Skip to main content
sharethis

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภาคะวา พุทธัง...


 


ขณะที่เราสวดมนต์ตอนเข้าแถวเคารพธงชาติ เพื่อนชาวมุสลิมจะทำอะไรกัน ตอนที่อาจารย์ให้สอบท่องบทสวดมนต์ เพื่อนคนเดิมจะเตรียมตัวมาสอบอย่างไร ตอนอยู่บ้านเขาต้องนั่งท่องบทสวดมนต์เพื่อเตรียมตัวมาสอบรึเปล่า แล้วคนที่บ้านจะเข้าใจเขาไหม


 


คำถามข้างต้นเกิดขึ้นเมื่อได้อ่านพล็อตเรื่อง ธาดา หนังสั้นที่ว่าด้วยเรื่องของเด็กชายมุสลิมที่ทำคะแนนวิชาพุทธศาสนาได้สูงที่สุดจึงได้รับเลือกให้เข้าแข่งขันตอบปัญหาพุทธศาสนา แต่โอกาสที่เขาได้รับกลับนำมาซึ่งปัญหา และการเข้าใจผิดระหว่างเขากับพ่อโดยเนื้อเรื่องพยายามบอกเล่าถึงปัญหาที่เด็กมุสลิมที่เรียนในโรงเรียนเด็กพุทธต้องพบเจอ โดยถ่ายทอดให้เห็นว่าเขาต้องทำหลายๆ สิ่งที่ขัดแย้งกับศรัทธาของตัวเอง


 


นอกจาก "ธาดา" แล้วยังมีหนังสั้นหลายรูปแบบอีก 10 เรื่องที่ผ่านเข้ารอบการประกวดหนังสั้นในหัวข้อ "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่จัดขึ้นเพื่อใช้หนังสั้น ซึ่งเป็นสื่อที่มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน และอยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ มาสื่อถึงความคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมอย่างสันติ ด้วยความเชื่อที่ว่าความแตกต่างของสมาชิกในสังคมไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความขัดแย้งและปัญหา


 


อาทิ หนังสั้นแนวทดลองเรื่อง "จากสันติภาพ สู่สันติภาพ" ที่ สันติภาพ อินกองงาม ผู้กำกับหนังสุ่มชื่อ "สันติภาพ" ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร โดยพบว่ามีคนชื่อสันติภาพอยู่ทั้งสิ้น 1,369 คน จากนั้นได้ส่งเอกสารถึง "คุณสันติภาพ" ทั้งหมดให้ร่วมทำหนังด้วยกัน


 


สำหรับ "คุณสันติภาพ" ที่ตอบรับว่า ยินดีให้ใช้ภาพและเสียงในหนังได้ ผู้กำกับก็จะมาร์คจุด "สันติภาพ" บนแผนที่ประเทศไทย ทีละจุดๆ แล้วค่อยเดินทางไปพบคุณสันติภาพตามเส้นทางนั้นๆ ส่วน "คุณสันติภาพ" ที่ไม่สะดวกให้บันทึกภาพและเสียงก็จะขอให้พวกเขาช่วยเขียนคำอธิษฐานเพื่อสันติภาพส่งกลับมา เพื่อนำมาประกอบเป็นบทบรรยายในหนังแทน


 


ส่วนเรื่อง"เพียงความธรรมดาของเส้น" เกิดจากการตั้งกล้องบันทึกการละเล่น ตี่จับ ของเด็กประถมชายและหญิง 8 คน หากเล่นอยู่ในเกมเอง เราอาจไม่รู้สึกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้เป็นผู้ชมที่เฝ้าดูการเล่นของเด็กๆ อาจพบว่า วัฒนธรรมความรุนแรงได้ถูกปลูกฝังให้เรามานานแล้วโดยไม่รู้ตัว เส้นเพียง 1 เส้นที่ขีดขึ้นเพื่อแบ่งเขตแดนการเล่น ตี่จับ ได้เปลี่ยนให้เพื่อนกลายเป็นคนละพวกกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ


 


นอกจากนี้ ในงานเทศกาลหนังสั้นจะมีการฉายหนังเรื่อง "แขก" หรือ In Between หนังรับเชิญจากฝีมือกำกับของภาณุ อารี ผู้กำกับหนังเรื่อง "กาลครั้งหนึ่ง" ซึ่งเคยได้รับเลือกให้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติที่ยามากาตะและเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกงเมื่อปี 2544


 


โดย "แขก" จะพาไปรับรู้ชีวิตประจำวันของไทยมุสลิมสายกลางที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ท่ามกลางกระแสความกลัวและเกลียดชังมุสลิมที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 911 และความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าพวกเขามีวิถีอย่างไรภายใต้แรงกดดันเหล่านี้


 


สำหรับแนวทางของการสมานฉันท์นั้น พระไพศาล วิสาโล ได้กล่าวในคำนำของหนังสือ "เธอกับฉันและคนอื่นๆ" ไว้ว่า "สมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงต้องอาศัยสันติวิธี วิธีกำจัดศัตรูอย่างได้ผลที่สุดก็คือ การเปลี่ยนเขามาเป็นมิตร ในทางตรงข้ามการใช้ความรุนแรงมีแต่จะทำให้เกิดศัตรูและความแตกแยกกันมากขึ้น นี้เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมไทยในยามนี้ เพราะเรากำลังอยู่บนทางแพร่งระหว่างสงครามกับสันติภาพ


 


สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เป็นปัญหาที่ทุกคนตระหนักดีว่าร้ายแรงเพียงใด แต่จะมีใครบ้างที่ตระหนักว่า สิ่งที่ร้ายแรงและน่ากลัวยิ่งกว่านั้นก็คือการใช้ความรุนแรงจัดการกับปัญหาดังกล่าวโดยอาศัยความโกรธเกลียดเป็นที่ตั้ง เพราะนั่นจะทำให้เหตุการณ์ที่เลวร้ายระดับ 5 ขยายตัวเป็น 10 หรือ 20 ได้ง่ายๆ


 


ในทางตรงข้าม หากเราใช้สติปัญญาควบคู่กับสันติวิธี โดยตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่เรามีอยู่ร่วมกันไม่ว่าพุทธหรือมุสลิมเชื้อชาติไทยหรือมลายู วิกฤตในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจเป็นโอกาสที่นำสังคมไทยไปสู่ความยุติธรรมและเฉลียวฉลาดมากขึ้นในการนำความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์ได้อย่างมหาศาล"


 


หน้าที่ในการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคมนั้น คงไม่ใช่ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์เท่านั้น หากแต่เป็นหน้าที่ที่เราทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ถ้าไม่รู้จะเริ่มอย่างไร แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการไปดูหนังสั้นทั้ง 12 เรื่องนี้ที่โรงหนังเฮ้าส์เป็นอันดับแรก


 


...................................................... 


หมายเหตุ สามารถรับบัตรเข้าชมได้ฟรีที่โรงหนังเฮ้าส์ RCA ในวันที่ 27-28 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 12.00น. เป็นต้นไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net