คนตกงานกับความคาดหวังต่อประกันสังคม

โดย วาสนา ลำดี

มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน

 

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ร่วมกับศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ (ACSIL) จัดสัมมนาเรื่อง "เหลียวหลังแลหน้า อนาคตโครงการประกันการว่างงาน" ณ ห้องสีดา 1 โรงแรมรัตนโกสินทร์ โดยได้มีการนำเสนอสรุปงานวิจัย เรื่อง "ประกันสังคมกรณีว่างงาน... การเคลื่อนไหว และข้อเสนอของฝ่ายแรงงาน" และในช่วงบ่ายได้มีการอภิปรายเรื่อง "คนตกงานกับความคาดหวังต่อประกันสังคม"

 

นางสาวอุบล ร่มโพธ์ทอง ผู้แทนกลุ่มคนตกงานชุมชนไทยเกรียงกล่าวว่า นั้น ปัญหาหลักของกลุ่มคนตกงานจากภาคอุตสาหกรรม คือ รายได้ สุขภาพ และความไม่มั่นคงในการมีงานทำ  

 

เนื่องจากรายได้ที่ขาดหายทำให้เกิดผลกระทบต่อครอบครัวการดำเนินชีวิตประจำวันและอนาคต ปัญหาสุขภาพของคนงานเมื่อตกงานจึงเป็นปัญหาใหญ่ แต่หากสามารถส่งเงินต่อประกันสังคมตามมาตรา 39 เพื่อประกันตนเองได้ก็อาจสามารถรักษาสุขภาพได้ตามสิทธิประกันสังคม

 

ปัญหาใหญ่อีกประการคือ ความไม่มั่นคงในการมีงานทำเนื่องจากหางานใหม่ทำได้ยากเพราะอายุมาก ไม่มีการศึกษาและไม่มีฝีมือ เมื่อหางานใหม่ทำได้ควรมีรายได้ที่เพียงพอในการดำรงชีพทั้งครอบครัว เช่นเป็นโรงงานที่มีสวัสดิการ และกฎหมายคุ้มครอง

 

คนตกงาน หากอยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปี บางคนยังสามารถหางานในระบบอุตสาหกรรมทำได้ เนื่องจากมีการศึกษา เช่น จบชั้นประถมปีที่ 6 หรือมัธยมศึกษา ส่วนคนตกงานตั้งแต่อายุ 35 - 45 ปี จะมีปัญหาในการหางานทำใหม่ มีปัญหาครอบครัว ลูกต้องหยุดเรียนช่วงระยะเวลาที่พ่อ แม่หางานทำ และหากผู้หญิงตกงาน ถ้าผู้ชายดีก็อยู่ได้ไม่มีปัญหามากนัก แต่เท่าที่พบจากกรณีคนงานไทยเกรียงที่ตกงานพบว่า 47 ครอบครัว ผู้ชายจะหางานได้ง่ายกว่าผู้หญิง ปัญหาคือ ผู้ชายมีแฟนใหม่ และทิ้งให้ผู้หญิงเลี้ยงลูกเพียงคนเดียว  

 

สิ่งที่เป็นปัญหาของคนงานคือ หากไม่มีองค์กรที่จะช่วยก็จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐยากมาก ในการฝึกงานกลุ่มคนงานไทยเกรียง เช่นกรณีฝึกนวดแผนโบราณ เมื่อฝึกแล้วคนงานหาโอกาสที่จะทำงานค่อนข้างยาก และมักมีปัญหาครอบครัว ปัญหาของผู้หญิงที่ผ่านการฝึกนวดคือ สามีหึงหวงทำให้ผู้หญิงไม่สามารถไปทำงานได้

 

ปัญหาสุขภาพคนงานหลังตกงาน คนงานได้ใช้ประกันตนตามมาตรา 39 กฎหมายประกันสังคม กลุ่มฯ ได้เรียกร้องให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จ่ายสมทบเพียงส่วนเดียวจนถึงปี 2549 ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ คนงานที่เคยเป็นผู้ประกันตนจะไม่สามารถใช้ประกันสุขภาพ 30 บาทได้ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมไม่ได้แจ้งชื่อคนงานออกจากประกันสังคมแม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ประกันตนแล้วหลายปีทำให้เกิดความซ้ำซ้อนเมื่อไปใช้ประกัน 30 บาทรักษาทุกโรค

 

การเจ็บป่วยของคนงานมี 2 กรณี คือเจ็บป่วยนอกงานคนงานสามารถใช้ประกันสังคม เมื่อตกงานปัญหาสุขภาพคนงานที่ทำงานมานานจะเกิดปัญหาเจ็บป่วยเนื่องจากงาน เช่นมีคนงานที่ต้องผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจหลายคน ซึ่งแพทย์ได้ระบุว่าเกิดผลกระทบเนื่องจากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม คือสารเคมีจากงานเข้าไปอุดตันในเส้นเลือด ทางกลุ่มฯ ได้อุทธรณ์ไปทางสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้คนงานได้รับสิทธิประกันสังคม คนงานต้องเสียเงินเองหลายแสนบาท และมีคนงานทยอยเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น เมื่อได้ยื่นเรื่องต่อกองทุนทดแทน กองทุนทดแทนจะดูแลคนงานเพียง 2 ปีหลังออกจากงานที่จะใช้กองทุนทดแทนได้ ปัญหาสุขภาพถือว่าเป็นปัญหาหลักเมื่อคนงานต้องตกงาน

 

ข้อเสนอต่อประกันสังคม คือ

            1. ควรเพิ่มสิทธิประโยชน์ถึงครอบครัวผู้ประกันตน คือบัตรประกันสังคมเพียงใบเดียวสามารถได้รับการรักษาพยาบาลถึงลูก

            2. ควรเพิ่มเงินประกันสังคมกรณีสงเคราะห์บุตรให้เพียงพอต่อค่าเลี้ยงดูบุตร

            3. การพัฒนาฝีมือแรงงานควรสามารถเลือกฝึกอาชีพได้ตามความต้องการ และไม่ควรจำกัดเรื่องวุฒิการศึกษาในการพัฒนาฝีมือ หรือฝึกอาชีพ เพราะปัญหาคนตกงานที่ไม่ต้องการฝึก เนื่องจากไม่สามารถเลือกฝึกตามที่ต้องการได้  การฝึกงานที่กลุ่มคนตกงานไทยเกรียงสามารถอยู่เลี้ยงตัวมีรายได้คือ ทำขนมปัง กับอาชีพนวด

            4. การจัดหางานไม่ควรมีเงื่อนไขเรื่องการผ่านงาน ของคนตกงาน เพราะบางครั้งคนงานถูกไล่ออกจากงานจะไม่มีใบผ่านงาน เพราะนายจ้างไม่ออกใบผ่านงานให้ การตรวจสุขภาพหากแพทย์ชี้ว่าคนตกงานไม่สามารถทำงานได้ก็ไม่ควรบังคับให้หางานทำ ควรให้สิทธิประกันว่างงานแก่คนงาน

            5. สิทธิในกองทุนทดแทนที่กำหนดสิทธิไว้เพียง 2 ปีหลังตกงานนั้น น้อยเกินไปเพราะการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานต้องใช้เวลานานในการตรวจรักษา วิเคราะห์จึงทราบผลว่าป่วยจากการทำงาน          

 

นางสาวอรศรี สานารี อดีตคนงานอิเล็กทรอนิคส์ จังหวัดปทุมธานีกล่าวถึงสภาพปัญหาว่า ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 และได้ต่อสู้กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมฟ้องศาลใช้เวลา 2 ปี ศาลตัดสินให้คนงานแพ้คดี จากนั้นได้เข้าทำงานเป็นคนงานรับเหมาค่าแรง  ซึ่งได้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องให้ยกเลิกระบบเหมาค่าแรงในโรงงาน และได้ถูกนายจ้างย้ายไปทำงานในหลายบริษัท ซึ่งมีความลำบากมาก เนื่องจากเลือกงานไม่ได้

 

กรณีการใช้สิทธิกรณีว่างงานได้ยื่นสิทธิกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดในวันที่ 28 มกราคม 2549 ตามที่ทางสำนักงานประกันสังคมกำหนดให้ยื่นขอรับสิทธิภายใน 30 วัน ซึ่งตนเข้าใจว่าเมื่อยื่นภายใน 30 วันก็จะได้รับสิทธิเต็มสิทธิ แต่เมื่อยื่นขอใช้สิทธิที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด แจ้งว่ามีสิทธิใช้ประกันว่างงานได้ 2 ครั้ง ตอนนี้เหลือสิทธิเพียง 90 วันเท่านั้น เมื่อขึ้นทะเบียนว่างงานก็ต้องรอรายงานตัววันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 และอีก 3 วันจึงได้รับสิทธิกรณีประกันว่างงาน ซึ่งเดือนมกราคม ที่ได้ขึ้นทะเบียนว่างงาน ไม่ได้รับเงินทดแทนกรณีประกันว่างงาน ได้รับสิทธิเพียงเดือนเดียว เพราะตอนนี้ได้ทำงานอาชีพอิสระคือขายลูกชิ้นปิ้ง

 

ความรับผิดชอบในครอบครัวคือ ตนได้แต่งงานแล้วมีบุตร 2 คน และต้องหาเลี้ยงสามีด้วยเนื่องจากหลังจากที่สามีถูกเลิกจ้างมาสามีก็ติดเหล้าเรื้อรัง ซึ่งตอนนี้สามีได้ขับรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างอยู่ แต่รายได้ที่ได้มาก็ซื้อเหล้าดื่มหมด ทำให้ภาระทุกอย่างตกอยู่ที่ตนเพียงคนเดียว

 

หลังจากวันที่ 28 มีนาคม 2549 ที่ต้องไปรายงานตัวต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดเป็นครั้งที่ 2 ตนนำเงินที่ได้มาจากสิทธิประกันว่างงานเดือนแรกนำมาส่งให้ลูกเป็นค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียนให้ลูก ปัญหาไม่มีเงินค่าเดินทางไปรายงานตัวทำให้เสียสิทธิ แม้ว่ายังมีสิทธิในประกันว่างงานอยู่อีก 2 เดือน เพราะหากหยุดขายของก็จะไม่มีรายได้ที่จะส่งให้ลูกไปจ่ายค่าการศึกษาของลูกที่ต่างจังหวัด การที่ตนต้องยอมเสียสิทธิประกันว่างงานเนื่องจากหาเงินเป็นค่าเดินทางไปรายงานตัวไม่ได้

 

ประกันสังคมควรมองคนงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำกับการได้รับสิทธิที่ค้อนข้างน้อยมาก และการหางานตอนนี้ก็คงเป็นคนงานรับเหมาค่าแรง ไม่สามารถเลือกงานได้ บางครั้งต้องโดนย้ายโรงงานไปเรื่อยๆ ไม่สามารถต่อรองได้

 

ข้อเสนอ คือ การได้รับสิทธิกรณีว่างงานคนตกงานจะมีปัญหาเรื่องการไปรายงานตัว และต้องออกหาสมัครงานทุกเดือน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้เงินทดแทนกรณีว่างงานไม่เพียงพอ สิทธิการได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานคนงานควรได้รับทุกคนตามสิทธิ แต่คนงานก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ จึงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการจ่ายเงินทดแทนประกันว่างงานว่า ควรจ่ายทดแทนให้คนงานตามสิทธิทั้งหมดเพียงครั้งเดียว เพราะจะได้หางานทำโดยมีเงินรองรับค่าใช้จ่าย หรือหางานไม่ได้เพราะอายุมากจะได้มีเงินทุนไปลงทุนค้าขาย

 

การขึ้นทะเบียนว่างงานจากเดิมภายใน 30 วัน ให้เพิ่มเป็น 60 วัน เพราะคนงานไม่รู้สิทธิจะได้มีระยะเวลาเพิ่มมากขึ้นหากรู้สิทธิภายหลัง

 

ควรให้ความรู้กับคนงานส่วนใหญ่เนื่องจากไม่รู้สิทธิประกันสังคม เนื่องจากการให้ความรู้เรื่องสิทธิประกันสังคมจะอยู่กันเฉพาะกลุ่มคนงานส่วนน้อยเท่านั้น การให้การศึกษาควรเข้าไปให้ถึงโรงงานโดยให้นายจ้างอำนวยความสะดวกให้หรือจัดให้

 

นางสุปราณี ฤกษ์ลักษณี อดีตคนงานสิ่งทอ จ. นนทบุรี กล่าวถึงสภาพตนเองช่วงถูกเลิกจ้างว่า ถูกเลิกจ้างเมื่อปี 2547 และถือว่าเป็นกลุ่มแรกที่ได้ใช้ประกันสังคมกรณีว่างงานในช่วงที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างและชุมนุมอยู่หน้าโรงงานจำนวน 292 คน ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลในช่วงแรก แต่หลังจากคนงานไปไปชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ได้มีเจ้าหน้าที่เชิญให้คนงานทั้งหมดขึ้นไปกรอกขึ้นทะเบียนใช้สิทธิประกันว่างงาน ปัญหาที่พบคือ มีคนงานหลายคนไม่มีชื่อในระบบประกันสังคม บางส่วนได้รับสิทธิบางคนไม่มีสิทธิ และบางคนล่าช้าถึง 2 เดือนจึงได้สิทธิ ซึ่งเป็นความไม่พร้อมของประกันสังคมหลังจากประกาศให้คนตกงานรับสิทธิประกันว่างงาน  

 

กรณีคนตกงานในกลุ่มตนนั้นส่วนใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป เมื่อขึ้นทะเบียนว่างงานก็ต้องหางานทำ เนื่องจากคนตกงานอายุมากหางานทำไม่ได้ แต่จัดหางานก็แจกใบสมัครงานให้คนตกงานให้ออกหาสมัครงาน และให้บริษัทที่ไปสมัครงานเซนต์รับรองว่าคนตกงานได้ไปสมัครงานมาด้วยเมื่อมารายงานตัวครั้งต่อไปถึงจะได้รับเงินทดแทนการว่างงาน 

 

เงินทดแทนที่คนตกงานได้รับค่อนข้างน้อย ตนได้รับค่าแรงก่อนตกงานจำนวน 180 บาทต่อวัน รับสิทธิทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 คือ 90 บาทต่อวัน ค่าใช้จ่ายของคนตกงานคือค่าเดินทาง ค่าเอกสาร ค่าถ่ายรูป เพื่อสมัครงานต่อวันไม่เพียงพอ ในส่วนของตนนั้นตกงานทั้งสามี ภรรยา และต้องมีบุตรต้องดูแล 3 คน ได้รับเงินทดแทน 2 คน 180 บาทต่อวัน ต้องใช้จ่าย 5 คน และต้องหางานทำคนตกงานจะอยู่ได้อย่างไร  กรณีค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง ตนก็ต้องรอให้ศาลตัดสินซึ่งใช้เวลาถึง 2 ปี จึงอยากให้ประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงานแก่คนตกงานทั้งหมดเพียงครั้งเดียว เพราะคนตกงานที่อายุมาก หากต้องการฝึกอาชีพก็จะได้มีเงินก้อนไปลงทุน

 

ตนได้รับเงินทดแทนไม่ครบ 6 เดือนตามสิทธิ เพราะสมัครงานได้แต่ก็ไม่ได้ทำงานเนื่องจากโรงงานดังกล่าวต้องการเงินประกันก่อนเข้าทำงาน ค่าชุดฟอร์มทำงานชุดละ150 บาท 3 ชุด ค่าตรวจโรค 500-600 บาท ซึ่งคนตกงานไม่มีจะหาเงินที่ไหน ตนได้ตกลงกับฝ่ายบุคคลให้ช่วยจ่ายให้ก่อนแล้วหักเงินเมื่อได้รับเงินค่าจ้างครึ่งเดือนแรก จากค่าจ้าง 2,300 บาทถูกหักเงิน 1,200 บาท เดือนนี้ไม่รู้จะกินอยู่อย่างไรก็คงต้องกู้หนี้ต่อ

 

กรณีของสามีเมื่อใช้สิทธิประกันว่างงานได้ 3 เดือน ทางจัดหางานได้โทรศัพท์มาตามให้ไปสมัครงาน ถูกส่งไปขับรถส่งวัสดุก่อสร้างได้รับค่าแรง 180 บาทต่อวัน ตามกฎหมายคนตกงานจะปฏิเสธงานที่จัดหางานหาให้ไม่ได้ เดิมสามีทำงานเป็นช่างเครื่องจักร แต่ให้ไปทำงานขับรถส่งวัสดุก่อสร้าง และต้องยกของที่เป็นวัสดุก่อสร้างด้วย ทำให้ทำงานไม่ไหว ก็ออกจากงานทำให้ขาดสิทธิประกันว่างงานที่เหลือ

 

สำนักงานจัดหางานจัดหางานทำให้คนงานไม่ได้รับสิทธิเงินทดแทนกรณีว่างงานหรือไม่? คนตกงานบางคนก็ถูกส่งให้ไปทำงานโรงแรม ทำไม่ได้

 

กรณีสงเคราะห์บุตรเมื่อถูกเลิกจ้างก็ถูกตัดไม่ได้รับสิทธิ ทั้งที่คนงานตกงานไม่มีค่าจ้าง ประกันสังคมควรให้สิทธิกรณีสงเคราะห์ต่ออีก 6 เดือนไม่ใช้ตัดสิทธิเพราะคนงานเดือดร้อนอยู่แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท