Skip to main content
sharethis

วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2006 14:06น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้บรรยายแทน รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อ "สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต"ที่วิทยาลัยอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า ดร.เกษียร ได้นำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 ประการ


 


ทั้งนี้ รศ.ดร.เกษียรตั้งข้อสังเกตว่า หากรัฐเกิดขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า ข้อตกลงเดิมระหว่างรัฐไทยกับคน 3 จังหวัดนั้นใช้ไม่ได้แล้ว


 


"เพราะฉะนั้นสิ่งที่ท่านก็เสนอว่า เราจะสร้าง "มูฟว์เมนท์ตีวีตี้" หรือ นิวดีล (ข้อตกลงใหม่) ระหว่างรัฐไทยกับชาวมลายูใหม่ได้อย่างไร" ดร.นิธิ อธิบาย


 


โดย ดร.เกษียรเห็นว่า ข้อตกลงใหม่ต้องอยู่บนฐานของการสร้างชุมชนทางการเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัด โดยคำว่า ชุมชนทางการเมืองนั้น หมายถึง ต้องให้คนในพื้นที่สามารถเคลื่อนไหวต่อรองกับรัฐในฐานะเท่าเทียมกัน มีอิสระและความหลากหลายทางวัฒนธรรม


 


"อย่าลืมนะครับ เวลาพูดถึงชุมชน ต้องไม่ได้หมายถึงชุมชนมุสลิมอย่างเดียว มันมีไทยพุทธอยู่ ตรงนี้ เขาก็ต้องมีสิทธิในการเป็นชุมชนของเขาเอง เคลื่อนไหวต่อรองกับชาวมลายูมุสลิมเองได้ด้วย และทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งเขา ทั้งมลายูมุสลิมมีฐานะที่เท่าเทียมกับกรุงเทพ ต่อรองกันได้ด้วย"


 


นอกจากนั้น ในประเด็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย รศ.เกษียรเห็นว่า จะต้องเปิดกว้างให้มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามาใช้พื้นที่สาธารณะ เพื่อให้คนในประเทศซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้


 


"อยากชี้ให้เห็นอย่างหนึ่งว่า เวลาเราพูดถึงปัญหาภาคใต้ เราชอบพูดว่าปัญหาอยู่กับคนอื่น ปัญหาคือเรื่องของเขา ไม่เคยคิดว่าปัญหาอยู่กับตัวเราเองด้วย คือรัฐไทยเองก็มีปัญหาด้วย ในการที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่คนมลายูมุสลิมที่เขามีปัญหาอยู่ร่วมกับเรา เรามีปัญหาอยู่ร่วมกับเขาด้วยเหมือนกัน"


 


นอกจากนั้น นักรัฐศาสตร์สำนักท่าพระจันทร์เห็นว่า จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ จะต้องประคับประคองให้ทางเลือกแก่คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนใน ให้สามารถอยู่อย่างที่อยากเป็นได้ด้วย


 


"เวลาที่คุณต้องการไปปรับปรุงภาคทรัพยากรของเขาบางอย่าง ก็ต้องคิดด้วยว่าเขายังไม่อยากไปไหนเลย อย่าไปพัฒนาเศรษฐกิจหรือทุ่มทุนในทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยคนส่วนน้อย ที่จริงถามว่ารัฐลงทุนในด้านไหน ก็ลงทุนในด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ว่า มันลงทุนที่เป็นประโยชน์แก่คนส่วนน้อย ซึ่งอาจจะเป็นมลายูมุสลิมนั้นแหละ แต่ที่มีจำนวนน้อย ต้องคิดถึงโอกาสของคนส่วนใหญ่ที่เขาจะสามารถพัฒนาโดยตัวเขาเป็นคนเลือกเองได้ด้วย เช่นเป็นต้นว่า ถ้าพูดแบบอย่างที่ชอบพูดกันว่า โอกาสทางเศรษฐกิจอย่างพอเพียง ก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาด้วย เพราะเขาอยากอยู่อย่างนั้น" ศ.นิธิสรุปข้อเสนอของ รศ.ดร.เกษียร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net