Skip to main content
sharethis

เริ่มต้นด้วยบทปิดฉากคดี "เจไอ" ในประเทศไทย


คำพิพากษา คดีเจไอ ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548


คดีหมายเลขดำที่ 2682/2546


คดีหมายเลขแดงที่ 1506/2548


 


ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเมื่อโจทก์มีแต่นายสูไหมี เป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวกับบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นคำรับในข้อเท็จจริงบางประการที่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสี่ตกลงใจที่จะร่วมกระทำความผิดตามคำชักชวนของนายอารีฟิน หรือแม้จะมีคำซัดทอดของนายอารีฟินผู้ต้องหาด้วยกัน ซึ่งไม่อาจนำมารับฟังสนับสนุนพยานหลักฐานของโจทก์ ทั้งคำให้การของนายอารีฟินดังกล่าวก็ยังเห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสี่ ไม่ตกลงใจร่วมกระทำความผิดดังได้วินิจฉัยข้างต้น แม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้ปฏิเสธต่อนายอารีฟินที่ได้ชักชวนให้ร่วมกระทำความผิดอย่างเด็ดขาด แต่จำเลยทั้งสี่ก็มิได้แสดงออกว่าตกลงใจจะร่วมกระทำความผิดตามคำชักชวนแต่อย่างใด


 


สอดคล้องกับที่พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการวิทยุ "นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน" เมื่อวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน 2546 ว่า เป็นการจับตามที่ประเทศสิงคโปร์ร้องขอ เนื่องจากผู้ต้องหาที่ถูกจับได้โดยตำรวจสิงคโปร์ ซัดทอดว่ามาชักชวนผู้ต้องหาในไทย แต่เมื่อตรวจสอบรายงานของตำรวจไทยก็พบว่าบุคคลที่ได้รับการชักชวนให้ร่วมก่อการร้ายเพียงแต่แบ่งรับแบ่งสู้เท่านั้น ดังปรากฏตามบทนำในหนังสือเดลินิวส์ ฉบับวันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2546 เอกสารหมาย ล.5 พยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจนำมาลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องได้


 


0 0 0


 


ข้างต้นนี้คือคำตัดสินคดีเจไอในประเทศไทย อันเป็นคำวินิจฉัยของศาลที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่า "ไม่มีเจไอในประเทศไทย" แม้จะมีการพยายามชักชวนก็ตาม


 


ในคำตัดสิน กล่าวถึงปมกำเนิดคดีเจไอทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็คือการจับกุมนายอารีฟิน บินอาลี ชาวสิงคโปร์ ซึ่งซัดทอดมาประเทศไทยจนมีการจับกุมผู้ต้องหาคือนายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะและพวก ก่อนหน้านั้นไม่นานก็มีการจับกุมเจไอไทยที่ประเทศกัมพูชาคืออับดุลอาซิ หะยีเจ๊ะมิง และนายมูฮำหมัดยาลารูดิน มะดิง การจับกุมที่กัมพูชานั้นเองถูกระบุว่า เป็นข้อมูลที่นำมาสู่การจับกุม นายริดูอัน บิน อิซามุดดิน หรือ "ฮัมบาลี"


 


"ฮัมบาลี" คือใคร ?


ในคดีเจไอทั้งหมดจะถูกโยงให้มีความสัมพันธ์กับบุคคลที่ชื่อ "ฮัมบาลี" นี้ไม่มากก็น้อย จึงควรรู้จักบุคคลผู้นี้กันสักเล็กน้อย


 


หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 16 สิงหาคม 2546 ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับฮัมบาลีหลังจากถูกจับว่า ฮัมบาลี เป็นผู้นำฝ่ายปฏิบัติการของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง "เจมาห์ อิสลามิยาห์" หรือที่เรียกสั้นๆว่าเจไอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีฐานะเป็นผู้นำหมายเลข 2 และถือว่าเป็นผู้นำรักษาการของเจไอ หลังนายอาบู บาคาร์ บาชีร์ ผู้นำสูงสุดของเจไอถูกทางการอินโดนีเซียจับกุมตัว


 


เชื่อกันว่า ฮัมบาลีเป็นตัวเชื่อมระหว่างเครือข่ายผู้ก่อการร้าย อัลกออิดะห์ ของ โอซามา บิน ลาดิน และเป็นตัวแทนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ไม่ใช่ชาวอาหรับจากภูมิภาคเอเชียเพียงคนเดียวที่ได้เข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการทหารของอัลกออิดะห์จนได้รับฉายาว่า "บิน ลาดินแห่งตะวันออก" และเป็นหนึ่งในสภาที่ปรึกษาหรือ "ชูรา" ของอัลกออิดะห์


 


นอกจากนี้ ฮัมบาลียังอาจเป็นผู้วางแผนลอบวางระเบิดหลายครั้ง ทั้งการระเบิดโบสถ์คริสต์อย่างต่อเนื่องในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ พ.ศ. 2543 มีผู้เสียชีวิตหลายสิบศพ ระเบิดพลีชีพที่ไนต์คลับบนเกาะบาหลีในอินโดนีเซีย เมื่อพ.ศ.2544 มีผู้เสียชีวิต 202 ศพ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวออสเตรเลีย 88 ศพ และระเบิดล่าสุดที่โรงแรม เจ.ดับเบิลยู.แมร์ริอ็อตต์ กรุงจาการ์ตา พ.ศ.2545 มีผู้เสียชีวิต 12 ศพ


 


อีกทั้งยังเคยวางแผนลอบวางระเบิดเครื่องบินสหรัฐฯ 12 ลำ เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก พ.ศ. 2538 และวางแผนลอบวางระเบิดเป้าหมายชาวตะวันตก ในสิงคโปร์ช่วงปลาย พ.ศ.2544 แต่ถูกทำลายแผนการเสียก่อน ฮัมบาลีจึงเป็นที่ต้องการตัวของทั้งสหรัฐฯ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์


                                                                            


ไทยรัฐฉบับดังกล่าวยังได้อ้างถึงเจ้าหน้าที่สหรัฐคนหนึ่งที่ออกมาเปิดเผยว่า นายฮัมบาลีเกี่ยวข้องกับวินาศกรรม 11 กันยายน 2544 โดยตรงด้วยการช่วยจัดการประชุมเหล่าผู้ก่อการร้ายที่อพาร์ตเมนต์ของเขาในมาเลเซียในเดือน มกราคม 2543 ซึ่งผู้เข้าประชุมรวมทั้งนายคาลิด อัล-มิห์ดฮาร์ และนายนาวาฟ อัล-อาซมี เป็น 2 ใน 19 ผู้ก่อการร้ายที่จี้เครื่องบินไปก่อวินาศกรรมพุ่งชนตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ในมหานครนิวยอร์กและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน


 


นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าฮัมบาลียังลอบเข้ามาจัดการประชุมในกรุงเทพเพื่อวางแผนลอบวางระเบิดที่เกาะบาหลี จากนั้นก็กลับเข้ามาในประเทศไทยอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ขณะพยายามหลบหนีการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจนานาชาติ


 


ไทยรัฐฉบับดังกล่าวระบุชัดเจนว่าข้อมูลดังกล่าวได้จากการสอบสวนสมาชิกเจไอ 3 คน ซึ่งเป็นชาวไทย 2 คน และอียิปต์ 1 คน ที่ถูกจับในกัมพูชา ที่เปิดเผยโดยเจ้าหน้าที่สหรัฐ


 


แต่ข้อมูลดังกล่าวได้มาอย่างไรเมื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดในกัมพูชาให้การปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องเพียงแต่รู้จักกันอย่างผิวเผินเท่านั้น(ย้อนกลับไปอ่านได้ในตอนที่ 2) ในขณะที่ชาวอิยิปต์ถูกยกฟ้องไปแล้ว !!!!


 


เจไอในอีกมุมมอง


ผู้ประสานงานคดีเจไอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อ) อธิบายความเป็นมาเป็นไปของเจไอว่า "เจมาห์ อิสลามิยาห์" เป็นภาษาอาหรับแปลว่า สมาคมหรือชมรมชาวมุสลิมที่รวมตัวกันเพื่อเผยแผ่หรือสอนศาสนา ส่วนคนมีเงินจะไปเปิดเป็นปอเนาะ


 


แต่สำหรับอินโดนีเซียนั้น ผู้นำของเจไอเคยมีส่วนในการเคลื่อนไหวต่อต้านประธานาธิบดีซูฮาโตด้วย ภายหลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายนแล้ว กลุ่มมุสลิมต่างๆ ที่มีความเข้มแข็งก็ถูกหมายหัวจากมหาอำนาจ เช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ในตะวันออกกลาง ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือกลุ่มเจไอ เพราะมีการรวมกลุ่มมุสลิมได้อย่างเข้มแข็ง


 


การหมายหัวกลุ่มเจไอนี้สอดคล้องไปกับทิศทางของรัฐบาลอินโดนีเซีย เพราะเจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่าง พ.ต.อ.เปตรัส ไรน์ฮาร์ด โฟลอส จากหน่วยเฉพาะกิจต่อต้านการก่อการร้ายของอินโดนีเซีย ได้ออกมาชี้ชัดว่า กลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับกลุ่มเจไอ เพื่อโจมตีในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นเส้นทางผ่านของเงินดังกล่าว


 


ภาพที่กลุ่มมุสลิมที่เข้มแข็งและหนาแน่นในประเทศอินโดนีเซียจึงถูกเอาไปผูกติดกับนายฮัมบาลี หลังจากที่สหรัฐหมายหัวทันที พร้อมทั้งพุ่งเป้าหมายมาที่ประเทศไทยอย่างชัดเจน ส่วนผู้นำอันดับหนึ่งของเจไอถูกทางการอินโดนีเซียจับในเวลาต่อมา


 


การเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีเจไอของไทย


นอกจากการกล่าวพาดพิงถึงเส้นทางการเงินของประเทศอินโดนีเซียแล้ว คดีเจไออาจเป็นคดีที่มีผลประโยชน์บางอย่างมาเกี่ยวข้องด้วย


 


"ผู้นำของประเทศไทยไปตกลงสัญญาลับ ความจริงก็ไม่ลับเพราะสัญญานี้เคยมีปรากฏในเว็บไซต์ของสหประชาชาติเมื่อหลายปีก่อน เนื้อหาว่าทางอเมริกาสามารถตั้งฐานทัพ หรือทำอย่างไรก็ได้ที่ต้องมีการจำหน่ายอาวุธและมีเงื่อนไขพิเศษคือจะให้สัญญาเช่าดาวเทียมของบริษัทชินวัตรโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา "ผู้ประสานงานคดีเจไอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่อาจเปิดเผยชื่อคนเดิมกล่าวพร้อมๆกับการให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ก็มีหุ้นส่วนเกี่ยวกับการค้าอาวุธและค้าน้ำมัน ในขณะที่ผู้นำรัฐบาลไทยก็มีกิจการดาวเทียม" ผู้ประสานงานคดีเจไอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุ


 


เรื่องผลประโยชน์ดังกล่าวสอดคล้องกันมากขึ้น เพราะเมื่อปีกลายสัญญาเรื่องดาวเทียมของชินวัตรก็ได้รับการต่ออายุ และเมื่อย้อนกลับไปค้นข้อมูลเก่าในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งสหรัฐกำลังมีสงครามในอัฟกานิสถานก็มีข่าวเกี่ยวกับการที่รัฐบาลให้สหรัฐเช่าสนามบินอู่ตะเภาเป็นเวลา 10 ปี ครั้งนั้นเองก็ทำให้ชาวไทยมุสลิมไม่พอใจจนไปยื่นหนังสือประท้วงที่สถานทูตสหรัฐมาแล้วครั้งหนึ่ง


 


นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นออกมาปฏิเสธว่าสหรัฐไม่เคยขอใช้อู่ตะเภาเป็นฐานทัพหรือที่ทำการทหาร แต่เป็นความร่วมมือทางทหารที่ต้องสอบถามกองทัพเอง


 


ส่วนเสียงจากทางกองทัพอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในช่วงนั้น ก็ออกมาเปิดเผยว่า


 


"เรื่องอู่ตะเภาเป็นเรื่องธรรมดาไม่มีอะไรเลย ถ้ามีอะไรพิเศษต้องมีแผนการ แต่นี่เขามาลงบ่อยๆ สัปดาห์ละ 3-5 ลำ ไม่เกี่ยวกับการรบหรือเข้าไปส่วนนั้นส่วนนี้ รับรองได้ขอให้สบายใจ ส่วนการฝึกคอบร้าโกลด์ ก็ทำมาตลอด ทำไมเราต้องไปสนใจเรื่องนี้กันด้วย เรายอมไม่ได้ที่จะให้ใครมาใช้สนามบินเราไปต่อสู้หรือรบกับใคร สหรัฐไม่เคยมาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานทัพเลย ตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 34 เขารู้ว่าเราจะมีปัญหา เขาก็ไปใช้ที่สิงคโปร์แทน"


                   


แต่เมื่อ ปลายพ.ศ. 2547 รัฐบาลไทยก็ตกลงให้ประเทศสิงคโปร์เช่าสถานที่ฝึกทหาร!


 


กองทัพอากาศและ กระทรวงกลาโหมได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ กับ สิงคโปร์ เพื่อให้สิทธิสิงคโปร์ในการใช้พื้นที่บริเวณ กองบิน 23 อุดรธานี, สนามใช้อาวุธ - ฝูงบินอิสระ 237 ขอนแก่น เป็นเวลายาวนานถึง 15 ปี โดยอ้างส่วนที่กองทัพไทยได้ประโยชน์คือ เครื่องบินรบ เอฟ 16 เอ/บี 7 ลำ การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากสิงคโปร์ และการมาช่วยในการพัฒนาพื้นที่การฝึกให้ทันสมัยมากขึ้น


 


ตรงนี้ สำหรับนานาประเทศก็รู้อยู่ว่า สิงคโปร์คือลูกที่ดีของสหรัฐแค่ไหน กองทัพไทยจะแกล้งไม่รู้ไปได้อย่างไร ????


 


"อารีฟิน" มนุษย์ปริศนา


เมื่อพิจารณาทิศทางในนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลไทยที่อาจผูกผลประโยชน์ของใครบางคนแล้วก็ไม่น่าแปลกใจในการร่วมมือกับสหรัฐในคดีเจไออย่างเต็มที่โดยร่วมตั้งข้อสันนิษฐานให้เห็นว่า มีพฤติกรรมหรือการกระทำของกระบวนการโจรก่อการร้ายเจไอในประเทศไทย มีการจับกุมสมาชิกหรือผู้ต้องหาของกลุ่มเจไอ และตามมาด้วยการออกกฎหมายก่อการร้ายรองรับ


 


ผู้ประสานงานคดีเจไอในภูมิภาคให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางไปพบจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช แห่งสหรัฐ ก็มีการจับกุมนายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ กับพวกรวมสามคน ที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้สามารถพูดได้เต็มปากว่า คดีเจไอในประเทศไทยมีแล้วจริงๆ


 


"คดีเจไอในประเทศไทยเกิดจากการซัดทอดของนายอารีฟิน บินอาลี หรือมิสเตอร์หว่องชาวสิงคโปร์ ที่เดินทางเข้าประเทศไทยแล้วก็ฝังตัวถึงกับยอมเข้ามุสลิมในจังหวัดนราธิวาสที่ ปอเนาะโต๊ะนอ


 


"ที่สำคัญคือรัฐบาลขอตัวนายอารีฟิน บินอาลี มาเบิกความในไทย แต่สุดท้ายก็มาไม่ได้ เลยต้องตัดพยานปากนี้ไป การดำเนินคดีนอกจากการซัดทอดจากนายอารีฟินแล้วก็ไม่มีพยานอื่นอีกเลย ส่วนหลักฐานเป็นเพียงแผนที่กรุงเทพมหานคร โดยบริเวณที่ตั้งของสถานทูตตะวันตกมีการทำเครื่องหมายจุดกลมๆ 5 แห่ง ได้แก่สถานทูตคือ อเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน


 


"แต่หากสังเกตโดยละเอียด ในแผนที่ยังมีจุดอยู่อีกหนึ่งจุดก็คือ จุด128 เป็นรถสาย 128 มีนบุรี -อนุสาวรีย์ชัย ซึ่งไม่ผ่านสถานทูตใดเลย จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้ความสงสัยในรูปคดี และพยานแวดล้อมอื่นๆ คลายลง


 


"เงื่อนงำที่สำคัญที่สุดในคดีนี้ คือจำเลยที่ชื่อ อาลีฟิน บินอาลี ชาวสิงคโปร์นั่นเอง และอาจสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นสายลับของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งที่ส่งมาประกบนายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ เพื่อสร้างหลักฐานคดีเจไอในประเทศไทยให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น


 


"เพราะระหว่างการพิจารณาคดีมีการตรวจสอบไปที่คุมขังกลับไม่พบตัวนายอารีฟิน ทราบในเชิงลึกว่านายอารีฟินเดินทางไปประเทศอเมริกาพร้อมเงินจำนวนก้อนโต จึงไม่สามารถที่จะนำตัวมาเป็นพยานในศาลไทยได้" ผู้ประสานงานคดีเจไอกล่าวฯ


 


การจับกุมนายอารีฟินที่สิงคโปร์และซัดทอดนี้เองทำให้ภาพของกลุ่มเจไอดูจะมีอิทธิพลขยายไปทั่วทั้งภูมิภาค จนเกิดคดีเจไอมากมาย ภายหลังทนายความผู้ทำคดีเจไอในประเทศต่างๆจึงได้จัดประชุมเพื่อหารือกันที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย มีเพียงทนายความจากประเทศสิงคโปร์ที่ไม่มาร่วม ทั้งๆที่ การจับ "อารีฟิน" ที่สิงคโปร์เป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุดในคดีเจไอของภูมิภาคเลยทีเดียว


 


อย่างไรก็ตามผู้ประสานงานคดีเจไอซึ่งเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วยได้เล่าให้ฟังว่า ได้พบกับทนายความคดีเจไอของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นทนายของอาบู บาการ์ บาชีร์ ผู้นำของขบวนการเจไอ


 


จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า บาชีร์ คนนี้ได้ก่อตั้งกลุ่มเจไอเมื่อต้นทศวรรษ 1990 เคยหลบหนีไปยังมาเลเซีย และเคยใช้เวลา 4 ปีในคุกอินโดนีเซียฐานเคลื่อนไหวต่อต้านอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต


 


ส่วนที่เกี่ยวข้องการก่อการร้ายในอินโดนีเซียนั้นมีเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น สุดท้ายจึงยกฟ้องข้อหาก่อการร้ายของบาชีร์ แต่ยังมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารการเข้าเมือง ส่วนในประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศมาเลเซีย ก็ยกฟ้องไปแล้วเช่นกัน


 


อย่างไรก็ตามผลสรุปที่ประชุมทนายความคดีเจไอที่เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซียมีความกังวลคดีเจไอในประเทศกัมพูชา ที่แม้จะมีพยานหลักฐานไม่มาก คือบ่งชี้ได้เพียงว่าเป็นเพียงการรู้จักกันกับ ฮัมบาลี เท่านั้น ศาลกลับลงโทษข้อหาพยายามฆ่าและตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ทำให้เป็นข้อสงสัยกับทนายความทุกประเทศ


 


"คดีเจไอในกัมพูชาเป็นการพยายามแสดงให้เห็นว่ากระบวนการเจไอมีจริง และกำลังวางแผนในรูปแบบประชุมเพื่อวางระเบิดสถานทูตตามประเทศต่างๆ ในกรณีที่มีการประชุมใหญ่ขององค์การโลกที่จะมาประชุมในประเทศนั้นๆ" ผู้ประสานงานคดีเจไอในภูมิภาคฯกล่าวย้ำอีกหน


 


นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า พฤติกรรมของกระบวนการเจไอที่ถูกกล่าวหาว่าก่อการร้ายในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศจะมีลักษณะคล้ายๆ กันคือ การที่นักการศาสนา เช่น โต๊ะครู อุสตาซ มีการประชุมของมุสลิมเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถูกทำให้มองว่าเป็นการรวมตัวเพื่อก่อการร้าย และบางคนอาจมีความสัมพันธ์กับนายฮัมบาลีบ้าง เช่นมีการพูดคุยหรือโทรศัพท์กัน แต่ตรงนั้นไม่มีน้ำหนักพอในการพิจารณาคดี เพราะเป็นที่รู้กันว่านายฮัมบาลีได้เปลี่ยนชื่ออยู่เสมอ การรู้จักกันในหมู่มุสลิมสามารถเป็นไปได้ง่าย นอกจากนี้ทุกคดีจะไม่พบอุปกรณ์ที่ใช้ก่อการหรือระเบิด ยกเว้นการระเบิดที่เกาะบาหลี


 


คดีเจไอในประเทศกัมพูชาเป้นเพียงประเทศเดียวที่ยังตัดสินไม่ถึงที่สุด และปล่อยให้จำเลยค้างอยู่ในชั้นอุทธรณ์มาแล้ว 3 ปี และจากการเดินทางไปพนมเปญเพื่อเก็บข้อมูลในคดีพบว่า คดีดังกล่าวแก้ไขด้วยพยานหลักฐานไม่ได้ ต้องแก้ไขด้วยหลักสิทธิมนุษยชน คือหากว่าตามหลักการกระบวนการยุติธรรมของไทยแล้วก็ถือว่ายังไม่พบการกระทำผิด คดีนี้จึงไม่หนักใจสำหรับนักกฎหมาย แต่หนักใจเพราะมีคำถามว่า ทำไมกระบวนการจึงไม่ให้ความยุติธรรมตามหลักฐาน


 


ในมุมมองของสื่อตะวันตก


ข้อมูลนิตยสาร "ไทม์"ที่นำเสนอต่อไปนี้ เป็นข้อสังเกตสถานการณ์ภาคใต้ของประเทศไทยที่รัฐบาลพยายามเอาไปโยงกับกลุ่มเจไอ


 


แอนดรูว์ เพอร์ริน ผู้สื่อข่าว "ไทม์" อ้างอิงจากคำพูดของ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เชื่อว่าการกระทำที่ผ่านมาในภาคใต้ของไทยเป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันนัก ชื่อ เกราคัน มูจาฮิดีน อิสลาม ปัตตานี เรียกย่อๆ ว่า "จีเอ็มไอพี" กลุ่มนี้มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่ม คัมปูลัน มูจาฮิดีน มาเลเซีย (เคเอ็มเอ็ม) ที่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกับขบวนการก่อการร้ายเจมมาห์ อิสลามมิยาห์ (เจไอ) และขบวนการระดับโลกอย่าง อัลกออิดะห์


      


แต่ เพอร์ริน กลับวิเคราะห์ในทางตรงข้ามว่า มีร่องรอยน้อยมากที่จะแสดงให้เห็นว่า "จีเอ็มไอพี" มีส่วนร่วมอยู่กับแนวทางของการทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ของเจไอและอัลกออิดะห์ และยังไม่ชัดเจนเช่นกันว่า กลุ่มนี้ได้รับการฝึกฝนการก่อการร้ายทั้งสองกลุ่มนี้ในพื้นที่ทางตอนเหนือของมาเลเซียจริงๆ ตามที่อ้าง


      


โดย เพอร์รินย้ำชัดๆ ว่า ถ้าเจไอ หรือ อัลกออิดะห์ มีส่วนในภาคใต้ เหตุการณ์จะรุนแรงกว่านี้มากมายนัก รูปแบบก็จะเป็นเช่น ระเบิดรถยนต์ ระเบิดซีโฟร์ผสมแอมโนเนียไนเตรต หรือการโจมตีไม่เลือกเป้าหมายแม้จะเป็นพลเรือนก็ตาม ถ้าจะเผาโรงเรียน ก็จะเผาในตอนที่มีนักเรียนอยู่ข้างใน


      


"ไทม์" ยังได้ตอกย้ำแนวความคิดนี้ว่า "ฮัมบาลี" ที่เป็นเจไอตัวเอ้เองเปิดเผยไว้ในระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาว่า เจไอ พยายามอย่างไรก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากกองกำลังมุสลิมทางใต้ของไทย ถึงกับปฏิเสธที่จะช่วย "ฮัมบาลี" วางระเบิด เป้าหมายท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศ


 


"พวกนี้ไม่เห็นด้วยกับเป้าหมายที่เราเลือก"


 


ส่วนในรายงาน "จากเทือกเขาบูโด" ของเอพี ดาวโจนส์ สำนักข่าวเชื้อสายอเมริกันชิ้นหนึ่งก็กล่าวถึงข้อมูลที่ พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวถึง


 


โดยดาวโจนส์ระบุว่า ตอนนี้รัฐบาลไทยออกหมายจับบรรดาผู้ที่เชื่อว่าเป็น "ผู้บงการ" ไฟใต้จำนวน 51 รายด้วยกัน ในจำนวนนี้มีอยู่ 8 รายที่ถูกจับกุมตัวได้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นประดาครูสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งล้วนแต่ปฏิเสธข้อกล่าวหา อ้างว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งหมด


 


คนที่อยู่หัวแถวในรายชื่อดังกล่าวนี้ก็คือ "สะแปอิง บาซอ" เจ้าของ โรงเรียนธรรมวิทยา ในจังหวัดยะลา อีกรายคือ "เจ๊ะกูแม กูเต๊ะ" ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าใหญ่ของ"จีเอ็มไอพี"


 


แต่ดาวโจนส์กล่าวปิดท้ายในบทความโดยอ้างอิงถึง เด่น โต๊ะมีนา ผู้นำมุสลิมคนสำคัญที่ออกมาระบุว่า "ซีไอเอ" เป็นกลุ่มอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงทั้งหมด โดยเป้าหมายเพื่อสร้างความปั่นป่วนขึ้นมาไว้เป็นข้ออ้างสำหรับการส่งทหารเข้ามาทำลายมุสลิมทางภาคใต้ของไทย


 


แม้ว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเพียงการสันนิษฐานไปต่างนานาภายใต้สภาวการณ์ที่สับสน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งทำให้สถานการณ์สุกงอมบานปลายเต็มตัวจนเริ่มเกินการควบคุมของรัฐบาลไทย สหรัฐก็เคยเสนอตัวเข้ามาโดยอ้างการแทรกแซงของกลุ่มเจไอ และ อัลกออิดะห์ในพื้นที่ภาคใต้ ด้วย


 


เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2547 นายแลร์รี่ ดี แซลมอล ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตด้านความมั่นคง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมคณะได้เข้าพบ พล.ต.ต.กมล โพธิยพ ผบก.ภ.จว.นราธิวาส เพื่อขอทราบสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ดังนั้นจึงขอปิดบทสรุปของรายงานตอนสุดท้ายแบบห้วนๆ ด้วยคำุพูดของ นายแลร์รี่ แซลมอล ที่กล่าวกับประเทศไทยไว้ดังนี้ว่า


 


"รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีความเป็นห่วงสถานการณ์ในชายแดนภาคใต้ของไทย เพราะเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีกลุ่มก่อการร้ายสากลให้การสนับสนุน และมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มก่อการร้ายสากล ทั้งขบวนการเจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ) และอัลกออิดะห์ เข้ามาใช้พื้นที่ 3 จังหวัดเป็นฐานก่อการร้าย หากทางการไทยเห็นว่าสถานการณ์รุนแรงจนยากจะควบคุมสถานการณ์ ทางสหรัฐอเมริกาก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ"


 


ช่างเป็นน้ำใจที่เกินรับจริงๆ พ่อเจ้าประคุณทูลหัว......อเมริกา...อเมริโกย..ลิเก......


000


รายงานจากพนมเปญ (1) : ตามครอบครัวคดีเจไอไทยไปห้องขัง "กัมพูชา"


รายงานพิเศษ คดีเจไอไทยในเขมร (2) : บางสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมไม่กล่าวถึง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net