"ภัควดี" รายงานพิเศษ : วิกฤตการณ์ของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์

เรียบเรียงจากบางส่วนของ Walden Bello "CRITICS PLAN OFFENSIVE AS IMF-WORLD BANK CRISIS DEEPENS" http://focusweb.org/

 

 

การประชุมของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาในกรุงวอชิงตัน ดีซี เป็นบรรยากาศที่ผิดแปลกไปจากความเคยชินในระยะหลายปีหลังมานี้ การประชุมครั้งนี้เงียบสงบเป็นพิเศษ แทบไม่มีขบวนผู้ประท้วงโผล่มาให้เห็นบนถนนเลย

 

แต่ท้องถนนที่ว่างโล่งเป็นแค่มายาภาพให้สององค์กรโลกบาลสบายใจเล่น ปฏิบัติการที่แท้จริงคราวนี้ย้ายไปลงมือกันในร่ม ห่างไปแค่ไม่กี่ช่วงตึก ในสถาบันเพื่อการศึกษาค้นคว้าด้านนโยบาย (Institute for Policy Studies) ขบวนการสังคมใหม่กำลังดำเนินการรณรงค์เพื่อ "โค่นอำนาจ" ของสองสถาบันนี้ลง มีนักกิจกรรม 70 คนจากทั่วโลกมาร่วมประชุมเชิงยุทธศาสตร์เป็นเวลา 2 วัน พวกเขารู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ธนาคารโลกและ IMF กำลังตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ขั้นร้ายแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี และเป็นวิกฤตการณ์ที่อาจสั่นคลอนอำนาจในการกำกับระบบเศรษฐกิจโลกของสองสถาบันยักษ์ใหญ่

 

วิกฤตการณ์ด้านความน่าเชื่อถือของ IMF

วิกฤตการณ์ของ IMF อาจมองเห็นได้ชัดกว่า IMF ไม่เคยฟื้นไข้เลยหลังจากวิกฤตการณ์การเงินของเอเชียในปี ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) เดนนิส เดอ เทรย์ อดีตเจ้าหน้าที่ของ IMF และธนาคารโลก ปัจจุบันเป็นรองประธานศูนย์พัฒนาระดับโลก กล่าวว่า "IMF สูญเสียความน่าเชื่อถือนับแต่นั้นมา"

 

หลังจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้น ประเทศสำคัญในทวีปเอเชีย อาทิ ประเทศไทย, ฟิลิปปินส์, จีนและอินเดีย หลีกเลี่ยงที่จะกู้ยืมเงินรอบใหม่จาก IMF เพราะตระหนักดีถึงผลที่ตามมาของเงื่อนไขการเปิดเสรีทางการเงินที่ประเทศในเอเชียจำนวนมากต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกองทุนการเงินในช่วงต้นทศวรรษ 1990

 

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด นอกจากประเทศในเอเชียจะไม่อยากเป็นหนี้ IMF อีกแล้ว ประเทศในละตินอเมริกาส่วนใหญ่ก็มีความเคลื่อนไหวไปในทางเดียวกัน โดยเฉพาะประเทศใหญ่อย่างบราซิลและอาร์เจนตินา ประเทศเหล่านี้ต่างทยอยกันปลดหนี้กับ IMF เพื่อประกาศเอกราชจากสถาบันการเงินอันเป็นที่ชิงชังของประชาชนในภูมิภาคนั้น

 

อะไรคือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการคว่ำบาตรเงียบๆ ของลูกหนี้รายใหญ่ทั้งหลาย? ผลที่ตามมาคือ กองทุนการเงินต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางด้านงบประมาณ สืบเนื่องจากตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา การดำเนินงานของ IMF อาศัยเงินที่ได้จากการจ่ายคืนหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา ในขณะที่เงินสมทบจากรัฐบาลประเทศซีกโลกเหนือที่มั่งคั่งเริ่มลดน้อยถอยลง เพราะต้องการผลักภาระในการค้ำจุนสถาบันให้ตกอยู่ที่ผู้กู้ยืมแทน แต่ในเมื่อประเทศลูกหนี้รายสำคัญเริ่มตัดสายสัมพันธ์ทางการเงินไปทีละราย แล้วกองทุนการเงินจะไปหาทุนมาจากไหน?

 

Ngaire Woods ผู้เชี่ยวชาญด้าน IMF และธนาคารโลกจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เปิดเผยว่า IMF เองคาดการณ์ว่า การจ่ายคืนเงินกู้และดอกเบี้ยแก่สถาบันน่าจะลดลงมากกว่าครึ่ง คือลดลงจาก 3.19 พันล้านดอลลาร์ ในปี ค.ศ. 2005 เหลือแค่ 1.39 พันล้านดอลลาร์ในปี 2006 และลดลงไปอีกครึ่งหนึ่ง เหลือแค่ 635 ล้านดอลลาร์ในปี 2009 ซึ่งจะทำให้กองทุนอยู่ในภาวะงบประมาณหดตัว

 

ปัญหาที่ธนาคารโลก

ในขณะที่ธนาคารโลกไม่ค่อยมีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือและความล้มเหลวมากเท่า IMF แต่สถาบันการเงินแห่งนี้ก็ตกอยู่ในวิกฤตการณ์ไม่แพ้กัน ผู้สันทัดกรณีบอกว่า ธนาคารโลกกำลังมีปัญหาด้านงบประมาณ เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยของผู้กู้ยืมลดลงไปจาก 8.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2001 เหลือแค่ 4.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2004 ประเทศกำลังพัฒนาระดับแถวหน้าอย่าง จีน, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก, บราซิล ฯลฯ ต่างก็หนีหน้าไปหาเงินกู้ยืมจากที่อื่นแทน

 

แต่วิกฤตการณ์ด้านงบประมาณเป็นแค่ปัญหาหนึ่งในหลายๆ ปัญหาที่กำลังรุมเร้าธนาคารโลก ใบสั่งทางนโยบายที่นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกจ่ายแก่ผู้กู้ยืมนั้น ถูกมองว่าไม่สอดคล้องกับอาการป่วยที่ประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญอยู่ ปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่แผนกวิจัยของธนาคารโลกผลิตแต่ผลงานด้านเศรษฐศาสตร์เชิงเทคนิค "ล้ำยุค" ซึ่งเหมาะกับโลกวิชาการตะวันตก แต่ไม่ได้สร้างความรู้ที่จะสนับสนุนนโยบายที่ปฏิบัติได้ในความเป็นจริง ปัจจุบัน ธนาคารโลกมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญอยู่ราว 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ และไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะบอกว่า หากธนาคารโลกลดเจ้าหน้าที่ลงไปสัก 40% ก็ไม่ทำให้อะไรแตกต่างไปจากเดิมเลย

 

รายงานเมื่อไม่นานมานี้ของ Ngaire Woods ระบุว่า "ข้อวิพากษ์วิจารณ์ภาคสนามที่ได้ยินมากที่สุดก็คือ IMF และธนาคารโลกไม่มีประสบการณ์ด้านนโยบาย ต่อให้จบดอกเตอร์สาขาเศรษฐศาสตร์หรือการเงินมา แต่เจ้าหน้าที่พวกนี้กลับไม่รู้เดียงสาพอที่จะทำงานอันซับซ้อนและยุ่งเหยิงในระบบการเมืองจริงๆ ได้"

 

เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของสองสถาบันมองข้ามปัญหาทางการเมืองในการทำงานกับโลกกำลังพัฒนา ทั้งยังตาบอด (หรือแกล้งทำตาบอด) จนมองไม่เห็นข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่า การเมืองของประเทศมหาอำนาจเข้ามามีอิทธิพลต่อสูตรสำเร็จทางนโยบายของธนาคารโลกและ IMF เช่น ข้อตกลงของเกาหลีใต้กับ IMF ในปี ค.ศ. 1997 มีเงื่อนไขที่ถูกสั่งการมาจากสหรัฐอเมริกา หรือกลุ่มประเทศ G-7 กดดันให้ธนาคารโลกปล่อยกู้แก่รัสเซียในช่วงทศวรรษ 1990 รวมทั้งกดดันให้ IMF ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเมื่อรัสเซียไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้ทั้งหมด รวมทั้งโครงการจำนวนมากของธนาคารโลกยังถูกกำหนดจากข้อตกลงล่วงหน้าระหว่างบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่รัฐบาลมหาอำนาจและประเทศผู้กู้ยืมให้การหนุนหลังด้วย

 

วิธีอำพรางวิกฤตการณ์

ศาสตราจารย์โรบิน บรอด ซึ่งติดตามศึกษาเกี่ยวกับธนาคารโลกมานาน ระบุว่า ธนาคารโลกตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ยิ่งกว่า IMF เสียอีก เพียงแต่ไม่ค่อยปรากฏชัดในสายตาของคนทั่วไป ในขณะที่ IMF พยายามแก้ปัญหาด้วยการหลบอยู่แต่ในกองบัญชาการของตัวเอง ธนาคารโลกกลับพยายามโผล่หน้าออกมา โดยหวังว่าบทบาทที่มีมากขึ้นในเวทีโลกจะช่วยกลบเกลื่อนวิกฤตการณ์ของตนได้

 

ธนาคารโลกพยายามรุกคืบในสามประเด็นด้วยกัน ประการแรกคือพยายามป่าวประกาศว่า มันเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ดีที่สุดในการให้กู้ยืมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาโรคเอชไอวี/เอดส์ ฯลฯ ทั้งๆ ที่ถ้าย้อนดูปูมหลังแล้ว มันไม่ใช่เลย

 

ประการที่สองคือสร้างแผนกวิจัยด้าน "การพัฒนา" ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีเงินทุนสนับสนุนถึง 50 ล้านดอลลาร์ แต่ธนาคารโลกกลับผลิตแต่งานวิจัยที่ใช้ไม่ได้ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

 

ประการที่สาม ธนาคารโลกลงทุนถึงราว 30 ล้านดอลลาร์ ในหน่วยงานประชาสัมพันธ์ เพื่อป้อนผลการวิจัยที่อ้างว่าเป็นกลางให้แก่สื่อมวลชน และสร้างภาพพจน์ให้ตัวเองเป็นธนาคารที่รู้ทุกเรื่อง

 

แม้แต่แคมเปญรณรงค์เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่นของนายพอล วูล์ฟโฟวิทซ์ ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบัน ก็ไม่ได้รับการตอบรับมากนัก ทั้งนี้เพราะแฟ้มประวัติของตัววูล์ฟโฟวิทซ์เองก็ใช่ว่าจะไร้รอยด่างพร้อย เนื่องจากในสมัยรัฐบาลซูฮาร์โต พอล วูล์ฟโฟวิทซ์เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอินโดนีเซียและมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับประธานาธิบดีซูฮาร์โต หากมองย้อนหลังกลับไป เงิน 1 ดอลลาร์จากทุก 3 ดอลลาร์ ที่ธนาคารโลกให้รัฐบาลซูฮาร์โตกู้ยืมระหว่างทศวรรษ 1960-1990 หายไปเข้ากระเป๋าคนรอบตัวซูฮาร์โตหมด ซึ่งรวมเป็นเงินทั้งหมดราว 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

 

แม้ว่า IMF จะพยายามสร้าง "ยุทธศาสตร์เพื่อบรรเทาความยากจน" เพื่อมาแทนที่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และธนาคารโลกประกาศให้ประเทศยากจนบางประเทศเข้าโปรแกรม "โครงการริเริ่มสำหรับประเทศยากจนที่มีหนี้สูง" เพื่อปรับตัวตามข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิกหนี้แก่กลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลก แต่ทั้งสองโครงการก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นแค่ความพยายามหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาหันหน้าหนีไปจากการพึ่งพิงสองสถาบันโลกบาลนี้

 

ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศจะปรับตัวอย่างไรต่อไป เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ขณะที่องค์กรโลกบาลสำคัญสององค์กรนี้กำลังประสบปัญหา อีกองค์กรที่สำคัญอย่างองค์การการค้าโลก (WTO) ก็ประสบภาวะชะงักงันจากการเจรจาการค้าที่ไม่คืบหน้า รวมทั้งบทบาทของ WTO ที่ลดลงไป สืบเนื่องจากการที่หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา หันไปทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีแทน ระบบเศรษฐกิจที่เดินตามฉันทามติวอชิงตันกำลังถูกท้าทายมากขึ้น และนับวันก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า มันเป็นสถาปัตยกรรมใหญ่โตที่ตั้งอยู่บนฐานอันง่อนแง่นเพียงใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท