Skip to main content
sharethis

 


ภาพขบวนชาวบ้านสันทรายคองน้อยนับร้อยชีวิต นั่งเบียดเสียดเรียงรายหลังรถกระบะกว่า 6 คัน มุ่งหน้าเข้าสู่สภ.อ.ฝาง ในยามสายของวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา เรียกความสนใจจากผู้คนสองข้างทางได้อยู่ไม่น้อย ....... แต่ครั้นขบวนรถผ่านไป ก็เหลือไว้เพียงรอยสงสัย ว่าอีกนานเท่าใดปัญหาจะยุติเสียที!


 


ฝาง แม่อาย ไชยปราการ พื้นที่ลุ่มน้ำฝาง 3 อำเภอของ จ.เชียงใหม่ ที่แน่นขนัดไปด้วยสวนส้มแปลงใหญ่ไกลสุดสายตานี้ เครือข่ายอนุรักษ์ป่าเวียงด้ง อ.ฝางเคยสำรวจตัวเลขประมาณการณ์ไว้ตั้งแต่ปี  2545-46  ว่ามีพื้นที่สวนส้มรวมไม่ต่ำกว่าแสนไร่


 


ในขณะที่งานวิจัยตามโครงการวิจัยเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการทำพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในพื้นที่ลุ่มน้ำฝาง (2546) ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ร่วมมือชาวบ้านในพื้นที่ กลับระบุว่าพื้นที่ปลูกส้มใน 3 อำเภอ มีประมาณ  3 แสนไร่ เพราะมีการรุกคืบเข้าไปยึดครองใช้พื้นที่ป่า ทั้งป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ รวมถึงพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชน


 


นายจันทร์ หนองหิน ผู้ใหญ่บ้านสันทรายคองน้อย หมู่ 6 ต.เวียงฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวภายหลังเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมชาวบ้านที่เดินทางมาสนับสนุนให้กำลังใจเพื่อเอาผิดกับสวนส้มธนาธร หรือบริษัทเชียงใหม่ธนาธร จำกัด หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้นำการปลูกส้มระดับประเทศ ที่ได้นำท่อคอนกรีตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร มาลักลอบสูบน้ำจากเหมืองสาธารณะห้วยแม่หลักหมื่น เข้าไปกับเก็บในอ่างเก็บน้ำของบริษัท จนลำเหมืองเหือดแห้ง และบริษัทยังก่อสร้างถนน และทำรั้วกั้นทางเข้าออกลำเหมืองบนพื้นที่สาธารณะดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนให้กับคน 3 หมู่บ้านที่ใช้น้ำร่วมกันบนพื้นที่ 600 ไร่


 


นายจันทร์ บอกเล่าว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับนายทุนสวนส้ม มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทฯเหล่านี้ฉวยโอกาสเข้ามายึดครอง อ้างสิทธิเหนือทรัพยากรที่ชาวบ้านพื้นถิ่น ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาโดยตลอด ดังปรากฏผ่านพิธีเลี้ยงเหมืองฝาย แต่การมาสถานีตำรวจคราวนี้ ตนและชาวบ้านมั่นใจว่าความเป็นธรรมทางสังคมยังมีอยู่จริง


 


เมื่อกระดาษแผ่นสำคัญที่ผู้ใหญ่จันทร์ถือไว้ มีหมายเลข 09117/3588 และถูกลงนามโดยนายบันลือศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายอำเภอฝาง ในวันที่ 24 เมษายน 2549 ซึ่งได้มอบอำนาจให้ชาวบ้านเป็นตัวแทนแจ้งความเอาผิดกับสวนส้มตามกฎหมายลักษณะการปกครองท้องถิ่นนั้น เพิ่มขวัญให้กับชาวบ้านได้อยู่ไม่น้อย เพราะการเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านหลายครั้งในอดีต แทบไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าในท้องถิ่น เพราะมีการโยกย้ายข้าราชการที่ไปข้องเกี่ยวกับชาวบ้านอย่างไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นการแจ้งความครั้งนี้จึงต้องติดตามผลการแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างใกล้ชิด รวมถึงความมั่นคงทางการงานของนายอำเภอเองด้วย          


 


อย่างไรก็ตาม รายงานวิจัยของสถาบันวิจัยสาธารณสุขยังระบุอีกว่า นอกเหนือจากความขัดแย้งเรื่องการใช้ที่ดิน และน้ำ แล้วธุรกิจสวนส้มขนาดใหญ่ยังส่งผลกระทบต่อจำนวนป่าไผ่ในเขตป่าสงวนเวียงด้ง เพราะการปลูกส้มต้องใช้ไม้ค้ำยันลำต้นไม่ให้ล้ม คาดการณ์กันว่าต้องใช้ไม้ไผ่ 1,200 ลำ ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ดังนั้นหากลุ่มน้ำฝาง 3 อำเภอมีพื้นที่ปลูกส้มแสนไร่ ย่อมต้องมีการตัดต้นไผ่จำนวน 120 ล้านลำต่อปี ซึ่งย่อมกระทบต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารจากการเก็บหน่อไม้ในที่สุด


 


นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาการใช้สารเคมีการเกษตรจำนวนมากที่ส่งกลิ่นรบกวน และปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารในธรรมชาติอีกด้วย สิ่งเหล่านี้รอวันประทุ และรอคอยการแก้ไข ยิ่งไปกว่านั้นการปรับตัวของบริษัทสวนส้มเพื่อรองรับนโยบายการค้าเสรี และทิศทางการเปิดตลาดในเวทีโลก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ยังรับประกันได้ว่า คนลุ่มน้ำฝาง 3 อำเภอ คงต้องเจอผลกระทบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าดินจะเสื่อมสภาพเท่านั้นเอง


 


จากต้นน้ำฝางสู่การค้าระดับโลก


 


แม้จะมีข้อสังเกตมากมายว่าการลงนามการค้าเสรีกับประเทศจีน จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อตลาดพืชผักผลไม้ในประเทศ และหลายคนอาจหวังอยู่ลึกว่าการค้าเสรีจะทำให้ส้มไทยอยู่ไม่ได้ และเลิกกิจการไปในที่สุด ดังรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในหัวข้อ "การศึกษาวิเคราะห์แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อรองรับการที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกและการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน" บ่งชี้ว่า


 


ภายหลังจีนเปิดประเทศในปี 2521 ส่งผลให้การผลิตผลไม้ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2544 การปลูกผลไม้ของจีนมีมากเป็นอันดับสามของการเพาะปลูกทั้งหมดในจีน ซึ่งในปัจจุบัน จีนยังเป็นประเทศผู้ผลิตผลไม้มากที่สุดในโลก รองลงมาคือ อินเดียและบราซิล ตามลำดับ


 


ส่วนผลไม้ที่จีนปลูกมากที่สุดโลก ได้แก่ แอปเปิลและแพร์ รวมถึงมีการผลิตผลไม้ตระกูลส้มมากเป็นอันดับสามของโลกอีกด้วย โดยเพียงแค่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีปริมาณการผลิตผลไม้รวมเพิ่มขึ้นจาก 24.09 ล้านตันเป็น 67.77 ล้านตัน หรือคิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว ทั้งนี้จากการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญกับการผลิตผลไม้มากขึ้นตามไปด้วย


 


กระนั้นนายบัณฑูร  จิรวัฒนากูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่ธนาธร จำกัด กลับกล่าวสวนทางกระแสเอฟทีเอว่า นับตั้งแต่ปี 2545-2457 ธุรกิจการปลูกสวนส้มเติบโตขึ้นมาก จากเดิมเฉพาะ อ.ฝาง ไชยปราการ และแม่อาย จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกไม่ถึงหมื่นไร่ แต่ปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนไร่ ซึ่งกำลังการผลิตจะเต็มที่ในปี 2549-2550 โดยในส่วนของสวนส้มธนาธร ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 5,000 ไร่ สามารถให้ผลผลิตได้แล้ว 3,000 ไร่ หรือปีละประมาณ 2 หมื่นตัน ส่วนอีก 2,000 ไร่จะเริ่มให้ผลผลิตได้ประมาณปี 2550-2551 ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะส่งขายในประเทศไทย  โดยตลาดภายในประเทศมีมูลค่าปีละประมาณ 200-300 ล้านบาท  ขณะที่ตลาดต่างประเทศมีมูลค่า 40 ล้านบาท


 


นอกจากนี้สวนส้มธนาธรยังได้ร่วมทุนกับชาวฮ่องกง เพื่อปลูกสวนส้มบนพื้นที่ 500 ไร่ ในมณฑลกวางตุ้ง โดยใช้งบประมาณ 5-6 ล้านบาท และในอนาคตยังมีโครงการขยายพื้นที่เพาะปลูกในประเทศอินโดนีเซีย โดยเป็นการร่วมทุนกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งโครงการดังกล่าวจะใช้พื้นที่บนเกาะชวา 1,800 ไร่ โดยจะเริ่มในปีนี้ และที่เกาะบอร์เนียว อีก 1,000 ไร่ ในระหว่างปี 2550-2551 ทั้งนี้ ทั้งสองพื้นที่ใช้งบลงทุน 80 ล้านบาท และใช้ส้มพันธุ์สายน้ำผึ้งในการเพาะปลูก อีกทั้งทางบริษัทยังได้ทำข้อตกลงกับบริษัทคาร์ฟูร์ เพื่อส่งส้มไทยไปขายทั่วโลก


 


ด้วยตัวอย่างทิศทางรับมือของบริษัทชั้นนำแห่งนี้จึงเห็นได้ชัดว่า บริษัทท้องถิ่นได้เติบโตเปลี่ยนผ่านเป็นบริษัทข้ามชาติ มีพลังในการช่วงชิงทรัพยากรในท้องถิ่น และเข้าไปกำหนดพื้นที่ทางนโยบายของรัฐ ไม่เพียงในประเทศเท่านั้นแต่ยังลุกลามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศคู่ค้าต่างๆ ด้วย


 


ยิ่งกลับมาพิจารณาภาพความเป็นจริงของสังคมที่ให้ปล่อยให้จำนวนตัวเลขทางเศรษฐกิจเพิ่มความสำคัญ กลายเป็นเครื่องมือตัดสิน อธิบายความหมายแม้กระทั่งคุณค่าทางสภาพแวดล้อมที่เสียไป หรือความเดือดร้อนต่างๆ ที่ชาวบ้านได้รับ อาจเปลี่ยนเป็น "ตัวเลข" จำนวนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ "มูลค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ"


 


ดังนั้น ความขัดแย้งข้างต้นจึงอาจเรื้อรัง และลุกลามต่อไป หาใช่เพราะนายทุนสวนส้มมีอำนาจล้นฟ้า หากแต่เป็นตัวเงิน ที่มีอำนาจอย่างแท้จริง มันมากมายจนผู้เกี่ยวข้องเบือนหน้าหนีความชอกช้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำฝาง และปล่อยให้กติกาสังคม รวมถึงจริยธรรม คุณธรรม และมาตรฐานในการอยู่ร่วมกันถูกบิดเบือนกันต่อไป


 


ฤา ว่าลุ่มน้ำฝางในวันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้คนที่นั่นต้องยอมเป็นเครื่องบูชายัญลัทธิ"จีดีพี"ไปแล้วจริงๆ .              


 


ธีรมล บัวงาม


สำนักข่าวประชาธรรม


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net