Skip to main content
sharethis

ประชาไท—18 พ.ค. 2549  "ประพัฒน์" ฟุ้งกองทุนฟื้นฟูฯ แก้ปัญหาเกษตรกร เดินหน้าใช้งบประมาณปี 2549-2550 กว่า 9,000 ล้านบาท ซื้อหนี้เกษตรกรจาก สหกรณ์ ธกส.และธนาคารพาณิชย์ หวังช่วยผ่อนปรนปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ในขณะ สกน.หวั่นล้มเหลว เพราะนโยบายรัฐมุ่งการค้าเสรี ทำให้เกษตรกรกลับสู่วงจรอุบาทว์ดังเดิม


 


ที่ศูนย์กล้วยไม้และไม้ดอกไม้ประดับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกันจัดพิธีกรชำระหนี้แก่เจ้าหน้าที่ของเกษตรกรสมาชิก เป็นครั้งแรกในช่วง 6 ปี หลังจากที่มี พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ฉบับที่ 2 เมื่อปี 2544 ที่ผ่านมา โดยได้ประเดิมชำระหนี้สินให้แก่เกษตรกรในเขต จ.เชียงใหม่ จำนวน 31 ราย ก่อนเร่งขยายดำเนินการชำระหนี้เกษตรกรทั่วประเทศ


 


นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรและประธานคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร กล่าวว่า ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ถือว่าเป็นปัญหาที่เรากำลังเผชิญหน้ากันทั้งประเทศ เนื่องจากว่าเวลานี้ เกษตรกร ที่กำลังจะล้มละลายมีมากกว่า 50,000 ราย


 


""ซึ่งหากกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่เข้าไปช่วยเหลือ ต่อไปก็จะทำให้ที่ดินทำกินของเกษตรกรนั้นจะต้องถูกยึด และในที่สุด เกษตรกรก็ต้องพากันอพยพเพราะไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำกิน ไม่บุกป่า ก็ต้องเข้าไปหางานในเมือง ดังนั้น ถ้าเราไม่เร่งแก้ไข ต่อไปก็จะเป็นปัญหาหนักของสังคมไทย และเชื่อว่า จะต้องเพิ่มเป็นแสน ๆ ราย"


 


นายประพัฒน์ กล่าวต่อว่า ทางกองทุนฟื้นฟูฯ จึงได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในปีงบประมาณ 2549 มีงบประมาณในการซื้อหนี้เกษตรกร ในวงเงิน 1,200 ล้านบาท เป้าหมายก็คือ หนี้เกษตรกร 4,900 ราย ซึ่งเป็นหนี้เอ็นพีแอล ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี มีทั้งหมด 3 ส่วนก็คือ หนี้ของ ธกส. หนี้สหกรณ์ และหนี้ของธนาคารพาณิชย์


 


 "ในส่วนหนี้ของ ธกส.เราได้ดำเนินการไปแล้ว และการแก้ไขปัญหาหนี้จากสหกรณ์ ที่ จ.เชียงใหม่นี้เป็นล็อตแรก หลังจากนั้นก็จะขยายไปดำเนินการตามจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งกรณี จ.เชียงใหม่ มีสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ ซึ่งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว และจะถูกโอนหนี้มาอยู่ในกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งหมด 31 ราย"


 


ในส่วนของกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้สินกับธนาคารพาณิชย์นั้น นายประพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ ยังมีปัญหาทางเทคนิคกันอยู่ เนื่องจากว่า ธนาคารพาณิชย์นั้นมีตั้ง 13 แห่ง ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการเจรจา ก็คงจะดำเนินการต่อไป หลังจากแก้ไขปัญหาหนี้สินกับสหกรณ์เสร็จแล้ว แต่ก็จะพยายามเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว


 


 "และในปีงบประมาณ 2550 ทางกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ขออนุมัติงบประมาณจากรัฐบาลไปแล้ว โดยใช้งบประมาณ 8,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรที่เกิดจาก ธกส. สหกรณ์ และธนาคารอีกประมาณ 45,000 ราย เพื่อให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2550 ซึ่งมติของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรฯ นั้นให้ช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้สินในวงเงินไม่เกิน 2 ล้าน 5 แสนล้านบาทก่อน โดยในงบประมาณทั้งหมดนี้ ทางคณะรัฐมนตรีได้ให้ทางกองทุนฟื้นฟูฯ ไปศึกษาในเรื่องการออกพันธบัตร ซึ่งมีแนวโน้มว่า น่าจะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกพันธบัตร โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้กู้ต่อจากกระทรวงการคลัง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอยู่"


 


อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องหนี้สินของเกษตรกร ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากของสังคมไทย ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรที่มีหนี้สินทั้งหมด 3 แสนกว่า ล้านบาท แต่จะให้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปซื้อหนี้ทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ และจะไปขอเงินทั้งหมดจากรัฐบาล หรือจาก สหกรณ์ ธกส.หรือธนาคารต่าง ๆ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้


 


 "ดังนั้น คงจะแก้ไขปัญหาสำหรับเกษตรกรที่มีหนี้สินเร่งด่วน เช่น ถูกยึดที่ดิน หรือถูกนำหลักทรัพย์ขายทอดตลาด เป็นกลุ่มแรกก่อน และเกษตรกรรายใดที่ประคองตัวได้ ก็ขอให้ประคองช่วยเหลือตัวเองไปก่อน"


 


ทั้งนี้ หลังจากที่มีการโอนหนี้เกษตรกร จาก ธกส. สหกรณ์ และธนาคารพาณิชย์ มาเป็นหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ แทน และให้เกษตรชำระผ่อนคืนในระยะยาว 10-20ปี โดยมีการคืนดอกเบี้ยต่ำตั้งแต่ 1-4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ จะสามารถยึดหยุ่นได้มากกว่า ได้ช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรได้มากกว่า โดย พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ มีงบประมาณอีก 600 ล้านบาท เพื่อเตรียมไว้สำหรับการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างจะสร้างคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างรายได้ให้กับสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยจะเริ่มเปิดรับโครงการของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป


 


ในขณะที่ นายสมศักดิ์ โยอินชัย กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ นั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2542 แล้ว และปี 2544 มีการตั้ง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยเพิ่มในเรื่องการจัดการหนี้สินของเกษตรกร ซึ่งได้มีการขึ้นทะเบียนคนจนกันหลังจากนั้น แต่เพิ่งเห็นเป็นรูปร่างในตอนนี้ ซึ่งตนเห็นว่า การที่กองทุนฟื้นฟูฯ ขับเคลื่อนมาถึงตอนนี้ได้ ก็เพราะพลังของภาคประชาชนที่ได้ร่วมกันเรียกร้องกันมานาน


 


 "กฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมากที่สุดในบรรดากฎหมายทั้งหมดในประเทศไทยในขณะนี้ เพราะว่า ในกลไกของกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร มีตัวแทนชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างน้อย 20 คน เพื่อร่วมกันคิด ทำ และเข้าไปรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งดีที่กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เข้าไปหาทางออกให้เกษตรกรที่มีหนี้สิน และกำลังล้มละลาย รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้จัดการวางแผนจัดการหนี้ในระยะยาวได้"


 


อย่างไรก็ตาม นายสมศักด์ ได้กล่าวถึงปัญหาภายหลังการดำเนินการของกองทุนฟื้นฟูฯ ว่า ถึงแม้ว่ากองทุนฟื้นฟูฯ จะดำเนินต่อไปได้ แต่ยังมีปัญหาด้านนโยบายของรัฐ ที่ยังมุ่งเน้นระบบเศรษฐกิจเสรี อย่างเช่น การตกลงทำการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งส่งผลทำให้ภาคเกษตรกรมีความเสี่ยงทั้งในด้านการผลิต ราคา และอำนาจการต่อรอง ก็ยิ่งทำให้เกษตรกรต้องตกอยู่ในวงจรอุบาท และกลับมาเป็นหนี้สินเหมือนเดิมไม่รู้จบสิ้น


 


 "ยกตัวอย่างผลกระทบของการค้าระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยได้เปิดการค้าเสรีไทย-จีน นั้นได้สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าในเรื่องของตลาดหรือเมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกล ล้วนถูกผูกขาด จำกัดอยู่ในแวดวงของนายทุนบริษัทใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่กลุ่ม แม้กระทั่งเรื่อง การปลูกชาในแถบจังหวัดเชียงรายในขณะนี้ ก็ตกอยู่ในมือของนายทุนใหญ่เท่านั้นเอง"


 


นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ทางออกที่แท้จริง ก็คือ จะต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ สร้างองค์กรสถาบันการเกษตร เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้ ทั้งในด้านการผลิต และเทคโนโลยี และควรหาทางออก ให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรกระแสรอง หรือเกษตรทางเลือก ซึ่งในขณะนี้ ทางกองทุนฟื้นฟูฯ ยังไม่มีการพูดในเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่ยังมุ่งจะส่งเสริมเกษตรกรผลิตเพื่อขาย


 


""ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่แท้จริง จะต้องให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ สามารถพึ่งปัจจัยการผลิตต่อไปได้ โดยอาจจะส่งเสริมให้ทำเกษตรกรธรรมชาติ หรือวนเกษตร เป็นต้น โดยกองทุนฯ ควรลงไปสนับสนุนทั้งความรู้ และเงินทุน ให้เกษตรกรพึ่งตัวเองได้ ไม่ใช่เอาเงินไปให้เกษตรกรซื้อรถไถ ซื้อยาฆ่าแมลง สุดท้ายก็กลับไปสู่วังวน กลายเป็นวงจรอุบาทตามเดิม" กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net