Skip to main content
sharethis

 



นายชัยพันธ์ ประภาสะวัติ (ซ้ายสุด) และกลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ขณะยื่นหนังสือต่อศาลปกครอง


 


ประชาไท—7 มิ.ย. 2549 ชัยพันธ์ ประภาสะวัติ นำทีม พากลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ร่วมกันยื่นหนังสือต่อศาลปกครองฟ้อง ทักษิณ - ปลอดประสพ พร้อมคณะกรรมการบริหารเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กก.บริหารไนท์ซาฟารี ชี้เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เสนอศาลขอความคุ้มครองให้ระงับการดำเนินโครงการไว้ก่อน ในขณะที่ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและไม่เห็นด้วยกับโครงการของ อพท.ทั่วประเทศ เตรียมรวมตัวเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ที่กรุงเทพฯ 28 มิ.ย.นี้


 


วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ กลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีโครงการสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โดยมีนายชัยพันธุ์ ประภาสะวัติ พร้อมพวก 26 คน ได้ร่วมกันเป็นผู้ฟ้องคดีนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการการบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4


 


โดยในสำนวนฟ้อง ได้ระบุถึงประเด็นการฟ้องคดีว่า 1.พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 2546 ที่ให้จัดตั้งโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 ดังนั้นจึงถือว่าเป็นโมฆะ และไม่สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ต้น


 


โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นโครงการที่ต้องการแสวงหากำไร หาประโยชน์ทางการเมือง ไม่มีความหมายความเป็นนโยบายสาธารณะอยู่เลย เป็นการก่อสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า เพื่อทดแทนกลุ่มอุปถัมภ์ทางการเมืองเท่านั้น


 


2. กรณีนายวิชิต พัฒนโกสัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไม่มีอำนาจให้ใครหรือบุคคลใดเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งการวินิจฉัยและสั่งการเพื่ออนุญาตให้สวนสัตว์กลางคืนใช้พื้นที่ของอนุญาตแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แต่ในความเป็นจริงของโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ก่อสร้างอาคารขึ้นมาในพื้นที่มากมาย โดยมิได้ขออนุญาตแต่อย่างใด


 


3.การก่อสร้างของโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 และขัดต่อมาตรา 42 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535


 


4.การนำสัตว์เข้ามาอยู่ในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นการกระทำผิดต่อปฏิญญาสัตว์ป่าสากล CITES และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า รวมทั้งเป็นการกระทำทารุณต่อสัตว์ และกรณีสวนสัตว์กลางคืน หรือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ดำเนินการโดยนำสัตว์ป่าสงวนมาจากประเทศเคนยา โดยการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(MOU) ระหว่างประเทศไทยกับเคนยา ซึ่งขัดต่อปฏิญญาสัตว์ป่าสากล CITES โดยเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าดุร้ายมาอยู่ในที่คุมขัง


 


5.โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไม่มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA และประชาพิจารณ์
 
6.
การเข้าดำรงตำแหน่งของประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 และพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 เนื่องจากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในขณะนั้น


 


และ 7 ก่อนฟ้องคดีนี้ องค์กรเอกชนและกลุ่มบุคคล ได้คัดค้านโครงการมาตลอดแต่รัฐกลับเพิกเฉย
 
โดยในคำขอท้ายฟ้อง ได้ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 ที่ประกาศใช้กับพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย เพื่อสร้างสวนสัตว์กลางคืนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคืนพื้นที่ก่อสร้างสวนสัตว์กลางคืนเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี กลับไปอยู่ในความครอบครองของวนอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย
 
นอกจากนั้น ยังขอให้ศาลปกครอง มีคำสั่งเพิกถอนตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของนายปลอดประสพ สุรัสวดี โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันรับตำแหน่ง และให้คืนเงินเดือนและค่าใช้จ่ายประจำตำแหน่งที่ได้รับไป


 


นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน ในฐานะผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว มีหลายฝ่าย ได้พยายามท้วงติงมาตั้งแต่มีข่าวจะมีการสร้างไนท์ซาฟารีมาตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าไม่ควรสร้าง เพราะเป็นการใช้พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติ รวมไปถึงต้องใช้งบประมาณซึ่งเป็นภาษีประชาชนกว่า 1,700 ล้านบาท ซึ่งทางกลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่ นักวิชาการ จึงลงไปดูสวนสัตว์และได้ท้วงติง ข้อเสนอแนะ แต่รัฐไม่รับฟัง


 


"ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องฟ้องศาลปกครอง เพราะถ้าเราไม่ทำเป็นตัวอย่าง ยังไม่ยุติไนท์ซาฟารี มันก็จะไปทำโครงการอื่น ๆ ต่อไปตามใจชอบ ไม่ว่าการสร้างอุทยานช้าง ในพื้นที่อุทยานฯ 10,56 ตารางกม. รวมทั้งเมกกะโปรเจ็กต่าง ๆ เช่น การสร้างเคเบิลคาร์ การตัดถนนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อทำเป็นลานจอดรถ ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นแหล่งค้าขาย และที่จอดรถ ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของใคร แต่เป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งการฟ้องในครั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นตัวอย่าง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาล"


 


ด้าน นายขวัญชัย โชติพันธุ์ ทนายความสิ่งแวดล้อม จากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายในการดำเนินการฟ้องคดี กล่าวว่า การที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองครั้งนี้ ก็เพราะเห็นว่าเป็นโครงการดังกล่าวนั้นขัดต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และถือว่าผิดระเบียบแบบแผนต่อการบริหารราชการการปกครอง


 


"ดังนั้น การฟ้องคดีดังกล่าว ก็เพื่อขอให้ศาลได้พิจารณาและมีคำสั่งให้หยุดการกระทำใดๆ จนกว่าศาลจะพิจารณาตัดสิน เพราะมิฉะนั้น จะก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องสูญเสียงบประมาณเป็นอย่างมาก และขั้นตอนต่อไป หากศาลรับฟ้อง และมีการพิจารณาตัดสินให้มีการเพิกถอน พระราชกฤษฎีกา อพท.ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะต้องยกเลิกโครงการใดๆ ทั้งหมด รวมทั้งจะต้องทำการรื้อถอน คืนสภาพความเป็นอุทยานแห่งชาติฯ กลับคืนมา นอกจากนั้น จะต้องมีการคืนเงินประจำตำแหน่งย้อนหลังทั้งหมดด้วย"


 


ในขณะที่ นายนิคม พุทธา ผู้ประสานงานมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์(ภาคเหนือ) กล่าวว่า กรณีการดำเนินการโครงการของ องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.ในหลายพื้นที่นั้น ยังไม่ใช่แค่กรณีโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่จะสร้างปัญหา ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เช่น เกาะเสม็ด จ.ระยอง เกาะพีพี จ.กระบี่ และที่ ภูหลวง ภูกระดึง จ.เลย ซึ่งกำลังเป็นข้อโต้แย้งกับคนในพื้นที่อยู่ในขณะนี้


 


"ผมเชื่อว่าโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.ในขณะนี้ ได้ทำผิดกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542ดังนั้น ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ ทางกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและไม่เห็นด้วยกับโครงการของ อพท.ทั้งหมด จะรวมตัวกันเพื่อเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ที่กรุงเทพฯ เพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งยุบ อพท. เนื่องจากเห็นว่า เป็นโครงการที่ขัดต่อกฎหมาย และจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลเสียต่อวิถีชุมชนท้องถิ่นอย่างหนัก"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net