Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.manager.co.th


 


บ่ายวันนี้ (16 พ.ค.)  มีการจัดเสวนาโครงการเวทีเสวนาสาธารณะ เนื่องในวาระครบรอบ 14 ปี เหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 เรื่องอำนาจรัฐกับสิทธิทางการเมืองและสิทธิของพลเมือง โดยสำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ณ ห้องสีดา โรงแรมรัตนโกสินทร์


 


นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า สิทธิพลเมืองของประชาชนไทยถูกทำลายในเชิงโครงสร้าง ทั้งในรัฐธรรมนูญและการปฏิบัติ ตั้งแต่การศึกษา เศรษฐกิจ ศาสนาและอื่นๆ


ด้านการศึกษา กำหนดให้เด็กไทยต้องเรียนตามหลักสูตรที่กำหนดโดยรัฐ มีการเซ็นเซอร์บทเรียน เช่น กรณี เหตุการณ์เดือนตุลาฯ เป็นการเรียกร้องจากภาคประชาชนครั้งสำคัญ แต่กลับมีอยู่ในบทเรียนเพียงไม่กี่บรรทัด เป็นต้น เมื่อให้เรียนตามรัฐ คิดตามรัฐ ซึ่งทำให้เด็กที่จบการศึกษาในไทยมีระบบคิดแบบราชการนิยม


 


ด้านเศรษฐกิจกำหนดในแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 87 รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัย กลไกตลาด ยังเป็นการจำกัดให้ประชาชนใช้ "การตลาดแบบเสรี" หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญฯ ให้สิทธิเสรีภาพในนับถือศาสนา หรือลัทธิใดก็ได้ แต่กลับมีกรณี การจับกุมสมณะโพธิรักษ์ข้อหาแต่งกายเลียนแบบเถรวาท


 


"ระดับความรุนแรงในการละเมิดสิทธิของพลเมืองต่างกัน อย่างความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้น เพราะรัฐละเมิดสิทธิพลเมืองอย่างรุนแรงก่อน แต่ไม่มีใครพูดถึง มีการอุ้มฆ่า ถูกยิงทิ้งโดยที่จับไม่ได้เป็น 1,000 คดี แต่ไม่ยอมให้นิติวิทยาศาสตร์เข้าไปตรวจสอบ เพราะส่วนหนึ่งรัฐเป็นผู้ทำ กลัวประชาชนทั้งประเทศจะรู้ เรื่องนี้ต้องแก้โดยยกนิติวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นอิสระ ไม่ให้เกี่ยวกับตำรวจและการเมืองจึงจะดีขึ้น" นายพิภพกล่าว


 


นอกจากนี้ นายพิภพยังตั้งข้อสังเกตว่า "ทำไมประชาชนไทย มีสัญชาติไทย จะใช้บัตรประชาชนประกันตัวเองไม่ได้ ต้องเป็นข้าราชการ ซีสูงๆ เป็น ส.ว. เท่านั้นหรือ ทำไมประชาชนธรรมดาทำอะไรไม่ได้เองตั้งหลายอย่าง รวมทั้งคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งๆ ที่เป็นการจำกัดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือแม้การตั้งข้อหาล้มล้างรัฐบาล ก็เกิดเฉพาะบุคคลที่วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ฝ่ายที่ชื่นชม ให้กำลังใจรัฐบาลแต่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนเช่นกันกลับไม่ถูกจับ"


 


ด้าน ดร.เจษฎ์ โทณะวนิก คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวในประเด็นนี้ว่า ประชาชนไทย สัญชาติไทย อาจใช้สิทธิพลเมืองของตัวเองประกันตัวได้ แต่เหล่านี้ต้องมีวิธีการและกรอบที่เหมาะสม รวมทั้ง การตีความกฎหมายต้องใช้ "หลักนิติธรรม" ไม่ใช่ "หลักนิติรัฐ" ซึ่งหมายถึง นำธรรมะมาใช้ในกรอบของกฎหมาย ตีความตามความถูกต้องชอบธรรม ไม่ใช่ถูกตามตัวอักษร ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการตีความตามที่นายพิภพกล่าว ถึงคดีล้มล้างรัฐบาล


 


"กฎหมายไม่มีความผิดเรื่องชอบรัฐบาล หากจะต้องตีความจริงๆ ควรเน้นที่ความวุ่นวาย หากฝ่ายวิจารณ์รัฐบาลทำแล้วก่อประโยชน์ ไม่เกิดความเสียหายก็ไม่ควรจะต้องถูกดำเนินคดี แต่หากทำไปแล้วสร้างความเดือดร้อนก็ต้องรับผิดชอบ ถูกดำเนินคดีไป ในทางเดียวกัน ฝ่ายที่ชื่นชมรัฐบาล หากสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น วิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจนเกิดความเสียหาย ก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน" ดร.เจษฎ์กล่าว


 


ดร.เจษฎ์กล่าวว่า สิทธิทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิพลเมืองซึ่งเป็นหน่วยที่ใหญ่กว่า การชุมนุมโดยสงบ,การเลือกตั้งหรือการแสดงความคิดเห็นต่างก็เป็นสิทธิพลเมือง เนื่องจากตัวบทต่างก็เขียนขึ้นมารองรับสิทธิตามธรรมชาติ จะปฏิบัติตามตัวบทอย่างเดียวไม่ได้ เพราะบางครั้ง ความชอบธรรมกับความถูกต้องตามตัวบทก็ไม่ได้ไปทางเดียวกัน


 


ในประเด็นคดีหมิ่นประมาท ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ควรกำหนดขอบเขตในส่วนที่เป็นความผิดทางอาญาไว้ หากเป็นการวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เป็นความจริงและเป็นประโยชน์ ก็ยิ่งไม่ควรแตะต้อง ไม่มีความผิด หรือกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เห็นได้ชัดว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่หากวิจารณ์ด้วยความเคารพ จะทำให้มีความศรัทธา ความเคารพสูงขึ้นด้วย


 


"คนเรายิ่งห้าม ยิ่งต่อต้าน หากมีช่องให้วิจารณ์ด้วยความเคารพ มีช่องที่เหมาะสมให้ทำได้ นอกจากจะไม่ต่อต้านแล้ว ความเคารพความศรัทธาจะสูงขึ้นด้วย" ดร.เจษฎ์กล่าว


 


ทางด้าน รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิรัชกิจ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐคุกคามสิทธิพลเมืองในการแสดงความคิดเห็นของสื่อ โดยเฉพาะในยุครัฐบาลทักษิณว่ามีหลายทาง ประการแรก ควบคุมโดยตรงด้วยการผูกขาด โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ เช่น การซื้อไอทีวี การเป็นเจ้าของสื่อของช่อง 3 เป็นต้น ประการที่สอง คือการคุกคามผ่านการต่อใบอนุญาต ซึ่งหมายถึง หากทำไม่ดี หรือวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไปอาจไม่ต่อใบอนุญาตให้


 


รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวต่อ ประการที่สามคือการออกกฎหมายต่างๆ ออกมาควบคุม โดยเฉพาะกฎหมายด้านความมั่นคงและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สื่อก็เลยจำเป็นต้องจำกัดเสรีภาพตัวเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าว และประการสุดท้ายที่รุนแรงที่สุด คือการสร้างแรงกดดัน อาจจะด้วยการโทรศัพท์มาขอไม่ให้เสนอหรือเสนอในบางเรื่อง บางประเด็น, ซื้อกิจการ และการฟ้องหมิ่นประมาท หากคดีที่ฟ้องไปต้องจ่ายจริง ก็กว่า 4,000 ล้านบาท อาจตั้งสำนักพิมพ์ได้เลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net