Skip to main content
sharethis


 


 


วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2006 18:14น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 



 


วันนี้ (23 พ.ค.) เครือข่ายสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย นางโซรยา จารจุรี เจ้าของรางวัลสตรีผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งนางมัรยัม สาเม๊าะ, น.ส.นารี เจริญผลพิริยะ และน.ส. ลม้าย มานะการ รางวัลสตรีผู้สร้างสันติภาพใน 3 จังวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความสะเทือนใจให้แก่คนไทยทั้งประเทศ ในนามของเครือข่ายสตรี จึงขอแสดงความเห็นใจและเสียใจกับคุณครูและครอบครัวของคุณครูทั้งสอง และขอเป็นกำลังใจให้ทั้งสองฟื้นคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในกรณีของครูจูหลิง ปงกันมูลซึ่งมีอาการอยู่ในขั้นโคม่า ขอให้พี่น้องมุสลิมร่วมกันละหมาดฮาญัรและขอดุอาว์ (ขอพร) จากพระผู้เป็นเจ้า สำหรับพี่น้องชาวไทยพุทธขอให้ร่วมกันอธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนวยอวยพรให้คุณครูฟื้นจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว


 


ทั้งนี้เครือข่ายสตรีได้ระบุอีกว่า ทางภาครัฐต้องเข้าไปฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ครูและครอบครัวครูทั้งสองที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ,ครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งชุมชนที่เกิดเหตุรุนแรง โดยเฉพาะการเยียวยาทางจิตใจ เพราะการเยียวยาอย่างถูกต้องและโดยเร็ว นอกจากจะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจแล้ว ยังส่งผลต่อการสร้างความสมานฉันท์ และป้องกันการเกิดความแตกแยกและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย อีกทั้ง รัฐต้องปกป้องคุ้มครองพลเมืองผู้บริสุทธิ์ทุกคนของรัฐให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน


 


"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูทั้งสอง ชี้ให้เห็นว่าขณะนี้สถานการณ์ของผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ เสี่ยงต่ออันตรายและกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางตรงมากขึ้น จึงขอให้รัฐและชุมชนท้องถิ่นช่วยกันปกป้องคุ้มครองผู้หญิงรวมทั้งผู้บริสุทธิ์มิให้ต้องกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงเช่นนี้อีก เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นถึงการทำงานเฉพาะส่วน ไม่เตรียมการป้องกันผลกระทบก่อนการจับกุมทั้งที่เคยมีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวมาก่อนแล้ว" เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุ


 


ในขณะเดียวกัน การเข้าไปมีส่วนร่วมในการล้อมจับคุณครูเป็นตัวประกันของผู้หญิงในชุมชนกูจิงลือปะ ตามที่เป็นข่าว และเจ้าหน้าที่ได้จับคนในชุมชนจำนวนหนึ่งซึ่งมีผู้หญิงเป็นผู้ต้องสงสัยอยู่ด้วย ชี้ให้เห็นว่าในสถานการณ์ความรุนแรงขณะนี้ ผู้หญิงมีโอกาสที่จะเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งในฐานะผู้ถูกกระทำและเป็นผู้กระทำ ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงต้องระมัดระวังตัว และเท่าทันความรุนแรง ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในสถานการณ์ที่ส่งเสริมหรือสร้างความรุนแรงไม่ว่ากับฝ่ายใดในขณะเดียวกันผู้หญิงก็อาจมีส่วนที่ช่วยยับยั้งหรือมิให้เกิดความรุนแรง หรือความรุนแรงบานปลาย


 


นอกจากนั้น ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า สื่อมวลชนพึงระวังการนำเสนอข่าวที่จะทำให้เกิดความแตกแยกทางศาสนา เพราะในทุกศาสนา ในทุกหมู่เหล่า ย่อมมีคนดีและคนชั่วปะปนกันอยู่เป็นเรื่องธรรมดา สำหรับศาสนาอิสลามนั้น ไม่ส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง ฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่น และนอกจากจะส่งเสริมให้กระทำความดี ยังมีหลักสำคัญห้ามปรามการกระทำชั่วอีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีสิ่งไม่ถูกต้อง หรือความชั่วร้ายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ตำบล เป็นหน้าที่ผู้ที่เป็นมุสลิมที่ดี ที่จะต้องหาทางยับยั้ง ห้ามปราม เพื่อรักษาหลักการสำคัญที่เป็นหัวใจและความบริสุทธิ์ของศาสนาเอาไว้


 


"ชาวบ้านกูจิงลือปะ โดยเฉพาะผุ้หญิงและเด็กในชุมชนที่นั่น สื่อไม่ควรเหมารวมว่าเป็นโจรไปทั้งหมด เพราะมีชาวบ้านจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยและเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังกรณีของเด็กหญิงอาชะห์ ที่เดินทางจากหมู่บ้านมาพร้อมพ่อ และยาย เพื่อขอเข้าเยี่ยมครูสินีนาฏ ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และที่สำคัญผู้ที่ช่วยชีวิตครูไว้ได้อย่างกล้าหาญ คือ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และ อส. ซึ่งเป็นคนในชุมชนกูจิงลือปะนั่นเอง"ถ้อยแถลงการณ์ระบุทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net