ร้องศาลฯ ตีความ ทำเอฟทีเอ ไทย-ออสเตรเลีย ละเมิดรธน.

25 พ.ค. 2549 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) รักษาการวุฒิสมาชิก และนักวิชาการ ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการทำเอฟทีเอ ไทย-ออสเตรเลีย ว่าละเมิดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 224 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา หรือไม่

 

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) กล่าวว่า ประเด็นที่ขอให้วินิจฉัยมี 3 ประเด็นคือ 1.ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจแห่งรัฐซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสองหรือไม่

 

2.การลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ของรัฐบาลไทยโดยใช้มติคณะรัฐมนตรี (เมื่อวันที่ 11พ.ค.47) ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสองหรือไม่ และ 3.ถ้าการลงนามความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ของรัฐบาลไทยเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคสอง การลงนามความตกลงฯ ดังกล่าว จะมีผลเป็นโมฆะหรือไม่

 

ทั้งนี้ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 33/2543 ที่ระบุว่า อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ในการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมของตน ซึ่งเดิมมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น จึงเข้ารัฐธรรมนูญ มาตรา 224

 

แต่ในการทำเอฟทีเอที่ผ่านมา รัฐบาลของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร กลับยึดถือความหมายของ "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ที่แตกต่างไปจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ยอมนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ทั้งที่ รัฐธรรมนูญ มาตรา 268 บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นๆ ของรัฐ

 

อนึ่ง การยุติความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียสามารถทำได้โดยไม่ถือเป็นการผิดสัญญา เนื่องจากความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย มาตรา 1910 ระบุว่า ประเทศภาคีสามารถบอกยกเลิกความตกลงได้ โดยจะมีผลหลังจากนั้น 12 เดือน นายบัณฑูร กล่าว

 

ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ตัวแทนกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) กล่าวว่า รัฐบาลรักษาการไม่มีความชอบธรรมในการเจรจาหรือลงนามข้อตกลงเอฟทีเอ ไม่ว่าจะเป็นกรณีไทย-ญี่ปุ่น หรือกับสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ ตามที่รัฐบาลอ้างว่า การเร่งเซ็นเอฟทีเอจะช่วยแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากขัดกับการศึกษาของศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ว่า หลังการเซ็นเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น ตัวเลขการขาดดุลทางการค้ากับญี่ปุ่นจะสูงขึ้นอีก

 

แม้จะมีรัฐบาลใหม่ แต่ตราบใดที่การทำเอฟทีเอยังขาดความโปร่งใส โดยให้ข้อมูลกับธุรกิจเพียงบางส่วน และขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง ก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะลงนามหรือเดินหน้าการเจรจา

 

ในกรณีของเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นนั้น รัฐบาลต้องการจะลงนาม ทั้งๆ ที่ประชาชนยังไม่ได้รับรู้ถึงความตกลงอย่างละเอียดทั้งฉบับ ทั้งยังไม่มีการประเมินผลกระทบหรือวางแผนรองรับที่ชัดเจน ซึ่งที่สุดแล้วจะส่งผลเสียในวงกว้าง เช่นเดียวกับเอฟทีเอ ไทย-จีน และเอฟทีเอ ไทย-ออสเตรเลีย โดยที่ผลประโยชน์กระจุกตัวอยู่ที่ธุรกิจของคนใกล้ชิดรัฐบาลเท่านั้น

 

 อนึ่ง รายชื่อผู้ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ประกอบด้วย

ผศ.ภญ.สำลี ใจดี กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์)

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์)

ศจินทร์ ประชาสันติ์ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์)

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์)

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รักษาการส.ว. นครราชสีมา

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ รักษาการส.ว.อุบลราชธานี

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

รศ.ดร.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์

สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.)

กมล อุปแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย

สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์

ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 4 ภาค

จักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ โครงการศึกษาและปฏิบัติงานการพัฒนา

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการองค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย)

นิรมล ยุวนบุณย์ องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย)

ลาวัลย์ สาโรวาท องค์การหมอไร้พรมแดน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท