สัมภาษณ์ : หาญณรงค์ เยาวเลิศ "ถึงเวลาที่ธรรมชาติเริ่มทวงคืน"

 

จากเหตุการณ์น้ำท่วมแถบลุ่มน้ำยม ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในหลาย ๆ พื้นที่อย่างหนัก กระทั่งหลายฝ่ายต่างออกมาเสนอวิธีการแ้ก้ปัญหากันอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง "หาญณรงค์ เยาวเลิศ" ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายวิชาการและนโยบาย มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ "ประชาไท" โดยเน้นย้ำว่า การจัดการน้ำต้องมองให้ครบทุกมิติทุกระบบ

 

มองภาพรวมจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในบ้านเราตอนนี้อย่างไรบ้าง?

จากสถานการณ์ทั่วโลกที่เกิดภัยธรรมชาติในขณะนี้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง ที่เรียกว่า ภาวการณ์เกิดเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั่วโลก กรณีของประเทศไทย ในมุมของวงวิชาการ หรือทางอุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยาได้อธิบายก็คือการเกิดลานีญา หรือการเกิดฝนตกหนัก มีปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก ซึ่งทำให้ผมเชื่อว่า ปัญหานี้จะเกิดขึ้นไปทั่วทุกภาค และเชื่อว่า กรณีฝนตกในเขตภาคเหนือ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อภาคกลาง กรุงเทพฯ และภาคอื่น ๆ หากมีฝนตกเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ

 

ดังนั้น จะต้องมีมาตรการในการป้องกันน้ำท่วม รวมไปถึงพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมหนัก เช่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่น่าไว้วางใจ แม้กระทั่งในเขตแม่ฮ่องสอน หรือตาก ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในแถบ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งปริมาณน้ำฝนตกไม่ถึง 100 มม.และตกเพียง 2-3 ชั่วโมง แต่ก็เกิดดินโคลนถล่มลงได้

 

และนี่คือธรรมชาติเริ่มกลับมาทวงคืน กับการที่มนุษย์ได้เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง และมองว่าจะต้องจัดการธรรมชาติให้ทุกรูปแบบ ซึ่งดูแล้ว ว่าจะเป็นการตั้งรับกันมากกว่า เพราะว่ามนุษย์เราทำลายธรรมชาติมาเป็นร้อย ๆ ปี ป่าไม้ก็ลดลงวูบวาบเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่มวลมนุษย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง พยายามหาทางเอาตัวรอดอยู่ตลอดเวลา โดยพยายามใช้เทคโนโลยีของการตัวเอารอดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งกรณีภัยธรรมชาติครั้งนี้ ถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้นฤดูกาลเท่านั้น ซึ่งเราจะต้องเตรียมตั้งรับอีก 4-5 เดือนข้างหน้า

 

มีหลายฝ่ายออกมาโจมตีรัฐในเรื่องระบบเตือนภัยกันเยอะมาก?

ระบบการเตือนภัยของรัฐยังไม่ดีพอ ซึ่งผมเห็นว่า ชาวบ้านจะต้องมีวิธีการเตือนภัยกันเองด้วย ผมไม่อยากเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ หน่วยงานราชการ เพราะว่าหากเรียกร้อง ก็จะพากันตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้น และงบประมาณนั้นก็ไม่ได้นำมาใช้อย่างจริงจัง

 

กรณีที่รัฐเสนอระบบเตือนภัย ถ้าหากเป็นพื้นที่แคบๆ แบบระบบเตือนภัยสึนามิในภาคใต้นั้นผมเห็นด้วย แต่กรณีในพื้นที่ที่อยู่ในหุบเขา ซึ่งไม่รู้ว่าจะเตือนภัยอย่างไร ดังนั้น ผมเห็นว่า ถ้าอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ขอเสนอให้ทางกรมทรัพยากรธรณี อาจจะร่วมกับจังหวัด อำเภอ จัดประชุมชาวบ้านในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย และชี้แจงข้อเตือนภัย โดยแปลความหมายให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายๆ และมีวิธีที่ชาวบ้านสังเกตได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากมาใช้

 

กรณีการจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม รู้สึกว่าตอนนี้ รัฐมีแนวคิดเปลี่ยนจะเน้นโครงการผันน้ำยม ไปแม่น้ำน่านแทน?

ใช่ เป็นโครงการผันน้ำทางตอนท้ายที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไปประมาณ 10 กิโลเมตร กั้นแม่น้ำยม เพื่อผันน้ำไปยังแม่น้ำน่าน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไปท่วมในจังหวัดแพร่ ซึ่งหากจะผันไป น้ำในจุดแถวแก่งเสือเต้นนี้ปริมาณจะต้องเกิน และจะคุ้มหรือไม่คุ้ม มันจะต้องประเมินว่าน้ำท่วมตรงนั้นกี่ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา ไม่น่าจะท่วมทุกปี และกรณีที่เกิดน้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย ก็เพราะว่าฝนไปตกแถว อ.สวรรคโลก ซึ่งอยู่ในเขตสาขาของลำน้ำยม และฝนตกบริเวณ อ.เด่นชัย ซึ่งอยู่เหนือ อ.สวรรคโลก น้ำก็ไหลลงแม่น้ำยม ซึ่งอยู่ทางตอนในของ จ.แพร่

 

ดังนั้น การแก้ปัญหาน้ำท่วม จึงไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องสร้างแก่งเสือเต้น และการจะทำโครงการใดๆ ก็ควรจะพูดความจริงที่มีอยู่ให้ทั้งหมด แล้วความกังวลของชาวบ้านที่กลัวผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของชาวบ้านก็จะลดน้อยลง

 

ตอนนี้รัฐไปคิดเรื่องการจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำ ในเชิงการทำแผนการจัดการลุ่มน้ำนั้น ซึ่งควรจะคิดถึงข้อมูลเบื้องต้นว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างเสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น คนจะคิดถึงเรื่องการจะผันน้ำยมไปลงแม่น้ำน่าน ถ้าถามว่าจะผันจากจุดไหน และไปลงตรงจุดไหน เบื้องต้นคุณจะต้องตอบให้ได้ ว่ามันจะเกิดผลกระทบอย่างไร ฉะนั้น ก่อนที่จะทำอะไร ก็ควรจะตอบคำถามตรงนี้ให้สาธารณะรับรู้ก่อน ว่าผลกระทบต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม และความคุ้มทางเศรษฐกิจนั้นมันมีมากน้อยแค่ไหน

 

อีกอย่างหนึ่ง การผันน้ำจากแม่น้ำยม ไปลงแม่น้ำน่าน ถือว่าเป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำในระดับลุ่มน้ำใหญ่ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ทางสังคม หากในอนาคต น้ำในแม่น้ำยมมีไม่พอใช้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เพราะทุกวันนี้ ลุ่มน้ำยมทางตอนเหนือ ก็มีชลประทานที่ใช้น้ำทางต้นน้ำเกือบหมด จากต้นน้ำจนถึงจุดที่ใช้น้ำประมาณ 150 กิโลเมตร ซึ่งมีการสร้างฝายชลประทาน อ.สอง ที่สร้างขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีมาแล้ว ก็ถูกดึงน้ำไปใช้ใน จ.แพร่ หมดเลย

 

มีผู้เชี่ยวชาญบางคนแสดงความคิดเห็นว่า นี่เป็นการใช้น้ำที่เกินปริมาณน้ำในต้นน้ำ และนี่ก็ถือว่า เป็นแผนการจัดการน้ำที่ต้องมีการทบทวนเหมือนกัน ว่าเรามีโครงการ มีการบริหารการจัดการน้ำต้นน้ำที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนท้ายน้ำ เพราะพื้นที่ต้นน้ำ เช่น จ.แพร่ มีการใช้น้ำร้อยเปอร์เซ็นต์ถึงสองแสนกว่าไร่ ดังนั้น ในทุกปี เราจะเห็นเลยว่า น้ำในแม่น้ำในเขตสุโขทัยบางจุด ที่พิจิตรบางจุดนั้นแห้งขอด คนเดินข้ามไปมาได้ เพราะว่าน้ำทางตอนบนไม่มีให้ไหลลงไปเลย

 

อีกอย่างหนึ่ง เรามักมองการจัดน้ำเป็นจุดๆ แต่ไม่ได้มองว่าแม่น้ำยมนั้นมีแม่น้ำสาขา ซึ่งปัจจุบันได้ถูกสร้างเขื่อนสร้างฝายกันเกือบจะหมดแล้ว ซึ่งเป็นฝายตั้งแต่ฝายขนาดกลาง 30-40 ฝาย และมีฝายขนาดเล็กอีกเป็น 100 ฝาย ก็เหมือนกับว่า เราไปกั้นลำน้ำสาขาย่อย ซึ่งหากเราไปกั้น มันก็ถูกดึงไปใช้หมด เรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยมีคนมาหยิบยกมาพูดกันเท่าใด ดังนั้น การจัดการลุ่มน้ำยม ควรจะต้องมองให้ครบทุกมิติ ซึ่งรวมไปถึงลุ่มน้ำอื่นๆ ด้วย แต่ที่ผ่านมาเรามักพูดกันทีละส่วน

 

มีความหวังกับ กรมทรัพยากรน้ำ ที่เกิดขึ้นมาใหม่?

ก็อยากฝากไปยังกรมทรัพยากรน้ำ ในเรื่องการจัดการน้ำว่า ก่อนจะตัดสินใจอะไร ก็ควรมองให้ครบมิติด้วย ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำนั้นมีบทบาทในการวางนโยบายและแผน ในการจัดการน้ำทั้งลุ่มน้ำ โดยมีคณะกรรมการทั้งในระดับจังหวัด คณะกรรมการระดับลุ่มน้ำใหญ่ ฉะนั้น เวลาจะทำอะไรก็ขอดูให้ละเอียด

 

แต่ก็อย่างนั่นแหละ เพราะว่า กรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้วางแผนวางนโยบายจริง แต่เวลาก่อสร้างก็กลับไปอยู่กับหน่วยงานเดิมก็คือ กรมชลประทาน ซึ่งบางทีกรมชลประทานเขาคิดจะสร้างโครงการนี้ เขาก็ไม่ยอมฟังนโยบาย

 

ดูเหมือนคณะกรรมการลุ่มน้ำไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่?

ผมมีความเห็นว่า คณะกรรมการลุ่มน้ำส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ค่อยมีความสนใจในเรื่องน้ำ แต่เป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งอะไรไม่รู้แล้วก็ยัดกันเข้ามา ซึ่งคนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำนั้นควรจะเป็นคนที่ดูและเข้าใจเรื่องน้ำทั้งลุ่มน้ำด้วยความเข้าใจและด้วยความเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าเห็นว่าอีกกลุ่มหนึ่งได้ใช้น้ำ แต่อีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่ได้ใช้น้ำ ซึ่งคิดแบบนี้ไม่ได้

 

เพราะมิติของการใช้น้ำ คือจะทำอย่างไรถึงจะใช้น้ำได้อย่างเหมาะสม มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม พัฒนาโครงการ และก็เป็นจริงได้ และจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด หรือถ้าจะมีก็ควรให้มีน้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่น กรณีแม่น้ำปิง ที่จะมีการผันน้ำจากแม่แตง ไปแม่งัด ลงแม่น้ำกวง ซึ่งจะต้องดูผลกระทบของผู้ใช้น้ำทางตอนท้ายของแม่น้ำแตง แถวเขต อ.หางดง ด้วย

 

ซึ่งคณะกรรมการลุ่มน้ำ จะต้องฟังเขา เพราะถ้าไม่ยอมรับฟัง ผมเห็นว่า กรมทรัพยากรน้ำ กำลังจะสร้างคนของตัวเองขึ้นมา เพื่อเรียกร้องโครงการ และก็เกิดความขัดแย้งกัน ซึ่งเรื่องนี้ควรจะมีการทบทวนในการเลือกคนมาเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท