Skip to main content
sharethis

ประชาไท—22 พ.ค. 2549 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุ คนไทยเป็นพาหะธาลัสซีเมียถึง 40% ของประชากร สูงที่สุดในโลก ถือเป็นภาวะวิกฤต เผยคนเป็นพาหะแม้ไม่แสดงอาการ แต่ถ้าจับคู่กับคนที่เป็นพาหะด้วยกัน โอกาสมีลูกป่วยเป็นธาลัสซีเมียสูงถึง 1 ใน 4 ชี้ป้องกันได้ด้วยการตรวจเลือดก่อนมีบุตร แจงการรักษาปัจจุบัน คือ เปลี่ยนถ่ายไขกระดูก ค่าใช้จ่ายสุดแพง 1 ล้านบาทต่อคน ขณะนี้กำลังวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ ได้ผลดี ค่ารักษาถูกกว่า มีวิจัยที่ศิริราช และรามาฯแล้ว


 


นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นเรื่องใหญ่มาก ประชากรไทย 1% ป่วยเป็นธาลัสซีเมีย หรือประมาณ 1 ล้านคน และเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทยเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย คือ 40% หรือเท่ากับ 16-24 ล้านคน สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ถ้าไม่สร้างความตระหนักและไม่ควบคุม ก็จะขยายเพิ่มมากขึ้นไปอีก


 


ธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับภาวะของเลือด ซึ่งเม็ดเลือดแดงมีอายุไม่นานเท่าคนปกติ แตกง่าย ทำให้คนไข้มีภาวะซีด โลหิตจาง และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ความรุนแรงของธาลัสซีเมียมีหลายระดับ ตั้งแต่รุนแรงมากจนเด็กเสียชีวิตในท้อง และทำให้แม่ต้องเสียชีวิตด้วย จนถึงภาวะอาการทั่วไป


 


"ประเด็นที่น่ากลัว คือ คนที่เป็นพาหะจะไม่มีอาการอะไรแสดงให้เห็นเลย เหมือนคนปกติทุกอย่าง แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ เมื่อคนเป็นพาหะของโรคนี้ไปแต่งงานกับคนที่เป็นพาหะด้วยกัน โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคธาลัสซีเมีย 1 ต่อ 4 ในกรณีที่เป็นเชื้อชนิดเดียวกันที่เข้าคู่กันได้ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ขณะเดียวกัน แม้คนเป็นพาหะไปแต่งงานกับคนไม่เป็นพาหะ ลูกก็มีโอกาส 1 ใน 4 ที่จะเป็นพาหะธาลัสซีเมียด้วย ก็จะเป็นการขยายจำนวนคนเป็นพาหะเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตั้งแต่หลายร้อยล้านบาท จนถึงพันล้านบาทต่อไป และมีปัญหาถึงคุณภาพของประชากรไทยด้วย"


 


นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 24-26 พ.ค.นี้ ที่ จ.อุดรธานี จะพูดคุยประเด็นของความก้าวหน้าการดำเนินการเรื่องธาลัสซีเมีย ทั้งประเด็นการรักษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสเต็มเซลล์ และการสร้างความตระหนักให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ เช่น การให้บริการตรวจเลือดก่อนการมีลูก เปิดให้เป็นบริการที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โดยจะทราบผลภายใน 1 วัน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณตรงนี้ โดยในปีนี้ให้งบประมาณ 50 ล้านบาท และในปี 2550 จะเพิ่มเป็น 90 ล้านบาท


 


นพ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สัดส่วนของประชากรไทย 40% ที่เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย ถือว่าสูงมากและเป็นอันดับหนึ่งของโลก หากไม่มีการควบคุม จำนวนคนที่เป็นพาหะก็จะเพิ่มมากขึ้น วิธีการป้องกัน คือ ต้องให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะคู่สมรสที่จะมีลูก ต้องมีการตรวจเลือดก่อน เป็นหลักการ คือ ให้รู้ล่วงหน้าว่าจะเป็นอะไร แล้วขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าดำเนินการอย่างไร ซึ่งขณะนี้แนวโน้มผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสซีเมียมีจำนวนลดลง เดิมคือ 1% ของประชากร ปัจจุบันอยู่ที่ 0.8% ของประชากร ซึ่งเป็นผลจากการให้คำปรึกษาทางพันธุกรรม ตรวจเลือดเพื่อให้พ่อแม่ตัดสินใจก่อนการมีบุตร


 


 "การรักษาปัจจุบัน คือ การเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก เพราะมีความผิดปกติที่ไขกระดูก ซึ่งเป็นตัวสร้างเม็ดเลือด ซึ่งค่ารักษาและการดูแลแพงมากประมาณ 1 ล้านบาทต่อราย ปัจจุบันมีวิธีการรักษาแบบใหม่ คือ ใช้สเต็มเซลล์ ซึ่งใช้วิธีการแยกเซลล์ตัวอ่อนจากไขกระดูก เลี้ยงเพิ่มจำนวน แล้วฉีดเข้าไปในร่างกายใหม่ ได้เซลล์จำเพาะ เพื่อให้เซลล์สร้างเม็ดเลือดแดงได้ ขณะนี้มีการวิจัยทางคลินิกที่โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลรามาธิบดี วิธีการนี้ยังอยู่ในการวิจัยกับกลุ่มเล็กๆ ยังไม่ได้เปิดการรักษาในวงกว้าง แต่ค่ารักษาจะถูกกว่าการเปลี่ยนไขกระดูกมาก ประมาณ 2 แสนบาทต่อราย" นพ.สมชาย กล่าว


 


ที่มา เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net