Skip to main content
sharethis

รายงานโดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"


 


"ป้าคนหนึ่งในหมู่บ้าน ผวาอยู่ตลอดเวลาเมื่อฝนตกจนเกือบเสียสติ เมื่อปริมาณน้ำสูงขึ้น ต้องเข้ามาถามด้วยหน้าตาเป็นกังวลว่าน้ำมาคราวนี้น้ำจะท่วมไหม จะได้เตรียมเก็บของ ทั้งๆที่แค่ฝนตก"


 


เหตุการณ์น้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่ใครก็ไม่อยากประสบ เพราะไม่เพียงทำให้ชีวิตและทรัพย์สินต้องเสียหายแล้ว มันได้สร้างความเสียหายกับชีวิตหลังจากน้ำลดอีกมากมายอย่างคาดไม่ถึง


 


เหตุการณ์น้ำท่วม 3- 4 ครั้งที่ผ่านมา หมู่บ้านเวียงทอง ใน อ.ป่าแดด จ.เชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่กลายเป็นพื้นที่วิกฤติอันดับต้นๆที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 10 เดือน คนในหมู่บ้าน เวียงทองกว่า 280 ครัวเรือนต้องอยู่อย่างหวาดผวาและกลัวเมื่อเข้าถึงฤดูน้ำหลาก


 


โดยคนในหมู่บ้านเวียงทองที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมได้สำรวจความเสียหายหลังน้ำลดและได้ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐที่ให้คำมั่นว่าจะเข้าไปช่วยในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น หลายครั้งหลายคราชาวบ้านบอกว่า มีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้าไปตรวจสภาพความเสียหายของบ้านแต่ละหลัง แต่จนถึงวันนี้ชาวบ้านสองร้อยกว่าคนยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เข้าไปสัญญาว่าจะเข้ามาช่วยเหลือหลังน้ำลด แต่ได้รับเพียงแค่ความช่วยเหลือพื้นฐานในเรื่องถุงยังชีพและน้ำดื่ม โดยหลายหน่วยงานนอกพื้นที่เขตเทศบาลได้รับความช่วยเหลือ หลายคนถอดใจว่าคงจะไม่ได้รับการช่วยเหลือแล้วเพราะเวลาล่วงเลยมาจนหลงลืม


 


ชาวบ้านเวียงทองกว่า 280 ครัวเรือนเผชิญเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ละครั้งสร้างความเสียหายกับทรัพย์สินและบ้านเรือน และน้ำท่วมครั้งล่าสุดทำให้หลายครัวเรือนต้องย้ายตัวเองออกจากบ้านภายในหมู่บ้านเวียงทอง หลายบ้านพยายามหาช่องทางไม่ให้บ้านร้างอยู่เฉย โดยการประกาศให้เช่า ประกาศขายต่อแต่เมื่อเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ข้อเสนอเหล่านี้ใช้ไม่ได้ ไม่มีผู้ซื้อและผู้เช่า เพราะเกรงจะเจอน้ำท่วม บ้านบางหลังอยู่ได้ไม่ถึงสามเดือน ต้องทิ้งร้างไปอยู่พื้นที่อื่น จังหวัดอื่น รอเวลาหลังน้ำลดเพื่อเข้าไปดูแลและตรวจสอบความเสียหาย


 


ชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่บ้านเวียงทองเล่าให้ฟังขณะที่กำลังขนของเตรียมจะย้ายออกไปอยู่ที่ อ.ดอยสะเก็ด ก่อนฤดูน้ำหลากช่วงเดือนกรกฎาคมว่า ซื้อบ้านในหมู่บ้านเวียงทองในราคากว่าครึ่งล้าน ได้ประกาศขายแต่ไม่มีใครกล้าซื้อ ทำได้แค่เข้ามาดูแลทรัพย์สินในบ้านหลังน้ำลดโดยจะทิ้งก็ไม่ได้เพราะซื้อไว้แล้ว โดยน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมาชุมชนพร้าวนอกได้แยกออกจากชุมชนและไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชน หน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือหลังน้ำท่วมช่วงแรกก็เข้าดูความเสียหายมารับเรื่องแล้วก็ไม่มีความคืบหน้า


 


"ไม่อยากได้ค่าเสียหายหรือค่าชดเชยเพราะเป็นคนที่ไม่ขัดสน แต่อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบป้องกันน้ำท่วมหาวิธีแก้ปัญหาอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม"


 


นายพรชัย สุคัณธสิริกุล รองประธานชุมชนหมู่บ้านเวียงทอง กล่าวว่า มีตัวเทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามาสำรวจชุมชนเวียงทอง ชุมชนพร้าวนอก และชุมชนในอำเภอป่าแดด เรื่องการสร้างพนังกั้นแม่น้ำปิง โดยกลุ่มอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ได้ต่อต้านการสร้างพนังกัน้นน้ำตลอดเวลาและบอกกับชาวบ้านว่าเพราะพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นแอ่ง เป็นพื้นที่ลุ่มมาก่อน จึงหลีกเลี่ยงเหตุการณ์น้ำท่วมไม่ได้ แต่นักอนุรักษ์ไม่ได้คิดถึงคนที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ต่อไปในหมู่บ้านเวียงทองและไม่มีที่อยู่ในพื้นที่จึงไม่ทราบปัญหาว่าชาวบ้านต้องแบกรับความเสียหายจากนำท่วมตลอดเวลาเพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาความช่วยเหลือที่จะได้รับก็ไม่ไเคยได้รับการประสานเข้ามาหลังจากเจ้าหน้าที่มาดูความเสียหายแล้ว ทำให้ชาวบ้านต้องเสียเงินซ่อมแซมบ้านเรือนเอง ทั้งที่พื้นที่นอกเขตเทศบาลได้รับเงินช่วยเหลือแล้วโดยเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งล่าสุด มีผู้เสียชีวิต 1 คน เพราะน้ำเข้าปากแล้วติดเชื้อขณะขนของหนีน้ำ


 


"คนที่ซื้อบ้านไว้อยู่ไม่ถึง 3 เดือน อยู่ไม่ได้ต้องหาที่อยู่ใหม่ บางคนต้องอยู่อย่างผวา จนต้องพึ่งจิตแพทย์ โดยตนเองถึงกับเส้นประสาทหลังเสียขณะแบกของหนีน้ำท่วม ป้าคนหนึ่งในหมู่บ้าน ผวาอยู่ตลอดเวลาเมื่อฝนตกจนเกือบเสียสติ เมื่อปริมาณน้ำสูงขึ้น ต้องเข้ามาถามด้วยหน้าตาเป็นกังวลว่าน้ำมาคราวนี้น้ำจะท่วมไหม จะได้เตรียมเก็บของ ทั้งๆที่แค่ฝนตก "


 


ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือไปทางเทศบาลฯ ให้นำพนังแบบเคลื่อนที่ได้มาป้องกันแล้วซ้อนด้วยกระสอบทรายอีกครั้ง เพื่อป้องกันน้ำที่มีความแรง โดยจะมีการป้องกันตั้งแต่หัวสะพานเม็งราย ถึงหัวสะพานเนาวรัตน์ แม้จะเป็นการป้องกันได้เพียงบางส่วน แต่ก็ทำให้ชาวบ้านคลายกังวลลงบ้าง และประชุมกับประธานชุมชน เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำ ประสานข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมอุททกศาสตร์ เพื่อจะได้แจ้งให้ชาวบ้านเตรียมรับมือได้ทัน


 


ด้านแหล่งข่าวจากเทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ด้านงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา เบื้องต้นเทศบาลฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือในการแจกจ่ายอาหาร เครื่องยังชีพขณะน้ำท่วม ส่วนเงินช่วยเหลือที่นำไปช่วยเหลือชุมชนด้านอยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ในพื้นที่นอกเขตเทศบาล จากการสำรวจแล้วมีพื้นที่เสียหายน้อยกว่าในเขตเทศบาลฯ โดยได้จัดสรรงบช่วยเหลือจากกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย


 


ส่วนความเสียหายในเขตเทศบาล ซึ่งจากการสำรวจความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั้ง 4 ครั้ง สามารถประเมินความเสียหายเป็นเงินช่วยเหลือกว่า 53 ล้านบาท โดยได้ทำเรื่องของบประมาณจำนวนนี้ไปยังกองสลากกินแบ่ง ซึ่งขณะกำลังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดต้องรอการอนุมัติงบประมาณจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอย่างเดียวและความช่วยเหลือในด้านความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม ไม่แยกประเภทชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนบ้านจัดสรร หรือหมู่บ้านก็ได้รับความช่วยเหลือเท่าเทียมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net