Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 18 พ.ค. 49     วันที่ 17 พ.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนา "รัฐไทยกับการต่อต้านการทรมาน"โดยมุ่งประเด็นไปที่ท่าทีของรัฐบาลไทยต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี มีสาระสำคัญคือให้รัฐภาคีป้องกันการกระทำที่ถือว่าเป็นการทรมาน รวมทั้งการกระทำอื่นๆที่ได้ระบุไว้ในอนุสัญญา และให้การเยียวยาแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการทารุณกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนให้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาโดยทันทีและมีความเป็นกลาง


 


จันทร์ชม จิตยานนท์ ตัวแทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯเพิ่งได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการพิจารณาอนุสัญญา เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 47 ในสมัยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม          


 


แต่งบประมาณที่นำมาใช้ในการศึกษานั้นเพิ่งได้อนุมัติในปีงบประมาณ2549 นี้เองจึงเริ่มดำเนินการศึกษาพิจารณาความพร้อมต่อการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา โดยมีการตั้งคณะกรรมการทั้งจากภาครัฐและเอกชน มีนศ.ดร.วิทิต มันตาภรณ์ จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาโดยมีกำหนดการได้ข้อสรุป ก.ย.2549


 


พันทิพา เอี่ยมสุธา กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอาเซียนที่เป็นภาคีแล้วคือ กัมพูชา อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ สำหรับท่าทีไทยนั้นมีต่อกรณีนี้จากการที่เคยจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ พ.ศ. 2541 เพื่อฉลองครบรอบการฉลอง 50 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กรรมการดังกล่าวมีหน้าที่พิจารณาว่าไทยควรเป็นภาคีอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนใดใดบ้าง ตอนนั้นมีการเสนอภาคีอนุสัญญาต้านการทรมานฯ และรัฐบาลก็เห็นชอบในหลักการ


ปลายพ.ศ. 2547 มีการกระตุ้นการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญานี้อีกครั้ง เพราะคิดว่าเป็นการแสดงความตั้งใจในการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน และเสริมกฎหมายภายในให้มีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้ยังเห็นว่าเพราะกฎหมายภายในประเทศส่วนใหญ่เพียงพอในการเข้าเป็นภาคี


 


ส่วนกฎหมายที่ไม่สอดคล้องนั้นสามารถตั้งข้อสงวนไว้ตีความบางเรื่องก่อนก็ได้ ซึ่งก็เป็นประเด็นปลีกย่อย เมื่อมีการปรับกฎหมายให้สอดคล้องแล้วจึงค่อยถอนการตั้งข้อสงวนตีความภายหลัง


 


อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่ไม่แน่ใจคือการตีความอนุสัญญาฯบางข้อที่ไม่เคลียร์ ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนเช่นเรื่องโทษประหารชีวิตที่กฎหมายไทยถือเป็นการลงโทษที่ชอบด้วยกฎหมาย และในอนุสัญญาก็ว่าโทษที่เป็นการลงโทษที่ตามกฎหมายไม่ขัดกับอนุสัญญา ก็ต้องสอบถามไปประเด็นนี้ไม่มีปัญหาจริงหรือ


 


แม้แต่คำว่า การทรมาน ก็ต้องตีความเนื่องจากในอนุสัญญาฯระบุห้ามถึงการกระทำทั้งทางกายหรือทางจิตใจ เพราะบางอย่างที่เคยปฏิบัติในไทยได้ไม่แน่ใจว่าเป็นการทรมานหรือไม่ ตอนนี้ก็ได้ทาบทามไปยังข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเพื่อตีความข้อสงสัยแล้ว


 


ด้าน ดร.อุทัย อาทิเวช ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุดได้พูดถึงประเด็นทางกฎหมาย


ว่า กฎหมายที่ไทยมีอยู่เห็นว่าเพียงพอในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯเพราะมีความสอดคล้องและไม่ต้องแก้ข้อกฎหมาย เช่น เรามีกฎหมายอาญามาตร 289 ที่ระบุว่าหากผู้อื่นโดนทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้ายก็มีโทษถึงประหารชีวิต หรือบทบัญญัติทั่วๆไปก็มีนานแล้วที่ว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน สิ่งสำคัญที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่คือเรื่องที่ว่าด้วยการอุ้ม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเริ่มต้นของการทรมาน


                                                                                   


ส่วนประเด็นในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปสู่ที่ที่คาดว่าจะได้รับการทรมานนั้นไทยมีก็พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472 และต้องปฏิบัติตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศอยู่แล้วโดยเด็ดขาด


 


แต่ประเด็นที่น่าจะเป็นข้อกังวลของไทยอาจจะเป็นเรื่องที่อนุสัญญาฯระบุให้มีคณะกรรมการทรมานเฉพาะมาตรวจสอบได้ โดยมีความสามารถไต่สวนและส่งคนของเขามาตรวจสอบได้ ต้องถามว่าตรงนี้ประเทศไทยมีความพร้อมรับตรงนี้แค่ไหน แต่ข้อนี้อนุญาตให้สามารถตั้งข้อสงวนได้ อยู่แล้ว และการเข้ามาตรวจสอบก็ต้องผ่านการยินยอมของรัฐ ดังนั้นการปฏิเสธไม่ลงนามในอนุสัญญาฯก็ต้องมีเหตุผลดีจริงๆ


 


ศ.ดร.วิทิต มันตาภรณ์ นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเหตุผลที่ควรลงนามในอนุสัญญาฯว่า กฎหมายระหว่างประเทศคือนิติกรรมที่เป็นมาตรขั้นต่ำสุดที่น่าจะต้องทำ เพราะบางครั้งกฎหมายภายในประเทศอาจให้การคุ้มครองได้ไม่พอ แต่ในกรณีห้ามการทรมานนั้นไทยมีกฎหมายอาญาที่คุ้มครองอยู่แล้ว การลงนามในอนุสัญญาคือการเพิ่มรายละเอียด


 


หากพิจารณา อนุสัญญาฯนี้ไม่ได้ห้ามแค่ทรมานห้ามแค่การทรมานเท่านั้น ยังห้ามถึงการเหยียดหยามศักดิ์ศรีและการกระทำอันไร้มนุษยธรรมอื่นๆด้วย และแม้ไม่เป็นภาคีอนุสัญญาฯนี้ ประเทศไทยก็เห็นด้วยกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งห้ามการทรมานอยู่แล้ว และข้อผูกพันระหว่างประเทศก็มีทิศทางที่ดีเมื่อศาลปกครองยกข้อ 21(3) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยลงนามไว้ มาใช้ในการตัดสินกรณีคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)จัดคูหาเลือกตั้งไม่ลับซึ่งขัดกับข้อตกลงในปฏิญญาดังกล่าว และครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ศาลอ้างถึงพันธะระหว่างประเทศ


 


ศ.ดร.วิทิตกล่าวอีกว่า การเข้าเป็นภาคีคือการแสดงว่าเราเป็นสมาชิกที่จะทำตามอนุสัญญาฯซึ่งเจาะจงด้านการต้านการทรมานมากกว่าอนุสัญญาระหว่างประเทศอื่นๆที่ลงนามไปแล้ว


 


"เรามีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่กักตัวได้เจ็ดวัน และยืดไปถึงสามสิบวันโดยตัดอำนาจของศาลปกครองออกไปตรงนี้ต้องระวัง สถานการณ์ตอนนี้หลายประเทศกลัวเรื่องการก่อการร้าย พอจับกุมตัวได้ก็ชอบส่งตัวขึ้นเครื่องบินไปเลย โดยไม่ให้ขึ้นศาลตามหลักยุติธรรมก่อน เป็นปรากฏการณ์ส่งตัวโดยฝ่ายบริหารข้ามประเทศและเกี่ยวข้องกับสหรัฐ และมีการส่งตัวไปสู่ดินแดนที่มีการทรมาน ตอนนี้กำลังเกิดขึ้น"


 


ส่วนประเด็นการลงโทษประหารเป็นการทรมานหรือไม่ อนุสัญญาบอกว่าถ้าถูกต้องต่อกฎหมาย.ไม่ถือว่าเป็นการทรมาน ตรงนี้ต้องดูที่เนื้อหาสาระเช่นหลังการตัดสินของศาลแล้วมันยืดเยื้อรอนาน จนเขาทรมานใจหรือไม่เป็นต้น


 


การลงนามในอนุสัญญาฯนี้อาจไม่ต้องผ่านสภาก็ได้เพราะไม่ขัดกับมาตรา 224 เนื่องจากมีกฎหมายที่รองรับเพียงพอไม่ต้องแก้ไขอะไร มาตรา 224 ที่ต้องผ่านสภาคือเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของรัฐและการต้องออกกฎหมายใหม่


 


นายวสันต์ พานิช คณะกรรมสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นภาคีกับอนุสัญญาฉบับนี้ก็เพื่อเป็นการระงับยับยั้งการทรมานที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้มีให้สัตยาบรรณแล้ว 141 ประเทศ แต่ประเทศที่เข้าไปลงนามมีเพียง 18 ประเทศทำให้ยังไม่มีผลใช้บังคับ เพราะต้องลงนามในพิธีสารเลือกรับครบ 20 ประเทศ และหวังว่าการพูดคุยในวันนี้จะผลักดันให้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นที่ยอมรับของนานาชาติโดยเป็นประเทศ 1ใน 20 ที่ทำให้กฎหมายนี้บังคับใช้ได้ต่อไป


 


สำหรับปัญหาการทรมานในประเทศไทยที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ทุกคนที่มาอภิปรายในวันนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและเป็นประจำ


 


หมายเหตุ


สัมมนา"รัฐไทยกับการต่อต้านการทรมาน" จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


ผู้สัมมนา


นายวสันต์ พานิช คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน


นายสมบัติ พฤฒิพงศภัค ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำสำนักประธานศาลฎีกา


นายสิรินทร์ เฉลิมวัฒน์ อัยการอาวุโส


พ.ต.ท.ชาญ วัฒนธรรม ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


พ.อ.ปิยะพล วัฒนกุล ผอ.กองกฤษฎีกาทหารปละการต่างประเทศ


พันทิพา เอี่ยมสุธา กรมองค์การระหว่างประเทศ


ศ.ดร.วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ดร.อุทัย อาทิเวช ผอ.ศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ


จันทร์ชม จิตยานนท์ ตัวแทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net