เครือข่ายป่าดงนาทาม เผยชาวบ้านแห่ปลูกมันรับผลิตเอทานอล

รายงานโดยศูนย์ข่าวประชาคม อุบลฯ

 

 

นายศิริศักดิ์ จรูญศรี เครือข่ายป่าดงนาทามอำเภอโขงเจียม เปิดเผยว่า หลังจากที่มีกระแสข่าวการต่อต้านกลุ่มคนที่เข้าไปบุกรุกป่าชุมชนในพื้นที่ ปรากฏว่ากลุ่มคนดังกล่าวได้หยุดการกระทำดังกล่าวแล้ว โดยเฉพาะที่ป่าชุมชนบ้านชาด ต.หนามแท่ง อ.ศรีเมืองใหม่ นั้น หลังจากที่คณะกรรมการนำเรื่องยื่นต่อนายอำเภอศรีเมืองใหม่โดยนายอำเภอได้มอบหมายให้คณะกรรมการเป็นผู้ตัดสินใจและดำเนินการก็สามารถควบคุมการบุกรุกได้ ทั้งนี้ถ้าหากพบการบุกรุกอีกนายอำเภอได้สั่งให้คณะกรรมการควบคุมตัวผู้ที่บุกรุกและส่งให้นายอำเภอเข้าตรวจสอบได้ทุกเมื่อ

 

ในส่วนของเครือข่ายฯ ขณะนี้ได้เตรียมพิจารณาโครงการที่ชาวบ้านร่วมกันเสนอเพื่อรับเงินสนับสนุนซึ่งได้ตั้งงบประมาณไว้ 300,000 บาท โดยมีโครงการที่เสนอเข้ามาขอรับเงินสนับสนุนทั้งหมด 25 โครงการ แต่ละโครงการต้องมีเงื่อนไขที่จะต้องพิจารณาคือ ต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะรักษาป่าด้วย เพราะจากที่ผ่านมามีเพียงโครงการที่เป็นการพัฒนาอาชีพอย่างเดียว ในขณะที่เครือข่ายของเราเป็นเครือข่ายรักษาป่าเป็นจุดประสงค์หลัก นอกจากนี้เครือข่ายยังพยายามที่จะดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น ทั้งนี้ดอกผลที่เกิดขึ้นกับทุกโครงการต้องมอบเข้าสมทบกองทุนรักษาสาธารณะประโยชน์อีกด้วย

 

"เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ทีผ่านมา คณะกรรมการพิจารณารางวัลลูกโลกสีเขียว ได้เข้ามาประเมินในพื้นที่เพื่อมอบรางวัลแห่งความยั่งยืน โดยแนวโน้มมีโอกาสสูงที่เครือข่ายจะได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่งความจริงน่าจะได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ติดอยู่ที่คณะกรรมการบางคนเข้าไปเป็นผู้นำท้องถิ่น จึงไม่มีผู้จะดำเนินงาน ซึ่งรางวัลดังกล่าวนั้นถ้าได้จะเป็นถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตย์พระบรมราชินีนาถ"

 

นอกจากนี้นายศิริศักดิ์ ได้เปิดเผยต่อไปอย่างน่าสนใจว่า ปัจจุบันพื้นที่เครือข่ายฯมีการปลูกยางพารามากขึ้นซึ่งการปลูกยางพาราก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีคือ ประชาชนเห็นประโยชน์จากป่าชุมชนมากขึ้น จากการพูดคุยกับชาวบ้านบางคนให้ความเห็นว่าหากไม่มีป่าชุมชนไม่รู้จะไปหากินหรือหาของป่าจากที่ไหน ข้อเสียก็คือทุกคนมุ่งใช้ประโยชน์จากชุมชนเพียงแห่งเดียว ขณะที่ป่าตามหัวไร่ปลายนาเดิมถูกใช้เป็นพื้นที่ปลูกยางทั้งหมดแล้วนั่นเอง ทำให้โอกาสป่าอาจจะเสื่อมโทรมได้ และที่สำคัญอย่างยิ่ง การปลูกมันสำปะหลังเริ่มมีมากขึ้นอีกครั้งกลังจากที่ซบเซาไปหลายปี ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากปีที่แล้วมันสำปะหลังมีราคาดี นอกจากนี้ทางภาครัฐเช่นองค์การบริหารส่วนจังหวัดก็มีการส่งเสริมด้วย เห็นได้จากญาติของตนคนหนึ่งซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาทำไร่มันสำปะหลังเพียง 5 ไร่ แต่ในปีนี้ได้เพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นกว่า 20 ไร่

 

"ราคาเป็นตัวล่อใจอันดับแรกที่ทำให้ให้ชาวบ้านต้องหันมาปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าถ้าทุกคนหันมาปลูกแล้วอนาคตจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมหรือราคาตกต่ำอีกหรือไม่"

 

ขณะที่นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ อบจ.อุบลฯ มีโครงการใหญ่ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการผลิตพลังงานทดแทนน้ำมัน โดยได้ร่วมกับสำนักงานเกษตร จังหวัดอุบลฯ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลฯ เร่งส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาปลูกมันสำปะหลังอย่างจริงจังเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ทั้งนี้เพื่อรองรับการเตรียมก่อสร้างโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลัง ซึ่ง อบจ.อุบลฯ มีแผนงานที่จะก่อสร้างขึ้นภายในปี 2551 โดยดึงนักลงทุนชาวไทยมาลงทุนและนำโครงจักรจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในโรงงาน ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังรายใหม่ให้ได้ 2 แสนไร่ จากที่มีอยู่เดิมประมาณ 1 แสนไร่ รวมเป็น 3 แสนไร่ นอกจากนี้ อบจ.อุบลฯ ยังเป็นผู้สนับสนุนต้นพันธุ์ซึ่งประกอบด้วย สายพันธุ์ระยอง 9 และสายพันธุ์ห้วยปลง รวมทั้งการใช้รถไถของ อบจ.อีกด้วย ซึ่งคาดว่าอนาคตเกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท