รายงาน "พลเมืองเหนือ" : โมเดลแก้จนของคนบ้านแลง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

โดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"

 

 

แว่ว ๆ ว่าเริ่มกันแล้วกับการแก้ไขปัญหา "ความยากจน" ด้วย "อาจสามารถโมเดล" ซึ่งก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่า "ผลลัพธ์" จะออกมาเช่นไร

 

แต่ที่ชุมชน "บ้านแลง" .เมือง จ.ลำปาง...ชาวบ้านที่นั่นก็พยายามหา "โมเดล" ของเขาเอง เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ "สามารถ" นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง...โดยมิต้องพึ่งพารูปแบบจากพื้นที่อื่น เพราะชาวบ้านเชื่อว่า ต่างถิ่นต่างที่ ย่อมต่างปัญหา ฉะนั้นกระบวนการแก้ไข ย่อมต้องแตกต่างกัน

 

บ้านแลง เป็นชุมชนเล็ก ๆ และเคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านทำมาหากินกันตามอัตภาพ หาเห็ด หาหน่อไม้ ทำไร่ ทำนา ทำสวน ก็พออยู่พอกิน

 

แต่ในปัจจุบันการทำมาหากิน ฝืดเคือง ป่าไม้ถูกทำลาย หาของป่าก็ยาก การทำไร่ทำนาทำสวน ก็ได้ผลผลิตไม่ดี ไม่พอกิน ขาดแหล่งกักเก็บน้ำในการทำการเกษตร ลูกหลานต้องออกจากหมู่บ้านไปหางานทำในตัวเมือง และต่างจังหวัด ไร่นา ที่มีอยู่ก็ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ขณะที่ป่าที่มีอยู่ก็ถูกนำป้ายมาปักว่าเป็น "เขตป่าสงวน"

 

"จุดเริ่มต้นความยากจนของคนบ้านแลงเริ่มขึ้นที่ตรงนี้ เริ่มต้นจากคนไม่มีที่ทำกิน คนขาดที่อยู่อาศัย" พ่อลบ แสงคำ วัย 65 ปี วิเคราะห์จากประสบการณ์ว่าชาวบ้านเริ่มจน และก็จนมากยิ่งขึ้นมาเมื่อถูกริดรอนที่ทำกิน

 

สำหรับพื้นที่ทั้งหมดของตำบลบ้านแลงมีประมาณ 206,178 ไร่ แยกเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติประมาณ 176,687 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 86 พื้นที่สวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ประมาณ 20,522 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 10 พื้นที่เพาะปลูกและการเกษตร ประมาณ 4,000 ไร่ โดยมีเอกสารสิทธิ์ประมาณ 1,500 ไร่ และไม่มีเอกสารสิทธิ์ประมาณ 2,500 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.9 พื้นที่อยู่อาศัยและสาธารณะประโยชน์ 1,800 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1 และพื้นที่อื่น ๆ อีกร้อยละ 7 ของจำนวนพื้นที่ทั้งหมดของตำบล

 

จากตัวเลข ทำให้เห็นได้ว่าพื้นที่ทำกินมีเพียงเล็กน้อย ซึ่งแน่นอนก็คือ ไม่เพียงพอกับความต้องการ ของคนทั้งชุมชน ฉะนั้น เพื่อความอยู่รอด ชาวบ้านจึงหาทางออกด้วยการไปขายแรงงานในเมืองหรือต่างจังหวัด ขณะที่อีกส่วนเมื่อไม่มีอาชีพที่แน่นอนจึงหันไปตัดไม้ในป่า กระทั่งกลายเป็นปัญหาตามมา

 

แต่ชาวบ้านไม่ได้นิ่งเฉยกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น พยายามร้องขอความเป็นธรรมจากภาครัฐเท่าที่พอจะทำได้ แต่ท้ายที่สุด ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข.....

 

กระทั้งมีโอกาสเข้าร่วมฟังแนวคิด งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดลำปาง พร้อม ๆ กับมีโอกาสเสนอโครงการวิจัย ภายใต้โครงการ : การแก้ไขปัญหาความยากจนของคน บ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาแนวทางเพื่อให้คนบ้านแลงลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็ค้นหารูปแบบการสร้างอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจแบบพอเพียง และการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

 

เมื่อเข้าสู่กระบวนการวิจัย ชาวบ้าน "บ้านแลง" เริ่มต้นด้วยการทบทวนประสบการณ์ และทางออกจากวังวนของความทุกข์....

 

ผลของการทำวิจัย .... ชาวบ้านพบว่าจากประสบการณ์การต่อสู้ และไม่ประสบความสำเร็จจากการเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากภาครัฐนั้น เนื่องจากไม่มีการจำแนกแยกแยะประเภทของปัญหา จึงทำการสำรวจ เก็บข้อมูล พร้อมกับแยกประเภทของปัญหา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผน และแก้ไขไปทีละเรื่อง

 

และข้อค้นพบอีกประการคือ ต้องสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการต่อสู้ความยากจนภาคประชาชนด้วยการสร้างเงื่อนไขให้หน่วยงานรัฐรับรู้ว่า พื้นที่แห่งนี้ชาวบ้านต่างหาอยู่ หากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชุมชนเป็นเจ้าของทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และจะต้องรวมพลังกันให้เป็นปึกแผ่น เพื่อหาแนวทางแก้ไขด้วยวิธีการแบบชาวบ้าน และการพึ่งพาตนเองสู่เศรษฐกิจพอเพียงและชุมชนเข้มแข็งอย่างสันติวิธี

 

อีกประการที่ชุมชนบ้านแลงเห็นว่า เป็นเรื่องจำเป็นคือการจัดทำ "บัญชีครัวเรือน" เพราะข้อมูลในบัญชีครัวเรือนจะทำให้เห็นรายรับ - รายจ่าย ว่าในแต่ละวัน หรือ ในแต่ละเดือน แต่ละครอบครัวจับจ่ายใช้สอยเรื่องอะไรบ้างเพื่อนำมาวางแผนการใช้จ่ายในอนาคต...

 

จึงประสานงานไปยังสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเพื่อเข้ามาจัดอบรมทำบัญชีครัวเรือน และแนวทางการสร้างอาชีพเสริม โดยมองทรัพยากรของแต่ละพื้นที่ว่าสามารถผลิตอะไรได้บ้างและจะมีการจัดระบบตลาดอย่างไร ซึ่งข้อสรุปคือต้องผลิตสินค้าที่สามารถลดการซื้อจากภายนอก เช่น การทำปลาร้า การผลิตปุ๋ยชีวภาพ และเชิญชวนตัวแทนกลุ่มอาชีพและนักวิจัยช่วยสนับสนุนส่งเสริมการขายในระดับตำบลบ้านแลง

 

ส่วนปัญหาอื่น ๆ สำหรับผู้ไม่มีที่ดินทำกิน ได้เสนอให้มีการผลักดันเพื่อขอเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ สปก. เพราะเนื่องคนบ้านแลงบางกลุ่มยังไม่มีที่ดินทำกิน และไม่มีเอกสารที่บ่งบอกถึงสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้น ๆ จึงต้องประสานงานกับสำนักงานที่ดินจังหวัด สำนักงานป่าไม้เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ เพราะเป็นเรื่องของการแก้กฎหมาย และต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป สำหรับกลุ่มชาวบ้านที่ยังไม่มีที่ดินทำกินคือ หมู่ที่ 6,5,3,10,8,4 ยกเว้น หมู่ที่ 9 และหมู่ 12

 

จากความเข้าใจถึงวิธีการต่อสู้ทำให้ได้แนวทางที่ทำให้ชุมชนมองเห็นทางรอด วิธีการทบทวนสถานการณ์ของปัญหาและแก้ไขไปทีละจุด ตลอดจนมองปัญหาเป็นภาพรวมและค่อย ๆ คลายที่ละปม....บางปัญหาเริ่มแก้ไขจากตนเอง บางปัญหาช่วยกันแก้ไข ขณะที่บางปัญหาต้องรอจังหวะและโอกาส

 

เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญา ผสมผสานกับการเรียนรู้เพื่อหาทางออกทั้งสิ้น ซึ่งหากชาวบ้านไม่เกิดการทบทวนปัญหาโดยใช้ปัญญา ชุมชนบ้านแลงอาจตกอยู่ในสภาพของผู้ที่ "โง่ จน เจ็บ" อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท