Skip to main content
sharethis


 


คนสะเอียบเปิดงานวิจัยจาวบ้าน "แม่น้ำยม ป่าสักทอง วิถีชีวิตของคนสะเอียบ" ยืนยันปกป้องรักผืนป่าสักทองกว่า 20,000 ไร่ต่อไป แม้รัฐอ้างหยุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมย้ำว่า นี่คือการรุกโดยภาคประชาชน เพื่อให้รัฐรู้และเข้าใจว่าปัญหาต่าง ๆ ทีเกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะชาวบ้าน แต่มาจากรัฐ


 


เมื่อวันที่ 27-28 พ.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านในเขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ร่วมกันเสนอผลงานวิจัยจาวบ้าน "แม่น้ำยม ป่าสักทอง วิถีชีวิตของคนสะเอียบ" ภายหลังจากเก็บข้อมูลมาร่วม 2 ปี เพื่อมุ่งเน้นอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในผืนป่าและแม่น้ำยม รวมถึงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของชาวบ้าน ตลอดจนความรู้ของชุมชน พิธีกรรม และความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาวบ้าน


 


นายวิชัย รักษาพล ตัวแทนนักวิจัยจาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้พูดถึงการทำงานวิจัยจาวบ้านโดยจาวบ้านในครั้งนี้ว่า ได้แนวคิดการทำงานวิจัยมาจากพี่น้องราศีไศล นำมาประยุกต์ใช้ในการวิจัยจาวบ้านในครั้งนี้จำนวน 4 หมู่บ้าน มีนักวิจัยจาวบ้านทั้งหมดประมาณ 200 คน โดยได้มีการแบ่งกลุ่มกันทำวิจัย เป็น 7 กลุ่มด้วยกัน ทั้งในเรื่องระบบนิเวศน์ การศึกษาเรื่องพันธุ์ปลา ผัก เห็ด หน่อไม้และเศรษฐกิจผลผลิตจากป่า สมุนไพร สัตว์และแมลง ทรัพยากรป่าไม้ รวมไปถึงการศึกษาเรื่องสังคม ความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ โดยได้ใช้ระยะเวลาในการลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษาวิจัยเป็นเวลา 2 ปี


 


"การวิจัยครั้งนี้ เราได้สามประเด็นหลัก คือ ต้องการเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติว่ามีความหลากหลายอย่างไร อยากปลุกจิตสำนึกให้คนทั่วไป โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนให้รู้จักรักหวงแหนทรัพยากรและนำไปใช้อย่างชาญฉลาดและคุ้มค่า และอยากให้งานวิจัยจาวบ้านนี้ได้ไปถึงนักวิชาการ นักการเมือง และรัฐบาล นำไปประกอบใช้ในการตัดสินใจ หากรัฐจะมีโครงการใหญ่อะไร ได้นำงานวิจัยนี้ไปใช้ประกอบการพิจารณาและตัดสินใจดูว่ามีความจำเป็นหรือไม่ กับโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น นั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์มากเพียงใด"


 


นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านดอนชัยสักทอง ได้กล่าวถึงความสำคัญของป่า ว่า ป่าทุกป่านั้นมีคุณค่าทั้ง เป็นเขื่อนธรรมชาติที่ยึดหน้าดิน ซับน้ำไว้ไม่ให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งเรามีป่าสักทองผืนใหญ่กว่า 20,000 ไร่ ซึ่งมีคุณค่ามมหาศาล เป็นทั้งสถานที่ศึกษาเรียนรู้ และคนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่า สร้างรายได้มหาศาล ซึ่งทุกวันนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าอย่างชาญฉลาด ไม่ใช่ใช้อย่างฟุ่มเฟือย


 


ด้าน นายก้องไมตรี เทพสูงเนิน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 5 จากอุทยานแห่งชาติแม่ยม กล่าวว่า ได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านมา 6 ปี จึงรู้และเข้าใจว่า ชุมชนแห่งนี้อยู่กลางป่ากลางบ้าน เป็นแอ่งสะเอียบ อยู่กันมาเป็นร้อยๆ ปี และทุกคนได้เห็นความสำคัญของป่า มีการสร้างกติกาหมู่บ้าน ซึ่งยอมรับว่า ชุมชนมีความเข็มแข็งกันมาก ไม่ว่าในเรื่องการอนุรักษ์ การห้ามตัดไม้ ห้ามคนภายนอกเข้ามาตัดไม้ ขนไม้ มีการจัดการอย่างยั่งยืน


 


"เชื่อว่าต่อไป คนสะเอียบจะเป็นเมืองน่าอยู่ ไม่ต้องอพยพออกไปทำงานข้างนอกเหมือนทางภาคอีสาน และถือว่างานวิจัยจาวบ้านครั้งนี้ คือการค้นหาตัวตน"


 


ในขณะที่ นายนิวัติ ร้อยแก้ว สมาชิกสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ และประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้พูดถึงการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนว่า สถานการณ์ปัจจุบัน มีปัญหาข้อผิดพลาดมากมาย ที่เป็นปัญหาระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ชาวบ้านกับชาวบ้าน ซึ่งก่อนนั้นชาวบ้านอยู่ได้เพราะทรัพยากร แต่ทำไมเดี๋ยวนี้ คำว่า ทรัพยากร กลับกลายเป็นปัญหา เนื่องจากว่า คนในชุมชนถูกจัดการโดยรัฐ จากกลุ่มทุนข้ามชาติ พยายามกีดกันชาวบ้านออกจากทรัพยากร โดยเฉพาะในเขต จ.แพร่ มีการสัมปทานป่าไม้ ซึ่งมีปัญหามานานหลายร้อยปีมาแล้ว


 


"เมื่อรัฐเข้ามาจัดการ ความใกล้ชิดของชาวบ้านเริ่มถ่างห่างไกลออกไป จากความสัมพันธ์ วัฒนธรรมในอดีตเริ่มหายไปจากทรัพยากรหน้าหมู่ ชาวบ้านไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งการรายงานวิจัยจาวบ้านในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้การจัดการโดยชุมชนได้ใช้องค์ความรู้เป็นเครื่องต่อสู้ เป็นเกราะป้องกันชุมชนแทนการใช้มีดใช้ดาบมาต่อสู้เหมือนในอดีต ซึ่งปัจจุบัน องค์ความรู้ของชุมชนเท่านั้นที่จะต่อสู้กับคนภายนอกได้"


 


นายนิวัฒน์ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า งานวิจัยจาวบ้านแม่น้ำยม ป่าสักทอง วิถีชีวิตของคนสะเอียบ ครั้งนี้


จึงถือว่าเป็นการรุกโดยภาคประชาชน เพื่อให้รัฐรู้และเข้าใจว่า ปัญหาต่างๆ ทีเกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะชาวบ้าน แต่มาจากรัฐ โดยเฉพาะกรณีที่รัฐคิดจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งชาวบ้านได้ต่อสู้กันมายาวนาน


 


อย่างไรก็ตาม นายวาด เทือกฉิมพลี นักวิจัยจาวบ้านสะเอียบ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้น และเราจะยังทำกันต่อไป ถึงแม้ กรมชลประทานได้ออกมาประกาศว่าให้ยุติเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น


เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมาก็ตาม แต่ทุกคนก็ไม่นิ่งนอนใจว่า รัฐจะยุติจริงหรือไม่ ซึ่งชาวบ้านจะนำงานวิจัยชิ้นนี้เสนอให้รัฐนำไปศึกษาให้ชัดว่า การสร้างโครงการใหญ่ๆ ของรัฐนั้นจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและวิถีของคนท้องถิ่นอย่างหนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net