Skip to main content
sharethis

ประชาไท—18 พ.ค. 2549 วันที่ 17 พ.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ร่วมกับรัฐศาสตร์เสวนา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา "จากพฤษภา 35 ถึงปฏิรูปการเมือง 2549" โดยมี รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อ.ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ ส.ว.กทม.เป็นผู้อภิปราย


 


รศ.นรนิติ กล่าวว่า เหตุการณ์การเมืองไทย เปลี่ยนแปลงไปมากนับตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.2516 วันที่ 6 ต.ค.2519 จนมาถึงพฤษภาทมิฬ 2535 การเสียเลือดเนื้อของคนไทยในครั้งนั้นนับว่า ไม่สูญเปล่า สังคมไทยได้เรียนรู้และพัฒนาเติบโตไปตามแนวประชาธิปไตยจนนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด


 


แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดได้ทั้งหมด เพราะปัญหาเกิดที่คนที่ใช้กฎหมาย เชื่อว่าแม้ว่าจะมีการปฏิรูปการเมืองรอบ 2 ก็เชื่อยังต้องมีข้อบกพร่องอีก


 


นายปริญญา กล่าวว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นการยุติบทบาทของผู้นำกองทัพที่จะนำสังคมย้อนเข้าสู่ยุค 14 ต.ค.อย่างสิ้นเชิง ประชาธิปไตยเติบโตมากขึ้นส่งผลให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม โปร่งใส ตรวจสอบได้


 


แต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 อาจดีที่สุดและแย่ที่สุดด้วย หลักการใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การส่งเสริมพรรคการเมืองขนาดใหญ่ สร้างเสถียรภาพรัฐบาลให้เข้มแข็ง แต่ตรงนี้ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ และการให้มีองค์กรอิสระตรวจสอบฝ่ายบริหารก็มีช่องโหว่ปล่อยให้พรรคการเมืองเข้าไปแทรกแซงการได้มาของคนที่จะเข้าไปทำงานในองค์อิสระทำให้เกิดการผูกขาดทางอำนาจ และเปิดกว้างให้กลุ่มทุนการเมืองเข้าแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่าย


 


นายปริญญา กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่เป็นรูปธรรม ว่าต้องให้องค์กรอิสระเป็นอิสระอย่างแท้จริง ประการต่อมา ต้องปฏิรูปพรรคการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยในพรรคเป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ แต่ที่น่าดีใจคือเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญได้แก่การที่บทบาทของตุลาการได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นอย่างกรณีของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ศาลได้ออกมาพูดถึง กกต.ชัดเจน


   


น.ส.รสนา กล่าวว่า ยุคต่อมาหลังพฤษภาทมิฬเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มธนกิจการเมืองที่เริ่มเข้ามาแสวงหาอำนาจและผลกำไรจากอำนาจทางการเมือง ทั้งนี้เมื่อเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 แล้วก็ต้องมีการประเมิน เช่นกรณีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีหน้าที่สำคัญคือ เป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร แต่ได้ทำงานคุ้มค่าตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าประเมินแล้วว่าไม่กลไกนี้ไม่ได้ก็ต้องยุบทิ้งเพื่อสกัดกั้นกลุ่มธนกิจการเมือง ดังที่ประสบกับ "ระบอบทักษิณ" มาแล้ว


 


นอกจากนี้ ควรมองว่านักการเมือง ก็คือสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ น่าจะคืนเปลี่ยนได้ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพจริงๆ ที่สำคัญ ต้องมีการจัดทำบันทึกประวัติของ ส.ส.และ ส.ว.เพื่อเปิดเผยพฤติกรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชน รวมถึงอาจจะต้องมีบทลงโทษหรือประจาน ส.ส.และ ส.ว.ที่มีพฤติกรรมไม่ดีได้


 


วันเดียวกันเ วลา 18.30 น. มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม จัดงานรำลึกพฤษภาประชาธรรม 2549 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยศูนย์ศิลปะเชิดชูพลเมืองดีแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดทำไม้ค้ำประชาธิปไตยขนาด 15x15x60 ซม. จำนวน 4 อัน ซึ่งมีญาติของวีรชนเดือนพฤษภา 2535 แต่ละภาค จำนวน 4 คน เป็นตัวแทนในการคล้องมาลัยที่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ทั้ง 4 อัน


 


นายไกรสร ประเสริฐ ผู้อำนวยการจัดงานรำลึกพฤษภา 2549 เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการรำลึกถึงการต่อสู้ของวีรชนในเหตุการณ์พฤษภา 2535 แสดงถึงความเสียสละในการพยายามเข้าปกป้องประชาธิปไตย ไม้ค้ำประชาธิปไตยที่ทำขึ้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงการค้ำยันและเชิดชูความเป็นประชาธิปไตยให้ยั่งยืน และเป็นการสื่อความหมายถึงประชาชนในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยที่ได้ร่วมใจกันคุ้มครองปกป้องและรักษาความเป็นประชาธิปไตยให้อยู่คู่กับประชาชนชาวไทยตลอดไป รวมถึงการสร้างความสามัคคีในประเทศชาติในยุคที่ประชาธิปไตยกำลังถูกทำร้าย


 


จากนั้นเวลา 21.09 น. ได้มีการร่วมกันจุดเทียนเพื่อรำลึกถึงวีรชนเดือนพฤษภา 2535 และมีการเสดงคอนเสิร์ตของกลุ่มศิลปินเพลงเพื่อชีวิตที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์พฤษภา 2535


 


นายประฤทธิ์ นามตะ ญาติของวีรชนเดือนพฤษภา 2535 ได้เรียกร้องให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจรับฟังเสียงของประชาชนให้มากขึ้น เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับเดือนพฤษภา 2535 การที่รัฐบาลจะทำโครงการใหญ่ ๆ ก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นบ้าง ที่สำคัญรัฐบาลควรเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลด้วย


   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net