เหตุผลและข้อมูลประกอบแถลงการณ์สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค

1.  กรณีให้ยกเลิกROIC 

 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก โดยนำอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ ค่า Ft ซึ่งปัจจุบันมีค่าเท่ากับ 0.4683 บาท/หน่วย รวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ปัจจุบันมีค่าเท่ากับ 2.25 บาท/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าฐานปรับขึ้นเป็น 2.72 บาท/หน่วย ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าฐานอัตราใหม่จะคงไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2548 จนถึงปี 2551 โดยค่า Ft จะปรับใหม่คงไว้ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบให้ใช้อัตราผลตอบแทนการลงทุนเป็นหลักเกณฑ์ทางการเงินหลัก ในการกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้า           

ผลการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การกำหนดค่าไฟฟ้า จากเดิมก่อนแปลงสภาพกฟผ. เคยใช้หลักเกณฑ์ด้านกระแสเงินเป็นหลัก คือ อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ อัตราส่วนรายได้สุทธิต่อการชำระหนี้ และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน    แต่ในการเตรียมการแปรรูปและการกระจายหุ้น บมจ. กฟผ. ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดค่าไฟฟ้าฐานเพื่อดึงดูดนักลงทุนในตลาดหุ้น โดยกำหนดให้ กฟผ. มีผลตอบแทนจากเงินลงทุน (Return on Invested Capital: ROIC) หรือประกันกำไรให้นักลงทุน ในระดับ 8-9% ในช่วงปี 2549 -2551 ซึ่งมีผลให้ในปัจจุบันกฟผ.ต้องมีROIC หรือผลตอบแทนการเงินลงทุนอยู่ที่ 8.39%  ซึ่งหมายความว่าการลงทุนทุก 100 บาท ต้องได้กำไรแน่นอนไม่น้อยกว่า 8.39 บาท  ในขณะที่เปรียบเทียบเกณฑ์ส่วนใหญ่ทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 4.2% เท่านั้น

 ซึ่งในการศึกษาโครงสร้างค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ไม่เคยมีการเผยแพร่ผลการศึกษาหรือจัดสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจนได้มีการตัดสินโดยคณะรัฐมนตรีจึงได้มีการเผยแพร่รายละเอียด ผลของการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์โครงสร้างค่าไฟฟ้าโดยการยกเลิกแบบเดิมมาเป็น ROIC นั้น ทำให้ต้องขึ้นค่าไฟ สูงกว่าการใช้หลักเกณฑ์เดิม เพราะต้องประกันผลกำไรจากการลงทุน

            สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคได้พิจารณามติ ครม. ดังกล่าวแล้วเห็นว่า


  1. ต้องทบทวนมติ ครม. ดังกล่าว เนื่องจากพบว่ามีความไม่โปร่งใส ดำเนินการแบบเร่งรีบ และผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหลักไม่มีส่วนร่วม  

Ø       การปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานโดยการนำค่า Ft  0.4683 บาท/หน่วย ไปรวมกับค่าเดิมที่ 2.25 บาท/หน่วย เป็น 2.72 บาท/หน่วย  เป็นการกระทำที่ง่ายเกินไป ขาดหลักการรองรับ และไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากโครงสร้างค่าไฟฟ้าปัจจุบัน ได้ประกาศใช้ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2543 ภายใต้สมมติฐานต้นทุนตัวเลขต่าง ๆ เช่น การประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้า แผนการลงทุน  รายได้บริษัทในเครือ  อัตราดอกเบี้ยเงินกู้  ภาระการชำระหนี้ ฯลฯ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ควรจะต้องมีการทบทวนใหม่ทั้งหมด    เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว มิเช่นนี้แล้วจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายค่าไฟฟ้าสูงกว่าที่ควรจะเป็น  ดังนั้นการปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้าจึงควรปรับปรุงให้เป็นระบบ  มีหลักการ และความโปร่งใส มิใช่ทำเพียงลวก ๆ รีบ ๆ ลับ ๆ เพียงเพื่อรองรับแผนการแปรรูปการไฟฟ้าเท่านั้น

Ø       ในส่วนของการปรับสูตรค่า Ft  การตัดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อออกไปนั้น  เป็นสิ่งที่ถูกต้องในหลักการ แต่จะต้องปรับสมมติฐานดังกล่าวในค่าไฟฟ้าฐานให้ถูกต้องเป็นปัจจุบันด้วย  มิเช่นนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า เนื่องจากในปัจจุบันองค์ประกอบค่า Ft ในส่วนดังกล่าวมีค่าติดลบ ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์

Ø       องค์ประกอบของค่า Ft ที่คงอยู่ คือ ค่าเชื้อเพลิง และค่าซื้อไฟฟ้า ได้กลายเป็นช่องทางในการผลักภาระให้ผู้บริโภค โดยไม่มีการตรวจสอบที่เพียงพอ ทั้งจากราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งขึ้นสูงโดยไม่เป็นธรรม  ทั้ง ๆ ที่เป็นทรัพยากรของคนไทย และจากราคารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทเอกชน และบริษัทลูกของ บมจ. กฟผ. ที่ได้มีการประกันกำไรในอัตราสูง ค่า Ft ในส่วนนี้จึงเปรียบเสมือนบ่อนรองรับความกระหายกำไรของ ปตท. กฟผ. บริษัทในเครือของกฟผ. และบริษัทเอกชนอื่น ๆ โดยปราศจากการถ่วงดุล อีกทั้งโครงสร้างกิจการยังมีลักษณะผูกขาดตั้งแต่การจัดหาเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้า การส่ง และการจำหน่ายไฟฟ้า จึงไม่มีแรงจูงใจใด ๆ ในการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้ดีขึ้น นอกจากนี้ในอนาคต บมจ. กฟผ. ยังสามารถหากำไรโดยให้บริษัทในเครือลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า แล้วขายไฟฟ้ากลับมาให้ กฟผ. (ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดการซื้อไฟฟ้า) ในราคาสูง ซึ่งภาระจะถูกส่งผ่านค่า Ft ไปยังผู้บริโภค และกำไรจะตกเป็นของผู้ถือหุ้น


  1. ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ และทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าเพื่อให้มีความโปร่งใส และเป็นธรรม

 

2.    กรณีความไม่มีประสิทธิภาพของปตท.และผลักภาระมาสู่ผู้บริโภคในรูปค่าไฟฟ้า

การผูกขาดธุรกิจก๊าซฯ โดย ปตท. และการกำกับดูแลที่ไร้ประสิทธิภาพโดย กพช. และสนพ. ก่อให้เกิดความเสียหายจากการให้บริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพ บมจ. ปตท. เป็นผู้ผูกขาดธุรกิจก๊าซฯ ถึงแม้จะทำกำไรจำนวนมหาศาลจากการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค แต่กลับไม่มีการปรับปรุงการบริการให้มีประสิทธิภาพสมกับค่าบริการที่เรียกเก็บในอัตราสูง

ที่ผ่านมา ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เพียงแค่จะต้องจะยอมรับผลกระทบจากการดำเนินการที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่ยังต้องรับภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นด้วย เช่น

-  การเพิ่มค่า Ft ในเดือน กุมภาพันธ์ 2547  เนื่องจากแหล่งเยตะกุน ไม่สามารถผลิตก๊าซฯได้ตามปริมาณที่ตกลงไว้ โรงไฟฟ้าราชบุรีต้องหันมาเผาน้ำมันเตาแทนก๊าซฯ ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีการเพิ่มค่า Ft ในเดือน กุมภาพันธ์ 2547 ที่ผ่านมา

-  การเพิ่มค่า Ft ในเดือนมิถุนายน 2548  เนื่องจากแหล่งบงกชหยุดซ่อม และท่อก๊าซเส้นที่ 1 - 2 เต็ม ทำให้ไม่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติได้อย่างเพียงพอ ต้องหันมาใช้น้ำมันเตาแทน ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีการเพิ่มค่า Ft ในเดือนมิถุนายน 2548

-  ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ปัญหาเรื่องท่อก๊าซธรรมชาติในพม่าที่ไม่สามารถจัดส่งมาให้โรงไฟฟ้าราชบุรีของไทยได้ในช่วงปลายเดือน เม..ที่ผ่านมาทำให้ กฟผ.ต้องกลับไปใช้น้ำมันเตาที่มีราคาสูงกว่าแทนประมาณ 2-3 วัน ส่งผลให้มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 400 ล้านบาท เป็นความผิดของ บมจ.ปตท. แต่กลับให้ กฟผ. ต้องร่วมรับภาระถึงครึ่งหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท