Skip to main content
sharethis

25 พ.ค. 2549 นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา บรรยายพิเศษเรื่อง "การปฏิรูปการเมืองและ จริยธรรมทางการเมือง" ต่อที่ประชุมสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยได้เสนอประเด็นซึ่งมองว่าเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายควรหาแนวทางแก้ไข


 


1. ที่มาของวุฒิสภา เพราะวุฒิสภาชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นอย่างที่หวัง ไม่เป็นกลางทางการเมือง เป็นองค์กรที่ทำให้กระบวนการแต่งตั้งคนเข้าสู่องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งระบบเบี่ยงเบนไป  ดังนั้น ควรออกแบบที่มาของสมาชิกวุฒิสภาใหม่ อย่างไรก็ตาม วุฒิสภานังคงมีความจำเป็น เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย


 


2. ปัญหาเรื่ององค์กรตรวจสอบ องค์กรตรวจสอบทำหน้าที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งเกิดจากกระบวนการสรรหาคนเข้าสู่ตำแหน่งบกพร่อง ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้สร้างระบบตรวจสอบที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ เพราะถ้าองค์กรตรวจสอบกลายเป็นเครื่องมือของผู้ใช้อำนาจรัฐ จะเป็นอันตรายมากกว่าการไม่มีองค์กรตรวจสอบ เพราะจะช่วยฟอกเรื่องผิดให้เป็นเรื่องถูก และเป็นอาวุธทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามได้เช่นกัน


 


"จะมีวิธีอย่างไรที่จะปฏิรูปเพื่อให้คนดีเข้าสู่อำนาจรัฐ ส่วนตัวเห็นว่าต้องแก้ไขสัดส่วนของคณะกรรมการสรรหา โดยเพิ่มสัดส่วนจากสถาบันศาลมากขึ้น เพราะศาลยังมีความเป็นกลางทางการเมือง เนื่องจากศาลอยู่ห่างจากการเมืองมากที่สุด และมีอิสระในการรับราชการ สำหรับสัดส่วนของฝ่ายการเมือง ต้องคงไว้ แต่ควรแก้ไขให้ตัวแทนพรรคการเมืองระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนเท่ากัน


 


"ส่วนคณะกรรมการสรรหาจากนักวิชาการ หรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยนั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรมี แต่ควรหาหน่วยงานหรือบุคคลที่เป็นกลางทางการเมืองมาเป็นคณะกรรมการสรรหาแทน


 


"นอกจากนี้ ควรมีศาลเลือกตั้ง หรือกระบวนการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในการเลือกตั้งโดยเฉพาะ เพราะการให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เบ็ดเสร็จ ไม่น่าถูกต้อง และเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในปัจจุบัน" นายจรัญ กล่าว


 


สำหรับประเด็นที่ 3 คือศาลรัฐธรรมนูญนั้น หัวใจสำคัญของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือความเป็นกลางทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องมีความเยี่ยมยุทธ์ทางกฎหมาย ขอเพียงแค่เป็นคนที่มีสามัญสำนึกปกติ มีความเป็นกลางทางการเมืองและอิสระจากฝ่ายต่างๆจริงๆ ถ้าเยี่ยมยุทธ์แต่ขาดความอิสระเราก็จะได้เห็นคำวินิจฉัยอย่างที่ปรากฎในประวัติศาสตร์ คือรัฐธรรมนูญระบุว่า หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องคำพิพากษาจำคุกถือว่าขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแนห่ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแม้ต้องคำพิพากษาแต่ศาลรอการลงโทษจำคุกไว้ ยังไม่ได้เข้าจำคุกจริง คำวินิจฉัยเหล่านี้อธิบายกับคนที่สามัญสำนึกสามัญไม่ได้เลย แต่ก็วินิจฉัยมาแล้ว และผูกพันทุกองค์กร ปิดปากหมดพูดไม่ได้เลย โดยหลักการแล้วชึ้นชื่อว่าศาลต้องรักษาความเป็นกลาง ต้องดำรงความเป็นอิสระจากอำนาจแทรกแซงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเถื่อน อำนาจเงิน หรืออำนาจรัฐ


 


"ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้คือสัดส่วนองค์คณะตุลาการ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมี 15 คนอาจจะมีแค่ 7-9 คนได้หรือไม่ มาจากศาลฎีกา 5 คน ศาลปกครองสูงสุด 3 คน และอีก 1 คนมาจากองค์กรอื่นๆ เช่นสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีก ไม่ใช่มีแต่คนที่มีความรู้ แต่ไม่มีหลักประกันในเรื่องของความเป็นกลาง นอกจากนี้ตุลาการรัฐธรรมนูญสายผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ก็ถือว่ามีปัญหา ต้องกำหนดให้ชัดเจนกว่านี้ว่าผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์นั้นมีความหมายอย่างไร ที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนใครก็ตามแค่เพียงปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต และรัฐศาสตร์บัณฑิต เท่านั้นก็สามารถเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว


      


นายจรัญ กล่าวว่า ควรจะมีการแต่งตั้งศาลเลือกตั้ง หรือกระบวนการวินิจฉัยข้อขัดแย้งในเรื่องการเลือกตั้ง ทั้งเรื่องความชอบหรือไม่ ใบแดงใบเหลือง การให้อำนาจทั้งหมดนี้กับ กกต.ไม่น่าจะถูกต้อง ถือเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา จำเป็นต้องมีการปรับปรุง เพราะมีปัญหาจากการที่ กกต.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดใครจะมาโต้แย้งไม่ได้ พอให้อำนาจบริหารจัดการ ให้อำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎระเบียบ และอำนาจตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด แก่องค์กรนี้


        


นายจรัญ เสนอว่า วิธีการแก้ปัญหานี้ทำได้หลายรูปแบบเช่น กกต.ใช้อำนาจเหมือนเดิมแต่สามารถอุทธรณ์ได้ที่ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ หรือจะให้ 3 ศาลรวมกันวินิจฉัยก็สุดแท้แต่ หรือตัดอำนาจตุลาการให้ศาล ส่วน กกต.ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้ศาล


 


นอกจากนี้ นายจรัญ ยังได้กล่าวถึงศาลยุติธรรมด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำลายหลักการของศาลยุติธรรมหลายประการ ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมมีการสร้างระบบป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก ขณะเดียวกันก็มีระบบตรวจสอบ ควบคุม กลั่นกรองภายในค่อนข้างรัดกุม มีการเคารพ เชื่อฟังกันเป็นระดับชั้น มีผู้พิพากษาผู้ใหญ่เป็นพี่เลี้ยงผู้พิพากษาใหม่ที่ประสบการณ์ยังน้อย ถึงกับจัดตั้งกองเซ็นเซอร์คำพิพากษาก่อนจะออกไป ต้องไม่พลาดไม่ผิดเพี้ยน แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้สร้างระบบ "เด็กปกครองผู้ใหญ่" หมายความว่าเวลานี้ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนเป็นอิสระ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ให้ใครมายุ่งเกี่ยวในสำนวน ถ้าไม่พอใจก็ไปที่ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาตามลำดับ ทำให้คดีความไปที่ศาลอุทธรณ์ เพิ่มจำนวนมากกว่าที่เคยมี 5 หมื่นคดี ขณะเดียวกันคดีจากศาลอุทธรณ์ขึ้นสู่ศาลฎีกามากขึ้น กว่า 2 หมื่นคดี แต่ผู้พิพากษาปัจจุบันสามารถตัดสินได้มากสุดปีละ 1 หมื่นคดี กลายเป็นดินพอกหางหมู ถึงคราวที่ต้องปฎิรูปใหญ่


 


"ระบบเด็กปกครองผู้ใหญ่" ยังถูกสร้างจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้คณะกรรมการข้าราชการตุลาการหรือ กต.ทั้ง 12 คน ต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้พิพากษาทุกคนมีสิทธิเลือก กต. ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของผู้มีสิทธิเลือกคือ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งมีจำนวนกว่า 2 พันคน โดยจำนวนนี้เป็นผู้พิพากษาใหม่ ยังมีกลุ่ม มีทีม มีสถาบัน ยังไม่โตพอที่จะเป็นอิสระเป็นปัจเจกบุคคล เหมือนตุลาการที่แท้จริงที่ไม่มีรุ่น ไม่มีสถาบัน ไม่มีพรรค ไม่มีฝักฝ่าย การเลือกตั้งระบบนี้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จึงยู่ที่เด็ก เป็นธรรมชาติที่ไหนมีเลือกตั้งที่นั่นมีการหาเสียง แล้วจะเกิดหัวคะแนน และแนวร่วม


 


"ผลคือใครที่จับกระแสใหญ่หรือแนวใหญ่ได้คนนั้นจะได้กต.12 คน เป็นลักษณะThe winners take all คือกลุ่มนั้น คณะบุคคลนั้น สายนั้นจะเป็นผู้ทรงพลัง เป็นเจ้าพ่อที่แท้จริงในวงการศาลยุติธรรม อันตรายมาก สภาพที่เกิดในปัจจุบันผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มักใหญ่ใฝ่สูงอยากเป็นกต. 4 คนก็จะเดินสายขอคะแนนจากลูกศิษย์ กลายเป็นระบบ ใครมีบุญคุณ กับใคร ใครปกครองใคร อย่างนี้อันตราย ต้องแก้ทันทีโอกาสวิกฤตการณ์นี้ขอให้ศาลยุติธรรมได้โดยสารปรับระบบไปด้วย"นายจรัญ กล่าว


 


นายจรัญ กล่าวว่า ในมาตรา 77 บัญญัติว่า รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมือง จัดทำมาตรฐานคุณธรรม และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและพนักงาน หรือลูกจ้างอื่นของรัฐ ต้องทำ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ถ้าคุณธรรมเสื่อมจะทำให้การทุจริตและประพฤติมิชอบเพิ่มมากขึ้น อำนาจต้องคานด้วยระบบตรวจสอบและจริยธรรม ศีลธรรม ถ้า 2 ตัวนี้ทำงาน การคอร์รัปชั่นอำนาจจะน้อยลง และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ คนไม่มีคุณธรรม จริยธรรม จะทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิภาพสำหรับคนอื่น แต่จะมีประสิทธิภาพสูงสำหรับตัวเอง


 


"เรื่องนี้มีเขียนไว้ในมาตรา 77 แต่ไม่มีมือ ไม่มีขา ไม่มีกลไกในการทำงาน ไม่มีสภาพบังคับ ไม่มีใครนำรัฐธรรมนูญมาตรานี้ไปวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเป็นเพียงแนวนโยบายของรัฐ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผมอยากขอแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ ขอเพิ่มวรรค 2 ว่า ในการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการดำรงตำแหน่งนั้น ๆ และการพ้นจากตำแหน่ง ต้องมีการประเมินผลผ่านพฤติกรรมทางคุณธรรม จริยธรรม ควบคู่ไปกับการประเมินผ่านสมรรถภาพ หรือประสิทธิภาพให้เท่ากัน เพราะเราต้องการทั้งคนเก่งและคนดี เก่งอย่างเดียวเป็นมหาโจรได้ดีอย่างเดียว เป็นเหยื่อมหาโจรได้เหมือนกัน เพียงเพิ่มข้อความนี้ก็สามารถไปรื้อฟื้นประเด็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ไม่ใช่แถลงว่า ผมทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง เรื่องจริยธรรมอย่ามาถามผม ถ้านักกฎหมายใหญ่พูดอย่างนี้ เราอยากจะลาออกจากการเป็นนักกฎหมายเลย นี่คือความเสื่อมของจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ไม่ว่าศาสตร์แขนงไหน ถ้าไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม เป็นพื้นฐานรากฐานแล้ว ศาสตร์นั้นไม่ใช่ศาสตร์"


 


..........................................


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net