"ชัยอนันต์" ชี้หมดยุคเป็นกลาง ยันสื่อต้องมีบทบาททางการเมือง

18 พ.ค. 2549 นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาประจำปี 2549 มูลนิธิ "อิศรา อมันตกุล" เรื่อง "สื่อกับการเมือง" ว่า ในขณะนี้เรื่องสื่อกับการเมืองกำลังเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมาก เพราะในประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยยังไม่เคยมีครั้งไหน ที่รัฐบาลกับสื่อจะเผชิญหน้ากันอย่างตรงไปตรงมา ทั้ง ๆ ที่สื่อไม่ใช่สถาบันหลักที่จะเข้ามาเป็นปฏิปักษ์ หรือเป็นหลักที่ในการต่อต้านรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลพังลงมา ซึ่งสื่อ ระบบการเมือง และผู้ทำสื่อล้วนอยู่ในสังคมเดียวกัน จนมีคำพูดว่าประชาชนเป็นอย่างไร สื่อก็เป็นอย่างนั้น เพราะสื่อเป็นเครื่องสะท้อนความคิดประชาชน

 

ปัจจุบันสื่อมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 ประการ คือ 1.สื่อมีความความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งบทบาทและผลกระทบจากประชาชนก็ไม่ได้เหมือนกันไปทุกสื่อเหมือนเมื่อ 40-50 ปี ตัวอย่างเช่น ผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกาที่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีคือนายเคนนิดี้ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งที่สวนหนึ่งมากจากโต้กันทางทีวี จากนั้นจึงเริ่มมีความคิดว่าลักษณะและรูปแบบของสื่อมีผลต่อประชาชน

 

2. ความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับประชาชน มีการเปลี่ยนแปลงไป เพราะประชาชนบางกลุ่มไม่ใช่ผู้เสพสื่อโดยตรง แต่มีการผลิตสื่อในรูปแบบของการนำข้อความที่ตนคิดเอง นำไปเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต และ 3.การเผยแพร่ของสื่อมีความรวดเร็ว ในลักษณะที่มากขึ้นเป็นทวีคูณในตัวเองโดยเฉพาะทางเว็บไซต์

 

ดังนั้นหากจะดูสื่อกับสังคมและการเมือง จะเห็นว่าสังคมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ สื่อจะต้องมีอิสระและเสรีภาพ แต่หากมองบางสังคม อาจจะเจอสภาพขัดกันเองคือสื่ออาจเสรีแต่ไม่อิสระ ที่เห็นได้ชัดเจนจากการควบคุมโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งสื่อเหล่านี้มีอิสระน้อยมาก ไม่มีช่องทางในการแสดงออก ไม่มั่นคง ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่สื่อตัวเองจะโดนปิด แม้ว่าการปิดกั้นเสรีภาพของสื่อได้ในระดับหนึ่ง แต่บางอย่างก็ไม่สามารถปิดกั้นได้ เช่น ทางการโทรคมนาคม และอินเตอร์เน็ต

 

นายชัยอนันต์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ทางการเมืองในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา เกิดการแบ่งแยกประชาชนออกจากกันในรูปแบบจากเดิมที่แบ่งตามสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้เป็นการแบ่งแยกตามความมากน้อยในการรับรู้ของข่าวสาร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในสังคมไทย ที่แยกประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองจากสื่อกับผู้ที่ได้รับจากผู้มีอำนาจทางการเมือง สื่อจึงเริ่มมีอีกบทบาทหนึ่ง

 

รวมทั้งในปัจจุบันมีการผสมผสานสื่อมากกว่าหนึ่งชนิด เช่น ในการเคลื่อนไหวทางสังคม สื่อหนังสือพิมพ์มีการรวมกับโทรทัศน์ทำให้มี ประสิทธิภาพการส่งข้อมูลข่าวสารและขยายขอบเขตการรับรู้ได้กว้างขวางมากขึ้น ทำให้สื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ส่งมาทางสื่อผสมหลายอย่าง ทั้งนสพ. โทรทัศน์ อินเอตร์เน็ต วีซีดี รวมถึงการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนจนอาจจะเรียกว่า ให้ทั้งความรู้และความบันเทิง ซึ่งรูปแบบนี้เป็นบทบาทใหม่ของสื่อในไทยที่มีลักษณะในเรื่องของการจัดตั้ง หรือการระดมคน การเตรียมการทางการผลิต

 

นายชัยอนันต์ กล่าวต่อว่า ทำไมสื่อในบ้านเรามีเสรีแต่ยังไม่มีอิสระ เพราะฝ่ายรัฐบาลควบคุมและจำกัดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในระดับที่เป็นผลให้ประชาชนไม่ได้เปิดรับสื่ออีกด้านแต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านระบบเคเบิลทีวีได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเปิดรับสื่อได้อีกรูปแบบหนึ่ง จนส่งผลให้ประชาชนส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมทางการเมืองในการออกเสียงลงคะแนนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลนี้ไม่ใช่ไม่รู้ว่าสื่อมีความสำคัญ ไม่เช่นนั้นนายกรัฐมนตรีจะใช้เวลาวันเสาร์มาพูดเล่าเรื่องกับประชาชนทำไม

 

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ชนบทแม้จะมีวิทยุชุมชนแต่การแพร่ขยายหรือการแสดงบทบาทในการให้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับการนำเสนอของเคเบิลทีวี เช่น ในการประท้วงที่ผ่านมาสื่อเคเบิลทีวีได้เชื่อมโยงให้คนแต่ละพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยไม่ต้องปรากฏตัว เหมือนกับมีคนชุมนุม 1 แสน แต่คนที่มีความรู้สึกเหมือนมีร่วมชุมนุมอยู่ด้วยอีกจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ได้ส่งผลมีคะแนนโนโหวตจำนวนมากในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

 

นายชัยอนันต์ กล่าวว่า การเมืองไทยในขณะนี้สังคมไทยไม่เคยพบมาก่อน ไม่เหมือนกับที่เคยเจอกับรัฐบาลเผด็จการทหารที่สามารถโค่นล้มได้ง่ายเพราะเป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันระบบการเมืองไทยผสมระหว่างความชอบธรรมจากระบอบประชาธิปไตยคือเสียงของประชาชนกับการจัดการทางการเมือง ในลักษณะเผด็จการพรรคเดียวที่สามารถควบคุมกลไกทางการเมือง จนเป็นเผด็จการทางรัฐธรรมนูญ

 

ฉะนั้นสถาบันที่เหลืออยู่คือสื่อ ที่รัฐบาลก็ต้องการเข้ามาควบคุม โดยการส่งตัวแทนเข้าไปเป็นเจ้าของ แต่ก็ถูกต่อต้าน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สถาบันสื่อจะต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลที่นับวันจะมีการใช้อำนาจขัดต่อผลประโยชน์ประชาชน จึงเป็นที่มาที่รัฐบาลเริ่มฟ้องสื่อเพื่อเรียกเงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นวิธีการปรามสื่อ ที่ทำให้สื่อต้องคิดหนักในการวิพากษ์วิจารณ์

 

นายชัยอนันต์ กล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวการเมืองครั้งที่ผ่านมาแล้วทำไมพรรคการเมืองจึงไม่ใช่ตัวนำ แต่เป็นสื่อได้กลายเป็นผู้นำ ในการประท้วงแสดงให้เห็นว่า สถาบันต่าง ๆ โดนครอบงำจนเหลือเพียงไม่กี่สถาบันเช่น ศาล สื่อ ดังนั้น สิ่งที่สื่อต้องรีบทำคือ 1.เร่งพิจารณาความเป็นอิสระของโครงสร้างสื่อ โดยเฉพาะโทรทัศน์และวิทยุ มากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหากเรายังไม่คิดแก้ให้สื่อมีความอิสระ ในอนาคตอาจจะต้องมีความจำเป็นให้สื่อมีอิสรภาพภายใต้ความรับผิดชอบ

 

2. บทบาททางการเมืองของสื่อ เป็นไปไม่ได้แล้วที่จะเป็นกลางทางการเมือง แต่สื่อต้องแสดงบทบาททางการเมืองออกมา โดยให้ประชาชนตัดสินเอง ไม่ใช่ตกอยู่ภายใต้อำนาจทุนทางการเมือง ที่สำคัญไปกว่านั้นสื่อต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถมากว่าการทำหน้าที่ปกติ เพราะรัฐบาลมีความซับซ้อน มีเล่ห์เหลี่ยมมาก จนเกินความสามารถกว่าที่สื่อปกติจะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ เช่น การขายหุ้นชินคอร์ปที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน ดังนั้นสื่อต้องเปลี่ยนแปลงกาเล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย ให้มีความตื่นเต้นเร้าใจสนุกสนานแบบไทยๆ แบบการทำความเข้าใจของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เพื่อข้อมูลข่าวสารจะได้ไปถึงประชาชน หรือบูรณาการของสื่อเพื่อประชาชน

 

ทั้งนี้การเมืองไทยในปัจจุบันและอนาคต สื่อต้องเริ่มเข้ามาร่วมกับฝ่ายประชาชนและวิชาการในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ไม่ใช่เพื่อล้มล้างรัฐบาลตลอดไป แต่ต้องมีหลักประกันคือเคลื่อนไหวให้สื่อโทรทัศน์อิสระมากขึ้น ในแง่ความเป็นเจ้าของและครอบครองกิจการ การจัดรายการที่มีผลประโยชน์ต่อประชาชน และในอนาคตสื่ออินเตอร์เน็ตจะมีบทบาทมากขึ้น โดยที่ประชาชนจะเป็นผู้ผลิตข่าวและสื่อสาร ควบคุมเนื้อหาสาระและจังหวะการเผยแพร่ด้วยตนเอง และนักข่าววิชาชีพไม่ได้จำกัดเฉพาะนักข่าวทั่วไป แต่คนที่เข้าไปในอินเตอร์เน็ตจะเป็นผู้ผลิตสื่อได้อีกประเภท ทำให้สื่อกับการเมืองมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น รัฐบาลก็จะระวัง เพราะการควบคุมทำได้ยากมาก

 

การเมืองไทยที่ผ่านมาเป็นการเมืองที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองที่มีทุนน้อย ไม่เคยพบกับคนที่มีทุนมากเหมือนในปัจจุบันนี้ ดังนั้น ความหวังจึงมีอย่างเดียวคือที่การใช้ทุนน้อย แต่ผลิตสื่อซ้ำได้มาก แพร่กระจายถึงคนได้มากที่สุด เพื่อทำให้ประชาชนมีอาวุธติดตัว คือสามารถรับรู้และใช้อำนาจจากเสียงของตัวเองควบคุมรัฐบาลได้ แต่เวลานี้กลับตรงกันข้าม เพราะประชาชนที่มีจำนวนมากกลับทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรมด้วยคะแนนเสียงจำนวนมากซึ่งเป็นเสียงเชิงปริมาณในระบอบประชาธิปไตย

 

ในขณะที่ประชาชนจำนวนน้อยแต่รับข่าวสารมากแต่เป็นคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลชอบอ้างในเรื่องนี้ จึงเป็นผลทำให้ประชาชนแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน ฉะนั้นสื่อกับการเมืองยังดำเนินต่อไป แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นและเป็นประโยชน์คือต้องหันมาพบความจริงที่ว่าการทำงานของสื่อต้องตรวจสอบรัฐบาลได้ และสุดท้าย ปัญหาไม่ใช่คุณภาพการเสนอข่าวเท่านั้น แต่เราจะทำให้การสื่อสารถึงประชาชนเป็นที่เข้าใจได้อย่างไร และจะทำให้ทั่วถึงโดยเฉพาะไปสู่ประชาชนที่เป็นสาธารณชนที่ยังไม่รับรู้ได้อย่างไร

 

.........................................................

ที่มา: http://www.komchadluek.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท