เปิดรายงาน กมธ.ต่างประเทศ ส.ว. : "ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้"

โดย สุณัย ผาสุก


ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการต่างประเทศ

 

 

รายงานนี้เป็นการการสรุปข้อมูลส่วนหนึ่งจากงานวิจัย "ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย" ที่รวบรวมโดยนายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ซึ่งอธิบายให้เห็นถึงรากเหง้าของปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งแนวทางแก้ไข ซึ่งมีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังมีวิกฤติการณ์แห่งความเกลียดชังสูงเช่นนี้

 

0 0 0

 

ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

พัฒนาการของขบวนการมลายูมุสลิม การต่อต้านอำนาจรัฐไทย และปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

รายงานดังกล่าวสรุปที่มาของปัญหาไว้ ประการแรกคือ ปัญหาที่มาจากปมประวัติศาสตร์สยาม-ปัตตานี จนเป็นที่มาของพัฒนาการขบวนการมลายูมุสลิม จะเห็นว่าในช่วงเวลาใดที่ใช้ความรุนแรงในการปกครองสถานกาณ์รุนแรงก็จะปะทุขึ้นเช่นกัน

 

ปี 2351 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปัตตานีถูกแบ่งออกเป็น 7 หัวเมืองโดยสยามยังคงยินยอมให้สุลต่านราชวงศ์มลายูมุสลิมมีสิทธิในการปกครองหัวเมืองต่างๆช่วงนั้นจึงไม่มีปัญหามากนัก

 

ปี 2445 การต่อต้านสยามได้เริ่มตั้งเค้าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองทั่วประเทศ ในปี 2445 มีการยกเลิกระบบเจ้าเมืองใน 7 หัวเมืองมลายูปัตตานี รัฐปัตตานีถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามอย่างสมบูรณ์สร้างความไม่พอใจแก่บรรดาเจ้าเมืองมลายูมุสลิม เห็นว่า สยามเป็น "ผู้รุกรานนอกศาสนา" จึงปฏิเสธที่จะยอมรับอำนาจรัฐไทยในฐานะผู้ปกครอง

 

ปี 2466 เหตุการณ์ผ่อนคลายลง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวคิดสมานฉันท์ โดยในพระราชหัตเลขาที่ 3/78 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2466 ทรงใช้หลักรัฐประศาสนศาสตร์สำหรับผู้ปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานีที่สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายการผสมผสานทางวัฒนธรรม และการสร้างชาติในเป็นปึกแผ่นที่ดำเนินไปอย่างระมัดระวัง และรอบคอบ

 

ได้แก่ การให้การปฏิบัติที่มีความขัดแย้งกับศาสนาอิสลามต้องยุติในทันที และกฎข้อบังคับที่กำหนดขึ้นใหม่ใดๆ ต้องไม่ขัดแย้งกับศาสนาอิสลาม หรือภาษีที่เก็บจากชาวมลายูมุสลิมปัตตานีต้องไม่มากไปกว่าภาษีที่มีการเก็บในบรรดารัฐมลายูบริเวณชายแดนภายใต้อำนาจของอังกฤษ รวมทั้งข้าราชการปกครองที่ปฏิบัติหน้าที่ในปัตตานีต้องซื่อสัตย์ สุภาพ และขยันขันแข็ง ข้าราชการผู้ใดที่กำลังถูกภาคทัณฑ์ เพราะกระทำความผิดจากที่อื่นจะต้องไม่ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในปัตตานี

 

ปี 2475 เหตุการณ์กลับมาพลิกผันและรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ไทยมีรัฐธรรมนูญ มีประชาธิปไตย และมีรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชน แต่รัฐสภาไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง อำนาจส่วนใหญ่จะตกอยู่ในกลุ่มทหารทำให้มีแนวโน้มเป็นการปกครองแบบอำนาจนิยมส่งผลให้ชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกถูกกดขี่ข่มเหงมากขึ้นภายใต้นโยบาย "ไทยรัฐนิยม"

 

ปี 2482 มีการบังคับไม่ให้แต่งกายตามประเพณี ไม่สามารถใช้ชื่อภาษามลายู-อาหรับ การใช้ภาษามลายูและหลักกฎหมายอิสลามในวิถีชีวิตถูกยกเลิก ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ชาวมลายูมุสลิมที่ไม่ยอมละทิ้งวัฒนธรรมประเพณีได้ฟื้นฟูการรณรงค์การต่อสู้เพื่อเอกราชขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จนขบวนการแนวร่วมมลายู (Pan Malayan Movement) ได้เติบโตขึ้น

 

ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การต่อต้านยิ่งขยายตัวขึ้นเมื่อมีการออกกฎหมายบังคับให้โรงเรียนปอเนาะ ต้องจดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ และแปรสภาพเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ภาษาไทยต้องเป็นภาษากลางในการเรียนการสอน เอกสารตำราใดๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการจะถูกถือว่า เป็นเอกสารตำราที่ผิดกฎหมาย ภาษามลายูที่เคยมีการสอนในโรงเรียนรัฐบาลก็ยกเลิกไป

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างดุลย์แห่งประชากร โดยได้อพยพคนไทยจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาสร้างนิคมพึ่งตนเองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่กลับไม่ได้รับการดูแลจัดสรรที่ดินทำกินให้

 

ปี 2490 หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาที่ได้รับความเคารพในหมู่ชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้รณรงค์รักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และจัดตั้งขบวนการประชาชนแห่งปาตานี (Pattani People"s Movement หรือ PPM) และเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยเกี่ยวกับสิทธิการปกครองตนเองของชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล

 

ปี 2491 ชนชั้นนำทางการเมือง และผู้นำศาสนาที่ร่วมมือกันจัดตั้งสมาคมมลายูปัตตานีที่ยิ่งใหญ่ (Gabungan Melayu Patani Raya หรือ GAMPAR) ขึ้นที่รัฐกลันตัน มาเลเซีย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม เพื่อต่อต้านการผนวกดินแดนปัตตานี

 

ในสมัยพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เริ่มเห็นชอบตามข้อเสนอต่างๆของกลุ่มขบวนการมุสลิม แต่ต่อมารัฐบาลนายควง อภัยวงศ์เห็นว่า หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์เป็นแกนนำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนนำไปสู่การจับกุมหะยี สุหลง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2491 เป็นจุดเริ่มต้นของความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลไทยกับชาวมลายูมุสลิม

 

วันที่ 25-28 เมษายน 2491 ความตึงเครียดดังกล่าวลุกลามกลายเป็นความรุนแรง เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจผิดว่า ประชาชนในหมู่บ้านดุซุงญอ จังหวัดนราธิวาส กำลังเตรียมก่อกบฎ จึงใช้กำลังเข้าปราบปราม รายงานบางฉบับอ้างว่า ชาวมลายูมุสลิมถูกสังหารไปถึง 1,100 คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตไปจำนวน 30 นาย มีชาวมลายูมุสลิมจากพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลบหนีเข้าไปในมลายาอย่างน้อย 3,000 คน

 

13 สิงหาคม 2497 หะยีสุหลง อับดุลการเดร์ ซึ่งถูกจับตามองว่าเป็นแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน ได้เจ้าหน้าที่ตำรวจ "อุ้ม" หายตัวไปโดยทางครอบครัวเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ และเอาศพไปถ่วงน้ำทำลายหลักฐาน

 

จากนั้นมาทำให้เกิดแนวคิดว่า การต่อสู้ด้วยอาวุธเป็นแนวทางที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากกว่าสันติวิธี กลุ่มที่มีความคิดนิยมความรุนแรงได้จัดตั้งแนวร่วมแห่งชาติเพื่อเอกราชปัตตานี (National Liberation Front of Pattani หรือ Barisan Nasional Pembebasan Patani หรือ BNPP) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐกลันตัน ในมาเลเซีย อดุลย์ ณ สายบุรี เป็นหัวหน้า เคลื่อนไหวทางการเมืองและการทหารต่อต้านรัฐบาลไทย

 

ภายหลังจึงมีกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆเกิดขึ้นตามา หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยได้ติดตามข้อมูลของขบวนการมลายูมุสลิมที่เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถสรุปข้อมูลสังเขปในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani/Patani Malay National Revolutionary Front หรือ BRN) , องค์การปลดปล่อยปัตตานี (Pattani United Liberation Organization หรือ PULO), ขบวนการมูจาฮิดีนปัตตานี (Gerakan Mujahideen Islam Pattani หรือ GMIP), ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี (United Front for the Independence of Pattani หรือ BERSATU)

 

การแก้ไขปัญหาของภาครัฐ

สมัยรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิติขจร จนถึงรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นยุคอำนาจนิยมการแก้ปัญหาคือใช้วิธีการปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ก็ได้บทเรียนที่สำคัญ คือการใช้ความรุนแรงกับประชาชน เป็นสิ่งที่ทำให้กองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลับแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และได้รับกำลังสนับสนุนจากมวลชนในพื้นที่ รวมทั้งเงินทุนสนับสนุนจากกลุ่มมุสลิมในต่างประเทศ ซึ่งรู้สึกเห็นใจ และมองว่ารัฐบาลไทยกดขี่ข่มเหงชาวมลายูมุสลิม

 

รัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ให้เป็น "นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์" ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือ การยอมรับการดำรงอยู่ของอีกฝ่าย การลดเงื่อนไขที่สร้างความอยุติธรรมต่างๆ และการยอมรับอดีตศัตรูให้เป็นผู้หลงผิดเท่านั้นโดยเขาเหล่านั้น คือ คนไทย

 

แนวทางนี้ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ ซึ่งเป็นที่มาของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 8/24 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารราชการ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำมาสู่การจัดตั้งกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท.43) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

 

ปี 2521 รัฐบาลไทยได้พิจารณากำหนดนโยบาย ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยครอบคลุมการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นที่มาของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฉบับที่ 1 (2521-2530)ในระยะเวลา 10 ปีที่มีการดำเนินการตามนโยบายฉบับนี้ปรากฎว่า ได้ผลสำเร็จในระดับหนึ่ง

 

จากนั้นจึงได้มีการใช้นโยบายแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง คือ ฉบับที่ 2 (2531-2536) ฉบับที่ 3 (2537-2541) และฉบับที่ 4 (2542-2546)

 

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ก็คือ พัฒนาการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เปิดโอกาสให้ชาวมลายูมุสลิมมีโอกาส เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง และพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งช่วยลดแรงกดดันทางการเมืองในเรื่องการปกครองตนเองลงอย่างมาก

 

เหตุผลดังกล่าวทำให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆมอบตัวมากขึ้น ที่เหลือก็ถูกกดดันและปราบปรามอย่างหนัก ทำให้ไม่มีศักยภาพในการก่อการร้าย แต่ขบวนการเหล่านี้ยังคงอยู่รอด และรักษาอิทธิพลของกลุ่มด้วยการรับจ้างก่อเหตุร้าย ข่มขู่กรรโชกทรัพย์ และแสวงประโยชน์ร่วมกับกลุ่มผิดกฎหมาย

 

ต่อมาเมื่อรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรจัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แม่ทัพภาค 4 ได้ชี้แจงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบว่า การเกิดเหตุร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นเรื่องความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ และปัญหาอาชญากรรมธรรมดา จึงเสนอให้ยุบเลิก พตท.43 ในที่สุด ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 123/45 ลงวันที่ 30 เมษายน 2545 ให้ยุติภารกิจของพตท. 43 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2545 เป็นต้นไป และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 123/45 ปรับโครงสร้างของศอ.บต โดยให้ตำรวจเข้ามามีบทบาทในการรักษาความสงบในพื้นที่เพียงหน่วยงานเดียว

 

หลังจากที่รัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรประกาศว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ หมดศักยภาพ เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนระลอกใหม่ก็เริ่มต้นข้นมาถึงปัจจุบัน

 

ระหว่างปี 2547-2548 มีคนเสียชีวิต และบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงรวมทั้งสิ้น 2,940 คน ในจำนวนนี้มีผู้สียชีวิต 1,175 คน และบาดเจ็บ 1,765 คนความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นมีเป้าหมายทั้งชาวไทยพุทธ และมลายูมุสลิม ส่วนใหญ่เป็นประชาชนทั่วไปแทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการสร้างความรู้สึกหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในวงกว้าง

 

รายงานของสุณัยระบุด้วยว่า ข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคงเชื่อว่ากลุ่ม BRN มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องตามแผนการดังกล่าวอย่างเงียบๆ และมีประสิทธิภาพมากว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเมื่อเดือนมกราคม 2545 น่าจะมีการจัดตั้งสภาการเมือง และกองกำลังปฏิบัติการในหมู่บ้านที่มีโครงสร้างการบังคับบัญชาเรียกว่า สภาหมู่บ้าน (Politic Dalam Kampong)

 

มีการสร้างมวลชนแนวร่วมปลูกฝังอุดมการณ์ลงสู่ระดับรากหญ้าปลุกระดมให้ต่อต้าน และปฏิเสธอำนาจรัฐ "หมู่บ้านสีแดง" เช่นนี้มีจำนวนมากถึง 435 หมู่บ้าน (จากจำนวนหมู่บ้านที่มีอยู่ 1,570 หมู่บ้าน) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา  

 

นอกจากการโฆษณาชวนเชื่อโดยปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยม การแบ่งแยกดินแดน และการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งการฝึกยุทธวิธีทางทหารแล้ว สมาชิกส่วนหนึ่งของกองกำลังติดอาวุธยังได้รับการปลูกฝังความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่มีลักษณะของการใช้เวทมนตร์คาถาอาคม รวมทั้งการให้ดื่มน้ำที่ผสมสารเสพติด เพื่อปลุกเร้าให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมว่าอยู่ยงคงกระพันเช่น กลุ่มที่ก่อเหตุบุกเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารด้วยมีดอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 เครือข่ายที่เอาการศึกษาเวทมนตร์คาถาอาคมมาผสมผสานกับอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนี้เรียกว่า ขบวนการวิถีแห่งพระเจ้าเพื่อความอยู่ยงคงกระพัน (Talekat Hikmahtullah Abandan)  

 

แนวคิดที่กองกำลังติดอาวุธนำมาใช้สร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติการนั้นอ้างอิงได้จากเอกสารเรื่องการต่อสู้สงครามศักดิ์สิทธิ์ที่ปัตตานี ซึ่งพบในตัวผู้ก่อความไม่สงบที่เสียชีวิตจากการปะทะที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่ระบุว่า "นักรบเพื่อศาสนาจะปรากฏขึ้นในดินแดนปัตตานีด้วยแสงสว่างแห่งการต่อสู้ในแนวทางของพระเจ้า"

 

สรุปแล้ว การก่อตัวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในปัจจุบันอาศัยฐานโครงสร้างองค์การของ BRN ซึ่งมีแนวร่วมมากที่สุด และมีวินัยในการจัดตั้งดีที่สุด โดยนำเอาอุดมการณ์ศาสนาอิสลามที่มีการวินิจฉัยตีความในลักษณะ "สุดโต่ง" เพื่อปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมเพื่อปลดแอกรัฐอิสลามปัตตานีดารูสลาม ซึ่งมีนัยที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะเมื่อปัตตานีในอดีตถูกนิยามให้เป็นอิสลามแล้ว ภาระหน้าที่ของการปลดแอกก็คือ การทำให้สภาวะในปัจจุบัน ซึ่งไม่เป็นอิสลาม (กาฟิร) สิ้นสุดลงนั่นเอง

 

ปฏิบัติการดังกล่าวอาจลุกลามไปถึงขั้นที่ว่า "อนุญาตให้ทำได้ทุกอย่าง" ซึ่งเป็นคำขวัญของฮัสซัน ไซไบ หัวหน้ากลุ่มนักฆ่า (Assassin) ของนิซาร (Nizari) สาขาหนึ่งของสำนักอิสมาอีล (Ismaelism) ในช่วงระหว่างปี 1633-1799 ที่ยึดถือเอาการใช้กำลังของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีวินัยเข้มแข็งการเคารพเชื่อฟังต่อผู้นำอย่างเคร่งครัด และมีความกล้าหาญในการสละชีวิต เพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม ความมุ่งมั่นเช่นนี้ เมื่อถูกนำมาใช้ประกอบกับวิธีการลงมือที่โหดเหี้ยม โดยเฉพาะการลงมือสังหารเหยื่อในที่สาธารณะแล้วสามารถสร้างความหวาดกลัวขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้

 

ท่ามกลางสภาวะที่เรียกว่า "อาณาจักรแห่งความกลัว" เช่นนี้ ประชาชนในพื้นที่ต้องถูกกดดันให้เป็นแนวร่วมด้วยความจำยอม เพื่อที่จะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าปฏิเสธหรือหันไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ก็จะถูกเพ่งเล็ง ก่อนที่จะตกเป็นเป้าหมายของทำลายทรัพย์สินการทำร้ายร่างกาย หรือการลอบสังหาร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารไม่สามารถสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนได้จริง
 

ปัจจุบันมีการใช้ปฏิบัติการทางสังคมจิตวิทยาปลุกกระแสความเข้าใจผิดให้ประชาชนรวมตัวกันต่อต้าน เรียกร้อง และกดดันให้หน่วยงานของรัฐ โดยจะมีการยั่วยุหวังผลให้มีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม เช่น กรณีเหตุการณ์บ้านตันหยงลิมอ จังหวัดนราธิวาส หรือการใช้ผู้หญิงและเด็ก เข้าขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะหลังๆ โดยหวังจะเผยแพร่ข่าวสารว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกำลังจะมีการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก และผู้หญิงชาวมลายูมุสลิม มีการทำใบปลิวออกข่มขู่ให้หยุดงานวันศุกร์ และการปล่อยข่าวลือให้ประชาชนเข้าใจว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นและไม่สามารถจับตัวคนร้ายนั้นเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

รวมทั้งปล่อยข่าวลือให้ประชาชนหวาดกลัวการใช้อำนาจของรัฐในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแบบเหวี่ยงแห เช่น กรณีคนไทย (มลายูมุสลิม) 131 คนอพยพไปยังรัฐกลันตัน เนื่องจากเกรงกลัวการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น

 

รวมทั้งมีการใช้ประโยชน์ในทางการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อยกระดับปัญหาความรุนแรงภายในประเทศให้ขึ้นสู่เวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการอ้างถึง "วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษ" (Culture of Impunity) ที่เจ้าหน้าที่บางคนไม่คำนึงถึงขอบเขตของกฏหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศ เช่น การใช้กำลังปราบปรามที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี (28 เมษายน 2547) และที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส (25 ตุลาคม 2547) ตลอดจนรายงานเกี่ยวกับการ "อุ้มฆ่า" ชาวมุสลิมจำนวนมาก รวมทั้งกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งถูกลักพาตัวในกรุงเทพฯ และขณะนี้เชื่อได้ว่าเสียชีวิตไปแล้ว ประเด็นปัญหาเหล่านี้กลายเป็น "แนวรบภายนอกประเทศ" ที่รัฐบาลไทยจะต้องเอาชนะด้วยการตรวจสอบข้อมูล และริเริ่มกระบวนการยุติธรรมอย่างโปร่งใส และจริงจัง

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ที่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ขบวนการเจมาห์ อิสลามิยาห์ (Jemaah Islamiyah หรือ JI) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องการจะรวมอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และภาคใต้ของมาสถาปนาเป็นรัฐอิสลามบริสุทธิ์ และมีความสัมพันธ์กับขบวนการอัลกออิดะห์ (Al Qaeda) ได้เข้ามาปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

 

มีเพียงปี 2544-2546 คือ การที่ฮัมบาลี (หรือ ริดวน อิซามุดดิน) แกนนำคนสำคัญของ JI ได้หลบหนีเข้ามาหลบซ่อนอยู่ในไทย และร่วมมือกับสมาชิก JI อื่นๆ จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์เพื่อวางแผนก่อการร้ายที่บาหลี และจาการ์ตา อินโดนีเซียในเวลาต่อมา และอาศัยไทยเป็นทางผ่านสำหรับเดินทางหลบหนี ต่อไปยังประเทศอื่นๆ อีกด้วย แต่ความพยายามของฮัมบาลีในการที่จะแสวงหาความร่วมมือกับชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้นยังไม่ประสบความสำเร็จ ฮัมบาลีถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมได้ที่จังหวัดอยุธยา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2546 และส่งตัวส่งออกนอกประเทศ

 

ผลกระทบของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสถานะด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในเวทีระหว่างประเทศ

"วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษ" เป็นประเด็นสำคัญในการวิพากษ์วิจารณ์จากภายนอกประเทศนั้นปรากฏให้เห็นชัดเจน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรประกาศสงครามต่อต้านยาเสพติดเมื่อปี 2547

 

ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งมีหลักฐานชัดเจน และผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการที่รัฐบาลไทยแต่งตั้งที่ระบุว่า การเสียชีวิตของชาวมุสลิมมากกว่า 200 คนเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย คือ การใช้กำลังปราบปรามที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี (28 เมษายน 2547) และที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส (25 ตุลาคม 2547) แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินคดี และลงโทษในทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยที่รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใด

 

การที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารเร่งรัดให้สะสางคดีเกี่ยวกับการโจมตีของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลไทย ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยส่วนหนึ่งใช้วิธีการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และอยู่นอกกฏหมาย เช่น ปฏิบัติการเพื่อค้นหา และจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีกองพันทหารพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ได้ทำให้ชาวมลายูมุสลิมจำนวนมากถูกจับกุมตัว และถูกทำให้สูญหาย รวมทั้งกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยยังคงปฏิเสธที่จะเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการสูญหายในรายงานของทางการที่เปิดเผยสู่สาธารณะ ส่วนคำมั่นสัญญาที่ว่าจะให้มีการสืบสวนสอบสวน และความยุติธรรมเป็นเพียงการกล่าวไปตามหลักการ โดยหวังผลที่จะหลบเลี่ยงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และแรงกดดันทางการเมืองเท่านั้น

 

ล่าสุด ประชาคมระหว่างประเทศได้แสดงความกังวลว่า "วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษ" ได้ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฏหมาย เนื่องจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถูกประกาศใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 ได้บ่อนทำลาย และยกเลิกมาตรการทางกฏหมาย และกระบวนการยุติธรรมหลายประการที่มีไว้เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองจะต้องเคารพ และดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

เหตุการณ์ที่กลายเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ได้แก่ กรณีการใช้กำลังปราบปรามที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี (28 เมษายน 2547) , กรณีการใช้กำลังปราบปรามที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส (25 ตุลาคม 2547) ,กรณีการหายตัวของนายสมชาย นีละไพจิตร,กรณีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

ปฏิกิริยาของประชาคมระหว่างประเทศนั้นได้แสดงความกังวลหรือวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับแง่มุมความถูกต้องทางกฏหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนในการที่รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งไทยเข้าเป็นภาคี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 หรือไม่

 

รัฐบาลไทยส่งรายงานฉบับแรกของไทยไปให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2548 ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติได้ตรวจสอบรายงานดังกล่าวระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2548 ในการนี้ได้สรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ดังต่อไปนี้ คือ

                                          

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติมีความวิตกกังวลที่มีข้อกล่าวหาอย่างต่อเนื่องว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงการฆาตรกรรมนอกกฎหมาย และการกระทำทารุณกรรม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร รวมทั้งกองกำลังที่ทำหน้าที่รักษาความสงบ ดังที่ปรากฏในเหตุการณ์ใช้กำลังปราบปรามที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี (28 เมษายน 2547) และที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส (25 ตุลาคม 2547) โดยที่การสืบสวนสอบสวนไม่สามารถหาผู้กระทำผิดมาฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อให้มีการลงโทษที่สาสมกับความรุนแรงของความผิดได้

 

เท่ากับว่าเป็นการส่งเสริมให้ "คนผิดลอยนวล" จนกลายเป็น "วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษ" สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนถึงการขาดมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งขัดแย้ง กับมาตรา 2 วรรค 3 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติจึงเสนอแนะให้รัฐบาลไทยดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มที่ และอย่างเที่ยงธรรมต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว และกรณีอื่นๆ ทุกกรณี รวมทั้งจะต้องดำเนินคดีกับบุคคลที่สอบสวนแล้วพบข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง

 

รัฐบาลไทยจะต้องรับประกันว่า เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และครอบครัว ตลอดจนผู้สูญหาย และญาติพี่น้องจะต้องได้รับการชดเชยที่เหมาะสม และรัฐบาลไทยจะต้องมีดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องในการอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารให้ปฏิบัติงานโดยเคารพต่อมาตรฐานระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด รวมทั้งยังควรพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานพลเรือนที่เป็นอิสระขึ้น เพื่อทำหน้าที่สอบสวนข้อร้องเรียนกล่าวหาเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติมีความกังวลเกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 และได้มีการประกาศใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยไม่มีการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน หรือการจำกัดขอบเขตอย่างเพียงพอ และยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างรุนแรง

 

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาอย่างต่อเนื่องว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และมีการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อผู้ต้องหาในระหว่างการจับกุม และการควบคุมตัว มีรายงานต่างๆ ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะทรมานผู้ที่ถูกคุมขัง ทั้งระหว่างอยู่ที่โรงพัก และสถานที่ควบคุมตัวพิเศษ (Safe House) เพื่อให้ได้รับข้อมูล และคำรับสารภาพ แต่ยังไม่ปรากฏการสืบสวนสอบสวนที่สามารถหาผู้กระทำผิดมาฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อให้มีการลงโทษที่สาสมกับความรุนแรงของความผิดได้ เท่ากับว่าเป็นการส่งเสริมให้ "คนผิดลอยนวล" จนกลายเป็น "วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษ" สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนถึงการขาดมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งขัดแย้ง กับมาตรา 2 วรรค 3 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลไทยควรจะรับประกันว่าจะไม่มีการหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ผู้ต้องหาเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายและทางการแพทย์ทันทีภายหลังการจับกุม และระหว่างที่ถูกคุมขัง โดยผู้ถูกจับกุมควรมีโอกาสทันทีที่จะแจ้งต่อญาติ หรือสมาชิกในครอบครัวว่าถูกจับกุม และถูกคุมขังอยู่ที่ใด รวมทั้งยังควรจะให้มีการตรวจร่างกาย (ทั้งเมื่อเริ่ม และภายหลังการถูกคุมขัง) และควรจะให้มีวิธีการเยียวยาที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยให้ผู้ต้องหาร้องต่อศาลเกี่ยวกับความชอบธรรมทางกฎหมายของการถูกจับกุม (Habeas Corpus) และผู้ที่ถูกจับกุมในคดีอาญาจะต้องถูกนำตัวไปศาลโดยไม่ชักช้า

 

รัฐบาลไทยก็ควรที่จะสร้างความมั่นใจว่า ทุกกรณีที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับการทรมาน หรือการปฏิบัติอย่างโหดร้าย หรือการใช้อำนาจเกินสมควร รวมทั้งการเสียชีวิตของผู้ต้องหาระหว่างการถูกคุมขังนั้น จะมีการสืบสวนสอบสวนอย่างรวดเร็วให้ถึงที่สุด โดยผู้กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนผู้เสียหาย หรือสมาชิกในครอบครัวก็จะได้รับการชดเชยค่าเสียหายที่เหมาะสม และเป็นธรรมอย่างไม่ชักช้า

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติมีความกังวลเกี่ยวกับความแออัด และสภาพสถานที่คุมขัง โดยเฉพาะในเรื่องสุขอนามัย การเข้าถึงการรักษาพยาบาล และการได้รับอาหารอย่างเพียงพอ รวมทั้งสิทธิของผู้ต้องขังในการพบทนาย หรือครอบครัว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

 

สหประชาชาติตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการตีตรวน และรายงานเกี่ยวกับการขังเดี่ยวเป็นเวลานาน รวมทั้งควรจะรับประกัน ผู้ต้องขังจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องสุขอนามัย การได้รับการรักษาพยาบาล และอาหารที่เพียงพอ การคุมขังควรได้รับการพิจารณาว่าเป็นมาตรการสุดท้าย ควรมีมาตรการอื่นๆ เป็นทางเลือก ส่วนการตีตรวน และการขังเดี่ยวเป็นระยะเวลานานนั้นควรได้รับการยกเลิกโดยทันที และควรให้การคุ้มครองเยาวชนเป็นพิเศษ โดยให้แยกการคุมขังจากผู้ใหญ่

 

ท้ายที่สุด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติมีความกังวลเกี่ยวกับการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เช่น การข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย การลักพาตัว และการฆาตกรรม โดยเสนอแนะให้รัฐบาลไทยมีมาตรการเร่งด่วนในการปกป้อง และยุติการคุกคามทำร้ายนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งจะต้องสืบสวนสอบสวนรายงานการข่มขู่ คุกคาม และการทำร้ายทุกกรณีอย่างเป็นระบบ และมีหลักประกันในการเยียวยาต่อเหยื่อและครอบครัวอย่างเหมาะสม และเป็นธรรม

 

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า คดีของนายสมชาย นีละไพจิตรเป็นกรณีเดียวที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะและมีการสืบสวนสอบสวนไปถึงขั้นที่มีการจับตัวผู้ต้องหาและดำเนินคดีพิพากษาในชั้นศาล แต่รายงานเกี่ยวกับบุคคลจำนวนมากที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐทำให้หายตัวไป ยังคงไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่จะช่วยให้เกิดความยุติธรรมขึ้นเลย

 

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมา เพื่อทำการสืบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยจะต้องเร่งรัดดำเนินมาตรการทุกอย่างที่มีความจำเป็นต่อการยุติการบังคับทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งรวมถึงการทำให้บังคับทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาตามที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรได้เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2548 ว่า

 

 "วันนี้ตำรวจกำลังตกเป็นเป้าใหญ่ เพราะทำงานใกล้ชิดประชาชน ซึ่งตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนดี แต่ก็มีอีกส่วนที่คิดดี คือ หวังผลสำเร็จของงาน แต่ทำไม่ดี คือ เลือกใช้วิธีละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนอื่น เลยกลายเป็นหวังดีแต่มุ่งร้าย วันนี้มันต้องหวังดี มุ่งดี และทำดีด้วย เพราะหลักการของกระบวนการยุติธรรมอาญาคือ การแข่งขันกันระหว่างผู้กล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหา โดยมีศาลเป็นกรรมการกลาง ดังนั้น เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความอดทนแบบสุดๆ เพื่อต่อสู้โดยใช้กฎหมาย ไม่ใช่อุ้มไปรีด พอหมดปัญญารีดก็ฆ่าเขาทิ้ง อย่างนี้มันหมดยุคไปแล้ว"

 

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) และคณะกรรมาธิการนิติกรระหว่างประเทศ (International Commission of Jurists) แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และอาชญากรรมที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในบริบทของการดำเนินความพยายามที่จะแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยองค์การเหล่านี้ได้วิเคราะห์พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 เอาไว้อย่างละเอียดว่า ละเมิดพันธะของไทยต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และต่อรัฐธรรมนูญ/กฎหมายอื่นๆ ภายในประเทศอย่างไร รวมทั้งจะมีผลทำให้สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลวร้ายลงอย่างไร

 

ข้อสังเกตที่คล้ายคลึงทั้งหมดที่ได้กล่าวไปข้างต้นยังปรากฏอยู่ในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีในไทย ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และกระทรวงต่างประเทศของสมาชิกสหภาพยุโรปอีกหลายประเทศ ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีความสำคัญต่อสถานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศไม่น้อยไปกว่ากัน คือ ความกังวลของมาเลเซีย และกลุ่มประเทศมุสลิมว่า นโยบาย และปฏิบัติการของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นการกดขี่ข่มเหง หรือเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อชาวมลายูมุสลิมหรือไม่

 

OIC ซึ่งเป็นองค์การที่ใหญ่ที่สุดของโลกมุสลิม (และเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีขนาดรองจากสหประชาชาติ)มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง OIC ได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ใช้กำลังปราบปรามที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี (28 เมษายน 2547) และที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส (25 ตุลาคม 2547) ซึ่งระบุว่าเป็นการกระทำรุนแรงที่นองเลือด (Bloody Act of Violence) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548

 

เหตุการณ์ดังกล่าว อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทยได้ส่งตัวแทนพิเศษ ประกอบด้วย นายนิสสัย เวชชาชีวะ อดีตเอกอัครราชทูตประจำมาเลเซีย นายมหดี วิมานะ อดีตเอกอัครราชทูตประจำอิหร่าน และนายจรัญ มะลูลีม นักวิชาการมุสลิมประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปพบกับนายเอ็กมิลิดดีน อิห์ซาโนกลู เลขาธิการ OIC เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบีย

 

ฝ่ายไทยได้มอบรายงานของคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ และอำเภอตากใบ โดยเน้นว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเกิดจากกองกำลังติดอาวุธที่ก่อความไม่สงบ ไม่ได้เกิดจากการกระทำของรัฐบาลไทย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อรักษาชีวิตของผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด

 

เลขาธิการ OIC ตอบว่าเคารพในอธิปไตยของไทย และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการแบ่งแยกดินแดน รวมทั้งคัดค้านการฆ่า หรือทำร้ายผู้บริสุทธิ์ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด นอกจากนี้ เลขาธิการ OIC ต้องการเห็นผลการดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระทั้ง 2 คณะ พร้อมกับขอรับทราบการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยเป็นระยะๆ เพื่อที่จะนำไปชี้แจงต่อประเทศสมาชิกของ OIC ต่อไป

 

 

ภายหลังการประชุมดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้เชิญคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ OIC ให้เดินทางมาเยือนไทยเพื่อรับทราบสถานการณ์จริงด้วยตนเองซึ่งเลขาธิการ OIC ยินดีรับเชิญ โดยส่งคณะเจ้าหน้าที่เดินทางมาล่วงหน้ามาก่อน OIC ได้ส่งคณะเจ้าหน้าที่มาเยือนไทย ระหว่างวันที่ 2-13 มิถุนายน 2548 มี นายซัยยิด กาซิม อัลมัสริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูตถาวรของอียิปต์ประจำสันนิบาตอาหรับ เป็นหัวหน้าคณะ

 

หลังการเก็บข้อมูลในประเทศไทย คณะผู้แทนของ OIC มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยไม่มีนโยบายกีดกันการนับถือศาสนาอิสลาม แต่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิม ซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องให้ความยุติธรรมต่อชาวมุสลิมใน 3 ประการ คือ ชาวมุสลิมที่จำคุกอยู่ต้องได้รับความยุติธรรม ชาวมุสลิมที่หายตัวไปต้องได้รับการติดตามจากรัฐบาลไทย โดยรัฐบาลไทยต้องมีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำผิดชัดเจน เช่น กรณีเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ และที่อำเภอตากใบต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และจะต้องมีการลงโทษตามกฎหมาย

มาเลเซีย มีความผูกพันเชื่อมโยงกับเกี่ยวกับผู้นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาช้านาน และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน OIC มีบทบาทสำคัญในการแสดงท่าทีต่างๆ ในระดับระหว่างประเทศเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในปัจจุบันได้อาศัยประโยชน์จากสภาพภูมิศาสตร์ของไทย และมาเลเซียที่มีอาณาเขตติดต่อกันซึ่งบางครั้งมีการรายงานข่าวหรือการแสดงความเห็นของผู้กำหนดนโยบายในรัฐบาลไทยในลักษณะที่พาดพิงกล่าวหาว่า มาเลเซียสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนจนสร้างความหวาดระแวง และความไม่ไว้วางใจกันให้เกิดขึ้น

 

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังโฆษณาชวนเชื่อต่อชาวมาเลเซียที่ผูกพันทางสังคมวัฒนธรรมกับชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า รัฐบาลไทยเลือกปฏิบัติ กดขี่ข่มเหง และไม่ให้ความยุติธรรมต่อชาวมลายูมุสลิมซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (พรรค PAS) ต้องแสดงท่าทีปกป้องชาวมลายูมุสลิม ส่วนสถานะของมาเลเซียที่เป็นประธาน OIC นั้นก็ทำให้มาเลเซียจำเป็นต้องแสดงท่าที่ต่อประชาชนภายในประเทศ และต่อกลุ่มประเทศมุสลิมต่างๆ ในลักษณะที่ดูเหมือนจะเป็นการตำหนิรัฐบาลไทย

 

ส่วนกรณีที่มีคนไทย (มลายูมุสลิม) 131 คนหลบนีไปมาเลเซียเนื่องจากเกรงกลัวการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นั้นดาโต๊ะเสรี นาจิบ ตนรอชัค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหมของมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียจะไม่ส่ง 131 คนไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับไปให้รัฐบาลไทย จนกว่าจะมั่นใจว่า พวกเขาไม่ได้รับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่นายกรัฐมนตรีดาโต๊ะอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวีของมาเลเซียแสดงความไม่พอใจที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรกล่าวหาว่า มาเลเซียเป็นสถานที่ซ่อนสุม และฝึกกองกำลังติดอาวุธที่ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

 

ส่วนสื่อมวลชนมาเลเซียนั้นแสดงท่าทีเกี่ยวภายหลังจากเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบอย่างชัดเจน มีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยในทางลบอย่างกว้างขวาง ในระยะหลังก็มักจะเน้นประเด็นเกี่ยวกับอคติ และการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐบาลไทย รวมทั้งความหวาดกลัวของชาวมลายูมุสลิมว่าจะถูกจับกุม และปราบปรามอย่างเหวี่ยงแห

 

ข้อเสนอแนะ

1. รัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ตั้งสมมุติฐานผิดพลาด โดยมองเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นเรื่องของ "โจรกระจอก" หรือเกี่ยวข้องกับขบวนการอิทธิพลผิดกฏหมาย และการเมืองท้องถิ่น

 

ดังนั้น ในขั้นแรกจึงต้องปรับสมมุติฐานใหม่มายอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินมาช้านาน แต่เริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการปฏิบัติการไปในปัจจุบัน BRN มีแนวร่วมมากที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยต้องเข้าใจว่า ชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่มีสภาพเป็น "เหยื่อ" ที่ติดอยู่กับประวัติศาสตร์ และความทรงจำว่า ถูกกระทำจากอำนาจอย่างไม่ยุติธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความรุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นจากการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนด้วย แต่เมื่อเปรียบเทียบกันกับประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการดำรงชีวิตอย่างสงบสุขแล้ว สมาชิกของกองกำลังติดอาวุธ และแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกยังมีจำนวนน้อยมาก การ "แยกปลาออกจากน้ำ" จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำอย่างระมัดระวัง

 

2. เมื่อทุกฝ่ายยอมรับแล้ว สิ่งที่สามารถดำเนินการได้เป็นขั้นถัดไป คือ การปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ การคุ้มครองดูแลประชาชน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของชุมชน โดยมีการปฏิบัติการจิตวิทยา และการข่าวกรองเป็นมาตรการสนับสนุน ทั้งนี้ การจัดตั้งหน่วยทหารในพื้นที่เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนทางจิตวิทยาความมั่นคง ควรพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน กำลังทหารที่ใช้ในพื้นที่ควรมีประสบการณ์หลายด้าน ทั้งด้านยุทธวิธี การข่าว หลักนิยมในการต่อต้านการก่อความไม่สงบ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

 

3. ปัจจุบันขบวนการแบ่งแยกดินแดนใช้ปฏิบัติการทางสังคมจิตวิทยาปลุกกระแสความเข้าใจผิดเพื่อยั่วยุหวังผลให้มีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม แนวทางในการดึงเอาประชาชนออกจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้นจะต้องยึดถือแนวทางสันติวิธี สมานฉันท์ การมีส่วนร่วม สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมเป็นหลักตามที่เสนอแนะโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ โดยไม่ใช้การกดดันบีบบังคับด้วยกำลังหรือกฏหมายแต่เพียงอย่างเดียว

 

4. แนวทางสมานฉันท์เพื่อยุติปัญหาความรุนแรง และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนนั้นประกอบด้วยความคิดหลัก คือ การเปิดเผยความจริง การสร้างความยุติธรรม การสร้างความพร้อมรับผิด การให้อภัย การเคารพความหลากหลาย (รวมทั้ง การเปิดพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย) และการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจระหว่างกัน

 

ขยายความได้ว่า มีข้อเท็จจริงหลายเรื่องที่รอวันสะสางด้วยความยุติธรรม ซึ่งเมื่อความจริงปรากฏก็ต้องดำเนินการเพื่อให้ความยุติธรรม ซึ่งนอกเหนือจากความสูญเสียจะถูกชดเชยเยียวยาแล้ว คนที่ทำผิดก็ควรต้องพร้อมรับผิดตามกฎหมายบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้ความจริงแล้ว คนผิดก็รับผิดไปแล้ว ความยุติธรรมตามกฎหมายก็เกิดขึ้นแล้ว วิธีที่จะก้าวพ้นอดีต ความขมขื่น และความเกลียดชัง คือ หนทางแห่งอภัยวิถี และการอยู่ร่วมกัน

 

5. ปัญหาสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ (รวมทั้งประเทศมุสลิม) ขณะนี้ คือ "วัฒนธรรมของการไม่ต้องรับโทษ"รัฐบาลไทยจึงต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มที่ และอย่างเที่ยงธรรมต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณี รวมทั้งจะต้องดำเนินคดีกับบุคคลที่สอบสวนแล้วพบข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง

 

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะต้องรับประกันว่า เหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และครอบครัว ตลอดจนผู้สูญหาย และญาติพี่น้องจะต้องได้รับการชดเชยที่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลไทยจะต้องมีดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องในการอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารให้ปฏิบัติงานโดยเคารพต่อมาตรฐานระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

 

รวมทั้งยังควรพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานพลเรือนที่เป็นอิสระขึ้น เพื่อทำหน้าที่สอบสวนข้อร้องเรียนกล่าวหาเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งควรที่จะพิจารณาเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศที่ต่อต้านการทำให้บุคคลสูญหายด้วย

 

6. รัฐบาลไทยควรแสวงประโยชน์ในความร่วมมือกับมาเลเซีย ซึ่งนอกจากจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมแล้ว มาเลเซียยังมีบทบาทสำคัญใน OIC  การสร้างความเชื่อมั่นแก่มาเลเซียเกี่ยวกับเงื่อนไขสภาพความเป็นอยู่ การเคารพสิทธิ การอำนวยความยุติธรรม และการสร้างความสมานฉันท์กับชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับมาเลซียในระดับทวิภาคี รวมทั้งยังจะเป็นประโยชน์ในการที่มาเลเซียจะช่วยประชาสัมพันธ์แก้ไขทัศนคติด้านลบที่ประเทศมุสลิมอื่นๆ มีต่อไทย ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเชื่อมโยงการก่อการร้ายระหว่างประเทศเข้ากับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกทางหนึ่ง

 

อนึ่ง ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับมาเลเซียนั้นจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นปัจจัยภายในของการกำหนดนโยบาย และท่าทีต่างๆ ของรัฐบาลมาเลเซียด้วย รวมทั้งยังจะต้องหลีกเลี่ยงการกล่าวหาพาดพิง โดยเฉพาะการแสดงความเห็นต่อสาธารณะและสื่อมวลชนในลักษณะที่นำไปสู่ความขัดแย้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท