมานฉันท์" ในหัวข้อ "สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต" แทน ดร. เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่วิทยาลัยอิสลาม มอ. ปัตตานี ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค.ที่ผ่านมา)

 

สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้ปาฐกถาเอาไว้ที่เชียงใหม่ เราก็ทำออกมาเป็นบทความ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะพิมพ์ เมื่อไหร่ที่ผมใช้คำว่าผู้บรรยาย หมายถึงอาจารย์เกษียรเป็นผู้บรรยาย ผมเป็นเทป และเมื่อไหร่ผมใช่คำว่าผม หมายถึงตัวผม ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่อาจารย์เกษียรพูดทั้งสิ้น

 

คือความไม่สงบที่เกิดขึ้นในภาคใต้ตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา มันทำให้เกิดคำอธิบายเกี่ยวกับว่า เกิดอะไรขึ้นในภาคใต้แยะมากๆ เลย เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนไม่ว่าคุณจะสนใจหรือไม่สนใจก็ตามแต่ มันจะถูกแวดล้อมด้วยคำอธิบายว่า เกิดอะไรขึ้นในภาคใต้หลายอย่างด้วยกัน เพราะสิ่งที่ผู้บรรยายพยายามจะทำก็คือ พยายามจะหาเครื่องมือ เพราะมีคำอธิบายเป็นร้อยๆ คำอธิบาย เขาก็พยายามจะหาเครื่องมือ หรือสร้างเครื่องมือชนิดหนึ่ง ให้เราสามารถที่จะจัดการกับคำอธิบายร้อยชนิดที่มันแวดล้อมตัวเรานี้ว่า เกิดอะไรขึ้นในปี 47 เป็นต้นไปได้ ตัวเขาเองไม่มีคำอธิบายอะไรให้ เพียงแต่ว่าให้เครื่องมือในการไปจัดการกับคำอธิบาย

 

ฉะนั้น ผู้บรรยายคืออาจารย์เกษียร คิดว่า คำอธิบายเป็นร้อยๆ คำ ประเภทที่มันอยู่แวดล้อมว่ามันเกิดอะไรขึ้นในภาคใต้นี่ มันมาจากทฤษฎี 4 ทฤษฎีด้วยกัน เมื่อรวมกลุ่มแล้ว คำอธิบายเป็นร้อยๆ อย่างมันจะมาจาก 4 ทฤษฎี

 

ทฤษฎีที่ 1 เรียกว่าทฤษฎีมือที่ 3 ทฤษฎีที่ 2 คือว่าทฤษฎีขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทฤษฎีที่ 3 เรียกว่าทฤษฎีความรุนแรงฝ่ายรัฐ ทฤษฎีที่ 4 คือทฤษฎีกบฏชาวนา ผู้บรรยายจะขออธิบายย่อๆ ว่ามันหมายถึงอะไรบ้าง

 

คนที่เชื่อทฤษฎีมือที่ 3 คือคนที่เชื่อว่าปัญหาความรุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในภาคใต้ขณะนี้ มันไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับประชาชนมลายูมุสลิมที่อยู่ที่ตรงนี้ แต่มันเป็นคนกลุ่มอื่นที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ หรือแสวงหาอำนาจก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเป็นโจรกระจอก พ่อค้ายาเสพติด ผู้สูญเสียผลประโยชน์ พรรคฝ่ายค้าน, ซีไอเอ, เจไอ, อัล-กออีดะห์ คือคนอื่นเป็นคนทำ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับคนมลายูก็ยังเหมือนเดิม ดีหรือไม่ก็แล้วแต่ มันไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงขึ้น อันนี้คือความเชื่อในทฤษฎีบทที่ 1

 

ขอให้สังเกตนะครับว่า ในระยะแรกที่คุณทักษิณ(ชินวัตร) เป็นนายกฯ แล้วก็เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มีการปล้นปืนที่กองพันทหารฯ นายกรัฐมนตรีก็เชื่อว่า คนที่ปล้นปืนที่กองพันทหารฯนั้น ก็คือทหาร ทหารคือกลุ่มผู้เสียประโยชน์ หลัง ศอ.บต.เลิกไปทหารที่เคยมีบทบาทก็ถูกให้กลับเข้ากรมกอง ตำรวจไปรับแทน ทหารคือ ผู้เสียผลประโยชน์ ทหารคือผู้ปล้นปืน อันนี้คือคำให้สัมภาษณ์ของจุฬาราชมนตรีหลังเข้าพบนายกฯ แล้วออกมาให้สัมภาษณ์ว่านายกรัฐมนตรีบอกว่าคนปล้นปืนคือทหาร อันนี้ก็เป็นทฤษฎีมือที่ 3 ทหารเป็นมือที่ 3 มันไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์รัฐกับคนมลายู เหล่านี้เป็นต้น บางคนอาจจะกล่าวโทษมาเลเซีย ก็ได้

 

ทฤษฎีที่ 2 คือ ทฤษฎีขบวนการแบ่งแยกดินแดนในระยะแรกหรือจนถึงปัจจุบันนี้คนที่เชื่อทฤษฎีนี่ค่อนข้างมาก ก็คือ แม่ทัพ 4 ในอดีต เพราะประสบการณ์ของแม่ทัพ 4 ที่ต่อสู้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนไม่ว่าจะเป็นคุณหาญ ลีลานนท์ หรือ คุณกิตติ รัตนฉายา ฉะนั้นคนเหล่านี้จะมองเหตุการณ์ สืบเนื่องมาจากสมัยที่ท่านยังรับราชการอยู่ อ๋อ มันเป็นเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน ชัดเจน แต่ว่ามันไม่ใช่มีแค่ทหารอย่างเดียว คนที่เชื่อในเรื่องเหล่านี้ก็ยังมีอยู่

 

2 ทฤษฎีนี้ คือ ทฤษฎีมือที่ 3 ก็ตาม ทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนก็ตาม นี่คือทฤษฎีที่รัฐบาลคุณทักษิณเชื่อ รับมา และนโยบายที่จะจัดการกับภาคใต้ทั้งหมดก็ตั้งอยู่บน 2 ทฤษฎีนี้ ไม่ทฤษฎีอันแรก คือมือที่3 ก็ทฤษฎีอันที่ 2 คือการแบ่งแยกดินแดน

 

ทฤษฎีอันที่ 3 คือทฤษฎีความรุนแรงฝ่ายรัฐ คำอธิบายก็คือ รัฐนั้นแหละที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนก่อน เพราะฉะนั้น ประชาชนก็ไม่มีทางเลือกก็ต้องตอบโต้กับรัฐโดยใช้วิธีการของความรุนแรง ถ้าคุณสามารถยุติความรุนแรงฝ่ายรัฐได้ ความรุนแรงในภาคใต้ก็หายไปครึ่งหนึ่งอย่างน้อยที่สุด ถ้าถือว่าต่างฝ่ายต่างรุนแรงใช่หรือไม่

 

คนที่เสนอหรือคนที่เชื่อทฤษฎีนี้ ที่มีอิทธิพลที่สุดทำทำให้ทฤษฎีนี้แพร่หลายมากที่สุด คือ รองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่ถูกส่งลงมาให้สำรวจว่าเกิดอะไรขึ้นในภาคใต้ แล้วรายงานของท่านที่ส่งกลับไปก็คือบอกว่าทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเองที่สร้างความรุนแรงก่อน เพราะฉะนั้นต้องยุติความรุนแรงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐให้ได้เสียก่อน แล้วทุกอย่างก็ค่อยๆ จะดีขึ้นเอง แต่ปรากฏว่าทฤษฎีนี้แน่นอนทหารก็รับไม่ได้ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยนั้น บอกว่า เฮ้ย ! คุณไปฟังชาวบ้านอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฟังทหารบ้างซิ เพราะฉะนั้นวิธีการที่ปลอดภัยที่สุด รัฐบาลก็เก็บรายงานของรองนายกฯ จาตุรนต์ ใส่ลิ้นชัก แล้วก็ล็อคกุญแจ

 

นอกจากรองนายกฯ จาตุรนต์ แน่นอนก็มีกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ ก็เชื่อในเรื่องนี้เหมือนกัน

 

ทฤษฎีสุดท้าย คือทฤษฎีกบฏชาวนา อันนี้เป็นของผมเอง เป็นทฤษฎีที่แซบ หมายความว่า ตัวเองเป็นที่แพร่หลายพอเป็นที่รู้จัก แต่ไม่มีใครสนใจมันเลย เพราะฉะนั้นก็จบ เพราะถือว่ามันไม่ได้ถูกนำมาใช้ใดๆ ทั้งสิ้น

 

ถ้าดูว่าชุดคำอธิบายทั้งหมดในประเทศใน 4 ทฤษฎีนี้ จริงๆ เราแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือชุดคำอธิบายที่ผลิตในประเทศไทยทั้งหมด ตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา กลุ่มแรกอาจจะรียกได้กลุ่มที่เน้นความมั่นคง หรือ ที่เรียกว่าสายเหยี่ยว กลุ่มสายเหยี่ยวจะมีคำอธิบายกลุ่มหนึ่ง ประเภทเหล่านี้

 

ชุดคำอธิบายประเภทสายเหยี่ยวที่เน้นความมั่นคงของรัฐ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้ อันแรกสุดจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มก่อความไม่สงบ ไม่ว่าจะเป็นวางระเบิด เผาบ้าน หรือเผาอะไรก็แล้วแต่ ว่าไอ้นี่คือตัวสาเหตุหลักที่สุด ท่านอาจารย์เกษียร ยกตัวอย่างนายทหารบางคนที่อยู่ใน กอส.ด้วยซ้ำไป ที่เสนอไปว่า ปัญหาทั้งหมดในภาคใต้มันมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่ก่อความไม่สงบ คุณก็ปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบเรื่องก็จบแล้ว คุณจะมาเสนอแก้ไขเชิงโครงสร้างอะไร เฮ้ย ! มันรุงรังยุ่งเปล่าๆ ก็มันมีโจรอยู่ก็จับโจรไป ที่คุณบอกว่าต้องสร้างโรงสร้างรั้ว มันไม่ใช้เรื่อง นี่คือวิธีคิดแบบ ถือว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากคนไม่ดีกลุ่มหนึ่งหรือผู้กระทำ ก็หยุดผู้กระทำเสีย

 

ฉะนั้นเมื่อคุณสนใจผู้กระทำเป็นหลัก คุณก็ต้องแก้โดยการหาเทคนิคที่จะทำให้ผู้กระทำนั้นเลือกไปเสีย วิธีง่ายๆ เช่น ฆ่ามันซะ มันก็เลือกกระทำไปเอง เพราะมันไม่เคยมีคนตายที่ไหนไปเผาบ้านใครได้อีก อุ้มมันไปเสีย จับมันมันมา คุณสงสัยใครจับใครมาอบรมมันซัก 2 อาทิตย์ 3 อาทิตย์ เรียกวิวัฒน์พลเมืองอะไรก็แล้วแต่ จะแก้มันโดยดี หรือจะยิงมันตายอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นพวกที่สนใจเรื่องเทคนิคมาก

 

แล้วก็ช่วงหนึ่งจะเห็นว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสนใจกับเรื่องเทคนิคตลอดเวลา ก็คงยังจำกันได้ว่า เราก็ยังใช้กันจนทุกวันนี้ เช่นเป็นต้นว่า คนร้ายชอบนั่งมอเตอร์ไซค์ซ้อนท้ายแล้วก็ยิงคน ก็ออกกฎหมายห้ามซ้อนมอเตอร์ไซค์ในภาคใต้ ซึ่งมันก็ทำไม่ได้เพราะเป็นยานพาหนะที่ชาวบ้านเขาใช้ทำมาหากินตลอดเวลา หรือมิฉะนั้น รัฐมนตรีกลาโหม คุณเชษฐา สมัยนั้น ก็บอกว่า เฮ้ย ! ทหารอย่าซ้อนมอเตอร์ไซค์แบบนี้ ซ้อนหันหลังชนกัน แล้วก็ถือปืนเอาไว้ นี่คือเทคนิคเหมือนกัน คิดเทคนิคตลอด อย่างซิมโทรศัพท์มือถือใครจะซื้อก็ไปจนทะเบียน นี่ก็เรื่องเทคนิคอีกเหมือนกัน

 

เพราะถ้าคุณสนใจกลุ่มผู้ก่อการ คุณก็มาสนใจว่า เทคนิคหรือวิธีการอย่างไรในการหยุดผู้ก่อการได้ พวกนี้ก็จะใช้เทคนิค เพราะฉะนั้นเทคนิคเป็นวิธีการ เป็นเรื่องที่ไม่มีวันสิ้นสุด สมมุติคุณแก้เรื่องเทคนิคได้ อีกฝ่ายเขาก็แก้ได้เหมือนกัน เพราะเทคนิคเป็นเรื่องของการแก้กันไปแก้กันมา เหมือนเล่นหมากรุก ก็ไม่มีที่สิ้นสุด หรือมิฉะนั้นหลายเทคนิคที่ทำไม่ได้ เช่น ห้ามซ้อนมอเตอร์ไซค์มันทำไม่ได้

 

ตัวแทนคนที่คิดหลักแน่นอนต้องเป็นทหาร คือคุณหาญ กับคุณกิตติ จริงๆ เขาเสนอเทคนิค คุณหาญเขียนบทความลงในมติชน เรื่องดับไฟใต้ สิ่งที่คุณหาญเสนอสรุปมี 2 ข้อ ข้อที่ 1 ก็คือว่า ทหารถอนตัวออกจากการปฏิบัติภารกิจในภาคใต้มาเป็นเวลานาน ช่วงที่ถอนตัวออกไปเปิดโอกาสให้พวกแบ่งแยกดินแดนเข้ามา แล้วยึดกุม อบจ.(องค์การบริหารส่วนจังหวัด) อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหมดเลย สรุปก็คือว่า คุณหาญคิดว่า คุณไม่ได้ต่อสู้กับพวกกลุ่มผู้ก่อการเพียงหยิบมือเดียว คุณกำลังต่อสู้กับคำของอาจารย์เกษียรใช้คำว่า มวลมหาประชาชน ยุ่งเลย กลายเป็นศึกสงครามขนาดใหญ่เลย เพราะฉะนั้นคุณหาญก็เสนอว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ วิธีแก้ กองทัพต้องปรับกำลังใหม่ ต้องปรับกองกำลัง ปรับเทคนิควิธีการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการแบ่งแยกดินแดนใหม่ เทคนิคอีกแล้ว

 

คุณกิตติ รัตนฉายา ก็คล้ายๆ กัน คือเห็นด้วยกับคุณหาญว่า ใช่แล้วๆ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนยึดกุมมหาประชาชนได้หมดแล้ว แต่คุณกิตติเข้าไปสู่ในรายละเอียดมากขึ้นว่า ในการที่กลุ่มเหล่านี้ยึดกุมได้แล้ว จะต้องแบ่งศัตรูออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ประเภทที่ 1 คือฝ่ายแกนนำ ประเภทที่ 2 ฝ่ายกลาง หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติขนาดกลาง คนที่ไปขว้างระเบิด คนที่จุดไฟเผา คนที่ก่อการอะไรต่างๆ ทั้งหมดและกลุ่มล่างสุดคือมวลมหาประชาชน คุณกิตติ ก็เสนอเทคนิคอีกแล้วว่า วิธีจัดการทำอย่างไร ไอ้ระดับกลางที่มันเที่ยวไปยิงคน เที่ยวไปวางระเบิดนี่ ก็รบกับมัน ก็ไปปราบปรามกับมัน ส่วนมวลมหาประชาชนก็ต้องเป็นมิตรซิ ดึงเขากลับมาเป็นพวกให้ได้ ส่วนแกนนำนี้ไม่รู้อยู่ไหน เราจะรบกับมันไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีเจรจา มันจะอยู่ไหนก็ต้องตามไปเจรจาให้ถึงที่ นี่เป็นข้อเสนอของคุณกิตติ แต่ก็เป็นเทคนิคอีกแล้ว เทคนิคจะยุติความรุแรง

 

ในการเจรจาที่คุณกิตติเสนอนี่ ไม่มีข้อเสนอต่อรองมาก แล้วเจรจากันเรื่องอะไร เจรจาแล้วมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างบ้างหรือเปล่า ไม่มี เอาเป็นแค่ว่าเจรจาก็แล้วกัน เป้าหมายความหมายมันแคบมากที่จะยุติความรุนแรง นี่ก็เป็นข้อเสนอของพวกที่เรียกว่าสายเหยี่ยว สายที่เน้นความมั่นคงเป็นหลัก

 

อีกกลุ่มหนึ่งที่ผลิตคำอธิบายเรื่องความรุนแรงในภาคใต้เยอะแยะไปหมดนี่ อาจารย์เรียกว่า เน้นการเมืองหรือสายพิราบก็ได้ พวกนี้จะพุ่งเป้าไปว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นที่ตัวโครงสร้าง คือจะพุ่งเป้าที่ตัวโครงสร้าง ไม่จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ความยุติธรรม การใช้กฎหมาย หรืออะไรก็แล้วแต่ จะพุ่งเป้าไปที่ตรงนี้ ฉะนั้นถ้าคุณจะยุติความรุนแรง คุณต้องไปแก้ที่ตัวโครงสร้าง ไม่ใช่มาแก้ที่ตัวระดับกลาง คือคนปฏิบัติการ คนที่วางระเบิด คนที่เผาบ้าน ต้องแก้ไปที่ตัวโครงสร้างให้ได้

 

ตัวแทนของคนที่คิดในกลุ่มนี้ที่สำคัญคนหนึ่งคือ คุณชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งแน่นอนคุณชวลิต มีประสบการณ์ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์มา แล้วก็เป็นคนที่เปลี่ยนในระดับที่ว่า แทนที่จะใช้กำลังทหารในการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็ให้เอาการเมืองมานำการทหารแทน ทำให้เกิดนโยบาย 66/2523 อย่างที่เรารู้กัน แล้วก็เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการที่จะดึงพวกคอมมิวนิสต์ให้กลับมาได้

 

คุณชวลิตก็จะเสนอคล้ายกับอย่างนั้น เสนอ 3 ข้อด้วยกัน ข้อที่ 1 ดอกไม้หลายดอกบานพรักพร้อม คือ ยอมให้ความแตกต่างๆ หลากหลายในภาคใต้มันปรากฏตัวออกมา คุณจะถือศาสนาอะไร จะพูดภาษาอะไร ก็เชิญตามสบาย ให้มันมีความแตกต่างหลากหลาย อันที่ 2 ต่อมาก็คือว่า ถอยกันคนละ 3 ก้าว หมายความว่าระหว่างรัฐกับผู้ที่ต้องการจะแบ่งแยกดินแดน หรือมีความขัดแย้งกับรัฐด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ ขัดแย้งได้เลย แต่รัฐต้องยุติการใช้ความรุนแรง ทั้งฝ่ายเขาต้องยุติความรุนแรง แต่จะขัดแย้งกันโดยวิธีอื่นก็ยังยอมรับ แต่จะต้องถอยคนละ 3 ก้าว

 

และอันที่ 3 ก็คือทฤษฎีมหานครปัตตานี หมายความว่าคุณต้องจัดระบบการปกครองในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ในลักษณะที่มันแตกต่าง หมายความว่าคุณอาจจะต้องยอมให้ ใน 3 จังหวัดภาคใต้มีโอกาสในการปกครองตนเองระดับหนึ่ง ไม่ใช่ว่าแยกไปจากรัฐไทย แต่จะยอมอย่างไรก็แล้วแต่ในระดับหนึ่ง เอาไว้เถียงกันข้างหน้า หลักการก็คือมหานครปัตตานี นี่ก็เป็นตัวอย่าง นอกจากนั้น แน่นอนก็มีปัญญาชน กลุ่มเอ็นจีโอ ก็มักอยู่ในกลุ่มนี้ อยู่ในกลุ่มที่ให้คำอธิบายแบบนี้ว่าปัญหาทั้งหมดอยู่ที่โครงสร้าง ต้องไปแก้ที่โครงสร้าง ไม่ใช่ไปแก้ที่ระดับล่าง

 

ทีนี้ ถ้าเราดูจากรัฐศาสตร์ตะวันตก รัฐศาสตร์ตะวันตกมันมีเครื่องมือศึกษาขบวนการมวลชน เมื่อไหร่ที่ขบวนการมวลชน ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ก็แล้วแต่ เขาจะมีวิธีการศึกษาอยู่ ด้วยการพิจารณาอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกัน เมื่อไหร่เกิดขบวนการมวลชนเขาก็จะดู 2 ปัจจัย ปัจจัยที่ 1 เรียกว่า "อินเทอนัล รีซอร์ซ โกลเบอไลเซชั่น" หรือ เขามีวิธีการระดมทรัพยากรภายในอย่างไร แต่ดูแค่นั้นไม่พอ ต้องดูอีกด้านหนึ่งด้วย คือดูการระดมทรัพยากรภายในขององค์กรขบวนการมวลชน ก็ดูเฉพาะพวกเขา ต้องดูภายนอกด้วยก็คือว่า อันที่ 2 ดู "พอลิติกคอล ออฟเปอร์จูนิตี้ สทรัคเชอร์" หรือ โครงสร้างโอกาสทางการเมือง ที่จะทำให้ขบวนการนั้นเคลื่อนไหวได้ นักวิชาการไทย ที่ศึกษาขบวนการแบบนี้ก็คือ เช่นเป็นต้นว่า อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง ซึ่งศึกษาเรื่องสมัชชาคนจน คือดูทั้ง 2 อย่างนี้ คือ ดูทั้งการระดมทรัพยากรภายในสมัชชาคนจน และดูโอกาสทางการเมืองภายนอกว่ามีโอกาสอย่างไร

 

ก็จะขออธิบายอย่างสั้นๆ ว่า วิธีการระดมทรัพยากรภายในดูอะไร ไอ้ขบวนการมวลชน เราก็ไปดูระบบแกนนำของเขา ใครเป็นผู้นำ ไอ้ผู้นำนั้นมันจะอยู่ต่อเนื่องมั้ย หรือว่ามันอยู่ 30 ปีแล้ววนมาที่อีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาแย่งอำนาจอะไรก็แล้วแต่ ดูว่ามีการจัดองค์กรภายในอย่างไร วิธีการจัดองค์กรมันมีได้หลายแบบ มีการจัดเป็นชั้นเป็นเชิง ทำเลียนแบบรัฐ หรือ ดาวกระจาย หมายความว่า ไม่มีการควบคุมอย่างใกล้ชิด แล้วก็ปล่อยให้มันมีการปฏิบัติการตามสะดวกสบายตามจุด อย่างที่เชื่อกันว่า องค์กรอัล - กออีดะห์ทำ ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่บิน ลาเดนเป็นคนทำทั้งหมด ปล่อยให้เซลล์แต่ละเซลล์ตัดสินใจแล้วก็ปฏิบัติการเองในทิศทางเดียวกัน

 

เราก็ไปดูวิธีการจัดการองค์กรภายในของเขา ดูว่าภายในมันมีความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาแค่ไหน ความเป็นปึกแผ่นแน่นหนามันเกิดจากความเป็นมลายูด้วยกัน เราเป็นคนมุสลิมด้วยกัน เราเป็นญาติกัน เราเป็นคนปักษ์ใต้ด้วยกัน เราเป็นคนอีสานด้วยกัน อะไรก็แล้วแต่ ดูว่าข้างในมันมีความเป็นปึกแผ่นแค่ไหน เรามีอุดมการณ์ด้วยกัน อะไรก็แล้วแต่ เราไปเจาะดูในขบวนการมวลชนนั้นเอง เพราะฉะนั้นดูแค่นี้ไม่พออย่างที่บอก ต้องมาดูข้างนอกว่า โครงสร้างทางการเมืองมันมีหรือไม่

 

ในการดูโครงสร้างทางการเมืองดู 3 อย่างด้วยกัน อันแรกสุดก็คือ ดูว่า ไอ้โอกาสทางการเมืองในช่วงหนึ่งๆ นั้น มันมีการเปิดหรือปิด เปิดก็หมายความว่า คนมันเข้าสู่ระบบการเมืองได้แค่ไหน ปิดก็หมายความว่า คนไม่สามารถเข้าสู่ระบบการเมือง

 

อันที่ 2 ก็คือดูว่า มันมีการเกาะกลุ่มทางการเมือง มันมีอยู่สืบไปหรือไม่ หรือไอ้การเกาะกลุ่มนี้มันไม่ทำงานแล้ว เป็นต้น อันที่ 3 ก็คือดูว่า พันธมิตรของขบวนการมวลชนคือใครและมันดำรงอยู่ตลอดมาหรือไม่ หรือพันธมิตรมันถอยไป อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ทีนี้เนื่องจากอาจารย์ออกตัวว่า ตัวเองมีความรู้ในเรื่องของการระดมทรัพยากรภายในขององค์กรหรือขบวนการมวลชนที่เป็นผู้ก่อการในภาคใต้น้อยหรือไม่มีเลยก็ว่าได้ จึงไม่ขอพูดถึงเรื่องนี้ แต่จะขอเอาเรื่องของโครงสร้างขบวนการทางการเมือง มาดูซิว่ามันเกิดอะไรขึ้นในภาคใต้ เพื่อจะอธิบายส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด

 

ประการแรกสุด อาจารย์เกษียรเห็นว่า โครงสร้างทางการเมืองประการที่ 1 มันเปิดหรือมันปิด ท่านบอกเลย มันปิด จริงๆ แล้วมันไม่ได้ปิดทางภาคใต้เท่านั้น เมื่อตอนคุณทักษิณขึ้นมาปั๊บนี่ ถ้าคุณไม่ใช่พรรคพวกของคุณทักษิณ โอกาสที่คุณจะเข้าถึงระบบการเมืองมันจะยากขึ้น ทีนี้โอกาสทางการเมืองมันปิดกันทั้งประเทศ แต่ทีนี้เฉพาะในภาคใต้มันปิดมากขึ้นไปอีก เพราะคุณทักษิณมีนโยบายยุบเลิก ศอ.บต.กับ พตท.43 องค์กรทั้ง 2 สร้างขึ้นสมัยที่คุณเปรม (ติณสูลานนท์) เป็นนายกรัฐมนตรี

 

องค์กรทั้ง 2 ในทัศนะของอาจารย์ ก็คือว่า มันเป็นเหมือนกับประตูให้คนที่เป็นผู้นำศาสนาก็ตาม ผู้นำท้องถิ่นก็ตาม สามารเข้าไปร้องเรียน เข้าใจมั้ยครับ หรือจะพูดภาษาวิชาการก็คือ สามารถเข้าถึงระบบการเมืองได้ อย่างน้อยสามารถเข้าถึงผู้ที่เป็นศูนย์อำนาจที่อยู่ในเขตการศึกษาภาคใต้ สามารถเข้าไปร้องเรียน สามารถเข้าไปร้องทุกข์ เฮ้ย ! ตำรวจคนนี้มันรังแกพวกเราเหลือเกิน เขาก็ร้องเรียนไปได้ ในที่สุดตำรวจคนนั้นก็ถูกย้ายไปแล้วส่งตำรวจคนใหม่มา ซึ่งรังแกน้อยหน่อยลงมา เหล่าเป็นต้น คือมีโอกาสที่เข้าสู่ระบบทางการเมืองได้

 

พอคุณ ยุบ ศอ.บต. ยุบ พตท.43 โอกาสอย่างนี้หายไปหมดเลยสำหรับผู้นำศาสนา และผู้นำชุมชนทั้งหลายที่อยู่ในภาคใต้ ไม่สามารถต่อสายตรงถึงอำนาจหรือระบบการเมืองที่มีอยู่ในภาคใต้ได้อย่างที่เป็นมา

 

อันที่ 2 เรามาดู "สิเตอรัล อลายแวนท์" ดูการเกาะกลุ่ม เกาะสายทางการเมือง ในสมัยของคุณทักษิณ เราจะพบว่าไอ้การเกาะกลุ่มทางการเมืองในสมัยคุณทักษิณ ก็เปลี่ยนไปอีกในพื้นที่ทางภาคใต้ ปรากฏว่ากลุ่มวาดะห์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสะพานที่เชื่อม ไม่ว่าเขาจะอยู่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายไหนก็ตาม ที่เชื่อมในระดับชาติให้คนในพื้นที่ หัวคะแนนของเขา หรืออะไรก็แล้วแต่ สามารถเชื่อมต่อกับอำนาจในส่วนกลางได้บ้าง อันนี้มันไม่มี มันหายไปเพราะว่า กลุ่มวาดะห์ ไปอยู่กับพรรคไทยรักไทย แล้วก็จำเป็นที่ทำให้กลุ่มวาดะห์ต้องสนับสนุนนโยบายการเลิก ศอ.บต. - พตท.43 ไม่ว่าเขาจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อหัวหน้าพรรคเอาอย่างนี้ก็ต้องเอาด้วย

 

ในขณะเดียวกันก็ทำให้สถานะกลุ่มวาดะห์ในพรรคไทยรักไทยก็ค่อยๆ ต่ำลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นไอ้ที่เคยเป็นเส้นอันเก่ามันก็ไม่สามารถทำงานได้ แล้วก็เห็นชัดเจนเลยว่า พอหลังจากนั้นมา ประชาชนก็เห็นว่า เฮ้ย ! กูไม่เอาแล้ว ถ้าคุณเล่นอย่างนี้ คุณไม่มีเส้นให้ผม เขาก็ไม่เอาจริง การเลือกตั้งปี 48 ทิ้งเลยหมดเลยไม่เอา ไม่มีซักเขตใดที่กลุ่มวาดะห์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

 

เพราะฉะนั้นตัวนี้อยู่ที่คุณทักษิณเอง เพราะรัฐบาลนี้นิยมใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว ท่ามกลางการปิดช่องทางการเมือง ท่ามกลางการปิดประตูไม่ให้เข้าถึงระบบทางการเมือง ก็ก่อให้เกิดปัญหามากที่เดียว เมื่อคุณใช้ความรุนแรง เขาก็ตอบโต้ด้วยความรุนแรง เพราะมันไม่มีช่องทางอื่น เวลาที่คุณยิงตำรวจตายไปคนหนึ่ง ก็คือการเปิดประตูทางการเมืองอันหนึ่งสำหรับทัศนะของเขา เพราะไม่มีช่องใดที่จะเข้าถึงอำนาจ ก็ยิงตำรวจไปเผื่อเขาจะฟังเรา เป็นต้น ผลก็คือ จริงๆ การยิงตำรวจคนหนึ่ง หรือ การอุ้มฆ่าก็แล้วแต่ ฝ่ายตำรวจเป็นคนอุ้มฆ่าก็แล้วแต่ มันเกิดขึ้นก่อนหน้าปี 2547 แล้ว ถ้ามาดูข่าวหนังสือพิมพ์ ปี 2545 - 2546 มันก็เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มฆ่าก็ตาม การยิงตอบโต้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตาม เกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะถึงปล้นปืนทหารด้วยซ้ำ สัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ระดับโครงสร้างที่ทำให้คนเขาติดตาม

 

เพราะฉะนั้น คำอธิบายแบบนี้ เราจะพบได้ว่า รัฐบาลกับพรรคพวกอาจจะบอกว่า เฮ้ย ! ไอ้ความรุนแรงทั้งหมดมันมาจากพวกค้ายาเสพติด มาจากพวกมีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งอาจจริงก็ได้ เพราะว่าผู้ค้ายาเสพติดก็ตาม ผู้มีอิทธิพลก็ตาม ถ้ามองในแง่ของรัฐศาสตร์ มองในแง่การเมือง ถามว่าเขาคือใคร ที่มันสามารถค้ายาเสพติดได้ ที่มันมีอิทธิพลได้ ก็แสดงว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของตัวระบบการเมือง พอคุณมีนโยบายปราบปรามยาเสพติด คุณก็ทำให้พวกค้ายาเสพติดเหล่านี้ หลุดไปจากระบบการเมืองที่เขาเข้าถึง เขาก็เป็นศัตรูกับรัฐบาลทักษิณเป็นธรรมดา คุณไปฆ่าพวกมีอิทธิพลหรือขจัดอิทธิพลของเขาไป ก็ทำให้เขาก็เป็นศัตรูกับรัฐบาลได้ ถามว่าเขามีส่วนช่วยเหลือกลุ่มผู้ก่อการเหล่านี้หรือไม่ อาจจะมีส่วนโดยตรงหรือโดยอ้อม เขาช่วยเหลือศัตรูได้เป็นธรรมดา เพราะเขาไม่ชอบรัฐบาลทักษิณ

 

เพราะฉะนั้นในแง่นี้ กลุ่มผู้สนับสนุนขบวนการมันก็เกิดงอกขึ้นมา โดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้ คนที่สนับสนุนขบวนการนี่ ขบวนการเมืองที่มันเกิดขึ้นนี่ เนื่องจากจากสาเหตุหนึ่ง กลุ่มที่มันสนับสนุนนี่ กระทำไปด้วยอีกสาเหตุหนึ่ง เช่น เขาพยายามจะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่เป็นสุข ก็ได้

 

ทีนี้ถ้าเรามองในโลกกว้าง ชุดคำอธิบายของฝรั่ง พูดง่ายๆ เพราะฝรั่งเริ่มสนใจในเรื่องของขบวนการก่อการร้าย มันก็มีการผลิตคำเกี่ยวกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายขึ้นมาเยอะแยะมาก ก็ไปดูซิว่า มันมีคำอธิบายอย่างไรบ้าง แล้วเราก็สามารถมาปฏิรูปใช้ เพื่อเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้อย่างไรบ้าง คำอธิบายใหญ่ของฝรั่ง ที่เกี่ยวกับการก่อการร้ายในปัจจุบันนี้ สรุปก็เหลืออยู่ 3 อย่าง อันที่ 1 ก็มาจากทฤษฎีหรือมาจากความเชื่อที่เรียกว่า การสร้างความทันสมัยที่ล้มเหลว เป็น "เฟลโมเดิร์นไนเซชั่น เทียร์รี่" หรือ ทฤษฎีการสร้างความทันสมัยที่ล้มเหลว

 

สรุปสั้นๆ ก็คือว่า ในการพัฒนาหรือในการเปลี่ยน ประเทศจากประเทศแบบโบราณให้กลายมาเป็นรัฐชาติก็ตาม อะไรก็ตาม ก็คือการสร้างความทันสมัยทั้งสิ้น ในสร้างความทันสมัยเหล่านี้ มันประสบความล้มเหลวในบางเรื่อง อาจจะประสบความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจ อาจจะประสบความล้มเหลวในทางการศึกษา ประสบความล้มเหลวในทางวัฒนธรรมก็แล้วแต่ ประสบความล้มเหลวกับคนบางกลุ่มด้วย เช่นเป็นต้นว่า เปลี่ยนการใช้ทรัพยากรเพื่อจะนำเข้าสู่ความทันสมัย ต้องเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร แล้วไม่สามารถเปลี่ยนคนที่ใช้ทรัพยากรอยู่ให้มาใช้ทรัพยากรแบบใหม่ได้ ที่เขาเคยทำนา ทำสวน แบบเลี้ยงตนเอง เล็กๆ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนมาใช้ได้ นี่คือตัวอย่างชัดเจน เขื่อนบางลางสำหรับคนที่เขาอยู่แถวนั้นมาก่อน เพื่อจะใช้ประโยชน์จากที่ดินและน้ำที่มีอยู่เล็กน้อยในการผลิตเพื่อเลี้ยงตนเอง ก็บอกว่า กูไม่รู้จะเอาน้ำไปทำอะไรเยอะแยะไปหมด เพราะเขาเอาน้ำบ้านกูไปผลิตไฟฟ้า ไฟฟ้าบ้านกูใช้แค่ 10 แรงเทียน ไม่รู้จะใช้ทำอะไร เป็นต้น

 

นี่คือการนำเข้าสู่ความทันสมัยที่ล้มเหลว แก่คนบางกลุ่ม คนบางพวก ฉะนั้น ก็จะทำให้คนกลุ่มนี้แหละ ที่เป็นผู้ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น หรือก่อให้เกิดเป็นนักก่อการร้าย ทฤษฎีนี้ถ้ามองในแง่ของคำอธิบายปัญหาต่างๆ ในภาคใต้ ก็มีนักวิชาการหลายคน รวมทั้งตัวผมเอง ก็เชื่อในทฤษฎีนี้ อาจารย์ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ก็เป็นอีกคนหนึ่ง อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม อาจารย์ปิยะ กิจถาวร ก็เป็นอีกคนหนึ่ง

 

ทฤษฎีที่ 2 ที่ใครก็ได้ยินอยู่ตลอดเวลา คือเรื่องของการปะทะกันของอารยธรรม สรุปง่ายๆ ก็คือเรื่องของโลกมุสลิมกับโลกตะวันตก ของฮันติงตันนี่ ก็คือว่า หลังสงครามเย็นไปแล้วนี่ ทุนนิยมตะวันตกก็ไม่ต้องเผชิญกับคอมมิวนิสต์อีกแล้ว แต่ต้องมาเผชิญหน้ากับอารยธรรมอิสลาม เพราะฉะนั้น คอนฟลิก หรือความขัดแย้งใหญ่สุดหลังสงครามเย็นก็คือโลกทุนนิยมกับอารยธรรมอิสลาม อันนี้ไม่ต้องเป็นความขัดแย้งระดับระดับโลกก็ได้ คนที่เชื่อในทฤษฎีนี้ในประเทศไทย อาจจะเชื่อเพียงแต่ว่าความขัดแย้งระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิมก็ได้ เชื่อว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับชนกลุ่มน้อย คือพวกที่เป็นมุสลิมในภาคใต้ก็ได้ ก็ยกตัวอย่างได้เยอะแยะไปหมด

 

คนที่พอจะเอ่ยถึงก็ไม่ใช่นักวิชาการโดยตรง เช่น คุณประสงค์ สุ่นศิริ คนนี้เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเลยว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในภาคใต้ เจ.ไอ.แหงๆ เจ.ไอ.ก็คือ อัล - กออิดะห์ สำหรับทัศนะของสิงคโปร์หรืออเมริกาเอง

 

อีกคนหนึ่ง คุณ บะห์รูน ซึ่งเคยเป็นผู้ก่อการในอดีตแล้วก็เขียนบทความลงในเนชั่นสุดสัปดาห์ ก็เสนอในทำนองเดียวกัน แต่ไม่ได้พูดถึง เจ.ไอ. พูดถึงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ เป็นเรื่องของศาสนาประหลาด ลัทธิประหลาดที่อิงอยู่กับศาสนาอิสลาม แล้วก็โดนโจมตีว่าไม่ใช่อย่างนั้นอย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่

 

บางคนก็เชื่อนักวิชาการ บางคนก็เชื่อว่าเป็นความขัดแย้งเรื่องอัตลักษณ์ ระหว่างอัตลักษณ์ท้องถิ่น ซึ่งคือความเป็นมลายูมุสลิมกับอัตลักษณ์ไทย ซึ่งมันไม่ยอม ไม่มีเลย ซึ่งความเป็นมลายูมุสลิมมันไม่อยู่ในอัตลักษณ์ไทยเลย ซึ่งเป็นไทยก็ต้องเป็นพุทธ เป็นตะวันตก คล้ายฝรั่งมากกว่าก็แล้วแต่ เป็นต้น ทั้งหมดเหล่านี้ ก็คือคนที่อธิบายโดยจัดอยู่ในกลุ่มพวกที่ ถ้ามองแบบฝรั่ง ก็คือกลุ่มมองในเรื่องของการปะทะกันของอารยธรรม

 

ท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณเอง ในช่วงหนึ่งก็เคยพูดอะไรทำนองนี้ เมื่อกลางปี 47 ท่านก็ไปบรรยายที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร แล้วท่านก็บอกว่า ปัญหาในภาคใต้นั้นเป็นเรื่องของทุนนิยมกับวัฒนธรรมศาสนา มันไปด้วยกันไม่ได้ ไม่แต่เฉพาะศาสนาอิสลาม ทั้งพุทธ ฮินดู อะไรก็แล้วแต่ นั่นคือสาเหตุสำคัญของความรุนแรงในภาคใต้ จริงๆ ก็ไม่รู้ว่าคุณจะเชื่ออยู่หรือเปล่า คุณทักษิณก็เปลี่ยนความคิดไปเรื่อยๆ ก่อนนอนอย่างหนึ่งคิดอะไรก็ไม่รู้ รุ่งขึ้นก็คิดอีกอย่างหนึ่ง ก็ไม่รู้ว่าเวลานี้ยังเชื่ออยู่หรือเปล่า ก็จะจัดแกอยู่ในกลุ่มนี้ยังพอได้

 

ทฤษฎีสุดท้ายที่ฝรั่งใช้อธิบายการก่อการร้าย ก็คือ ก่อการร้ายปฐมภูมิ กับก่อการร้ายทุติยภูมิ สรุปง่ายๆ ก็คือ ฝรั่งบอกว่า การก่อการร้ายที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ จริงๆ มันเป็นผลมาจากการก่อการร้ายปฐมภูมิ ก็คือ ลัทธิอาณานิคม ก็ฝรั่งเองนั่นแหละ ที่เป็นผู้ทำลัทธิอาณานิคม ไปทำความรุนแรง คุณไปก่อการร้ายทั้งโลกเลย เขาอยู่ของเขาดีๆ คุณก็ไปยึดเขาเป็นเมืองขึ้น คุณเอาเปรียบเขาอย่างโน้นอย่างนี้ คุณไปก่อการร้ายมาแล้วทั้งโลก แล้ววันหนึ่งคุณก็ถอยกลับมานั่ง ไอ้คนที่ถูกก่อการร้ายแล้วประสบความเดือดร้อน เขาก็ก่อการร้ายตอบสนองคุณ เป็นการก่อการร้ายทุติยภูมิ เป็นการกระทำเพื่อตอบสนอง

 

คนที่ก่อทฤษฎีนี้ บอกว่า เฮ้ย ! จริงๆ แล้วมันไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น เขาไม่เห็นด้วยกับการก่อการร้ายทุกอย่าง ไม่ว่าปฐมภูมิหรือทุติยภูมิ แต่ต้องการพยายามที่จะอธิบายในเชิงประวัติศาสตร์ว่า ไอ้การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จริงๆ ก็เป็นผลมาจากการก่อการร้ายที่ตะวันตกได้ทำเอาไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 นั่นเอง

 

ทฤษฎีนี้ฟังดู เหมือนกับว่าใช้ไม่ได้ในเมืองไทย เพราะว่าเมืองไทยไม่เคยมีอาณานิคม แต่ว่าถ้าอธิบายประวัติศาสตร์จากอีกแง่มุมหนึ่ง แทนอีกแง่มุมหนึ่งที่ในการสอนคน พื้นที่ที่เป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด จริงๆ ก็คืออาณานิคม เพราะว่ารัชการที่ 5 ท่านทรงเปลี่ยนประเทศให้เป็นรัฐทันสมัย เป็นโมเดิร์นสเตท โดยวิธีที่ท่านไปลอกวิธีการที่ฝรั่งไปใช้ในประเทศที่เป็นอาณานิคมนั้นเอง

 

เพราะฉะนั้นดินแดนที่เคยเป็นปัตตานีก็กลับมาเป็นอาณานิคมของสยาม แต่ก่อนเป็นแค่ประเทศราช เชียงใหม่ก็เหมือนกัน อีสานก็เหมือนกัน ประเทศที่เป็นประเทศราชทั้งหลายถูกผนวกเข้ามาเป็นอาณานิคม ทางวิชาการบอกว่า เป็นการสร้างอาณานิคมภายใน ทำให้โมเดิร์นสเตทของรัชการที่ 5 จึงเป็นโมเดิร์นสเตทที่ไม่สมบูรณ์

 

เมื่อไหร่ที่คุณจะสร้างอาณานิคมขึ้นมา คุณก็ต้องมีระบบแทนตัว ระบบหรืออำนาจของตัวเอง ไม่ใช่ถูกลบหายไป อำนาจของตัวเองสามารถที่จะมีช่องทาง ที่จะบอกว่าคุณต้องการอะไร คุณไม่ต้องการอะไรกับคนที่ปกครองคุณได้ จะบอกโดยผ่านอะไรก็แล้วแต่ อันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย นอกจากนั้น การปกครองของรัฐสมัยใหม่ไม่ใช่มีเป้าหมายเพียง Peace and Order ไม่ใช่เพียงการรักษาความสงบเท่านั้น แต่รัฐบาลในรัฐสมัยใหม่ที่รัชการที่ 5 สร้างขึ้น มีเป้าหมายเพื่อรักษาความสงบ

 

ที่จริง Peace and Order เป็นคำขวัญของรัฐบาลของรัฐอาณานิคมในเอเชียทั้งหมดเลย อังกฤษก็ใช้ ในอินเดียก็ใช้ รัฐในมลายู อินโดนีเซียก็ใช้คำขวัญ Peace and Order เป็นหัวใจสำคัญของการปกครอง รัชการที่ 5 ก็ทำอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นในแง่นี้มันเกิดการก่อการร้ายปฐมภูมิขึ้นมาแล้ว แล้วมันก็มีการก่อการร้ายทุติยภูมิตามมา

 

ถ้าเรานำทฤษฎีนี้มาจับ ในคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในภาคใต้ของประเทศไทย ทักษิณบอกว่า ส่วนใหญ่ของผู้สื่อข่าวที่ลงมาในภาคใต้จะใช้คำอธิบายแบบนี้ ผู้สื่อข่าวเหล่านี้ก็จะรับ จริงหรือเปล่า ทักษิณก็ไม่ยอมรับหรอก ก็ไม่รู้ว่าจริงไม่จริงว่า เมื่อประมาณปี 2544 คุณทักษิณ เพิ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ลงมาภาคใต้ แล้วมาถึงก็มีนายตำรวจคนหนึ่ง คุณทักษิณก็เป็นตำรวจเก่า ก็มีนายตำรวจคนหนึ่งมาบรีฟ หรือมาเล่าให้ฟังว่า สถานการณ์ในภาคใต้ เป็นอย่างไรร้อยแปด

 

สิ่งที่ตำรวจบรีฟ ก็คือว่า มันไม่มีอะไร ผู้ก่อความไม่สงบเหลืออยู่ไม่กี่ร้อยคน โจรกระจอกทั้งนั้นแหละ ฉะนั้นแทนที่จะมีระบบการปกครองพิเศษ คือ ศอ.บต. และ พตท.43 เลิกไป ภาคใต้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ก็ปกครองเหมือนส่วนอื่นเขา ตำรวจมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการก่ออาชญากรรม

 

เขาเล่ากัน ผมจะไม่เอ่ยชื่อ เขาเล่ามาว่า ในการประชุมสภาความมั่นคงครั้งหนึ่ง ผู้ใหญ่ถึงกับพูดว่าถ้ามีแค่ ร้อยสองร้อยก็จัดการเดือนละ 10 คนเดี๋ยวมันก็หมด เพราะฉะนั้น คุณทักษิณก็กลับไป ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ยกเลิก ศอ.บต. ยกเลิก พตท. 43 โดยไปเชื่อตำรวจ

 

ในทักษะผู้สื่อข่าวที่อยู่ทางภาคใต้ จะรู้สึกว่า ศอ.บต. และพตท.43 มันเป็นเสมือนเคลียร์ริ่งเฮาส์ เหมือนว่าเวลาไปเบิกเงินธนาคารก็ต้องไปเช็คบัญชีที่อยู่ตรงกลาง

 

ผู้สื่อข่าวเชื่อว่าอย่างนี้ว่า ก่อนหน้านี้ มีผู้ก่อการ ผู้แบ่งแยกดินแดนในระยะตลอดมา วิธีที่คุณเปรม(ติณสูลานนท์) จัดการก็คือว่า ท่านสร้างเคลียร์ริ่งเฮาส์ขึ้นมา แล้วบอกให้มึงหยุด เลิกไม่ต้องทำ ทีนี้ มึงจะทำหากินอะไร สำหรับคนที่เป็นผู้ก่อการไปอยู่ในป่ามา 10 แล้ว ไม่รู้เรื่องการทำมาหากิน เอาอย่างนี้ คุณไปค้าของเถื่อนก็แล้วกัน มึงจะไปทำอะไรที่ผิดกฎหมายบ้าง จะไปค้ายาบ้าก็แล้วแต่ แล้วก็เป็นสายข่าวให้กูด้วย แล้วก็ไประวังกันเองด้วย มึงอย่าไปก่อการ มึงจะไปค้าของเถื่อนก็ทำไป พูดง่ายๆว่า เปลี่ยนจากการก่อการมาทำสิ่งผิดกฎหมาย แต่พอจะเลี้ยงตัวได้

 

เมื่อไหร่ที่ตำรวจถูกย้ายเข้ามาใหม่ แล้วเกิดไม่รู้พาไปจับคนที่ค้าของเถื่อนตัวไป ไอ้คนนี้ก็จะบอกลูกมือเขา วันรุ่งขึ้นลูกน้องเขาก็ยกพวกไปเผาทั้งโรงเรียนเลย การเผาโรงเรียนสมัยนั้น ก็จะมีการส่งสัญญาณให้ ศอ.บต. และพตท.43 ว่า เฮ้ย ! ยุ่งแล้วเว้ย มันตกลงกันไม่ได้ เราต้องไปเคลียร์ ก็ไปเคลียร์กันใหม่ ไปบอกตำรวจว่าอะไรก็แล้วแต่ ว่าเฮ้ย ! ปล่อยให้มันค้าบ้าง อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งก็อยู่กันไปได้

 

พอคุณเลิกเคลียร์ริ่งเฮาส์ เอาตำรวจเข้ามาจัดการอาชญากรรมทั้งหมด สิ่งที่พวกนี้ทำก็คือ อาชญากรรมเป็นสิ่งผิดกฎหมายไทยร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม คุณจะค้าของเถื่อนได้อย่างไร คุณจะค้ายาบ้างได้อย่างไร จับหมด ในขณะเดียวกันตำรวจก็ไม่มีสายข่าวในมือ เพราะทหารเป็นคนดูแลมาตลอด วิธีการที่ตำรวจจะสร้างสายข่าวขึ้นมาคือ ไปจับสายข่าวของทหารมา รีดข่าวจากมัน พอรีดเสร็จก็พบว่า สิ่งที่กูรีดมันผิดกฎหมายนี่หว่า เพราะรีดอย่างเดียวไม่พอเก็บมันเลยดีกว่าว่ะ ก็เกิดหนี้เลือดขึ้นมา เอาไปรีดข่าวแล้วก็ละลายมันเสียนี่ ก็เกิดหนี้เลือดขึ้นมาเยอะแยะ นี่เป็นความคิดของนักข่าว มันปรากฏในรายงานข่าวบ้าง ปรากฏในรายการสนทนาของอาจารย์เกษียรบ้างสรุปก็คืออย่างนี้

 

จริงๆแล้วมันตรงกับคุณชวน(หลีกภัย) กับพรรคประชาธิปัตย์พูดอยู่เสมอว่า เฮ้ย ! ขบวน การก่อการร้ายในประเทศไทยมันมีมาบรมสมกัลป์แล้ว แต่รัฐบาลที่ฉลาดเอามันอยู่ เขาจัดการมันได้ ไม่เป็นไร มันไม่เกิดความรุนแรงหรอก ก็จัดการแบบที่ผมบอกเมื่อกี้ ก็คือให้เขาค้าของเถื่อนบ้าง อะไรบ้าง อย่างนี้เป็นต้น มีแต่รัฐบาลโง่ๆ ที่ไปก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น คุณชวนไม่ได้ใช้คำรุนแรงแบบนี้ แต่นัยยะก็คือ คุณไม่รู้เรื่องเอง ที่ไปจับมันมาอุ้มฆ่า ก็เลยมันเกิดขึ้น

 

ทั้งหมดนี้ก็คือ สิ่งที่เราสามารถที่จะนำเอาคำอธิบายของฝรั่งมาใช้หรือประยุกต์ดูว่า ในการอธิบายของไทย มันตกอยู่ในกลุ่มไหนของสถานการณ์ที่พูดถึงเมื่อกี้นี้

 

ทีนี้มันมีปัญหา ญาณวิทยา ในสังคมไทยอยู่บางอย่าง ซึ่งขออนุญาตผ่านเพราะเวลาไม่พอ ซึ่งอาจารย์เกษียรได้พูดว่า มันมีปัญหา ซึ่งก็คือวิธีคิดของคนไทยเองเกี่ยวกับเรื่องที่จะพิจารณาสถานการณ์ในภาคใต้ที่มันผิดพลาดไปบางอย่าง ขอข้ามไปก่อน

 

ทีนี้อาจารย์เกษียรเป็นลูกเจ็ก เหมือนผม อาจารย์เกษียรก็มีประสบการของชนกลุ่มน้อยในชีวิตตัวเอง ชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย ในชีวิตตัวเองมา อาจารย์เกษียรก็อยากจะเอาประสบการณ์ตัวเองมาเทียบว่า ตัวเองเป็นชนกลุ่มน้อยมา ว่าจะสามารถอธิบายความเป็นชนกลุ่มน้อยของชาวมลายูได้หรือไม่ ก็พบว่าไม่ได้

 

ครั้งแรกที่อาจารย์เกษียรพูดเรื่องนี้ขึ้นมา พูดนอกเปเปอร์ ครั้งนั้นมีหมอแว (แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ) ก็นั่งอยู่ด้วย หมอแวปฏิเสธขึ้นมาทันที เจ็กกับแขกเหมือนกันหรือไม่ มึงนั่งตะเภามา กูอยู่นี่มาก่อนที่คนไทยเข้ามาด้วยซ้ำไป มันจะเหมือนกันได้อย่างไร อย่างนี้เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้น อาจารย์เกษียรก็เลยหันกลับมาดูว่า ไอ้ความต่างระหว่าคนจีนกับชาวมลายู มันอยู่ตรงไหนกันแน่ เพราะว่าไอ้ข้อความที่อาจารย์เกษียรเขียนมาตั้งแต่ต้น บอกว่า เฮ้ย ! จีนก็ผ่านมา แล้ว ชาวมลายูบอกว่า ไม่ใช่ มึงกับกูไม่เหมือนกัน แล้วอาจารย์เกษียรก็กลับมาคิดดูว่า ความต่างมันอยู่ตรงไหน ทำไมมันถึงใช้เปรียบเทียบกันไม่ได้สำหรับคนมลายู ท่านก็เสนอว่า อันที่ 1 ก็คือว่า อย่างที่หมอแวพูดว่า คนมลายูเขาอยู่ที่นี่มาก่อน คนจีนไหนๆ ก็ต้องยอมรับว่า บ้านอยู่ทางโน้น แล้วนั่งสำเภามา มันไม่ใช่อยู่มาก่อน อันนี้ก็เป็นความต่างที่มีความสำคัญสำหรับคนมลายู

 

แล้วในขณะเดียวกันคนมลายูก็ไม่ได้อยู่ที่นี้คู่กับคนไทยด้วย อีกฝั่งหนึ่งก็มีคนมลายูเยอะแยะเลย อยู่ติดๆ กันด้วย คือเพื่อนบ้านที่เป็นมลายูมุสลิมในประเทศไทยนี่ ฝั่งหนึ่งเป็นคนไทยพุทธ อีกฝั่งก็เป็นคนมลายูด้วยกัน ซึ่งเป็นมุสลิมด้วยกันด้วย จีนก็ไม่ใช่ จีนเขามาอยู่โดดเดี่ยวในสังคมไทย

 

ในแง่นี้ อาจารย์เกษียรก็เตือนไปด้วยนะว่า มันก็สำคัญก็จริง แต่มันก็ไม่ใช่โดดเด่น คนอีสานก็อยู่ในสถานะเดียวกัน คนอีสานก็อยู่ติดการเพื่อบ้านที่เป็นลาว แล้วก็เรียกตัวเองว่าเป็นลาวด้วย ก็ลักษณะเดียวกัน เหมือนกันเป๊ะ แต่ว่าคนอีสานไม่มีปัญหา จะมีปัญหาก็ตรงนี้ อันนี้คือความแตกต่างข้อที่ 1

 

ความแตกต่างข้อที่ 2 ก็คือว่าในทางวัฒนธรรม คนมลายูมุสลิมมีอัตลักษณ์ความเป็นมลายู ซึ่งแยกระหว่างมุสลิมออกจากกันไม่ได้ ซึ่งแข็งแกร่งมากๆ เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกันเลย แล้วข้อนี้ รัฐไทยไม่สามารจะรับข้อนี้ได้เหมือนกัน คือประเทศไทยโดยรัฐธรรมนูญ โดยทางการแล้วนี่ ประเทศไทยประกาศตัวเองเป็น "เซคคิวล่าร์ สเตท" เป็นรัฐโลกวิสัย ถูกมั้ยคือ ถ้าถามรัฐธรรมนูญ ก็บอกว่ากูไม่มีปัญหา กูไม่ยุ่ง รัฐธรรมนูญไทยบอกกูไม่ได้เป็นพุทธด้วยซ้ำไป กูเป็นคนเฉยๆ กูจะเป็นอะไรก็ได้ นี่ว่ากันโดยทางการ แต่ในการปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่

 

คือประเทศไทย ปฏิเสธความเป็นพุทธที่เด่นชัด ที่เป็นส่วนสำคัญที่ครอบงำอัตลักษณ์ความเป็นไทยไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ยุ่งละซิ พอคุณบอกว่า คุณเป็นมลายู เป็นมุสลิมด้วย อ้าว ! มันก็ยัดเข้ามาอยู่ในความเป็นไทยยากมากๆ เลย เพราะความเป็นไทยในความเป็นจริง ในทางวัฒนธรรมมันปฏิเสธความเป็นพุทธด้วยได้ยาก มันเหมือนกับมีอะไรเข้ามันปน

 

อันที่ 3 อาจารย์เกษียรบอกว่า ไอ้ความเป็นชนกลุ่มน้อยของชาวมลายู จริงๆ แล้ว ความเป็นชนกลุ่มน้อยในดินแดนตรงนี้มันซ้อนทับกันอยู่ 3 ชั้น ชั้นที่ 1 ก็คือว่า ถามว่าใน 3 จังหวัดภาคใต้ ใครคือ ชนส่วนน้อย คำตอบคือไทยพุทธ เพราะมันมีอยู่แค่ 3 แสนคน มลายูมุสลิมมีถึง 1 ล้าน 8 แสนคน นี่คือชั้นที่ 1 จริงๆ ใน 3 จังหวัดภาคใต้ คนมลายูมุสลิมไม่ใช่คนส่วนน้อย เป็นคนส่วนใหญ่

 

พอชั้นที่ 2 ในประเทศไทยล่ะ ชาวมลายูมุสลิมเป็นชนส่วนน้อย เพราะมีคนไทยอยู่ 50 กว่าล้านคน เพราะเขาไม่เป็นมลายู ไม่ได้เป็นมุสลิม แต่เขาเป็นคนพุทธ คนมลายูมุสลิมกลายเป็นคนส่วนน้อย

 

เอาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราอาจจะจัดคนที่เป็นมลายูนี่ อยู่ 300 กว่าล้านคน ที่เป็นมุสลิม 260 ล้านคน อยู่ในประเทศต่างทั่วโลก ไอ้ไทยพุทธที่มีแค่ 60 ล้านคน ไอ้นั่นแหละชนส่วนน้อย

 

เพราะฉะนั้น ประเด็นปัญหาก็คือว่า ทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ เราทุกคนเป็นชนส่วนน้อยหมด แล้วแต่ว่าคุณจะนับอยู่ในชั้นไหน คนไทยก็คือ ชนส่วนน้อยในระดับภูมิภาค ใครก็เป็นมลายูและเป็นมุสลิมทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันมลายูมุสลิมก็เป็นชนส่วนน้อย ถ้านับเฉพาะในประเทศไทย

 

ปัญหาเรื่องคนส่วนน้อยยิ่งมีความสลับซับซ้อน และทำให้ทุกคนต้องคิดถึงสิทธิของคนส่วนน้อยให้ดี คือหมายความว่า เมื่อไหร่ที่เราคิดว่า เขาไม่ควรมีสิทธินี้ เพราะเขาเป็นคนส่วนน้อย ต้องคิดย้อนกลับมาว่า แล้วมึงก็เป็นเหมือนกันชนส่วนน้อย ถ้ามึงปฏิเสธสิทธิอันนี้แก่เขา คุณก็ต้องปฏิเสธสิทธิอันนี้ในฐานะที่เป็นคนส่วนน้อยเหมือนกัน ต่อไปเรื่องคนส่วนน้อยจะเป็นเรื่องที่อ่อน ไหวมาก ถ้าเราไม่คิดให้ดีแบบนี้ว่า จริงๆ ทุกคนเป็นคนส่วนน้อยหมดแล้วแต่ว่าเราจะนับว่าเราอยู่ในสถานการณ์ใด

 

ประเด็นที่ 4 อาจารย์เกษียรเสนอ สรุปก็คือว่า คนมลายูแตกต่างกับคนอื่นๆ ในประเทศไทย จีนเจิน อะไรร้อยแปด แตกต่างหมดเลย ตรงที่ว่า มีสำนึกทางประวัติศาสตร์ของตนเอง ที่ไม่สามารถกลืนเข้าไปในประวัติศาสตร์สำนวน หรือประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยได้ คนเชียงใหม่ คนอยุธยา รบกันมาไม่รู้ตั้งเท่าไหร่แล้ว แต่ไอ้คนเชียงใหม่มันไม่มีปัญหา กลับบอกว่า เฮ้ย ! กูก็เป็นส่วนหนึ่ง ทุกคนก็เฮๆ กับพระนเรศวร ที่จริงพระนเรศวรไปปราบพวกมัน ยกย่องพระนเรศวรหมด ไม่มีความ รู้สึก

 

แต่พอมากับคนมลายูมุสลิมนี่ เขามีประวัติศาสตร์ คือเขามีตัวตน มีความทรงจำอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นความทรงจำที่ไม่สามารถยัดเข้าไปในความทรงจำแห่งชาติไทยฉบับที่เราเรียนกันอยู่ มันก็กลายเป็น 2 ชุดที่มันตั้งแข่งกันเองอยู่ตลอดเวลา

 

สรุปก็คือว่า คนมลายูมุสลิมในประเทศไทยนั้น เมื่อคุณมีความทรงจำแบบนี้ คุณก็รู้สึกว่า คุณย่อมเป็นคนที่อยู่ใน มีรัฐอยู่ในรัฐ เพราะเนชั่น สเตท สมัยใหม่ มันก็ต้องมีความทรงจำร่วมกัน คุณจะมีความทรงจำอิหลักอิเหลื่อแบบนี้ไม่ได้ มันมีรัฐอีกรัฐหนึ่งที่มันมองหาไม่เจอ แต่เป็นรัฐที่อยู่ในรัฐ สังคมที่อยู่ในสังคม ในสังคมนี้ก็มีความทรงจำที่แตกต่าง และมีชุมชนทางศีลธรรมที่แตกต่างด้วย

 

คือมนุษย์เรานี่มีชุมชนในจินตนาการ ในสำนึก แล้วมันจะมีชุมชนทางศีลธรรมอีกอันหนึ่ง ซึ่งเราไม่สามารถยัดชุมชนทางศีลธรรมของเราลงไปในสังคมไทยได้ง่ายๆ

 

ฉะนั้น พอจะเปรียบเทียบประสบการณ์ของชาวมลายูกับประสบการณ์ของชาวจีน พบว่าแตกต่างกันมาก ทีนี้อาจารย์เกษียรก็จะสรุปประสบการณ์ของจีนให้ฟังว่า มันเป็นอย่างไร คือพูดอย่างง่ายๆ สรุปอย่างสั้นๆ ที่สุดก็คือว่า ไอ้จีนในประเทศไทยในระยะแรกๆ มันถูกกันออกไปจากพื้นที่ในทางการเมือง

 

ถ้าคุณอยากจะอยู่ในสังคมไทยอย่างเป็นสุข และเข้ามาในพื้นที่สาธารณะเมื่อไหร่ เมื่อนั้นคุณต้องปลอมตัวเป็นไทย เช่น เปลี่ยนนามสกลุเสีย เปลี่ยนชื่อเสีย แต่งตัวให้เหมือนเขา พูดตัว ร.เรือ ให้ชัดๆ อะไรก็แล้วแต่ แล้วคุณก็เข้ามาในพื้นที่สาธารณะได้ คุณอยู่ที่บ้าน คุณก็ทำขนมเข่งไหว้เจ้าซิ รัฐไทยไม่ยุ่งเชิญตามสบายไม่เกี่ยว แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณออกไปในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สาธารณะรวมแม้แต่พื้นที่การเมือง คุณอยากมีอำนาจทางการเมืองก็ได้ แต่คุณปลอมตัวให้สนิทหน่อย ปลอมตัวความเป็นไทยหน่อย ดำรงความเป็นเจ็กให้น้อยหน่อย แต่ถ้ากลับบ้านก็เชิญตามสบาย คุณจะต้าตือ ฮวยก็ตามสบาย พูดภาษาจีนก็ตามสบาย แต่ถ้าข้างนอกไม่ได้

 

เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงหัวใจของมันจริงๆ ที่อาจารย์เกษียรสรุปก็คือว่า เรื่องของความเป็นไทยกับเรื่องของจีนในประเทศไทย จริงๆ ก็คือ วิธีการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุนเพราะจีนมันมีทุน แต่มันไม่มีรัฐของมันเอง แต่มันยอมพร้อมที่จะเปลี่ยนมาเป็นรัฐ สถานการณ์ของคนจีน หรือเชื้อสายจีนมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะพวกนี้ คือพวกที่ไปเรียนแบบใหม่ เป็นผลของการพัฒนาเป็นอะไรร้อยแปด ในที่สุดมันก็กลายมาเป็นไทย ในที่สุดมันก็ถูกกลืนตัวมันเองเข้าไปในระบบมากขึ้นๆ จนกระทั่งว่า ความเป็นจีนในปัจจุบันไม่ใช่ปมเขื่อง ไม่ใช่ปมด้วยอย่างแต่ก่อนนี้อีกแล้ว

 

อาจารย์เกษียรสรุปเป็นภาษาอังกฤษว่า It"s OK to be most Thai and Jek at the same time, But it"s not OK most to be Thai and Malay at the same time. หมายความว่า ถ้าคุณเป็นทั้งเจ็กทั้งไทยนี่ได้ เพราะว่าพัฒนาการมันเปลี่ยน แต่ของเรามันไม่ได้

 

ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านเสนอว่า โดยสรุปก็คือว่า ถ้าอย่างนั้นในทางรัฐศาสตร์จะคิดอย่างไร เมื่อไหร่ก็ตามแต่ ถ้าคนมันรู้สึกมันขับเคลื่อนรัฐไม่ได้ และขณะเดียวกันรัฐก็ประสบความล้มเหลว คือในสถานการณ์ทางภาคใต้ทุกวันนี้ รู้สึกว่า คุณแทบจะอยู่ในที่ที่ไม่มีรัฐแล้ว คือถ้าคุณมีรัฐ ต้องมีใครซักคนที่สามารถปกป้องคุ้มครองคุณได้ ที่บ้านคุณโดนระเบิดมีใครซักกี่คนที่อยากจะไปแจ้งความบ้าง เพราะเขาแจ้งไปก็อย่างนั้นแหละ ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะเขารู้ว่าไม่มีวันที่จะจับคนร้ายได้ เท่ากับคุณไม่รัฐ หรือกลับคืนไปสู่ สเตท เนเจอร์ คือรัฐธรรมชาติแบบแต่ก่อน คือไม่ต้องมีรัฐอีกแล้ว

 

ถ้าสถานการณ์ยังเป็นถึงขนาดนี้ ในทางรัฐศาสตร์จะทำอย่างไร คำตอบของอาจารย์เกษียรก็คือว่า ถ้าคุณเชื่อแบบเสรีนิยม เชื่อแบบจอห์น ล็อค ทั้งหลายนี่ รัฐนี่เกิดขึ้นจากข้อตกลงกัน เป็นการดิว(ตกลง) กันระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชน ก็แสดงว่าไอ้ข้อตกลงเดิมมันใช้ไม่ได้แล้วซิ ไอ้ข้อตกลงระหว่างรัฐไทยกับเจ็กยังใช้ได้อยู่ ข้อตกลงระหว่างรัฐไทยกับมลายูมันใช้ไม่ได้แล้ว ก็ต้องมาตกลงกันใหม่

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านก็เสนอว่า เราจะสร้าง "มูฟเวอนเมนท์ตีวีตี้" หรือ นิวดีล (ข้อตกลงใหม่) ระหว่างรัฐไทยกับชาวมลายูใหม่ได้อย่างไร ข้อเสนอท่านมีอยู่ทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน

 

อันที่ 1 ก็คือว่า ต้องสร้างชุมชนทางการเมืองขึ้นมาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่าชุมชนทางการเมือง ก็คือว่า ต้องให้คนในพื้นที่สามารถที่จะเคลื่อนไหว ต่อรองกับรัฐในฐานะที่เท่าเทียมกันได้ ชุมชนนั้นมีความเป็นอิสระ ชุมชนนั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อย่าลืมนะครับ เวลาพูดถึงชุมชน ต้องไม่ได้หมายถึงชุมชนมุสลิมอย่างเดียว มันมีไทยพุทธอยู่ ตรงนี้ เขาก็ต้องมีสิทธิในการเป็นชุมชนของเขาเอง เคลื่อนไหวต่อรองกับชาวมลายูมุสลิมเองได้ด้วย และทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งเขา ทั้งมลายูมุสลิมมีฐานะที่เท่าเทียมกับกรุงเทพ ต่อรองกันได้ด้วย

 

และทั้งหมดเหล่านี้ ท่านเชื่อว่า หัวใจสำคัญต้องอยู่ที่หมู่บ้านของเขา คือประชาชนระดับล่างต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเอง อันนี้ผมนอกเรื่องไปนิดหนึ่ง ผมไม่ยอมรับเกียรติที่จะเป็นผู้พูดแทนสิ่งที่ท่านบอกว่าท่านพูดเอง ไม่ได้ ต้องพูดผ่านผม ผมจึงรับเกียรติ เพราะผมเชื่อว่า ปัญหาในภาคใต้แก้ได้เมื่อตัวท่านลุกขึ้นมาเอง ไม่มีใครแทนท่านได้ ท่านเท่านั้นที่แทนตัวท่านได้

 

ประเด็นที่ 2 ที่อาจารย์เกษียรเสนอก็คือว่า ต้องเปลี่ยนเอกลักษณ์ไทยให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไอ้ความเป็นไทยมันต้องมีความหลากหลายมากกว่านี้ จะไม่ขอลงในรายละเอียด แต่อยากชี้ให้เห็นอย่างหนึ่งว่า เวลาเราพูดถึงปัญหาภาคใต้ เราชอบพูดว่าปัญหาอยู่กับคนอื่น ปัญหาคือเรื่องของเขา ไม่เคยคิดว่าปัญหาอยู่กับตัวเราเองด้วย คือรัฐไทยเองก็มีปัญหาด้วย ในการที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่คนมลายูมุสลิมที่เขามีปัญหาอยู่ร่วมกับเรา เรามีปัญหาอยู่ร่วมกับเขาด้วยเหมือนกัน

 

เพราะฉะนั้นข้อเสนอข้อที่ 2 ก็คือต้องกลับมาดูว่า เราจะสามารถแก้อะไรให้ตัวเรา คือรัฐไทยนี่ สามารถที่จะปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้อยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างกับเราสุดกู่เช่นนั้นได้ด้วย

 

ในแง่ของข้อตกลงทางวัฒนธรรม สำหรับข้อนี้ คงเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนรัฐไทยให้ยอมรับ หมายความว่า คือข้อตกลงระหว่างเจ็กกับไทยในพื้นที่ซึ่งเป็นของชุมชนจีน ในพื้นที่ซึ่งเป็นของครอบครัวจีน อยากจะอยู่อย่างไรก็ตามสบาย แต่เมื่อไหร่คุณมาที่อำเภอ มายังสถานที่ราชการคือพื้นที่ของรัฐไทย คุณต้องเป็นไทยนะ

 

ข้อตกลงอันที่ 2 ถามว่า ใช้กับคนชาวมลายูพอหรือไม่ ไม่พอ เพราะความแตกต่างที่พูดถึงเมื่อกี้ ทำให้ชาวมลายูต้องการความเป็นพื้นที่ชาวมลายูในพื้นที่สาธารณะมาก คือจีนบอกว่า ระหว่างรักษาความเป็นจีน กับรักษาความเป็นเศรษฐี คุณจะเลือกอะไร คนจีนเลือกกูเป็นเศรษฐีดีกว่า ความเป็นจีนเอาไว้ก่อน แต่คนมลายูบอก ไม่ได้ จึงต้องเปิดพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเราเรียกว่าพื้นที่ทางการ หรือพื้นที่สาธารณะตรงนี้ ในแก่ความเป็นมลายูสูงกว่าที่คุณเปิดให้แก่จีนไป เช่นเป็นต้นว่า การใช้ภาษามลายู จะยอมรับระดับไหนก็แล้วแต่ ต้องให้เขามีโอกาสได้ใช้ภาษามลายูได้ ขอนอกเรื่องนิดเดียวว่า เราอย่างมองภาษาเป็นเพียงมรดกของบรรพบุรุษแต่เพียงอย่างเดียว

 

จริงๆ ภาษาเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ เมื่อไหร่ที่คุณพูดอะไรไม่ดีอย่างที่ใจคุณพูด มันทำให้อำนาจของคุณลดลง เพราะฉะนั้นการไม่ให้คุณพูดภาษามลายู เมื่อไหร่ที่คุณอยากจะพูด กลายเป็นเรื่องของทางการ เรื่องของอำนาจ ก็เท่ากับบอกว่าคุณอย่ามีอำนาจนั้นเอง

 

ประเด็นที่ 3 ที่อาจารย์เกษียรเสนอ ก็คือว่า ต้องประคับประคองการปฏิรูปเศรษฐกิจชายแดนภาคไปให้ได้ ปฏิรูปนะครับ ไม่ใช่พัฒนา เพราะว่า ถ้าเราเปรียบเทียบกับจีน คือมันแตกต่างกันมากเลย รัฐไทยบอกจีนว่า เฮ้ย! มึงอยากเป็นทุนนิยม เอาเลย เต็มที่เลย กูขอแค่ค่าต๋ง คุณอยากจะรวยเท่าไหร่ รวยไปได้ แต่ว่า เวลากูอยากกินกูต้องได้กิน คือต้องให้ถ้วนหน้าด้วยนะเว้ย อะไรทำนองนี้ จึงอยู่กันมาได้ตลอดเวลา

 

แต่ว่าในกรณีภาคใต้นี่ คนมลายูบอกว่า กูไม่อยากเป็นนายทุนนี่หว่า เพราะฉะนั้นการปฏิรูป การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้ หรือการประคับประคองเศรษฐกิจในภาคใต้ ก็คือต้องประคับ ประคอง ให้ทางเลือกแก่คนในการที่เขาจะอยู่อย่างที่เขาอยากอยู่ เป็นต้น

 

เวลาที่คุณต้องการไปปรับปรุงภาคทรัพยากรของเขาบางอย่าง ก็ต้องคิดด้วยว่าเขายังไม่อยากไปไหนเลย อย่าไปพัฒนาเศรษฐกิจหรือทุ่มทุนในทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยคนส่วนน้อย ที่จริงถามว่ารัฐลงทุนในด้านไหน ก็ลงทุนในด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ว่า มันลงทุนที่เป็นประโยชน์แก่คนส่วนน้อย ซึ่งอาจจะเป็นมลายูมุสลิมนั้นแหละ แต่ที่มีจำนวนน้อย ต้องคิดถึงโอกาสของคนส่วนใหญ่ที่เขาจะสามารถพัฒนาโดยตัวเขาเป็นคนเลือกเองได้ด้วย เช่นเป็นต้นว่า ถ้าพูดแบบอย่างที่ชอบพูดกันว่า โอกาสทางเศรษฐกิจอย่างพอเพียง ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาด้วย เพราะเขาอยากอยู่อย่างนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท