Skip to main content
sharethis

แพทย์เผยอาการ "ครูจูหลิง" ล่าสุดยังต้องหวังปาฏิหาริย์


วันที่ 24 พ.ค.น.พ.สุเมธ พีรวุฒิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แถลงว่าอาการของ น.ส.จูหลิง ปงกันมูล ครูโรงเรียนบ้านกูจิงรือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ที่ถูกจับเป็นตัวประกันและทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส อาการยังใกล้เคียงกับเมื่อวานนี้ คือ


 


ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง ต้องใช้เครื่องหายใจ ควบคุมการหายใจตลอดเวลา และต้องใช้ยากระตุ้น เพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจและความดันอย่างต่อเนื่องในปริมาณที่มากขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากสัญญาณชีพไม่คงที่ มีความดันโลหิตต่ำเป็นบางช่วง ในส่วนของม่านตายังคงขยายกว้าง ไม่ตอบสนองต่อแสงเช่นเดิม ซึ่งสัญญาณทางการแพทย์นั้น ต้องรอปาฏิหาริย์เพียงอย่างเดียว


 


ในเวลา 16.00 น.พล.ต.อ. ชิดชัย วรรณสถิตย์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรมว. ยุติธรรม รวมทั้งคณะที่มาเป็นประธานการประชุม กอ.สสส.จชต. เข้าเยี่ยม โดยรับฟังรายงานอาการของน.ส. จูหลิง จากนพ. สุเมธ พีรวุฒิ


 


ส่วย นพ. สกล สิงหะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลภาวะจิตใจผู้ป่วย รายงานอาการพ่อของ น.ส. จูหลิงว่ามีความดันโลหิตสูง พูดน้อยลง และนอนไม่หลับ ส่วนแม่ก็วิตกกังวลสูง แต่ยังไม่มีอาการอะไรที่น่าหนักใจ จึงพยายามทำความเข้าใจกับพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ก็ยอมรับอาการได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่หมดความหวังว่าน.ส. จูหลิงจะฟื้นขึ้นมา


 


ผลการประชุมฝ่ายความมั่นคง


สำหรับผลการประชุมกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) โดยมีพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตเป็นประธาน ผู้เข้าร่วมได้แก่ พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว. กลาโหม พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บริหารระดับสูงของกอ.สสส.จชต. พล.ท. องค์กร ทองประสม แม่ทัพภาค 4 พล.ต.ท. อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค (ผบช.ภ.) 9 และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา เข้าร่วม


 


ภายหลังการหารือประมาณ 3 ชั่วโมง พล.ต.อ. ชิดชัยกล่าวว่า ที่ประชุมได้เน้นย้ำเรื่องการรักษาความปลอดภัยของครูเป็นหลัก โดยมอบหมายให้ผู้ว่าฯ กับผู้นำครูไปหารือแผนรักษาความปลอดภัยของครู จะแก้ปัญหาเรื่องการติดต่อสื่อสารให้เร็วขึ้น ด้วยการปรับคลื่นวิทยุสื่อสารของตำรวจ ทหาร และครูให้ตรงกัน รวมทั้งสร้างรั้วล้อมบริเวณโรงเรียนและบ้านพักครู


 


พล.ต.อ. ชิดชัยกล่าวต่อว่า มีรายงานว่าใน จ. นราธิวาสมีหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่สีแดงกว่า 100 แห่ง ส่วนใน จ. ยะลาและปัตตานีมีไม่เกินจังหวัดละ 50 แห่ง เนื่องจากหมู่บ้านเหล่านี้มีการจัดตั้งเครือข่ายของผู้ก่อเหตุไว้นานแล้ว ทำให้ยังมีความรุนแรงอยู่ อย่างไรก็ตามถือว่าหมู่บ้านสีแดงได้ลดลงจากอดีต


 


ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้เกิดความชัดเจนและนำมารายงานให้ทราบอีกครั้งภายใน 2 วัน ส่วนการปรับเปลี่ยนกำลังในพื้นที่นั้น มีข้อเสนอจากผู้ว่าฯ ยะลาว่าขอให้ใช้ทหารพรานดูแลความปลอดภัยเพราะมีความคุ้ยเคยในพื้นที่


 


ด้านพล.อ. ธรรมรักษ์กล่าวว่า ต่อไปจะปรับแผนการคุ้มครองครู ถ้ามีเหตุการณ์จับตัวประกันเกิดขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุดต้องไปให้ถึงที่เกิดเหตุภายในเวลา 10 นาที และมีอำนาจตัดสินใจได้เลย ไม่ต้องรอแม่ทัพภาค เชื่อว่าครูจะพอใจและได้ย้ำเจ้าหน้าที่ไปว่าต้องปรับแผนให้เร็ว ผู้ก่อเหตุต้องได้รับการตอบบ้าง ไม่ใช่ลอยนวล


 


ความคืบหน้าคดีทำร้ายครูจูหลิง           


ความคืบหน้าการจับผู้ต้องหาในคดีทำร้ายครูภายในโรงเรียนกูจิงลือปะนั้น พล.ต.อ.ชิดชัย กล่าวว่า ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องหาได้ส่วนหนึ่งแล้วจากที่มีหมายจับทั้งหมด 16 คน โดย 1 ในผู้ต้องหาที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้ เป็นผู้ลงมือทำร้าย ครูจูหลิง กันปงมูล และ ครูสิรินาถ ถาวรสุขด้วย โดยเป็นผู้ต้องหา 1 ใน 5 ที่ทำร้ายครู และนอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับเพิ่มเติมอีก ซึ่งเชื่อว่าทั้งหมดยังคงกบดานอยู่ในพื้นที่ และไม่ได้หลบหนีออกนอกประเทศแต่อย่างใด


 


กอส.ชู พ.ร.บ.ดับไฟใต้ เปิดเวทีให้วิพากษ์ข้อเสนอที่ จ.สงขลา


วันเดียวกัน ที่หอประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะอนุกรรมการสื่อสารกับสังคม คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) เปิดเวทีสาธารณะนำเสนอรายงานเรื่อง "การเอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์" มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกส่วนในสังคมได้เข้าถึงและทำความเข้าใจวิพากษ์ วิจารณ์ข้อเสนอ กอส.ต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


พลเอกณรงค์ เด่นอุดม ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อความปรองดองและความสมานฉันท์ในพื้นที่ กอส. กล่าวว่า กอส.ได้จัดทำรายงานเอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์ โดยเสนอให้รัฐพิจารณาตราพระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.ดับไฟใต้ ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ควรบัญญัติการตั้งองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 องค์กร คือ


 


องค์กรที่ 1 จัดตั้งศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) ที่มีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และวิธีการแก้ปัญหาในหน่วยงานของรัฐทั้งหมด และส่งเสริมความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่เข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายในการวางแผนพัฒนา เสนอแนะการโยกย้ายข้าราชการที่ไม่ดีออกจากพื้นที่


 


องค์กรที่ 2 จัดตั้งสภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่เป็นสภาที่ใช้อำนาจราชการหรืออำนาจบริหารอื่น แต่เป็นสภาที่ส่งเสริมกระบวนการสร้างความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


องค์กรที่ 3 จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์ โดยเป็นองค์กรที่กฎหมายรองรับและรัฐบาลจัดสรรงบประมาณ มีคณะกรรมการบริหารอิสระ


 


นอกจากนี้ กอส.เสนอมาตรการสมานฉันท์เฉพาะหน้า คือ จัดตั้งหน่วยสันติเสวนา เป็นหน่วยสนธิกำลังระหว่างพลเรือน ทหารและตำรวจ มีหน้าที่ป้องกันมิให้มีความขัดแย้งและลุกลามกลายเป็นความรุนแรง และรัฐควรเลือกวิธีสานเสวนากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ


 


โรงเรียนในนราธิวาส ปิด 199 โรงจนกว่าจะมั่นใจ


นายไพรัตน์ แสงทอง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 จังหวัดนราธิวาส เผยผลการประชุมของครูในพื้นที่ จ.นราธิวาส ในประเด็นเหตุการณ์จับกุมครูเป็นตัวประกัน ว่ายังไม่มีความมั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัย เห็นพ้องปิด 199 โรงเรียน จนกว่าจะเกิดความมั่นใจ


 


ผู้ว่าฯนราฯข้อย้ายตัวเองรับผิดชอบ        


นายประชา เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ยื่นหนังสือถึงส่วนกลาง ขอย้ายตัวเองออกนอกพื้นที่เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีชาวบ้านรุมทำร้ายครูโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงทีเป็นเหตุให้ น.ส.จูหลิง ครูประจำโรงเรียนมีอาการเป็นตายเท่ากัน เป็นการเปิดโอกาสให้กระทรวงมหาดไทยคัดสรรผู้ว่าฯคนใหม่มาสานต่องานดับไฟใต้


 


สื่อมาเลย์จับตาไทยดูแลครูไม่ดีมานานแล้ว


นายอับดุลอายิ อาแวสือแม คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ข่าวชาวบ้านรุมทำร้ายครูนั้นได้รับความสนใจและจับตามองจากสื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย เช่นหนังสือพิมพ์ "อูตูซัน" และ "นิวส์ สเตรท ไทม์ มาเลเซีย"


 


เพราะสื่อเหล่านี้ให้ความสำคัญกับประเด็นความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ลุกลามมายังข้าราชการครูเป็นเวลานานแต่ผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถหาหนทางป้องกันได้ ส่งผลให้มีคนที่ต้องตกเป็นเหยื่อสังเวยความรุนแรงคนแล้วคนเล่า


 


นายอับดุลอายิ กล่าวต่ออีกว่า ในมาเลเซีย ครูถือเป็นอาชีพที่ได้รับเกียรติและมีการยอมรับอย่างสูงในสังคม เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่าข้าราชการครูซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดยังไม่ได้รับการดูแล และปกป้องเท่าที่ควรจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาความรุนแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net