Skip to main content
sharethis


วรดุลย์ ตุลารักษ์ รายงาน

 


 


8 มิถุนายน 2549 หนังสือพิมพ์ Korean Times รายงานผลการสำรวจจริยธรรมของส.ส.เกาหลีใต้ ซึ่งจัดทำโดยองค์กรประชาชนสมานฉันท์และมีส่วนร่วมเพื่อประชาธิปไตย หรือ PSPD (People's Solidarity for Participatory Democracy) ระบุว่า ส.ส.เกาหลีใต้มีผลประโยชน์จากการทำงานอื่นนอกเหนือจากการเป็น ส.ส.


 


องค์กรประชาชนเช่นพีเอสพีดีเกิดขึ้นมาเพื่อหาหนทางหรือวิธีการที่จะทำให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและติดตามจับตาการใช้อำนาจของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ได้ โดยเฉพาะการต่อต้านคอรัปชั่นของเกาหลีใต้  


 


การก่อตั้งองค์กรฯ สืบเนื่องจากเกาหลีใต้ถูกปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการอย่างยาวนานถึง 30 ปี จนกระทั่งปี 1993 (พ.ศ.2536) จึงได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก จากนั้นองค์กรประชาชนฯ พีเอสพีดีก็ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1994 (พ.ศ.2537) และรับทำหน้าที่เป็นองค์กรภาคประชาชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านคอรัปชั่นรายแรกๆ ของเกาหลีใต้  


 


นับแต่นั้น ประชาชนเกาหลีใต้ก็เรียกร้องต้องการให้มีการปฏิรูปและประชาธิปไตยเกิดขึ้น


 


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา องค์กรดังกล่าวได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปนโยบาย และกฎหมายต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น กฎหมายให้ใช้ชื่อจริงในการทำธุรกรรมทางการเงิน กฎหมายป้องกันการฟอกเงิน กฎหมายต่อต้านคอรัปชั่นแบบครบวงจร เป็นต้น ในปัจจุบัน มีระบบสมาชิกที่จ่ายเงินประจำปีให้กับพีเอสพีดีจำนวนกว่าหมื่นคน โดยในปี 2004 (พ.ศ.2547) สมาชิกที่จ่ายเงินมีจำนวนถึง 13,193 คน


 


อย่างไรก็ตาม รายงานที่เพิ่งแถลงออกมาครั้งล่าสุดระบุว่า ส.ส.จำนวน 134 คน จาก 294 คน ทำงานอื่นๆ ไปด้วยนอกจากการเป็น ส.ส.ในรัฐสภา และในบรรดา ส.ส.ทั้ง 134 คนนั้น 52 คนเป็นนักกฎหมาย และอีก 45 คนในจำนวนทั้งหมดรับเงินเดือนประจำจากการทำงานนอกสภา ซึ่งมีทั้ง ส.ส.ที่สังกัดพรรครัฐบาล ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน และส.ส.ที่มาจากพรรคเล็ก เช่น พรรคเดโมแครต เป็นต้น


 


ชังมงจุน (Chung Mong-joon) อดีตผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ฮุนได อุตสาหกรรมหนัก ทำงานด้านอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง ปัจจุบันชังอายุ 55 ปี เป็นรองประธานฟีฟ่าและนายกสมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้ แต่ชังไม่ได้รายงานเกี่ยวกับเงินที่ได้มาจากงานอื่นๆ ให้สาธารณชนรับทราบ


 


ทางด้าน คิมแจวอน (Kim Jae-won) สมาชิกพรรคฝ่ายค้าน (GNP) คนสำคัญ ทำงานอื่นๆ ที่มีเงินเดือนประจำให้ 4 แห่ง รวมทั้งทำธุรกิจทนายเอกชน


 


ทั้งนี้ พีเอสพีดีกล่าวในรายงานเป็นการสรุปว่า "แม้ว่าการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการตกลงเรื่องจริยรรมของ ส.ส.ไป เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยมีจุดประสงค์ต้องการห้ามมิให้ ส.ส. รับผลประโยชน์จากงานอื่นๆ นอกจากงานของรัฐสภา แต่ผลการสำรวจกลับแสดงให้เห็นว่า ส.ส.จำนวนมากไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ตนเองพยายามสร้างขึ้น"  


 


"การออกกฏหรือข้อตกลงคือสิ่งจำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรฐานทางวินัยให้เข้มแข็งในการประเมินจริยธรรมของ ส.ส. เพื่อทำให้พวกเขาอยู่ห่างจากผลประโยชน์อื่นๆ ด้วย"


 


หมายเหตุ


ในงานวิจัยเรื่อง The Role of Civil Society in Combating Corruption in Korea ของจองซังยู ในปี 2002 (พ.ศ.2545) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนในการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการนั้น ใช้ความกล้าหาญต่อการถูกจับติดคุกเป็นหลัก แต่การต่อต้านรัฐบาลคอรัปชั่นที่มาจากการเลือกตั้งต้องใช้ความสามารถในการวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจเป็นฐานของความรู้


 


พีเอสพีดีมีบทบาทนำในประชาสังคมเกาหลีใต้ โดยไม่ต้องแปรรูปไปเป็นพรรคการเมืองที่มีข้อจำกัดมากมาย และสามารถหลีกเลี่ยงทัศนะที่เป็นลบซึ่งประชาชนมีต่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองได้ด้วย


 


สำหรับประเทศไทย ก่อนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะสลายตัวไป (หรืออาจเปลี่ยนไปเป็นพรรคการเมือง) พันธมิตรฯ ควรต้องแปรรูปไปเป็นองค์กรประชาชน เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจสอบและจับตาดูการคอรัปชั่น รวมทั้งเสนอการแก้ไขกฎหมายที่อาจเปิดโอกาสให้เกิดเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนในช่วงที่ผ่านมา เช่น ภาษีจากการขายหุ้น กฎหมายนอมินี เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net