เสวนา:"ความรุนแรง"ไม่อาจตอบแทนด้วย"ความรุนแรง"

การทำร้ายครูจูหลิง ปงกันมูล ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้นิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งเห็นว่า "ความเกลียดชัง" กำลังเพิ่มสูงขึ้นในสังคมส่วนใหญ่ของประเทศและกำลังกลายเป็นอาหารเลี้ยงความรุนแรงต่อไปอย่างไม่วันสิ้นสุด จึงรวมตัวกันอย่างมุ่งปณิธานไว้ที่การสร้างความเข้าใจในปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ให้กว้างขึ้นสู่สาธารณะและเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้

 

กลุ่มดังกล่าวจัดตั้งเป็น "เครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพในสามจังหวัดภาคใต้" เปิดด้วยการจัดงานเสวนา "ความรุนแรงไม่อาจตอบแทนได้ด้วยความรุนแรง" โดยนำประสบการณ์ของผู้ทำงานในสามจังหวัดภาคใต้มาเล่าสู่กันฟัง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนสนทนา "ประชาไท" จึงขอเสนอเพื่อเป็นอีกหนึ่งความรู้อันจะกลายเป็นสติของสังคม

 

0 0 0

 

นารี เจริญผลพิริยะ

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)

 

เป็นเวลาสองปีแล้วที่สถานการณ์ในสามจังหวัดยังไม่ดีขึ้น ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าแย่ลง ล่าสุด หลังเหตุการณ์ทำร้ายครูที่สามจังหวัด ได้เข้าเยี่ยมครูสิรินาถ ถาวรสุข ที่ถูกทำร้ายพร้อมๆ กับ ครูจูหลิง ปงกันมูล ในวันที่ 21 พ.ค. ที่โรงพยาบาลนราธิวาส พอไปก็เห็นว่าตำรวจสอบปากคำครูสิรินาถสามชั่วโมง เมื่อวานทหารสอบไปแล้วเช่นกัน อาการของครูสิรินาถตอนนั้นแก้มข้ามหนึ่งบวม พูดยังไม่ถนัด เลยถามตำรวจว่าทำไมไม่สอบพร้อมกันกับทหารไปเลย เขาตอบว่าอาจมีมุมมองต่าง เลยสอบคนละวัน

 

วันนั้นเองมีครอบครัวหนึ่งในหมู่บ้านที่เกิดเหตุมารอเยี่ยมด้วย เป็นนักเรียนลูกศิษย์มากับพ่อและยาย ยืนรอการสอบปากคำนานมากโดยไม่มีที่นั่ง จนเด็กจะกลับ ครูจึงขอให้หยุดสอบเพื่อให้เด็กมาเยี่ยมก่อน แต่ตำรวจไม่ให้พ่อและยายเข้าไป เป็นสิ่งที่เห็นชัดว่ามีความไม่ไว้วางใจในพื้นที่สูงมาก คล้ายระแวงว่ามาดูผลหรือไม่ ยายก็ร้องไห้ เด็กก็ไม่กล้าเข้าไปคนเดียว จึงไม่ได้เยี่ยม

 

ได้คุยกับเด็ก เขาชื่นชมครูและรักครูมาก การที่มีชาวบ้านเข้ามาเยี่ยมถือเป็นความกล้ามากในสถานการณ์ที่แบ่งเป็นขั้วสองขั้ว เพราะการแสดงตัวหมายถึงเป็นปฏิปักษ์ทันที ทั้งที่อาจไม่ได้อยู่กับฝ่ายใดเลย

 

ได้เข้าไปถามครูสิรินาถด้วยคำถามเดียวเพราะเกรงว่าถูกถามมามากแล้ว ถามว่าคนที่ทำร้ายเป็นหญิงหรือชาย ครูตอบว่าเป็นชายเอาผ้าคลุมผมมา ครูแน่ใจมากและที่เจ็บน้อยเพราะเขาไม่สู้ แต่ครูจูหลิงสู้เลยโดนทำร้ายมาก

 

ตรงนี้สำคัญ เพราะข่าวออกมาว่ากลุ่มผู้หญิงเป็นคนรุมทำร้าย ไม่ปฏิเสธว่าผู้หญิงมีส่วนร่วม แต่ผู้ใช้กำลังคือผู้ชาย ครูสิรินาถพูดว่าสิ่งที่ต้องการคือไม่อยากให้มีใครถูกทำร้ายอีก ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่แสดงความโกรธ แต่เธอก็ไม่รู้จะทำอย่างไร

 

ประเด็นคู่ความขัดแย้งในพื้นที่คือ ชาวบ้านมุสลิมมีอคติกับเจ้าหน้าที่หารตำรวจ แต่ไม่มีกับชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธ ทว่ากลับกันชาวพุทธซึ่งเป็นชนส่วนน้อยในพื้นที่มีอคติกับมุสลิมเพราะการถูกทำร้ายของชาวพุทธทำให้เหมารวมคนส่วนใหญ่

 

ความรู้สึกชาวพุทธคือถูกคุกคามตลอด เพราะถูกล้อมรอบด้วยชาวมุสลิม จึงเริ่มทยอยออกจากพื้นที่มากแล้ว ตรงนี้น่าเป็นห่วง

 

การที่ชาวบ้านไปที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะแล้วไม่ให้ครูกลับบ้านก็เคยมีมาแล้ว ทหารก็รู้ว่า หากมีการจับคนในพื้นที่ จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ทางโรงเรียนจึงถามว่า ทำไมไม่บอกหน่อยเวลาจะมีการนำตัวบุคคลไป โรงเรียนจะได้สั่งปิด หรือไม่ก็ให้ส่งกองกำลังมาป้องกันโรงเรียน ตรงนี้เป็นการทำงานแยกส่วน เจ้าหน้าที่ละเลยทั้งๆ ที่เป็นข้าราชการเหมือนกัน และโรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ของรัฐไทยที่เดียวในพื้นที่ด้วย

 

เหตุการณ์ประเภทนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อความยุติธรรมในพื้นที่มีปัญหา มีการจับกุมชาวบ้านทั้งๆ ที่หลักฐานยังไม่พอ อย่างตันหยงลิมอ รุ่นแรกที่โดนจับ 2 เดือนแล้วข้อหายังไม่ชัดเลยว่าอะไร ต่อมาสรุปว่ากีดขวางการจราจร บางคนมีผลัดฟ้องไปอีกผลัดละ 12 วัน สรุปแล้วก็ 3 เดือน และรอหลักฐาน 3 เดือนแบบนี้เกือบทุกคดี

 

หลายคดียกฟ้องบางคนติดคุกไป 2-3 ปีแล้ว อย่างกรณีตากใบมีพยานเกือบสองพันปากเป็นฝ่ายโจทย์ แบบนี้จะต้องโดนติดคุกไปกี่ปี หรือถ้าจะได้ประกันก็ต้องใช้เงินคนละ 250,000 บาท ซึ่งสูงมาก บางครอบครัวก็โดนสองคน บางคดีขอ 600,000 บาท พอหาได้ก็ขอขึ้นเป็น 800,000 บาทก็มี ตอนนี้ชาวบ้านบอกว่าที่ดินญาติพี่น้องหมดแล้ว

 

เรื่องพวกนี้ทางกระบวนยุติธรรมอาจมองไม่เห็นในบางมุม ความเดือดร้อนจึงขยายตัวขึ้น ถ้าไม่ให้ประกันก็ควรบอก ไม่ใช่เพิ่มประกันให้ชาวบ้านรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้งหรือรู้สึกไม่มีที่พึ่ง เป็นการผลักดันไปสู่กระบวนการนอกระบบ

 

ปัญหาอีกอย่างคือ ตำรวจไม่ได้แจ้งสิทธิในการพบทนายแก่ผู้ต้องหาซึ่งเป็นการป้องกันการซ้อม ก่อนมี กอส.ถูกซ้อมกันเป็นส่วนใหญ่ ที่น่าแปลกใจคือ คนที่ไม่ถูกซ้อมมีคนเดียวที่ถูกจับในกรณีกรือเซะ เพราะหลักฐานชัดเจน ถือมีดวิ่งมา ส่วนคนถูกซ้อมคือคนที่ตำรวจไปจับมาทีหลัง

 

จุดแปลกใจคือหากซ้อมเพราะเกลียดชังหรือแค้น คนที่ถูกซ้อมน่าจะเป็นคนที่ถูกจับที่กรือเซะมากกว่า สันนิษฐานว่า คนที่ถูกซ้อมคือหลักฐานอ่อน ส่วนกรณีสารภาพก็ต้องเข้าไปกระบวนการศาลอีก 2-3 ปี กลไกความยุติธรรมในพื้นที่เป็นแบบนี้

 

คนมุสลิมเวลาเห็นเจ้าหน้าที่จะรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ชาวพุทธรู้สึกปลอดภัยเพราะไม่ถูกจับเลย ดังนั้นอาการที่คนลุกมาป้องคนถูกเจ้าหน้าที่จับ เป็นเหตุผลเพียงพอสำหรับกระบวนยุติธรรม 2-3 ปีนี้ หรือก่อนมี กอส.ถูกจับหายไปเลยก็มี บางคนก็เป็นศพกลับมา

 

ประเด็นผู้หญิงก็สำคัญ ในกรณีกูจิงลือปะมีความพยายามผลักดันให้ผู้หญิงเข้าไปสู่ความรุนแรง ในกรณีตากใบก็มีเช่นกัน แต่ผู้หญิงถูกจับแยกไว้ ในความขัดแย้งแบบนี้ผู้หญิงไม่ถูกยกเว้นจากความรุนแรง บางคนถูกระเบิดหรือถูกยิง

 

อีกประเด็นคือ ผู้หญิงจะเป็นผู้กระทำได้หรือไม่ในเมื่อถูกกระทำสะสมมา ในฐานะที่เป็นมนุษย์ในพื้นที่และสูญเสียตลอดมา บางคนก็เจอหลายเรื่อง เช่นกรณีตากใบ บางครอบครัวคนหนึ่งตาย คนหนึ่งถูกจับอยู่ใน 59 คน ด้วยข้อหาข่มขืนใจเจ้าหน้าที่รัฐทำให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรง และคนต้องคดีคนหนึ่งพึ่งถูกยิงตายไป ครอบครัวนี้มีลูก 12 คนและคนแก่ อีกทั้งโดนแจ้งว่ามีระเบิดอยู่ในบ้าน ดังนั้นผู้หญิงเองก็ถูกดดัน ความกดดันเหล่านี้ต้องหาทางระบายไม่ให้สู้ด้วยการใช้ความรุนแรง ต้องเข้าไปเยียวยาจิตใจ แต่ก็ยังทำได้โดยจำกัด

 

ประเด็นที่คุยกับชาวบ้านคือการป้องกันชุมชนด้วยสันติวิธี คือชุมชนมีพลัง อย่างการที่ชาวบ้านมาชุมนุมที่ตันหยงลิมอโดยการปิดถนนเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดหมู่บ้านก็ใช่ เพราะถ้าเข้ามาแล้วมีการเข้าชิงตัวประกันจะต้องเสียชีวิตกว่านี้และอาจมีผู้หญิงด้วย

 

ชาวบ้านเองเริ่มเห็นพลังตัวเองจากตรงนี้ ดังนั้นทำอย่างไรให้ชาวบ้านใช้พลังนั้นด้วยสันติวิธี ต้องทำให้เขารู้ และเข้าสู่กระบวนการศาลโดยเพิ่มความรู้ทางกฎหมาย ตอนนี้แม้มีศูนย์นิติธรรมทุกจังหวัดให้ชาวบ้านร้องเรียน แต่ประชาสัมพันธ์น้อยจนชาวบ้านยังไม่รู้เลยว่าอยู่ไหน

 

ทนายความในพื้นที่เองก็ยังมีน้อย สิ่งที่ช่วยได้อีกอย่างคือการเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในศาลจะมีผลให้กระบวนการยุติธรรม ยุติธรรมมากขึ้น

 

0 0 0

 

พิทักษ์ รัตนแสงสว่าง

 นักศึกษาราชภัฏจังหวัดเชียงราย ชาติพันธุ์ม้งมีฐานปัญหาร่วมกันกับภาคใต้

 

ส่วนตัวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สังคมมองเป็นชายขอบ ปัญหาที่มองคือประวัติศาสตร์สังคมและความหลายหลายทางชาติพันธุ์ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ทำให้คนกลุ่มน้อยมีความรู้สึกว่า เป็นคนในสังคมและเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ทำไมนโยบายที่ใช้ด้วย กลับเป็นอีกอย่าง

 

นโยบายทางการเมืองที่พยายามทำให้มีคนไทยเพียงหนึ่งเดียว วัฒนธรรมต่างๆ ต้องมาจากส่วนกลาง ทำให้ใน พ.ศ.2509 ม้งเข้าเป็นคอมมิวนิสต์ต้านรัฐบาลไทย เพราะการกระทำของรัฐนั้นกดขี่คนด้อยโอกาสและคนชายขอบ จนทำให้มีความน้อยใจที่ถูกกระทำหรือถูกแบ่งอย่างชัดเจน เมื่อมีคนกลุ่มที่จะมาทำให้สังคมแตกแยก จึงเข้ามาสู่ระบบของเขา เพราะเชื่อว่าการเข้าระบบนั้นเป็นทางออก

 

ประเด็นต่อมาคือสื่อ ส่วนมากข่าวออกมาในเชิงที่ไม่เป็นความจริง การที่เข้าไปในพื้นที่อาจจะไม่เข้าใจสังคมวัฒนธรรมชาติพันธุ์นั้นอย่างแท้จริง การเข้าไปเสริมสร้างสันติภาพจึงยาก

 

ประเด็นที่สี่คือระบบการศึกษา หลักสูตรการสอนไม่ทำให้เข้าใจถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แยกกลุ่มและสร้างภาพลบ คิดว่าการศึกษาที่ดีต้องรวบรวมความหลากหลายให้เข้าใจกันเพื่อนำไปสู่สันติภาพในสังคม

 

0 0 0

 

ประทับจิต นีละไพจิตร

ลูกสาวนายสมชาย นีละไพจิตร

ทนายความนักสิทธิมนุษยชนที่หายไปโดยคาดว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ทราบเรื่องครูจูหลิงตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. ทางกลุ่มเยาวชนจุฬาฯสนใจในปัญหาตรงนี้ คิดจัดการปัญหาเฉพาะหน้าก่อนคือความเกลียดชังที่รุนแรงขึ้น แต่เสียงของเราคงไม่สามารถหยุดเสียงที่ใหญ่และดังของสังคมที่เกลียดชังได้

 

แม้เป็นเด็กที่โตในกรุงเทพฯแต่มีพ่อเป็นทนายในพื้นที่สามจังหวัดจึงค่อนข้างรับรู้เรื่องราว เคยลงพื้นที่กับพ่อจึงรู้ว่าปัญหาที่หนักสุดคือปัญหาความยุติธรรม มีแม้แต่ตั้งข้อหาแล้ว หาหลักฐานภายหลัง

 

ดังนั้นเมื่อมีการปกป้องกันเองของคนในหมู่บ้านแต่ละครั้ง บอกตรงๆว่ารู้สึกดีใจที่ได้รู้ แต่ความรุนแรงและการทำร้ายจนถึงขั้นโคม่าจึงต้องตั้งคำถามอย่างมาก

 

หลังรับข่าวทำให้หาข้อมูลและแลกเปลี่ยนกับคนอื่นมากขึ้น และดีใจที่มีสื่อทางเลือกอย่างศูนย์อิศรา แต่คนกรุงเทพฯนั้นจะตามข่าวแบบเฉพาะหน้าหรือรายการข่าวบางประเภทในช่วงไพรม์ไทม์ที่มีการพยายามโยงหลายเหตุการณ์ แต่ไม่โยงคำสัมภาษณ์คุณแม่ครูจูหลิงที่บอกว่าไม่โกรธและให้อภัยด้วย จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หรือแม้แต่ผู้ใหญ่บ้านที่ครูจูหลิงเติบโตที่เชียงรายก็บอกว่าให้อภัย แต่ก็ไม่มีการโยงเข้ามา ประเด็นที่สื่อเลือกคือประเด็นความรุนแรงต่างหาก

 

คุยกันกับเพื่อนว่าความรุนแรงที่จำเป็นต้องประณาม แต่คิดว่าสังคมควรจะแยกแยะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมีน้ำอดน้ำทน ต้องวิเคราะห์อย่างหนักแน่น

 

ผู้สูญเสียสุดคือคุณแม่คำมี ปงกันมูล แต่สิ่งที่คนฟังมากที่สุดคือสื่อบางคนที่จดปากกาลงไป สื่อต้องทำงานให้หนักขึ้น และควรเสนอในเชิงวิเคราะห์ที่ลึกขึ้นกว่าความรุนแรงผิวเผิน ต้องเลือกฟังหลายมุมหลายด้าน ฟังคนที่เป็นแม่ให้มากขึ้น แต่สังคมเองก็ปฏิเสธที่จะยอมรับและหาความรู้

 

เสรีภาพของสื่อเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องทบทวนและเรียกร้องคุณธรรมจริยธรรมของสื่อให้มากเท่าๆ กับที่เรียกร้องจากผู้นำประเทศเช่นกัน

 

 

0 0 0

 

มรรยาท พงษ์ไพบูลย์

 นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์

 

สื่อตกเป็นจำเลยในหลายเหตุการณ์ ไม่เฉพาะในเหตุการณ์ภาคใต้ อุตสาหกรรมสื่อทุกวันนี้แข่งขันกันสูง ความรวดเร็วทำให้เสนอข่าวได้ แต่ขณะนี้กระแสโลกหรือไทยเองเกิดสถานการณ์มากมายจนพลิกตำราไม่ทัน ส่วนการรายงานข่าวในภาวะวิกฤตินั้นต้องมีมากกว่าปกติ สื่อใช้การรายงานข่าวในภาวะปกติมาใช้ในภาวะวิกฤติ

 

สื่อต้องเลือกระหว่างการเป็นกระจกกับตะเกียง การเป็นตะเกียงต้องมองให้ลึกกว่ากระจก การที่สื่อรับข้อมูลมาแล้วขยายต่อหรือการรับสื่อเดียวยิ่งย้ำความคิดความเชื่อว่า สิ่งที่เกิดในใต้คือความรุนแรงต้องขจัดให้รวดเร็วด้วยความรุนแรงที่มากกว่า

 

คนไทยเองมักตัดสินอะไรด้วยความเชื่อและตรงกับที่ชอบ ดังนั้นไม่แปลกว่า แม้มีข้อมูลอีกด้านก็ไม่สนใจ ยิ่งกรณีภาวะวิกฤติหรือสงคราม สื่ออาจหลงไปง่ายกับความรู้สึกชาตินิยม อย่างสื่อตะวันตกในภาวะสงครามก็ทำให้มีสงครามที่ชอบธรรม เช่นเดียวกับไทยคือสร้างความรุนแรงที่ชอบธรรม

 

ในภาวะวิกฤติ สื่อต้องใช้สติอย่างมาก สื่อต้องสร้างสติ ขวัญ ปัญญา ให้ผู้เสพ เช่น คุณแม่จูหลิงที่ออกมาพูดถึงการให้อภัยก็ทำให้สังคมลดลง ตอนนั้นสื่อที่ถามเองก็อาจนึกไม่ถึงเวลาตั้งคำถามว่า คุณแม่โกรธไหม คงคาดหวังว่าจะได้คำตอบที่รุนแรง แม่กลับตอบว่าไม่รู้สึกโกรธด้วยซ้ำ และควรให้อภัยกับคนที่ทำ ดังนั้นสื่อต้องมีสติและปัญญาเป็นของตัวเองด้วยว่า อยู่ในภาวะที่ซับซ้อนอยู่มาก ควรทำอย่างไร

 

ยิ่งในสภาวะวิกฤติแบบนี้ สื่อต้องเชื่อมั่นในสันติวิธี มิฉะนั้นความรุนแรงมันจะขยายตัว และคนจะกลัวไปหมดจนเหมือนพื้นที่ภาคใต้เป็นแดนมิคสัญญี

 

วันที่เกิดเหตุที่กูจิงลือปะ ได้ยินเสียงก่นด่าโดยตลอด ตอนนั้นอยู่ที่เชียงราย ได้รับข่าวว่าชาวบ้านต้องเป็นคนทำ ได้ดูโทรทัศน์และเอสเอ็มเอสมากมาย เสรีภาพแสดงผลเหล่านั้นทำให้คนเกลียดชังกันมากขึ้นเรื่อยๆ การที่จะปรับคือสติ ขวัญ ปัญญา เป็นหน้าที่ที่สื่อต้องทำกับสังคม การทำงานของสื่อคือต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของใคร สื่อก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดความโกรธได้ แต่เพราะเป็นสื่อจึงต้องนิ่งไม่ให้เกิดความหลง โทสะ โมหะ

 

ภาวะวิกฤติง่ายต่อข่าวลือ เช่น กรณีหลุมศพนิรนาม หน้าที่สื่อไม่ใช่รายงานทันที แต่ต้องหาให้ได้ว่าต้นตอที่แท้จริงคืออะไร ส.ว.ได้ข่าวจากคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนนันท์ ก็ต้องตามต่อ ไม่ใช่ออกข่าวมาก่อนเพื่อให้โต้กันไปแล้วความจริงค่อยออกมาเอง ความเร็วไม่ใช่สิ่งดีเสมอไป เราตกข่าวได้ แต่ต้องหาความจริงและความถูกต้องมาเสนอด้วย ถ้าข่าวไหนออกมาแล้วขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้นก็อาจต้องชะลอการนำเสนอไปก่อน

 

ส่วนการให้อภัยก็ไม่ได้หมายความว่าเราลืม ต้องแยกแยะด้วย มิฉะนั้นจะเกิดกรณีแบบนี้จนกลายเป็นความชินชาแล้วไม่รู้สึกอะไรเหมือนที่ตอนนี้ไม่รู้สึกแล้วว่าตายวันละกี่ศพ

 

0 0 0

 

พระ ว.วชิรเมธี

 

เรื่องที่ต้องพูด คือต้องไปไกลกว่าการประณาม เข้าไปให้ถึงสันติวิธีที่แท้จริงด้วย เวลาเรามองปัญหาต้องมองว่ามีเรือนเพาะชำ ปัญหามันจึงอยู่รอดได้ สื่อไม่ดีแต่อยู่ได้ก็เพราะมีผู้บริโภคมัน เป็นอาหารของมัน

 

ที่เห็นตอนนี้คือความกระสันอยากได้ข่าวของสื่อที่เน้นแรงและเร็ว แต่ไม่ดูว่าใครได้รับผลกระทบ

อย่างที่เร็วคือสามร้อยศพนิรนาม บอกว่าสามร้อยศพจริงแต่เป็นกัมพูชาหรือพม่า อาตมามองว่าเป็นคนเหมือนกันไปกองในหลุมสามร้อยกว่าคน ทำไมมองว่าฆ่าได้ อะไรหล่อเลี้ยงความรุนแรง อาตมาสนใจตรงนี้

 

อะไรคือปัจจัยเอื้อความรุนแรง กรณีครูจูหลิงเราสูญเสีย 1.คนที่หมายถึงมนุษยชาติ 2.เราเสียครูที่มีศักยภาพ 3.ศิลปิน 4.ขวัญเสีย 5.สันติภาพ ทุกสื่อทั่วโลกมาไทยหมด ไม่ใช่มาทำข่าวในหลวง แต่มาเรื่องสงครามภาคใต้ 6.เศรษฐกิจพังหมด 7.ความเป็นอารยธรรม

 

เราพูดถึงความรุนแรงระดับเดียวคือความรุนแรงเปิดเผย ส่วนความรุนแรงปกปิดไม่มีการรายงานหรือไม่มีเสียงดังพอ ความรุนแรงปกปิดคือ

 

หนึ่งโครงสร้างทางสังคม ไทยมีอคติกับภาคใต้มานาน สังคมเรามองภาคใต้เป็นคนชั้นสองมาเนิ่นนาน ข้าราชการที่โดนย้ายคือพวกมีปัญหา เอาคนเลวไปกองรวมกัน คนใต้จึงกลัวข้าราชการ

 

สองการศึกษาเป็นมิจฉาทิฐิ จึงเป็นเหยื่อที่บริสุทธิ์กันมาก

 

สามระบบความเชื่อที่แยกคนเป็นอะไรต่างๆ เช่นภาค หรือศาสนา ต้องมองให้เป็นมนุษยชาติเหมือนกันทั้งหมด ตรงนี้ทั้งสื่อและการศึกษาเข้าไม่ถึง ทุกวันนี้เหมือนเราทะเลาะกันเรื่องเปลือกหรือเสื้อผ้า ทั้งที่เนื้อแท้คือความเป็นมนุษยชาติ

 

สี่การเสนอข่าวของสื่อ เราอยากรายงานข่าวเร็วๆ ทั้งชี้นำและถามนำ ที่น่ากลัวที่สุดคือมีคำตอบในใจแล้ว เอสเอ็มเอสก็มีแต่ความรุนแรงเต็มไปหมด

 

ห้าความจริงใจในการพัฒนาประเทศ คนที่คุยคือผู้ใหญ่ประชุมกันในทำเนียบ แต่ระดับเจ้าหน้าที่ไม่ได้อยู่ด้วยคุยกัน ก็ไม่รู้จริงกันทำให้เกิดความรุนแรงปกปิด

 

หก ปฏิสัมพันธ์ต่อความรุนแรงในสังคมไทย อย่างกรณีครูจูหลิงคือการประณามเหมือนที่ทั่วโลกทำ ซึ่งเป็นการประกาศจุดยืน แต่มันไม่พอ มันต้องไปไกลกว่า คือต้องให้อภัย คนไทยคิดว่าต้องมีคนทำผิดก่อนจึงให้อภัยได้ แต่ความจริงการให้อภัยคือทำให้คนที่เข้ามาใกล้ไม่กลัว คือให้ตัวของเราเป็นบุคคลแห่งสันติภาพ

 

ต้องมีสติหรือความตื่นรู้ข้างใน พระพุทธเจ้าบอกว่าต่อให้คนเอาเลื่อยมาเลื่อยก็จะมองด้วยสายตาแห่งความกรุณา หรือนาทีที่คานธีถูกยิง คานธีก็บอกว่า อย่าทำอะไรเขา เพราะเขาไม่รู้ ต้องให้อภัยจากหัวใจสันติวิธีจึงเกิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท