คุยกับนักวิจัยไทยคดีศึกษา ชาตินิยมและการแบ่งขั้วตรงข้าม ผลงานอันไพศาลของแบบเรียนไทย

 


ที่สุดแล้ว ประเด็นเรื่องการกระทำผิดต่อชาติ อันหมายถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็วนเวียนอยู่ในการต่อสู้ทางการเมืองที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันอย่างมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อกล่าวหาล่าสุดจากนักวิชาการชั้นนำของไทยจำนวนหนึ่งและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบางคน ที่โจมตีไปยังแนวทางบางอย่างของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และแกนนำสมาชิกพรรคไทยรักไทยในนาม "ปฏิญญาฟินแลนด์" ซึ่งเข้าข่ายผิดต่อชาติ ในฐานะที่อาจจะมีความคิดฝักใฝ่ไปในทางสังคมนิยม และไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ การต่อสู้ของขบวนการภาคประชาชนดูเหมือนจะขยับขยายไปสู่รายละเอียดความผิดพลาดในการบริหารประเทศของรัฐบาลไทยรักไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเจรจาเอฟทีเอ ซึ่งมีลักษณะไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในขณะที่มีข้อกังขาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษหรือไม่กับการเจรจาเอฟทีเอในบางกรณี นโยบายการการปราบปรามยาเสพติดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมโหฬาร ด้วยยอดผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 ศพ การจัดการปัญหาภาคใต้ที่ผิดพลาด ฯลฯ

 

แต่ไฉนข้อกล่าวหาล่าสุดจึงกลายเป็นการเปิดประเด็นใหม่ด้วยหลักการเก่า เรื่อง ความไม่ภักดีสถาบันสำคัญสูงสุดของชาติไทยไปเสีย

 

วารุณี โอสถารมย์ นักวิจัยจากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดูจะไม่แปลกใจกับปรากฏการณ์เช่นนี้ เธอบอกกับ "ประชาไท" ว่า เราล้วนเป็นผลผลิตจากแบบเรียนที่ให้คำจัดกัดความเรื่องชาติอย่างตายตัว และเป็นแบบเรียนที่สอนให้จำเป็นชุด ๆ จำแนกเป็นขั้วๆ ว่าอย่างไหนดี อย่างไหนเลว อย่างไหนขาว อย่างไหนดำ ไม่มีพื้นที่สำหรับการวิเคราะห์อันเป็นพื้นที่ๆ อาจจะมีสีเทาๆ และเสี่ยงต่อการถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่แบบ "กลางตกขอบ"

 

"ดิฉันคิดว่าวิธีคิดแบบขั้วตรงข้ามก็คือวิธีคิดของคนในสังคมนี่แหละ แต่ปัจจัยมาจากไหน ในฐานะที่ดิฉันสนใจเรื่องการศึกษา ดิฉันคิดว่า นี่คือผลผลิตที่เป็นการตกผลึกทางความคิดเชิงวัฒนธรรมของสังคมไทย เป็นผลผลิตของการศึกษา เราจะเห็นได้ชัดเจนมากจากเรื่องของแบบเรียน"

 

วารุณี โอสถารมย์ นักวิจัยจากสถาบันไทยคดีศึกษา เป็นนักประวัติศาสตร์ซึ่งให้ความสนใจศึกษาเป็นพิเศษเรื่องการศึกษาของสังคมไทย โดยผลงานวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้นเธอศึกษาเรื่อง "การศึกษาในสังคมไทย พ.ศ. 2411-พ.ศ. 2475."

 

"ประชาไท" ไปพูดคุยกับเธอหลังจากที่ได้ฟังเธอตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า การขับเคี่ยวทางการเมืองของ 2 ฟากความคิดซึ่งแบ่งเขาแบ่งเราชนิดไม่อนุญาตให้ใคร "กลางตกขอบ" ได้นี้มาจากการตกผลึกทางวัฒนธรรมของสังคมไทยเอง และเธอก็พบสิ่งนี้ผ่านการวิเคราะห์แบบเรียนไทย ในการวิจัยของนักหนังสือพิมพ์ชาวเยอรมัน นาม Neils Mulders (ทั้งนี้  "ประชาไท" สัมภาษณ์วารุณี เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งขณะนั้นกระแสข่าวเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของทหารกำลังมาแรง)


 

 


พื้นที่ในแบบเรียนคือพื้นที่ของชาติ(นิยม)

นีลส์ โมเดอร์ เข้ามาทำวิจัยในเมืองไทยในช่วงปี ค.ศ. 1995-1997 โดยที่มีวัตถุประสงค์จะศึกษาโลกทัศน์ของคนในสังคมไทยในการมองเรื่องของพื้นที่สาธารณะ ภายใต้หัวข้อ Thai Images: The Culture of The Public World (มองโลกทัศน์สังคมไทยในพื้นที่สาธารณะ)

 

โมเดอร์ไม่ได้จำกัดเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่เขามองเรื่องสื่อสิ่งพิมพ์ และทีวีด้วย แต่วารุณีสนใจเป็นพิเศษเรื่องของแบบเรียน ซึ่งสิ่งที่โมเดอร์สกัดออกมาจากแบบเรียนที่เขาใช้เป็นกรณีศึกษาก็คือแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533 ชุดสุดท้ายก่อนที่จะมีการปฏิรูปแบบเรียนตามหลักสูตรใหม่ในปี พ.ศ. 2544 

 

จากการศึกษางานของโมเดอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาสังคมศึกษา ซึ่งประกอบด้วยด้วยเนื้อหาหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และกฎหมาย วารุณีพบว่าสิ่งที่โมเดอร์สังเคราะห์ออกมาก็คือชาตินิยม และชาตินิยมก็คือการสอนในรูปแบบเชิงจริยธรรม

 

แล้วในเชิงจริยธรรมแบบนั้นก็ได้แฝงเอาไว้ถึงสิ่งที่เราเรียกว่าความคิดแบบขั้วตรงข้าม แบ่งขั้ว ขาว-ดำ ดี-ชั่ว ชัดเจน ซึ่งความคิดแบบสองขั้วนั้นเป็นความคิดแบบที่มักจะหยิบยกกรณีตัวอย่าง ที่บอกถึงสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ผิดว่ามีรูปแบบอย่างไร มากกว่าที่จะสอนเรื่องของการคิดแบบวิเคราะห์

 

"ครูอาจจะพูดหรือสอนแบบท่องจำ สิ่งที่เป็นความดีที่เทียบกับสิ่งที่เป็นความชั่วโดยผ่านวิธีการแบบท่องจำ แทนที่คุณจะเห็นปัจจัยต่าง ๆ ที่แวดล้อมและผลักให้เกิดความชั่ว คุณก็กลับไม่เห็นปัญหา คุณก็ยังยืนยันว่าคุณต้องแบ่งความดีกับความชั่ว แล้วความดีความชั่วมากจากไหน ความดีความชั่วก็มาจากชาตินิยม อะไรที่ดีก็คืออยู่บนฐานของชาตินิยม แล้วอะไรที่ไม่ดีก็คือสิ่งที่อยู่นอกโลกชาตินิยม"

 

ชาติในแบบเรียน กษัตริย์คือวีรชนของชาติ สิ่งดีงามของชาติคือความทันสมัยและพัฒนา

เมื่อถามถึงคำจำกัดความของชาตินิยม วารุณีบอกว่าชาตินิยมของไทยหมายถึง สถาบันหลัก 3 คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เส้นทางประวัติศาสตร์ชาตินิยมในสังคมไทย ก็พบว่า 3 สถาบันนี้ถูกจัดลำดับความสำคัญสูงสุดแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลา

 

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ สูงสุด ชาติก็คือกษัตริย์ ชาติกับกษัตริย์คืออันหนึ่งอันเดียวกันไม่มีการแบ่งแยก ศาสนาคือศาสนาเดียวคือศาสนาพุทธ แล้วพอมาถึงสมัยประชาธิปไตยคือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ยังคงเก็บพื้นที่ของการอธิบายชาตินิยมสำหรับพระมหากษัตริย์อยู่แต่อาจจะถูกจัดลำดับให้เป็นอันดับ 2 รองจากชาติ เนื่องจากชาติสมัยใหม่มีรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

พระมหากษัตริย์ถูกจัดลำดับอยู่ในลำดับ 2 อย่างน้อยก็ช่วง 2-3 ทศวรรษแรกของการอภิวัฒน์ 2475 จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2500 ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมาก็พยายามที่จะจัดลำดับให้สถาบันกษัตริย์ขึ้นมาเป็นลำดับต้น

 

การจัดลำดับนี้มีนัยสำคัญ โดยวารุณีเชื่อว่า การจัดลำดับความสำคัญนี้เป็นความรับรู้ที่ไม่เท่ากันระหว่างคนในภาคชนบทกับคนในเมือง อย่างไรก็ตามจากแบบเรียนจะเห็นว่าพื้นที่สำหรับสถาบันกษัตริย์นั้นเข้าครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของประวัติศาสตร์ชาติ

 

ประชาชน-คนไม่สำคัญของชาติ

วารุณี กล่าวว่าวิชาประวัติศาสตร์ให้พื้นที่กับบทบาทของกษัตริย์ในฐานะวีรชนของชาติ เป็นพื้นที่หลักของแบบเรียน การขับเคลื่อนประวัติศาสตร์จะถูกขับเคลื่อนได้ก็เพราะบทบาทของผู้นำ และบทบาทของผู้นำก็มีแต่บทบาทของการสร้างสิ่งที่ดีงามให้กับบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างความเจริญ ทันสมัย

 

"เป็นวิธีคิดที่เป็นแบบแผนว่าพระมหากษัตริย์ดีอย่างไร สร้างความเจริญให้กับชาติอย่างไรบ้างโดยที่ไม่มีการพูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การที่คน ๆ หนึ่ง จะผลักดันสิ่งที่เป็นความเจริญนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างราบเรียบ ยิ่งเมื่อเราคิดถึงว่าสิ่งที่พระมหากษัตริย์พยายามผลักดันเข้าสู่สังคมไทยนั้นคือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องได้รับการต่อต้าน ต้องมีความขัดแย้งในเชิงผลประโยชน์ แต่ทั้งหมดไม่ได้มีการพูดถึงในแบบเรียน แบบเรียนจะตัดสิ่งที่เป็นความขัดแย้งออกทั้งหมด

 

"เพราะฉะนั้นภาพของบทบาทพระมหากษัตริย์จึงเป็นภาพของความสำเร็จ เป็นภาพของการผลักดันสิ่งที่เรียกว่าเป็นความเจริญก้าวหน้าได้อย่างราบรื่นไม่มีความขัดแย้ง แล้วสังคมไทยก็ประสบความสำเร็จแล้วก็มีความเจริญก้าวหน้า แล้วเราก็มีความผาสุก นี่คือภาพที่ แบบเรียนจะบอกว่าทุกคนต้องเอาเป็นตัวอย่าง และนี่คือบทบาทที่ทุกคนต้องยกย่องและชื่นชมและเชิดชู

 

"ไม่มีการบอก ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายบางอย่างถูกผลักดันไปได้แค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือซึ่งทำไม่สำเร็จเป็นเพราะอะไร ไม่มีการพูดถึง ไม่มีการประเมินในสิ่งที่เป็นนโยบายเลย"

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อพูดถึงส่วนที่เป็นกิจกรรมของรัฐบาล แบบเรียนก็จะให้ความสัมพันธ์ในเชิงบวก ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของนโยบายในการพัฒนาประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา แบบเรียนเรียบเรียงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาอย่างน่าเบื่อหน่าย คืออ่านแล้วหลับไป เป็นข้อมูลล้วน ๆ ไม่มีการพูดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันก่อให้เกิดความแตกต่างและเหลื่อมล้ำ หรือความแตกต่างทางฐานะระหว่างภาคเกษตรในชนบทกับภาคอุตสาหกรรมในเมือง หรือแม้กระทั่งเกษตรในชนบทแบบเกษตรแบบอุตสาหกรรม กับเกษตรแบบพอเลี้ยงตัวเอง สิ่งเหล่านี้ไม่มีการพูดถึง

 

เพราะฉะนั้นในแบบเรียนจึงมีการบันทึกไว้แต่สิ่งที่เป็นเรื่องของทัศนะเชิงบวกของแผนพัฒนาว่านั่นคือการนำมาซึ่งความเจริญให้กับสังคมไทย ไม่มีการพูดถึงสลัม ไม่มีการพูดถึงความยากจน หรือไม่มีการพูดถึงปัญหาภาวะขาดแคลนในชนบท หรือถ้าจะพูดได้มันก็แฝงอยู่น้อยมากแล้วก็พูดราวกับว่าปัญหาเหล่านี้กำลังจะถูกแก้ไขในไม่ช้า

 

ตัวอย่างสุดท้าย ที่วารุณีกล่าวถึงคือ เนื้อหาว่าด้วย หน้าที่พลเมือง ในแบบเรียนพูดถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งน่าสนใจมาก สิ่งที่นีลส์ โมเดอร์พบก็คือว่า ตลอดมานั้นแบบเรียนบันทึกไว้ว่าประชาธิปไตยเป็นวิธีคิดของโลกตะวันตกที่ถูกนำเข้ามาให้กับสังคมไทย

 

ตัวชี้วัดที่ปรากฏในแบบเรียนว่าอะไรคือความเป็นประชาธิปไตยจะมีอยู่แค่เพียง 2 เรื่อง คือ 1. รัฐธรรมนูญ และ 2. การเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยก็ใส่ใจมากกับ 2 เรื่องนี้ เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่คิดว่าเป็นเรื่องอย่างอื่นเลย แต่กลับไปคิดว่าปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทยก็มาจากรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง

 

ทั้งนี้ ในแบบเรียนก็ไม่ได้มีการอธิบายเชิงวิเคราะห์เรื่องพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทยที่สัมพันธ์กับบริบทของสังคมการเมือง แต่เป็นการบอกเล่าเรื่องรัฐธรรมนูญทั้ง 14 ฉบับ ว่ารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีเนื้อหาอย่างไรซึ่งก็น่าเบื่อมากเพราะเราไม่มีวันรู้เลยว่าความแตกต่างของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะคนเขียนแบบเรียนไม่ได้เชื่อมโยงรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับกับบริบทของสังคมในช่วงนั้น ๆ คือไม่ได้เชื่อมโยงบริบททาบประวัติศาสตร์กับรัฐธรรมนูญเข้าด้วยกัน

 

เถียงกันแทบตาย สุดท้ายจบลงที่ความจงรักภักดี

แม้ว่าคำอธิบายของวารุณีจะฟังดูเผิน ๆ เหมือนกับ สิ่งที่ภาคประชาชนฝ่ายต่อต้านทักษิณกำลังทำ ก็คือการเติมเต็มสิ่งที่แบบเรียนตกหล่นไป แล้วทำไม เรากลับพบ "ชาติ" เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม คำถามนี้ได้รับการอธิบายว่า เนื่องเพราะ สำนึกชาตินิยมมันไม่สามารถทำให้คิดได้หลากหลาย

 

"ก็เพราะคุณถูกปลูกฝังให้คิดแบบแผนเดียว มาตรฐานเดียว ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบว่า เมื่อคุณมีปัจจัยอื่น เช่น เมื่อมีกระแสโลกาภิวัตน์เข้ามาซึ่งคุณปฏิเสธโลกาภิวัตน์ไม่ได้ เมื่อโลกาภิวัตน์เข้ามาก็ต้องมีวิธีคิดแบบใหม่เข้ามา และแน่นอนว่ารัฐบาลยุคปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลยุคโลกาภิวัตน์แล้วเขาก็ยอมรับว่าเขาคิดแบบโลกาภิวัตน์

 

"อย่าลืมนะว่าเราอยู่ในวิธีคิดของ Civilization มาโดยตลอด เราไม่เคยปรับเส้นทางของวิธีคิดเรื่อง Civilization เลยนับตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

 

"สิ่งที่ชนชั้นนำและผู้ปกครองไทยและปัญญาชนไทยเชื่อมั่น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวิธีคิดขั้วไหนก็ตามแต่ เราก็ยังเชื่อมั่นในเรื่องของความเจริญ เรายังเชื่อมั่นกับวิธีคิดแบบนี้ เพราะฉะนั้นกระแสของวิธีคิดแบบนี้ เมื่อถึงจุดของโลกาภิวัตน์ พวกที่ไม่ยอมขับเคลื่อนกำลังตกขอบ

 

 

"ดิฉันคิดว่าจริงๆ แล้วเขาก็ทะเลาะกันด้วยชาติเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่ผลประโยชน์มันขัดกันเท่านั้นเอง แต่มันน่าสนใจตรงนี้ว่าเมื่อทุกคนพยายามจะอธิบายและกล่าวหากัน ทุกคนหันกลับไปใช้ความรู้ในแบบเรียนขึ้นมากล่าวหาคือเรื่องความเป็นชาตินิยม ไม่มีใครเอาสิ่งที่นอกความรู้ในแบบเรียนขึ้นมาพูดเลย

 

"ตัวอย่างง่าย ๆ คือเรื่องเอฟทีเอ ซึ่งเป็นหัวใจของโลกาภิวัตน์ ซึ่งเอาเข้าจริงกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลก็อยากก้าวเข้าไปสู่โลกาภิวัตน์ และการต่อสู้ให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบกันจากการเจรจาเอฟทีเอซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ

 

"ตอนนี้เราอาจจะถกเถียงกันว่ารัฐบาลผิดพลาดอะไรในรายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจา แต่ทว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมดขณะนี้พุ่งกลับไปที่ความผิดปลายทางประการเดียวคือ ผิดต่อชาติ ในความหมาย ชาติ ศาสน์ กษัตริย์"

 

วารุณีตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จะไม่ค่อยเห็นรัฐบาลใช้ ประเด็นชาตินิยมขึ้นมาตอบโต้ อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลนั้นแสดงออกอย่างชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเชื่อในโลกาภิวัตน์ ซึ่งนั่นหมายถึงการยอมรับความแตกต่าง

 

"ในเมื่อถึงที่สุดแล้วทุกคนไม่ปฏิเสธ Civilization คุณก็ต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลาย คุณก็ต้องไม่ปากว่าตาขยิบ คุณต้องยอมรับมันอย่างเต็มอกเต็มใจ และคุณต้องยอมรับว่ามีตรรกะหลายชุดในสังคมแล้วคุณต้องยอมรับว่าทำไมเขาถึงเลือกใช้ตรรกะชุดอื่นที่ต่างกับคุณ ทั้งนี้ทั้งนั้นการยอมรับในตรรกะหลายชุดไม่ได้หมายความให้เลือกใช้ตรรกะแบบกระโดดไปกระโดดมา

 

"ในระบบตรรกะ ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลจะระวังมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเพราะเขาแสดงออกชัดเจนว่าเขาเป็นรัฐบาลโลกาภิวัตน์ แต่ว่าทั้งหมดนี้ ทั้ง 2 กลุ่มก็ยังเชื่อมั่นในพลังของชาตินิยม ทั้งคู่ก็อ้างชาตินิยม เพียงแต่ว่าจะใช้พลังชาตินิยมให้ตอบสนองกับวิธีคิดของตัวเองอย่างไร ปรับชาตินิยมให้เข้าไปสู่กระบวนการของตัวเองอย่างไร

 

"ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลก็พยามจะสื่อสารออกไปว่ารัฐบาลกำลังทำลายชาติ ในขณะที่รัฐบาลเองก็สื่อสารเช่นกันว่ากลุ่มนี้ก็กำลังทำลายชาติ ทำลายเศรษฐกิจ

 

"มันไม่หลุดกรอบจากชาตินิยม และตราบใดที่คุณยังยึดมั่นอยู่ในกรอบของความคิดแบบชาตินิยม แล้วคุณเอาไปใส่กับ Agenda ไหนก็แล้วแต่มันก็ถูกใช้ให้ต่อสู้ซึ่งกันและกันได้ตลอด เพราะคุณก็อ้างว่าคุณกำลังปกป้องชาติ อารักขาชาติ"

 

สถาบันที่ไม่เคยเชื่อถือ เป็นเครื่องมือที่ถูกหยิบใช้

และเมื่อข้อกล่าวหาว่า ผิดต่อสถาบันสำคัญของชาติกำลังถูกนำมาใช้ ผนวกด้วยการคิดแบ่งขาว-ดำ วารุณีบอกว่าในฐานะนักประวัติศาสตร์อาจจะไม่มีเครื่องมือทำนายอนาคต แต่เธอกำลังรอดู

 

"ดิฉันกำลังรอดูเพราะว่าในฐานะนักประวัติศาสตร์เราไม่มีเครื่องมือ แต่นักประวัติศาสตร์จะอาศัยประสบการณ์ที่มีมาจากอดีต แล้วอาศัยข้อสรุปว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้งมีแนวโน้มที่จะจบลงอย่างไร

 

"ถ้าดูจากกติกานี้แล้ว ดูแนวโน้มความขัดแย้งจะไม่มีใครยอมใคร ทั้ง 2 ฝ่ายจะพยายามดึงสถาบันซึ่งในอดีตนั้นตัวเองไม่ได้ยอมรับนักหนาเข้ามาใช้ประโยชน์ เช่น ขณะนี้มีการดึงสถาบันทหาร แต่ก็ไม่น่าจะง่าย เพราะทหารก็อาจจะไม่เหมือนเดิม ก่อนนี้ทหารอาจจะมีวิธีคิดชาตินิยมกระแสหลักเท่านั้น แต่ปัจจุบันกองทัพอาจจะยินดีที่จะเปิดตัวเองสู่โลกาภิวัตน์ก็ได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท