Skip to main content
sharethis

31 พ.ค. 2549 - วานนี้ (30 พ.ค.) คณะทำงานร่างกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตรที่มีนายบรรยง ลิ้มประยูรวงศ์ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประธานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในสาระของร่างแก้ไขฯ โดยประเด็นที่มีการถกกันมากประเด็นหนึ่งคือในร่างแก้ไขฯ ใหม่นั้นได้ยกเลิกระบบการคัดค้านก่อนที่จะมีการออกสิทธิบัตร (Pre-Grant Opposition) แล้วเปลี่ยนเป็นระบบ Trial คือ การคัดค้าน หรือเพิกถอนหลังจากผู้ขอสิทธิบัตรได้สิทธิบัตรแล้วเท่านั้น โดยคณะทำงานได้ชี้แจงในเอกสารประกอบการประชุมว่าเพื่อให้สอดคล้องกับหลายประเทศ สำหรับผู้ที่สนับสนุนระบบ Trial เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความล่าช้าของการออกสิทธิบัตรได้


 


อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แย้งว่า ในส่วนของสิทธิบัตรยาระบบการคัดค้านก่อนที่จะมีการออกสิทธิบัตร (Pre-Grant Opposition) เป็นขั้นตอนที่ดีการที่จะให้คัดค้านหลังการออกสิทธิบัตรไปแล้วจะเป็นการเพิ่มภาระและอาจเกิดการได้สิทธิบัตรในสิ่งที่ไม่สมควรได้ เช่น ไม่มีความใหม่


 


"ในการขอสิทธิบัตรนั้น สิทธิบัตรจะได้ตั้งแต่วันที่ยื่นขอ ดังนั้น แม้กระบวนการจะล่าช้าเพื่อความรอบคอบ


ผู้ขอรับสิทธิบัตรก็จะไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด หากคำขอสิทธิบัตรนั้นมีคุณภาพจริง ขณะที่ความรวดเร็วอาจจะกระทบถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะในสิทธิบัตรยา"


 


ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะเภสัช จุฬาฯ ยังกล่าวอีกว่าทางคณะทำงานฯควรเปิดรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างกว่านี้และมีการศึกษาถึงผลดีผลเสียของทั้งสองระบบอย่างจริงจังก่อนที่จะแก้ไข


 


ทางด้านนายเฉลิมชัย เจ้าหน้าที่รณรงค์เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่าทางเครือข่ายฯ ไม่ทราบเรื่องที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพรบ.สิทธิบัตรดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ในส่วนของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ได้ใช้ประโยชน์จากกระบวนการคัดค้านก่อนที่จะมีการออกสิทธิบัตรแก่ยาต้านไวรัสคอมบิด (combivir) ที่นักวิชาการชี้ว่าไม่มีความใหม่ ไม่สามารถขอสิทธิบัตรได้


 


"หากไม่สามารถคัดค้านได้ก่อนที่ยาเหล่านี้จะได้สิทธิบัตร ทั้งที่ไม่สมควรได้ ก็ไม่รู้ว่าเราจะต่อสู้ได้สักแค่ไหน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2542 ที่ยาต้านไวรัสดีดีไอได้สิทธิบัตรทั้งที่ไม่สมควรได้ การขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรโดยผ่านกระบวนการศาลใช้เวลาถึง 5 ปี เพื่อนผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวเสียชีวิตจำนวนมากแม้แต่ผู้ร่วมฟ้องบริษัทบริสตอล ไมเยอร์ สควิปป์ (BMS) ใน 2 คดี จำนวน 10 กว่าคน ป่วยหนักและเสียชีวิตเกือบหมด เหลือเพียงแค่ 3 คนเท่านั้นเมื่อคดีสิ้นสุดลง"


 


ทั้งนี้การขอให้ไทยยกเลิกระบบการคัดค้านก่อนที่จะมีการออกสิทธิบัตร (Pre-Grant Opposition) เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ยื่นต่อไทยเมื่อการเจรจาเอฟทีเอ รอบ 6 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา


 


อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ คณะทำงานร่างกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตรยืนยันที่จะไม่ให้มีการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือสารสกัดจากพืชและสกัด ให้คงการจดได้เพียงกระบวนการ (process) และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการ (Product by process) เท่านั้น


ส่วนในกรณีที่ไทยไปเป็นภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น คณะทำงานฯได้ข้อสรุปว่าแม้จะมีการจดสิทธิบัตรนอกราชอาณาจักรและเลือกให้คุ้มครองในประเทศไทยนั้นผู้ขอสิทธิบัตรก็ต้องมายื่นขอสิทธิบัตรในไทยด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net