Skip to main content
sharethis

ประชาไท--23 พ.ค.2549 "รัฐสภาไทยรักไทย"ทำผิดซ้ำซาก เกือบเสนอกฎหมายระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ศาลรัฐธรรมนูญฉีกหน้ายับ ลงมติเฉียดฉิวกฎหมายฮิตเล่อร์ห้ามชุมนุม-ก่อม็อบบนทางหลวง ขัดรัฐธรรมนูญ ฐานจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน อดีต สว.ที่ร่วมลงชื่อจี้ต่อมสำนึกรัฐบาล-สุชิน ต้องรับผิดชอบ ฐานใช้เสียงข้างมากลากไป เผยโชคดีที่ถูกเบรกไม่อย่างนั้นม็อบไล่ทักษิณถูกจับกินข้าวแดงหมด


 


วันนี้ ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 6 ว่าร่างพระราชบัญญัติทางหลวง (ฉบับที่ ) พ.ศ…. มาตรา 20 ซึ่งมีสาระสำคัญคือห้ามไม่ให้มีการชุมนุมกันในเขตทางหลวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการทางหลวง ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่เสนอในช่วงรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภารัฐสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภา ไปแล้วและอยู่ระหว่างการประกาศเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ เป็นการออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


โดยการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ที่มีนายผัน จันทรปาน รักษาการผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 262 วรรคหนึ่ง (1) กรณีร่างพระราชบัญญัติทางหลวง ฉบับที่ ...พ.ศ. มาตรา 20 ที่บัญญัติให้เพิ่มความเป็นมาตรา 46/1 มีความขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 44 หรือไม่


 


โดยเรื่องดังกล่าว ได้มีส.ส.95 คนและสว.79 คน เห็นว่ามาตรา 20 แห่งร่างพรบ.ทางหลวง ฉบับที่ พ.ศ.ซึ่งบัญญัติให้เพิ่มความเป็นมาตรา 46/1 โดยวรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดชุมนุมกันในเขตทางหลวง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวาง การจราจรหรืออาจเป็นอันตราย หรือเสียหายแก่ยานพาหนะ หรือผู้ใช้ทางหลวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวง หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย จากผู้อำนวยการทางหลวง หรือเป็นการเดินแถวขบวนแห่ หรือชุมนุมกันตามประเพณีหรือวัฒนธรรมหรือเป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรืออยู่ในเขตที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขออนุญาตตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และวรรคสองบัญญัติว่าการขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น


 


จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 44


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการยื่นคำร้องดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 และภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องดังกล่าว ได้มีการหารือและอภิปรายถึงร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างกว้างขวางหลายต่อหลายครั้ง จนในที่สุดหลังจากได้รับคำร้องมากว่าหนึ่งปี ศาลรัฐธรรมนูญจึงนัดลงมติในวันนี้


 


โดยก่อนการลงมติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 14 คนได้มีการแถลงด้วยวาจาก่อนลงมติจากนั้นจึงมีการลงมติ ซึ่งผลปรากฏว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 เสียง ประกอบด้วย นายผัน จันทรปาน,นายจิระ บุญพจนสุนทร,นายนพดล เฮงเจริญ,นายมงคล สระฏัน,นายมานิต วิทยาเต็ม,นายสุวิทย์ ธีรพงษ์,นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์และนายอภัย จันทรจุลกะ ได้วินิจฉัยร่างพรบ.ดังกล่าว มาตรา 20 ที่บัญญัตว่า "ห้ามมิให้ผู้ใด ชุมนุมกันในเขตทางหลวง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรหรืออาจเป็นอันตราย หรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือผู้ใช้ทางหลวง หรือเป็นการเดินแถว ขบวนแห่ หรือชุมนุมกันตามประเพณี หรือวัฒนธรรมหรือเป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรืออยู่ในเขต ที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขออนุญาตตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และวรรคสองบัญญัติว่าการขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"


 


ตุลาการเสียงข้างมากทั้ง 8 คนเห็นว่ามาตราดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยเป็นบทบัญญัติที่มีการจำกัดเสรีภาพเกินความจำเป็น กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพราะการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 29 และมาตรา 44 บัญญัติไว้ ทั้งมีกฎหมายอื่นบัญญัติห้ามไว้อยู่แล้ว


 


ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อย จำนวน 6 คน ที่เห็นว่ามาตรา 20 ของร่างพรบ.ทางหลวงดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญประกอบด้วย นายจุมพล ณ สงขลา,นายปรีชา เฉลิมวณิชย์,นายศักดิ์ เตชาชาญ,นายสุธี สุทธิสมบูรณ์,พล.ต.อ.สุวรรณ สุวรรณเดโชและนายอุระ หวังอ้อมกลาง


 


โดยให้เหตุผลว่ามาตรา 20 ของร่างพรบ.ทางหลวงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการจำกัดเสรีภาพเท่าที่จำเป็น โดยไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 และสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 44


ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่าร่างพรบ.ทางหลวง (ฉบับที่)พ.ศ…. มาตรา 20 ที่บัญญัติให้เพิ่มความเป็นมาตรา 46/1 เป็นอันตกไป


 


รายงานข่าวจากที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่าในการพิจารณาร่างพรบ.ทางหลวงดังกล่าว ที่ประชุมได้ใช้เวลาในการแถลงด้วยวาจาและลงมติเป็นเวลานานกว่าสองชั่วโมง โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากส่วนใหญ่แถลงเหตุผลที่ว่าเป็นกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญเพราะมาตรา 44 บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ รวมทั้งขัดต่อมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้


 


ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยส่วนใหญ่แถลงด้วยวาจาถึงเหตุผลว่ามาตรา 20 ของพรบ.ทางหลวงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะแม้มาตรา 44 วรรคหนึ่งจะเปิดกว้างให้บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุม แต่มาตรา 44 วรรคสองได้บัญญัติไว้ว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชน ที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวการณ์สงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก


 


ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยเห็นว่ามาตรา 44 วรรคสองดังกล่าวเปิดกว้างให้ฝ่ายบริหารมีการออกกฎหมายพิเศษเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆได้อยู่แล้ว หากว่าการออกกฎหมายต่างๆ ไม่กระทบกระเทือนต่อมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ


 


"ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากหลายคนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าหากจะมีการออกกฎหมายเพื่อห้ามการชุมนุมต้องออกเป็นกฎหมายพิเศษเพื่อการชุมนุมโดยเฉพาะเพื่อควบคุมการชุมนุมของประชาชนให้สงบเรียบร้อย ไม่ใช่มาออกกฎหมายควบคุมการชุมนุมซึ่งกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นเรื่องใหญ่มาไว้ในกฎหมายที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างกฎหมายทางหลวง อันเป็นการออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบ แต่ถ้ามีการออกกฎหมายเรื่องการชุมนุมเฉพาะก็จะได้ไปลงลึกในรายละเอียดไปเลยว่าจะดูแลการชุมนุมอย่างไร การขออนุญาตต้องทำอย่างไร เพราะถ้าออกกฎหมายแบบนี้มามีหวังต่อไปใครจะชุมนุมอะไรไม่ได้เลย ไม่ว่าที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หน้ารัฐสภา หรือพวกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมาป่านนี้คนที่ประชาชนที่ออกมารวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลถูกจับไปหมดแล้ว"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งกล่าว


 


ด้านนายจิระ บุญพจนสุนทร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากเปิดเผยว่ากฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาไปแล้ว และขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างการเตรียมรอประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่พอดีได้มีส.ส.และสว.ในขณะนั้นได้ยื่นเรื่องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน สาเหตุที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณาคำร้องดังกล่าวนานเพราะได้มีการหารือในข้อกฎหมายหลายครั้งในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งตนก็เห็นว่ารัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญมาตรา 29 และมาตรา 44 ได้ให้สิทธิกับประชาชนในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้แล้ว ดังนั้นการออกกฎหมายที่ไปขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้


 


นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รักษาการสว.กรุงเทพมหานคร หนึ่งในสว.ที่ร่วมลงชื่อให้ส่งร่างพรบ.ทางหลวงมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกล่าวว่าขอชื่นชมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่ลงมติเช่นนี้ และครั้งนี้ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่อีกครั้งของการใช้ระบบเสียงข้างมากลากไปในรัฐสภาที่พรรคไทยรักไทยกุมเสียงข้างมากอยู่ทั้งในสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภา โดยการเร่งออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งที่ได้มีการอภิปรายและท้วงติงทั้งในชั้นคณะกรรมาธิการและในการลงมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายไปแล้วในชั้นสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลและสว.เสียงข้างมากก็ไม่สนใจพยายามทุกอย่างเพื่อให้ออกกฎหมายฉบับนี้ออกมาให้ได้ เพื่อให้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการจัดการกับแกนนำผู้ชุมนุมหรือกลุ่มผู้ออกมาเรียกร้องเรื่องต่างๆ


 


"รัฐบาลทำผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าในการเร่งรัดออกกฎหมาย ตั้งแต่กฎหมายบุคลากรทางการศึกษา พรบ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ มาจนถึงกฎหมายทางหลวงฉบับนี้ ถ้าตอนนั้นไม่มีการยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อนแล้วกฎหมายออกมา ป่านนี้พวกที่ไปชุมนุมกันที่สนามหลวง หน้าทำเนียบรัฐบาล สะพานมัฆวาน โดยจับไปหมดแล้ว เมื่อเกิดความผิดพลาดใหญ่หลวงขนาดนี้ถามว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบไหม สภาและวุฒิสภาที่ไปลงมติเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้จะรับผิดชอบไหมที่ใช้เสียงข้างมากทำในสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตอนกฎหมายฉบับนี้เข้ามาที่วุฒิสภา สว.เสียงข้างน้อยทั้งในกรรมาธิการและในที่ประชุมใหญ่พยายามขอแปรญัตติเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในมาตรา 20 ของกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่ก็ไม่ยอมกันไปทำทุกอย่างเพื่อให้คงมาตรานี้ไว้เพื่อให้ออกมาเป็นกฎหมายจัดการกับผู้ชุมนุมให้ได้ เราก็เตือนไว้หมดแล้วในที่ประชุมกรรมาธิการและในที่ประชุมใหญ่ทั้งในวาระสองและสามว่าขอให้แก้ไขอย่าปล่อยให้ผ่านไป แต่ก็ไม่สนใจบอกว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแน่นอน แล้วสุดท้ายออกมาแบบนี้จะมีใครรับผิดชอบไหม" นายเจิมศักดิ์ระบุ


 


นายเจิมศักดิ์ตอกย้ำในตอนท้ายว่าความพยายามออกกฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลชุดนี้พยายามแอบทำออกมาเพื่อจัดการกับกลุ่มที่มักออกมาเรียกร้องต่างๆ เพื่อปิดกลั้นไม่ให้พวกไม่พอใจรัฐบาลหรืออยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหวอะไรได้ แต่โชคดีที่สว.และอดีตส.ส.ที่ร่วมกันเข้าชื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะไม่เช่นนั้นถ้าไม่มีการส่งเรื่องไปป่านนี้ การชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลหรือสะพานมัฆวานไม่มีทางเกิดขึ้นได้แน่นอน เพราะจะมีการใช้กฎหมายนี้จัดการกับแกนนำผู้ชุมนุมและประชาชน ดังนั้นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการเร่งรัดออกกฎหมายฉบับนี้รัฐบาลต้องออกมาแสดงความผิดชอบ


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาล "ทักษิณ 1" ก็เคยเกิดปัญหาขึ้นเมื่อสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาในขณะนั้นได้ลงมติผ่านร่างพรบ.บุคลากรทางการศึกษาและร่างพรบ.มหาวิทยาลัยราชภัฏออกมา แต่ต่อมาได้ถูกตีกลับหลังรัฐบาลนำร่างกฎหมายทั้งสองฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะกระบวนการตรากฎหมายทั้งสองฉบับเกิดปัญหาขึ้นในบางมาตรา แต่เวลานั้นทั้งรัฐบาลและรัฐสภาต่างปฏิเสธความรับผิดชอบ และทำให้รัฐบาลและรัฐสภาในเวลานั้นถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงการออกกฎหมายแบบใช้เสียงข้างมากลากไป และความพยายามออกร่างพรบ.ทางหลวงครั้งนี้จึงถือเป็นความผิดพลาดของสภาผู้แทนราษฏรที่มีส.ส.พรรคไทยรักไทยมากที่สุดและวุฒิสภาอีกครั้ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net