Skip to main content
sharethis

โดยศูนย์ข่าวประชาสังคม จ.อุบลราชธานี

ประชาไท—26 พ.ค. 2549 เมื่อเวลา 12.30 น.ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ณ ห้องประชุมมิตรไมตรี 1 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินขึ้น โดยมีผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการสร้างเขื่อนสิรินธรกว่า 30 คนเข้าร่วมประชุม

นายวิทยา ยังมีสุข ประธานผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนสิริธร เปิดเผยว่า ตนและชาวบ้านต้องการให้ภาครัฐดำเนินการช่วยเหลือการจัดให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยที่ผ่านมาเราเห็นว่าคณะกรรมการถ้าจะใช้ตามแนวทางประชาคมกันนั้น ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะตำบลนิคม 14 หมู่บ้าน ที่มีประชากร 1,000 ครัวเรือน แต่ช่วยไปแล้วเพียง 60 ครัวเรือน เพราะที่ผ่านมาเสถียรภาพของรัฐบาลไม่มี อยากให้ชาวบ้านมีหลักประกันบ้าง โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการของรัฐต้องสูญเสียที่ทำกิน ถ้าโครงการสร้างเขื่อนสิรินธรไม่เกิดขึ้น ที่ดินก็คงยังเพียงพอแบ่งปันให้กับลูกหลาน ซึ่งพื้นที่ปัญหาที่ได้ยื่นหนังสือไว้ประมาณ 3,000 ครัวเรือน แต่ที่มีการช่วยเหลือประมาณ 500 ครัวเรือน โดยเป็นการจัดสรรที่ดินทำกินคนละ 15 ไร่

รัฐมีนโยบายนำที่ดินของรัฐมาช่วยเหลือ และนำมาเฉลี่ยให้ได้ครบทั้งหมด แต่ตรงนี้เท่าที่ตนเห็นยังเกิดความบกพร่องและไม่รอบคอบไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้นั่นคือการจัดสรรต้องให้กับผู้ที่เดือดร้อนไม่มีที่ทำกินจริงๆ เพราะความยากจนเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความขี้เกียจ ไม่ขยันทำกิน ติดยาเสพติด ติดการพนัน เท่าที่ตนทราบเป็นสาเหตุใหญ่มาก จึงให้รัฐพิจารณากันใหม่ ไม่ใช่ให้ที่ดินกับคนเหล่านั้น จึงไม่ตรงจุดแต่กลับส่งเสริมกลุ่มคนเหล่านั้น แต่คนที่ตั้งใจทำมาหากินจริงๆ ควรเร่งช่วยเหลือมากกว่า และที่สำคัญตนเป็นห่วงมากคือ ผู้นำชุมชนก็สำรวจข้อมูลจากผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน แต่ไม่คำนึงถึงคนที่เดือดร้อนทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้รับความช่วยเหลือด้วย จึงเป็นปัญหาว่าเดิมชาวบ้านคนหนึ่งมีที่ดินเป็นร้อยไร่ แต่เมื่อมีนโยบายนี้ขึ้นทำให้มีสิทธิครอบครองที่ดินน้อยลงเหลือคนละ 15 ไร่เท่ากัน

"การแก้ไขปัญหาไม่ควรใช้หลักการของกฎหมายอย่างเดียว ควรมีเรื่องของจริยธรรมคุณธรรมควบคู่กันด้วย ที่สำคัญตนอยากให้พิจารณาการออกหนังสือเวียนไปตามผู้นำชุมชนซึ่งอาจจะสร้างความแตกแยกในสังคมได้ ในส่วนตรงนี้ต้องยอมรับว่ากระบวนการบริหารที่ผิดพลาดของผู้ว่าซีอีโอ ส่วนการกระทำของผมและพี่น้องไม่ผิดศีลธรรมและจริยธรรม แต่อยากให้ภาครัฐปรับใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับชาวบ้านด้วย"

นายเวชยันต์ อรรณพพร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุบลฯ เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เพื่อแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหา ในขณะที่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ก็ต้องรวบรวมข้อมูลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตนก็เข้าใจปัญหาเพราะเป็นลูกบ้านนอกเหมือนกัน แต่เราเป็นคนไทยเราต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ตามขั้นตอนซึ่งมีระเบียบรองรับอยู่ ยอมรับว่าทางจังหวัดยังไม่มีข้อมูลดังกล่าว โดยถ้ารวบรวมข้อมูลทั้งหมดได้ ตนก็จะนำเรียนกับผู้ว่าฯ ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net