Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 25 พ.ค. 2549 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีที่ นายสุชน ชาลีเครือ รักษาการประธานวุฒิสภา ทำหนังสือถึงศาลฎีกาเพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาคัดเลือกเสนอชื่อผู้สมควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามรัฐธรรมนูญ ม.138 (3) แทน นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี ที่เสียชีวิต และ พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ที่ลาออกว่า ขณะนี้ได้รับโทรสารขอความร่วมมือจากสำนักงานวุฒิสภาแล้ว แต่ยังไม่มีการประสานงานจัดส่งหนังสือขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการ


 


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงถามถึงกรณีที่นักวิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิพากษ์วิจารณ์บทบาทการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองว่าไม่มีมาตรฐานเรื่องการตีความอาจทำให้เกิดวิกฤตตุลาการนั้น เลขานุการศาลฎีกา กล่าวว่า อาจเป็นเพียงความกังวลว่าศาลจะทำงานอย่างไม่เป็นกลาง ซึ่งการตีความกฎหมายเป็นเรื่องของความเห็นที่จะต้องอาศัยประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ


 


โดยทั้ง 3 ศาลจะระดมความคิดและประมวลความรู้ที่จะใช้ตีความกฎหมาย วิเคราะห์รัฐธรรมนูญด้วยความเป็นกลาง เที่ยงธรรม


 


อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวจากศาลฎีกาแจ้งว่า วันที่ 31 พ.ค.49 ศาลฎีกาจะนัดประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้ง 86 คนคาดว่าอาจจะมีการนำเรื่องที่ประธานวุฒิสภาขอความร่วมมือให้ศาลฎีกาสรรหาบุคคลสมควรเป็น กกต. เข้าเป็นวาระพิเศษด้วย


 


แหล่งข่าวผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า หากมีการประชุมหารือเรื่องดังกล่าวจริง แนวทางที่ประชุมศาลฎีกาจะมีมติอาจเป็นได้ 2 ประการคือ


 


ประการแรกที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา อาจไม่พิจารณาสรรหาบุคคลใดเสนอชื่อสมควรเป็น กกต. ต่อวุฒิสภาเลย ด้วยเหตุผลว่า กกต.ชุดปัจจุบันไม่มีความชอบธรรม หรือไม่ทำตามข้อเสนอแนะของ 3 ศาลที่ผ่านมา หากศาลฎีกาดำเนินการสรรหาบุคคลส่งไปก็อาจไม่เหมาะสม


 


ประการที่สองที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยอมจะดำเนินการพิจารณาสรรหาบุคคลสมควรเป็น กกต. ซึ่งตามขั้นตอนต้องออกประกาศให้มีการเสนอรายชื่อบุคคลและให้มีการเซ็นรับรองโดยผู้พิพากษา และดำเนินการตรวจคุณสมบัติก่อนที่จะนำเสนอชื่อต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อสรรหาบุคคล 4 คน เสนอต่อวุฒิสภาเลือกเป็น กกต. 2 คน ซึ่งการเสนอชื่อบุคคลสรรหาในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้นผู้พิพากษาอาจเสนอชื่อบุคคลภายนอก ดังเช่นกรณีของนายปริญญา นาคฉัตรีย์ ที่ถูกเลือกให้กกต.ชุดปัจจุบันก็ได้


 


อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวคนเดิมกล่าวด้วยว่าเมื่อคุยกับผู้พิพากษาศาลฎีกาหลายคนแล้วส่วนใหญ่ไม่อยากไปเป็น กกต. แต่ทราบว่ามีอดีต ส.ว. อดีตอธิบดี และ อดีตข้าราชการระดับสูงจำนวนมากที่อยากจะเป็น กกต. และได้ติดต่อผู้พิพากษาศาลฎีกาให้ช่วยเสนอชื่อเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แม้ว่า กกต. ชุดนี้เหลือเวลาปฏิบัติงานเพียง 2 ปีก็ตาม


 


ด้านนายวีระชัย แนวบุญเนียร คณะกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) กล่าวในวันที่ 25 พ.ค. กกต. เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคประชุมร่วมกันในตอนบ่ายเพื่อหารือกำหนดวันเลือกตั้ง โดยพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.ได้มอบให้ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือร่วมกัน ซึ่งต้องรอดูว่าที่ประชุมจะกำหนดเป็นวันใดเพื่อเสนอที่ประชุม ครม.ต่อไป


 


ส่วนกรณีที่ นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนกรณีพรรคการเมืองใหญ่จ้างพรรคเล็กทำหนังสือโต้แย้งมายัง ประธาน กกต.ยืนยันไม่สอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากผลสอบสมบูรณ์แล้วว่า ประธาน กกต.กำลังดูหนังสืออยู่ โดยนายนามได้โต้แย้งมาหลายข้อ ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไรต้องถามประธาน กกต.ในฐานะเจ้าของเรื่อง


                           


"ผมได้เห็นหนังสือแล้วแต่พูดไม่ได้เพราะยังเป็นเรื่องลับอยู่ ซึ่งเห็นท่านประธาน บอกว่า จะเชิญท่านนามมาคุยด้วยเร็วๆ นี้" นายวีระชัย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net