"ภาคประชาชนใต้"โต้รัฐยุติเงื่อนไขความรุนแรง

ประชาไท—24 พ.ค. 2549 ใบปลิวเกลื่อนยะลา จวกเจ้าหน้าที่รัฐสร้างปัญหา ลุยจับ ตรวจค้น ใส่ร้ายชาวบ้าน หวังสร้างผลงาน เผยชาวบ้านแห่ร้องเรียน "ศูนย์นิติธรรม สภาทนายความ" นับร้อยกรณี "ยุวมุสลิมฯ" จวกคนของรัฐใช้ พรก. สร้างเงื่อนไขความรุนแรง ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ฟันธง "กอ.สสส.จชต." ทำงานไม่เข้าเป้า "องค์กรสตรี" ชี้ผู้หญิงใต้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง

 

โปรยใบปลิวจวกรัฐ

ตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันที่ 23 พฤษภาคม 2549 มีผู้พบใบปลิวขนาดเอ 4 พิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ มีข้อความว่า "รายการแหกตาประชาชนและผู้บริหารตัวเอง" ติดตามมัสยิดและร้านค้าในอำเภอรามัน จังหวัดยะลาจำนวนมาก เป็นใบปลิวขนาด เอ 4 พิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์

 

เนื้อหาระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอรามัน มีการตรวจค้นจับอาวุธปืนอาก้า เป็นการสร้างข่าวเพื่อสร้างผลงานของตัวเอง เหตุการณ์ที่บ้านกูวิง อำเภอยะหา จับคนพิการทั้งสมองและมือ มีอาวุธปืนเอชเคไว้ในครอบครอง เป็นการใส่ร้ายและต้องการใส่ความชาวบ้านละแวกนั้น ,uการจับกุมตัว นายฮัมดี ชาวบ้านตำบลกาตอง อำเภอยะหา ซึ่งกำลังจะแต่งงาน ทำให้งานแต่งงานไร้เจ้าบ่าว นี่คือ ผลงานและเหตุการณ์อื่นๆ ที่จับค้นบ้านและยิงชาวบ้าน ไม่ว่าใน ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อจะบอกว่าการข่าวได้ผล ประชาชนให้ความร่วมมือแต่แท้จริงไม่ใช่

 

ร้องเรียนสภาทนายความเพียบ

นายอับดุลอาซิด ตาดิอิน อุปนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทบาทการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา ยังไม่เข้าเป้า ชาวบ้านยังคงได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก แต่กลับให้งบในส่วนที่ภาคประชาชนนำไปบริหารกันเองน้อยมาก

 

"หลังจากประกาศใช้ พระราชกำหนดฉุกเฉิน ยิ่งสร้างผลกระทบกับชาวบ้านยิ่งขึ้น ซึ่งองค์กรเหล่านี้คงพอใจที่เหตุการณ์ยังเป็นอยู่แบบนี้เพราะจะได้เอางบฯมาใช้กันได้" นายอับดุลอาซิส กล่าว

 

นายอับดุลอาซิส กล่าวอีกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ทางศูนย์นิติธรรม ซึ่งตั้งขึ้นโดยกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ว่า มีเด็กวัยรุ่นถูกทหารซ้อมได้รับบาดเจ็บโดยไม่ทราบสาเหตุ ขณะนี้ทนายประจำศูนย์ฯ กำลังหาข้อเท็จจริงอยู่

 

"การจับกุมชาวบ้านหลายครั้ง ทำผิดข้อตกลง ไม่มีการแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ตามพระราชกำหนดฉุกเฉิน 3 วันแรก ไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุมได้ ญาติพี่น้องหรือทนายก็เยี่ยมไม่ได้ จริงๆ แล้ว 3 วันแรกที่ถูกจับกุม คือ ช่วงวิกฤตของคนที่ถูกจับ เรากำลังปวดหัวกับเรื่องแบบนี้ เพราะได้รับการร้องเรียนเรื่องแบบนี้จากชาวบ้านเป็นร้อยเรื่อง" นายอับดุลอาซิส กล่าว

 

นายอับดุลอาซิส กล่าวอีกว่า แม้จะมีการตั้งกองอำนวยการเสริมสรางสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับจังหวัด และอำเภอ แต่บางอำเภอทหารกลับไปจับคนร้ายก่อน แล้วมาให้ทางอำเภอลงนามทีหลัง ทั้งที่ตามหลักการก่อนจับกุม ทหารและนายอำเภอจะต้องลงนามร่วมกันก่อน การจับก่อนแล้วมาให้อำเภอลงนามทีหลัง สร้างความอึดอัดใจให้กับนายอำเภอเป็นอย่างมาก เพราะไม่เป็นไปตามที่ตกลง

 

"การกระทำแบบนี้จะยิ่งสร้างเงื่อนไขให้ชาวบ้านมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังยอมรับกฎหมาย เขาถึงต้องมาร้องเรียน แต่กระบวนการยุติธรรมทุกวันนี้ มันบิดเบี้ยวตั้งแต่ต้น การออกพระราชกำหนดฉุกเฉิน นอกจากจะไม่ทำให้เหตุการณ์ทรงตัวแล้ว อาจจะทำให้เลวร้ายลงไปอีก กรณีการจับครูเป็นตัวประกันสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ไปจับกุมชาวบ้าน บอกว่ามีหลักฐานชัดเจนโดยไม่แจ้งให้ใครทราบ ครูเลยรับกรรม การแก้ปัญหาต้องแก้ที่สาเหตุ อย่ามาประณามชาวบ้านเพื่อกลบเกลื่อน ทุกครั้งที่เกิดเหตุแบบนี้ มีการบิดเบือนประเด็นให้สังคมสนใจแต่ปลายเหตุ แล้วใช้การโฆษณาชวนเชื่อมาบิดเบือนประเด็น" นายอับดุลอาซิส กล่าว

 

นายอับดุลอาซิส กล่าวต่อไปว่า วิธีการที่เจ้าหน้าที่ใช้กับชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เหมือนกับวิธีที่ใช้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในอดีต คนไหนที่โดนกาหัวสีแดงก็ต้องเดือดร้อน ในส่วนของศูนย์นิติธรรม เริ่มมีชาวบ้านรู้จักมากขึ้น มีผู้มาร้องเรียนเป็นระยะๆ โดยศูนย์ฯ จะตั้งอยู่ทั้ง 3 จังหวัด มีตัวแทนจากสภาทนายความเป็นผู้รับเรื่อง

 

นายอับดุลอาซิส กล่าวอีกว่า เรื่องที่ได้รับการร้องเรียนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม สัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวบ้านร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ได้ไปจับกุมวัยรุ่นคนหนึ่งที่ จังหวัดนราธิวาส โดยไปขุดบริเวณหลังบ้านเพื่อหาหลักฐาน ญาติเขาขอไปดูและขอถ่ายรูป แต่ถูกทหารขู่จะยิง และห้ามไม่ให้เข้าไปยุ่ง ขุดไปขุดมาก็เจอสายไฟ บอกว่าเป็นวัสดุประกอบระเบิด แล้วบังคับให้ยอมรับ

 

"พอถัดมาอีก 2 วันก็มาขุดแบบเดิมอีก คราวนี้เจอระเบิดอีก 2 ลูก สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างเงื่อนไขกดดันให้ชาวบ้านไม่มีทางออก การจะค้นหรือจับกุมใครควรเรียกผู้นำชุมชน และชาวบ้านให้มาเป็นพยาน ไม่ใช่ไปค้นโดยห้ามใครเข้าไปยุ่ง บางพื้นที่มีคนถูกจับในลักษณะนี้ เราถามว่าจะให้ช่วยมั้ย เขาบอกว่าไม่ต้อง เขามีวิธีการของเขา เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก" นายอับดุลอาซิส กล่าว

 

นายอับดุลอาซิส เสนอว่า หากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ต่อไปควรให้พลเรือนเป็นหลักในการทำงานร่วมกับทหาร และตำรวจ เหมือนกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต

 

ผลงานกอ.สสส.จชต.ไม่เข้าเป้า

นายอารีฟีน กาหลง ทีมงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาสังคม จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ภาคประชาชนที่จัดทำโครงการต่างๆ เสนอไปยังกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับงบฯล่าช้ามาก เช่น โครงการสื่อสองภาษาที่ตนเองร่วมจัดทำ ใช้งบฯ 15 ล้านบาท ต้องรอเป็นปีถึงจะได้รับ

 

"การทำงานของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่เข้าเป้า การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หรือผู้บริหารบ่อยๆ ทำให้เกิดปัญหาสะดุด แต่ก็มีบางเรื่องที่สถานการณ์ดีขึ้น เช่น การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีกรือเซะ และตากใบ ชาวบ้านเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ในส่วนที่เป็นโครงการ ที่ภาคประชาสังคมเสนอ กลับไม่ได้รับความสนใจ" นายอารีฟีน กล่าว

 

นายอารีฟีน กล่าวว่า ในอนาคตความสงบจะยังเกิดขึ้นได้ยาก ตราบใดที่ประชาชนยังมีความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุการณ์จะยังคงยืดเยื้อ ซึ่งปัญหาไม่ใช่ประชาชนมองรัฐไปในทางที่ไม่ดี แต่ที่ผ่านมารัฐกลับทำให้เกิดภาพที่ไม่ดีให้ประชาชนเห็น อยากให้มีการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน แล้วจัดทำข้อมูลใหม่ว่าภาคประชาชนต้องการอะไร ไม่ใช่ให้ข้างบนสั่งลงมาให้ข้างล่างทำ ความจริงประชาชนในพื้นที่มีความตื่นตัวหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง แต่กลับไม่มีโอกาสได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์

 

เครือข่ายสตรีชี้ผู้หญิงคือเหยื่อ

ขณะเดียวกัน เครือข่ายสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดยนางโซรยา จารจุรี เจ้าของรางวัลสตรีผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน นางมัรยัม สาเม๊าะ, น.ส.นารี เจริญผลพิริยะ และน.ส.ละม้าย มานะการ 3 เจ้าของรางวัลสตรีผู้สร้างสันติภาพใน 3 จังวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เนื้อหาว่า กรณีของครูจูหลิง กันปงมูล ซึ่งมีอาการอยู่ในขั้นโคม่า ขอให้พี่น้องมุสลิมร่วมกันละหมาดฮาญัรและขอดุอาว์ (ขอพร) จากพระผู้เป็นเจ้า สำหรับพี่น้องชาวไทยพุทธ ขอให้ร่วมกันอธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนวยอวยพร ให้คุณครูฟื้นจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว

 

แถลงการณ์เครือข่ายสตรีระบุว่า ภาครัฐต้องเข้าไปฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูและครอบครัวครูทั้งสองที่ได้รับผลกระทบโดยตรง, ครูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งชุมชนที่เกิดเหตุรุนแรง โดยเฉพาะการเยียวยาทางจิตใจ เพราะการเยียวยาอย่างถูกต้องและโดยเร็ว

 

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับครูทั้งสอง ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้สถานการณ์ของผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ เสี่ยงต่ออันตราย และกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางตรงมากขึ้น จึงขอให้รัฐและชุมชนท้องถิ่น ช่วยกันปกป้องคุ้มครองผู้หญิงรวมทั้งผู้บริสุทธิ์มิให้ต้องกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงเช่นนี้อีก เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นถึงการทำงานเฉพาะส่วน ไม่เตรียมการป้องกันผลกระทบก่อนการจับกุม ทั้งที่เคยมีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวมาก่อนแล้ว" เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุ

 

ในขณะเดียวกัน การเข้าไปมีส่วนร่วมในการล้อมจับคุณครู เป็นตัวประกันของผู้หญิงในชุมชนกูจิงลือปะ ตามที่เป็นข่าว และเจ้าหน้าที่ได้จับคนในชุมชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีผู้หญิงเป็นผู้ต้องสงสัยอยู่ด้วย ชี้ให้เห็นว่า ในสถานการณ์ความรุนแรงขณะนี้ ผู้หญิงมีโอกาสที่จะเป็นเหยื่อของความรุนแรงทั้งในฐานะผู้ถูกกระทำและเป็นผู้กระทำ

 

ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงต้องระมัดระวังตัว และเท่าทันความรุนแรง ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในสถานการณ์ที่ส่งเสริม หรือสร้างความรุนแรง ไม่ว่ากับฝ่ายใด ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงก็อาจมีส่วนที่ช่วยยับยั้ง หรือมิให้เกิดความรุนแรง หรือความรุนแรงบานปลาย

 

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ศาสนาอิสลามนั้น ไม่ส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง ฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่น และนอกจากจะส่งเสริมให้กระทำความดี ยังมีหลักสำคัญห้ามปรามการกระทำชั่วอีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีสิ่งไม่ถูกต้อง หรือความชั่วร้ายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ตำบล เป็นหน้าที่ผู้ที่เป็นมุสลิมที่ดี ที่จะต้องหาทางยับยั้ง ห้ามปราม เพื่อรักษาหลักการสำคัญที่เป็นหัวใจและความบริสุทธิ์ของศาสนาเอาไว้

 

"ชาวบ้านกูจิงลือปะ โดยเฉพาะผุ้หญิงและเด็กในชุมชนที่นั่น มีจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยและเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังกรณีของเด็กหญิงอาชะห์ ที่เดินทางจากหมู่บ้านมาพร้อมพ่อ และยาย เพื่อขอเข้าเยี่ยมครูสินีนาฏ ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และที่สำคัญผู้ที่ช่วยชีวิตครูไว้ได้อย่างกล้าหาญ คือ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และ อส.ซึ่งเป็นคนในชุมชนกูจิงลือปะนั่นเอง" แถลงการณ์ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท