Skip to main content
sharethis

ผู้จัดการรายวัน รายงานเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 49 ว่า นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซี่งถูกระบุว่าเป็นแกนนำในการจัดตั้งพรรค "พลังแผ่นดิน" ร่วมกับนายลิขิต ธีระเวคิน และนายสฤต สันติเมธนีดล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นแกนนำ และมีการทาบทาม ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มาเป็นหัวหน้าพรรค ได้กล่าวยอมรับว่ามีการหารือกับ พล.อ.ชวลิต เรื่องแนวนโยบายสำหรับพรรคการเมืองใหม่ แต่ยังไม่ทราบว่าชื่อพรรคอะไร


 


ทั้งนี้นายณรงค์ กล่าวถึง พล.อ.ชวลิต ว่า ยืนยันจะยังไม่เลิกเล่นการเมือง แต่จะเป็นหัวหน้าพรรคหรือจะกลับมาในลักษณะใดไม่ทราบ


 


"เมื่อท่านขอคำแนะนำว่า จะสู้กับนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย ควรจะมีนโยบายอะไรในฐานะนักวิชาการ ซึ่งไม่ไดัฝักใฝ่ฝ่ายใดก็พร้อมให้คำแนะนำ โดยได้เสนอแนะในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจระดับรากหญ้า และการปฏิรูปการเมือง แต่ในฐานะนักวิชาการเมื่อให้ความเห็นไปแล้วจะทำไปอย่างไรอีกเรื่องหนึ่ง หากนำไปใช้แล้วทำดีก็ดีไป แต่นำไปใช้แล้วไม่เข้าท่า ก็จากออกมา" นายณรงค์ กล่าว


 


นายณรงค์ ยังกล่าวด้วยว่า นโยบายที่จะนำไปสู้กับพรรคไทยรักไทย ที่ใช้หลักประชานิยมโดยเน้นในกลุ่มคนชนบทที่เป็นฐานเสียงที่สำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย นั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าสังคมไทยก้าวผ่านมาจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมทุนนิยมแล้ว ที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเป็น "มนุษย์ค่าจ้าง" ( Wage Human) รายได้ที่ไปสร้าง ผลิตภัณฑ์มวลรวม ภายในประเทศ (จีดีพี) 42-45% มาจากค่าจ้างของลูกจ้างที่ใช้แรงงาน และเพียง 17% เท่านั้นที่มาจากภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม หรือแม้ในภาคเกษตรเองที่ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกจ้างภาคเกษตร เช่น คนงานตัดมันสำปะหลัง อ้อย ดังนั้นภาคแรงงานจึงเป็นฐานคะแนนเสียงที่จะต้องได้รับประโยชน์จากนโยบายทางการเมือง


 


ดังนั้นจึงได้เสนอให้นำเงินกองทุนประกันสังคม ที่มีจำนวนกว่า 8 แสนล้านบาท ตัดบางส่วนคือประมาณ 600-700 ล้านบาทมาทำเป็นธนาคารแรงงาน เพราะผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ได้จ่ายเงินประกันสังคมจึงควรให้คนเหล่านี้นำเงินดังกล่าวในใช้ประโยชน์ เช่น กู้ ยืม เบิกจ่ายค่าประกันสุขภาพให้กับลูก ภรรยา หรือพ่อ หากทำได้ก็จะเกิดมิติใหม่ของผู้ใช้แรงงานในยุคทุนนิยม


 


"หากเปรียบเทียบก็ไม่ต่างจากที่รัฐบาลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เข้าไปช่วยเหลือกับเกษตรกร ซึ่งเป็นการใช้งบของรัฐด้วยซ้ำ เช่น กองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกร แต่เงินในธนาคารแรงงาน เป็นเงินของแรงงานลูกจ้างโดยตรง ซึ่งเงินจำนวนนี้ ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังใช้ประโยชน์จากเงินก้อนนี้ไม่เต็มที่ หากทำได้ก็จะดึงคะแนนเสียงของคนชนบทเข้ามาด้วย"


 


นายณรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ควรผลักดันค่าจ้างให้สูงขึ้นเหมือนมาเลเซีย โดยใช้นโยบายอัตราค่าจ้างก้าวหน้าวันละ 400 บาท หากทำได้ก็จะได้เพิ่มกำลังซื้อของผู้ใช้แรงงานในการบริโภค แต่ก็ต้องพัฒนาฝีมือแรงงานและพัฒนาเทคโนโลยี ในการเพิ่มผลผลิตเพื่อแข่งขันกับตลาดประเทศอื่นที่ใช้นโยบายค่าแรงต่ำเพื่อผลิต สินค้าราคาถูกแข่งเช่น จีน เพราะใน เศรษฐกิจยุคทุนนิยม อยู่ได้จากการบริโภคของ ภาคประชาชน ที่ทำให้เศรษฐกิจเดินไปได้ เพราะค่าแรงจากผู้ใช้แรงงานที่นำมาจับจ่ายใช้สอยถึง 42 % ของจีดีพี ที่มาจากนอกภาดเกษตร เมื่อกำลังซื้อเพิ่มขึ้นก็จะทำให้มีการเพิ่มกำลังการผลิตตอบสนองต่อความต้องการของกำลังซื้อจากผู้ใช้แรงงานที่เพิ่มขึ้น


 


นายณรงค์ กล่าวว่าเมื่อปรับค่าแรงแล้ว ก็ควรปรับราคาสินค้าทางการเกษตร ให้สูงขึ้นด้วยเพราะขณะนี้ต้นทุนในการผลิตภาคเกษตรสูงมาก ดังนั้น ข้าว ควรอยู่ที่เกวียนละ 15,000 บาท หรือข้าวถังละ 600-700 บาท ซึ่งก็จะไม่ต้องห่วงเรื่องกำลังซื้อจากผู้ใช้แรงงาน เพราะมีการเพิ่มค่าแรงให้


 


"สังคมเศรษฐกิจทุนนิยม ต้องอาศัยกำลังซื้อ Consumption ของลูกจ้าง ให้มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นเราต้องยกระดับอัตราค่าจ้าง ให้สูงขึ้นเพื่อมาค้ำจุนระบบทุนนิยม ส่วนราคาสินค้าก็ควรให้สูงด้วย เช่น ข้าว ที่ผู้ใช้แรงงานบริโภคกันอยู่ทุกวัน"


 


ส่วนนโยบายเรื่องการปฏิรูปการเมืองนั้น นายณรงค์ กล่าวว่า ควรจะมีนโยบายเรื่องการใช้สิทธิ โดยให้ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิในพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยทำงานอยู่ เช่นเมื่อทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ควรออกเสียงใช้สิทธิ ส.ส.ในกรุงเทพฯ เพราะผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายท้องถิ่นเพราะไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้านเกิดอีกแล้ว อย่างนโยบายพรรคไทยรักไทย เรื่องกองทุนหมู่บ้าน ผู้ใช้แรงงานในกรุงเทพฯไม่ได้ประโยชน์อะไรโดยตรง แต่ต้องเดินทางไปเลือกตั้ง


 


ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าใครเป็น ส.ส.และนโยบายนั้นมีประโยชน์จริงหรือไม่ การลงคะแนนก็เป็นไปในลักษณะตามคำแนะนำของพ่อ แม่ พี่น้องที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ถือวเป็นการนำคะแนนเสียงของชาวชนบทมาครอบคะแนนเสียงของคนในเมือง ที่เป็นคนผู้ใช้แรงงานชนชั้นกลาง ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศสูงถึง 42% ต่อจีดีพี แต่ถูกคนชนบทครองงำคะแนนเสียงไป


 


"หากทำธนาคารเพื่อผู้ใช้แรงงานได้ จะสามารถสู้นโยบายประชานิยมของทักษิณ ที่เน้นเกษตรกรในชนบทได้สบาย แต่ต้องให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเลือกตั้งในเขต ที่เขาทำงาน ที่เขาควรได้ประโยชน์จากนโยบายที่พวกเขาทำงานอยู่ ไม่ใช่ไปออกเสียง ที่ต่างจังหวัดก็ถูกครอบงำคะแนนเสียงไป"


 


ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงมีทุนสนับสนุนไม่มาก นายณรงค์ กล่าวว่า เคยให้คำแนะนำพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน โดยพูดคุยกับ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ว่าควรจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร เป็นการแลกเปลี่ยน แต่เห็นว่าคนในพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีคนถนัดในเรื่องเศรษฐกิจมากนักที่จะมาร่างนโยบายเศรษฐกิจที่ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน


 


……………………………………….


ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการรายวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net