"ยุบ" หนอ ก็ "พอง" หนอ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 735 วันที่ 30 มิถุนายน 2549

คอลัมน์ : ธ ธง เปลี่ยนสี ..........................................................................ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

 

 

"ยุบ" หนอ ก็ "พอง" หนอ

 

ย้ำกันอีกครั้งว่า การปกครองประชาธิปไตยทั่วโลกเป็นการปกครองผ่านระบบตัวแทน และแม้ว่าอำนาจอธิปไตยจะเป็นของประชาชน แต่โดยรูปธรรมแล้วช่องทางที่จะทำให้ประชาชนเสนอนโยบายได้ อย่างไรเสียก็ต้องมาจากการรวมกลุ่มเสนอ และไม่ว่าจะเรียกการรวมกลุ่มนั้นว่าอะไร สถานะของมันก็คือ "พรรคการเมือง" ซึ่งถ้าเราหารูปแบบการปกครองที่ดีกว่านี้ไม่ได้ พรรคการเมืองก็เป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็นและหนีไม่พ้น

ปัญหาคือทำอย่างไรที่จะทำให้พรรคการเมืองเป็นสิ่งที่เลวร้ายน้อยที่สุด จึงเป็นการแก้ที่ตรงจุด ไม่ใช่การยุบพรรค การลดอำนาจพรรคการเมืองที่สะเทือนถึงบทบาทในการกำหนดนโยบาย จึงเท่ากับลิดรอนเสรีภาพของประชาชน และเท่ากับเพิ่มอำนาจในการกำหนดนโยบายให้กับข้าราชการ และ "อำนาจทางวัฒนธรรม" นั่นเอง

จึงเป็นเรื่องน่าตื่นตะลึงมาก ที่ในที่สุดคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีนายชัยเกษม นิติศิริ รองอัยการสูงสุด เป็นประธาน มีมติเป็นเอกฉันท์เสนอต่ออัยการสูงสุดให้ยุบพรรคการเมือง 5 พรรค คือ ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย ตามการชี้มูลความผิดของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งก็คือประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โดยขั้นตอน หากอัยการสูงสุดเห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการฯ อัยการสูงสุดก็จะส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพิจารณายุบพรรค ซึ่งเป็นไปได้ทั้งยุบทั้ง 5 พรรค และก็เป็นไปได้ที่จะยุบเพียงบางพรรคอย่าง พรรคประชาธิปัตย์

ว่ากันที่เรื่องการเมืองเสียก่อน ใครที่ได้ติดตามผลงานศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนติดตามว่า ฝีเท้าของนักเตะบอลโลก หรือติดตามแนวทางการตัดสินของกรรมการตัดสิน เชื่อเถิดว่า บัดนี้เขาต้องให้อัตราเป็นต่อกับพรรคไทยรักไทย และรองไว้กับพรรคประชาธิปัตย์

มาถึงตรงนี้ น่าสนใจว่า คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ จะรู้สึกอย่างไร และจะรับผิดชอบอย่างไรที่เปิดเกมยุบพรรคเข้าใส่พรรคไทยรักไทย

เมื่อพิจารณาความผิดในมูลฟ้องของ กกต. ที่ผ่าน คณะกรรมการฯของอัยการสูงสุด ซึ่งจะชงเรื่องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งน่าสนใจ

3 พรรคเล็กถูกกล่าวหาว่า ถูกจ้างให้ลงเลือกตั้ง และพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้จ้างวานเพื่อใส่ร้ายพรรคไทยรักไทย ผิดเพราะกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.พรรคการเมือง ม.66 (2) และ (3) ส่วนพรรคไทยรักไทย นั้นโดนฐานทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 66 (1) และ (3)

ซึ่ง มาตรา 66 ระบุว่า เมื่อพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ (3) กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

การจะวิเคราะห์ "เกม" ให้สนุก ยังจะต้องอ่านต่อไปที่คำชี้มูลของนายทะเบียนพรรคการเมือง หรือ กกต. ที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรายงานข่าวยืนยันว่า น่าจะมีความผิดตามที่สมาชิกพรรคไทยรักไทยยื่นฟ้อง กกต. 6 ข้อ คือ

1.ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อล้มล้างรัฐบาล (ที่มาจากการเลือกตั้ง) 2.ชี้นำผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้โนโหวตในการเลือกตั้ง 2 เมษายน 3.ไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้ง 4.เสนอใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน 5.จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กใส่ร้ายพรรคไทยรักไทย  6.ยุยงชาวสงขลาให้ขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่

ขณะที่ความผิดของพรรคไทยรักไทยนั้นอยู่ที่ จ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อให้เขตนั้นๆ มีผู้สมัครลงแข่งขัน โดยหวังให้ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งนั้น (จากพรรคอะไรก็ได้) พ้นเกณฑ์บังคับตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

ไม่มีใครเดาใจศาลรัฐธรรมนูญหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ซึ่งได้ผนึกความร่วมมือกับอีก 2 ศาลแล้วได้ แต่วิเคราะห์กันอย่างหยาบๆ หากตีความตามตัวบท ทั้ง 5 พรรค เข้าข่ายความผิดที่สามารถจะถูกยุบได้ทั้งสิ้น แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่นักอักษรศาสตร์ องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ประกอบขึ้นจากนักรัฐศาสตร์พอๆ กับนักนิติศาสตร์ การวินิจฉัยจึงจะต้องล่วงเข้าไปถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย

ถ้าเช่นนั้น ปัญหาเรื่องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งยุบพรรคมาจากเจตนารมณ์ชนิดใด ความผิดของพรรคไทยรักไทยที่เกิดจากกรรมการบริหารพรรคไม่กี่คนจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น หากเป็นความผิดถึงขั้นต้องยุบพรรค การยุบพรรคของ "มหาชน" ด้วยเหตุนี้จะขัดกับหลักการใหญ่เรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองหรือไม่

ว่ากันตามเนื้อผ้า พรรคไทยรักไทยอาจจะถูกชี้ว่าผิด แต่ถึงขึ้นยุบพรรคด้วยข้อหานี้หรือไม่ มีความน่าจะเป็นว่า อาจจะไม่ถึงขั้นถูกยุบพรรค โชคดีของพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหานี้เช่นกัน แต่โชคร้ายที่พรรคประชาธิปัตย์มีข้อหาอื่น ขณะที่พรรคไทยรักไทยไม่มี

ตรรกะอันเล่นกลมีอยู่ว่า เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ยอมรับพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญจากมาตรา 7 พระมหากษัตริย์ก็ทรงใช้อำนาจนั้นวินิจฉัยแสดงผ่านพระราชดำรัสเกี่ยวกับมาตรา 7 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549อย่างชัดเจนแล้วว่า "ไม่เป็นประชาธิปไตย"

ถ้าเช่นนั้น ถามอีกครั้งว่า ปัญหาเรื่องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งยุบพรรคมาจากเจตนารมณ์ชนิดใด กล่าวอย่างที่สุดก็คือ เพื่อปกป้องไม่ให้พรรคการเมืองใช้เสรีภาพทางการเมืองของมหาชน ไปล้มล้างลิดรอนเสรีภาพทางการเมืองของคนอื่นๆ ซึ่งแปลความได้สารพัด ตั้งแต่ การฉีกรัฐธรรมนูญ การกระทำการนอกเหนือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ

มาถึงตรงนี้มาตรา 7 สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง และมีอัตราเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการยุบพรรคมากกว่า

            ปรัชญาของการเกิดศาลรัฐธรรมนูญนั้น ว่ากันอย่างสั้นๆ ก็คือ เอาไว้ใช้เป็นเครื่องมือไม่ให้ใครก็ตามใช้เสียงข้างมากไปแก้ไขล้มล้างหลักการประชาธิปไตย สหพันธรัฐเยอรมนีมีศาลรัฐธรรมนูญ เพราะบทเรียนจากการที่พรรคนาซีใช้เสียงข้างมากไปงดใช้รัฐธรรมนูญ

            อย่างไรก็ตาม หากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญกับการยุบพรรค เพื่อความชัดเจนจำเป็นต้องลากเอาฐานคิดของเยอรมนี ซึ่งเป็นฐานคิดที่รัฐธรรมนูญของเราเอามาเป็นแบบอย่าง ซึ่งแม้ว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเยอรมนีจะมีข้อหนึ่งว่า "พรรคการเมืองที่มุ่งหมายที่จะขัดขวางหรือทำลายระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย หรือเป็นภัยต่อการดำรงคงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ต้องถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" ก็ตาม

            ทว่าศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐเยรมนี ได้เคยวินิจฉัยตัดสินเป็นบรรทัดฐานเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองไว้เหมือนกันว่า "แม้ว่าพรรคการเมืองใดจะมีความเชื่อในทฤษฎีของมาร์กและเลนิน ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ปฏิเสธการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญนี้ ก็ยังมิได้หมายความว่าพรรคการเมืองนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ การที่จะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญต่อเมื่อพรรคการเมืองนั้นลงมือใช้กำลังเข้าต่อสู้ หรือมีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองที่มีอยู่" (ที่มา : อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมือง : กรณีศึกษาประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศไทย โดย ดร. ปัญญา อุดชาชน และรศ. ม.ร.ว. วุฒิเลิศ เทวกุล)

            มาถึงตรงนี้ เราจะได้เห็นคำวินิจฉัยเท่ห์ๆ ของศาลรัฐธรรมนูญไทยเช่นนี้หรือไม่ ไม่อาจรู้ แต่หากเราจะลองพิจารณาดูต้นแบบ เราก็จะเห็นว่า การยุบพรรคนั้นไม่ใช่เรื่องที่สามารถจะทำได้ง่ายๆ หรือควรจะทำได้ง่ายๆ แม้ความผิดของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอมาตรา 7 จะถึงขึ้นที่ตีความไปได้ว่า "ปฏิเสธการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ"(ที่กำหนดว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น) นับประสาอะไรกับที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเลยสักครั้งที่จะแสดงให้เห็นว่า ไม่เอาด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

            แม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้ใช้มาตรา 7 ก็ตาม กระนั้นผู้เขียนก็เห็นว่า การเสนอให้ใช้มาตรา 7 เป็นเสรีภาพทางการเมืองที่กระทำได้ และไม่ควรเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้เขียนก็ไม่เชื่อหรอกว่า ในที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำตัดสินให้ยุบพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือไม่ยุบพรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะทางไหนก็ล้วนไม่อาจคลี่คลายปัญหาทางการเมืองเวลานี้ได้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองที่ถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทครอบงำองค์กรอิสระทั้งหลายก็น่าจะรู้ดี มีแต่ยุบทั้งหมดหรือไม่ยุบทั้งหมดเท่านั้น

และถ้าจะให้เลือก มีแต่ประการหลัง คือไม่ยุบทั้งหมด เป็นคำตอบสุดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท