Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 16 พ.ค. 49     เนื่องจากวันที่ 16 พฤษภาคม เป็นวันรณรงค์สากลเพื่อความสมานฉันท์และประชาธิปไตยในพม่า กลุ่มผู้ไม่พอใจรัฐบาลพม่าได้รวมตัวกันหน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสาธรเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. เพื่อยื่นแถลงการณ์ต่อสถานทูต


 


ส.ต.ท.สมชาย ศรีเย็น มูลนิธิสื่อภาคประชาชน เป็นผู้อ่านแถลงการณ์เนื้อความว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพม่ามีมากขึ้น แต่ไม่มีใครจัดการได้เพราะต่างก็มีผลประโยชน์กับพม่าไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหประชาชาติ สหภาพยุโรป อาเซียน จีน อินเดีย ทำให้รัฐบาลทหารพม่ามีความเข้มแข็งและสามารถข่มเหงรังแกประชาชนโดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและเสียงของประชาคมโลกได้


 


นอกจากนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้สหประประชาชาติหรือยูเอ็น โดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคงมีมติอย่างชัดเจนต่อพม่าในการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและสันติภาพของภูมิภาค โดยเข้ามาแทรกแซงและกดดันให้ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำทางการเมืองและนักโทษการเมืองทั้งหมด และต้องทั้งทำให้เกิดการเจรจาสามฝ่ายอย่างแท้จริง


 


ประการต่อมา อาเซียนและประชาคมโลกควรทบทวนท่าทีต่อพม่าใหม่ ส่วนรัฐบาลไทยควรให้ความสนใจมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนพม่าทั้งในบริเวณชายแดนและในประเทศไทยให้มากกว่านี้


 


แถลงการณ์เนื้อความเดียวนี้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีนาย Sean Frosier จาก Canadain Friends of Burmar เป็นผู้อ่าน


 


หลังอ่านแถลงการณ์จึงยื่นต่อไปทางสถานทูตพม่า แต่ทางสถานทูตไม่รับและไม่เปิดประตู ตัวแทนจึงนำแถลงการณ์เสียบไว้ที่ริมรั้วทางเข้า จากนั้นจึงเผาพริกเผาเกลือในบริเวณทางเข้าเพื่อสาปแช่งรัฐบาลทหารพม่าที่กระทำทารุณกรรมต่อประชาชนของตัวเอง โดยเผาไปพร้อมกับรูปของนายพล ตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า และชูป้ายรณรงค์ THE UNITED NATIONS MUST ACT ON BURMAR NOW, FREE AUNG SAN SU KYI AND ALL POLLITICAL PRISONERS!, คืนสันติภาพและประชาธิปไตยให้ประชาชนพม่า


 


สุดท้ายมีการจุดเทียนและปักไว้บริเวณหน้าสถานทูตพม่า และสาดพริกเกลือที่เผาแล้วไว้บริเวณนั้น


 


นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ที่ปรึกษาฟอรั่มเองเชีย กล่าวว่า ที่ผ่านมาอาเซียนอ้างว่าให้โอกาสพม่าค่อยๆเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่ตอนนี้ผ่านมากว่า 17 ปีแล้ว สถานการณ์พม่าไม่ได้ดีขึ้น คนพม่านับแสนคนยังต้องหนีและอพยพเข้ามาประเทศไทย หมู่บ้านนับพันถูกเผา แต่ถูกตีความว่าเป็นเรื่องภายในของพม่า


 


"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องภายในของพม่าอีกต่อไป ไทยเองก็ได้รับผลกระทบเยอะขึ้น ดังนั้นอาเซียนต้องทบทวนนโยบาย การสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าให้ก่ออาชญากรรม ก็เท่ากับการก่ออาชญากรรมเอง ขอเรียกร้องกับทั้งอาเซียนและยูเอ็น ต้องการให้คว่ำบาตรพม่า และปล่อยตัว นาง ออง ซาน ซู จี รวมทั้งต้องให้มีการเจรจาสามฝ่ายอย่างแท้จริง ไม่ใช่การจัดฉากโดยรัฐบาลทหารพม่าเช่นปัจจุบัน"


 


นางชลิดา กล่าวอีกว่า การจุดเทียนหน้าสถานทูตในวันนี้ก็คือการให้แสงส่องสว่างนำทางประชาธิปไตยให้รัฐบาลทหารพม่า เพราะตอนนี้ทั้งกลางวันและกลางคืนมองไม่เห็นเหมือนกันจนทำให้ประชาชนพม่าสูญเสียความสุข


 


จากนั้นกลุ่มดังกล่าวได้เดินทางไปยังสำนักงานสหประชาชาติเพื่อยื่นแถลงการณ์ดังกล่าวอีกแห่งหนึ่ง โดยทางสหประชาชาติส่งนาย David Lazaras ซึ่งเป็น Chief ของ UN ESCAP มาเป็นตัวแทนรับ


 


หลังรับหนังสือแล้ว ตัวแทนของสหประชาชาติกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมในพม่าและจะมีเจ้าหน้าที่จากทางสหประชาชาติเข้าร่วมประชุมก็จะนำเรื่องนี้เข้าหารือด้วย


 


O O O


 


แถลงการณ์


รณรงค์สากลเพื่อ ความสมานฉันท์ "คืนสันติภาพ ประชาธิปไตยให้กับประชาชนพม่า"


 


สถานการณ์ความรุนแรงในประเทศพม่าดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและไม่มีใครสามารถจัดการปัญหาในพม่าได้ ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจอเมริกา สหประชาชาติ สหภาพยุโรป อาเซียน มหาอำนาจในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ทุกประเทศมีผลประโยชน์ในพม่าแตกต่างกันไปตามระดับความสัมพันธ์ จุดยืน ผลประโยชน์ที่แตกต่างกันทำให้นโยบายต่อพม่าไม่เป็นเอกภาพ เปิดโอกาสให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าเข้มแข็งข่มเหงรังแกประชาชนพม่าอย่างไม่แคร์เสียงประชาคมโลก หรือเคารพมาตรฐานสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด


 


กล่าวได้ว่าการที่อาเซียนจะพยายามพัวพันกับพม่าอย่างสร้างสรรค์นั้นชอบแล้วหรือ ในเมื่อพม่าไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนหรือไม่ได้มีความรู้ ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนแต่ประการใดเลย การค่อยๆทำให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าค่อยๆเปลี่ยนจึงเป็นการซื้อเวลาที่ไม่เหมาะสม สิบเจ็ดปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าการรอให้รัฐบาลทหารพม่าค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นนโยบายที่ไม่เป็นจริง


 


สิบเจ็ดปีที่ผ่านมาประชาชนพม่าหลายสิบล้านคน รวมทั้งชนกลุ่มน้อย ทั้งผู้หญิงและเด็กต้องเสียชีวิตอย่างไร้ค่า ถูกทรมานอย่างผิดมนุษย์ ที่เหลืออยู่มีสภาพชีวิตที่เหมือนตายทั้งเป็นทั้งในและนอกประเทศพม่า มีผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่ไม่มีอนาคตนับแสนคนในค่ายผู้ลี้ภัยนานกว่าสิบเจ็ดปี ผู้พลัดถิ่นชาวพม่าตามรอยตะเข็บชายแดนไทย พม่าและอื่นๆมีชีวิตอยู่ต่ำทรามยิ่งกว่าสัตว์ แรงงานพม่าถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ ข่มเหงจนกระทั่งสูญเสียชีวิตอย่างทรมาน เด็ก ผู้หญิงถูกหลอกลวงมาค้าและถูกทารุณกรรมเหมือนไม่ใช่มนุษย์ สิ่งต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการดูดายของมหาอำนาจต่างๆที่นิ่งเฉยและตีความว่าเป็น "เรื่องภายในของพม่า"


 


เราในนามของประชาชนไทยที่เคารพในความเป็นมนุษยชนขอยืนยันว่า ความเป็นมนุษย์ไม่มีพรมแดน การละเมิดต่อชีวิตทรัพย์สินของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าเชื้อชาติใด สัญชาติใด สภาพใดเป็นภัยต่อมนุษยชาติ เป็นอาชญากรรมที่มีความผิดร้ายแรง มนุษย์ทุกคนเกิดมามีสิทธิที่จะได้รับความรัก ความสุข ความเคารพในความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน เราจึงขอประณามการกระทำทั้งปวงที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ากระทำต่อประชาชนของตนเอง ผู้ที่เฉยเมยและยินยอมให้การละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นถือเป็นอาชญากรด้วย เราจึงขอเรียกร้องให้


 


1.สหประชาชาติโดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีมติต่อพม่าอย่างชัดเจนในการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและสันติภาพของภูมิภาค เข้าแทรกแซงและกดดันให้ปล่อยตัวผู้นำทางการเมืองนาง ออง ซาน ซู จี และนักโทษการเมืองทั้งหมด ดำเนินการให้เกิดการเจรจาสามฝ่ายอย่างแท้จริงเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดและทำให้เกิดความปรองดองแห่งชาติพม่า


 


2.อาเซียนและประชาคมโลกทั้งหมดควรทบทวนนโยบายและท่าทีต่อพม่าใหม่ทั้งหมด และควรสนับสนุนให้ความร่วมมือกับคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติอย่างใกล้ชิดในการสร้างความปรองดองแห่งชาติพม่า


 


 


3.รัฐบาลไทยความสนใจมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนพม่าบริเวณชายแดนและในประเทศไทยให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นต่อกรณีชนกลุ่มน้อย ผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น แรงงานพม่า และผู้หญิง เด็กที่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยควรมีนโยบายที่ส่งเสริมมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรกับประชาชนพม่าที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น รัฐบาลไทยควรส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยโดยเร็ววันในพม่าและมีความยินดีกับการเป็นประชาธิปไตยของพม่า ทั้งนี้เพื่อความสมพันธ์อันดีและยั่งยืนกับประเทศและประชาชนพม่าที่เป็นเพื่อนบ้านกับประเทศไทยมาอย่างยาวนานและตลอดไป


 


 


16 พฤษภาคม 2549


สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย(Forum - Asia)


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า(กพร.)(TBC)


มูลนิธิสื่อเพื่อประชาชน(People Media Foundation)


ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาสิทธิผู้หญิง(Women Rights and Development Center)


เครือข่ายผู้หญิงชุมชนแออัด(Slum Women Network)


สถาบันวิจัยและปฏิบัติการสังคม(The Institute for Social Research and Action)


โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย(Thai Labor campaign)             


กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน(Workers Democracy)


สหภาพพันธมิตรประชาธิปไตย(Alliance of Democratic Trade Union - ADTU)


กลุ่มสมานฉันท์แรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (Asia Pacific Workers Solidarity Thailand - APWSL)


ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษา(Student Activities Information Resource - SAIR)


Bumar Issue(TBC)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net