สัมภาษณ์ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์: "400ศพนิรนามพิสูจน์ได้แต่ทำคดียาก"

 

 

วันนี้ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจน์สุนันท์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กำลังจับประเด็นร้อนที่สุดเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ พิสูจน์ศพนิรนามหลายร้อยศพในสุสานที่จังหวัดปัตตานี

 

ขณะที่ "คุณหญิงหมอ" ได้รับมอบหมายจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นผู้วางแผนพิสูจน์ศพนิรนามเหล่านั้น "หมอพรทิพย์" ยังคงสวมหมวกอีกใบเป็นอนุกรรมการติดตามหานายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายมุสลิม ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

อันเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่กำลังผลักดันให้มี "ศูนย์ติดตามผู้สูญหายและพิสูจน์ศพนิรนามตามหลักสิทธิมนุษยชน" ขึ้นมา ขณะที่กระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีนโยบายที่จะทำเรื่องนี้มาก่อน กลับยังไม่มีอะไรคืบหน้า

 

ต่อไปนี้ เป็นความเห็นและข้อเท็จจริง ถึงที่มาที่ไปของการพิสูจน์ศพนิรนาม ณ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากปาก "แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจน์สุนันท์" ที่ถอดจากแถบบันทึกเสียงคำต่อคำ

 

มีแนวทางในการพิสูจน์ศพนิรนามหลายร้อยศพนี้อย่างไร

ระบบการติดตามคนหายกับการพิสูจน์ศพนิรนาม มีอยู่ 3 ขั้นตอน

 

ขั้นตอนที่ 1 ระบบการแจ้งศูนย์กลาง และระบบติดตามบุคคลสูญหาย ข้อมูลนี้ต้องเชื่อมต่อกับผู้พบศพนิรนาม ผู้ติดตามคงจะเป็นตำรวจ แต่จุดรับแจ้งน่าจะมีหลายที่ ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายตำรวจ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือจส.100 หรือร่วมด้วยช่วยกัน

 

ขั้นตอนที่ 2 ระบบดำเนินการเมื่อเจอร่างนิรนาม ซึ่งเราแบ่งเป็น 2 ท่อน

 

ท่อนแรก คือ การตรวจสถานที่เกิดเหตุ เมื่อเจอร่างนิรนาม เราจะแบ่งศพออกเป็น 4 ประเภท ศพสมบูรณ์ อันนี้ไม่ยาก ศพเน่า อันนี้ยาก ศพที่มาเป็นชิ้นเป็นท่อน นี่ก็ยาก ศพที่เหลือแต่โครงกระดูก นี่ก็ยาก เพราะฉะนั้น ทีมตรวจที่เกิดเหตุจึงจำเป็นต้องมีการฝึก อาจไม่ใช่หมอก็ได้ แต่ต้องเก็บรวบรวมพยานหลักฐานได้ดี โดยเฉพาะหลักฐานเกี่ยวกับกระดูก

 

ท่อนที่ 2 คือ การตรวจพิสูจน์ร่างนิรนาม การตรวจร่างนิรนามยิ่งยาก เพราะนอกจากพิสูจน์สาเหตุการตาย พฤติกรรมการตาย และเวลาตายแล้ว ยังต้องพิสูจน์บุคคล การพิสูจน์บุคคลมีวิธีพิสูจน์หลายแบบ หลักๆ คือ ต้องเป็นวิธีพิสูจน์ที่แม่นยำ จะพิสูจน์อย่างไรก็ได้ ทุกอย่างมีความหมาย บางทีมีแต่โครงกระดูกกับเสื้อ เสื้อก็มีความหมาย บางทีไม่ได้อะไรเลย ก็ต้องใช้ดีเอ็นเอ นี่คือ การตรวจพิสูจน์

 

การตรวจพิสูจน์มีหลายวิธี เช่น ตรวจด้วยแล็บดีเอ็นเอ ตรวจฟันอะไรพวกนี้ ในขั้นนี้จำเป็นจะต้องเชื่อมต่อข้อมูลกับศูนย์ลายพิมพ์นิ้วมือของตำรวจ ถ้าศพไม่เน่ามาก ลายนิ้วมือจะบอกได้ แล้วนำไปรวมกับข้อมูลจากศูนย์ดีเอ็นเอ คือ แล็บดีเอ็นเอ เพราะบางทีดีเอ็นเอของศพอาจจะไปเหมือนกับคนที่เคยถูกจำคุก หรือเคยถูกจับกุม ซึ่งตรงนี้จะตอบได้ว่าศพนี้เป็นใคร

 

หลังจากตรวจพิสูจน์เก็บข้อมูลทุกอย่างแล้ว มันมีกระบวนการที่สามารถปั้นออกมาเป็นใบหน้าได้ เมื่อปั้นออกมาเป็นใบหน้า เราก็พอจะทราบว่าผู้ตายเป็นใคร จากนั้น เป็นขั้นตอนการทำคดี การทำคดีในต่างประเทศจะมีทีมเฉพาะ เนื่องจากมันเป็นคดีที่ไม่ง่าย ต้องตั้งทีมพิเศษ เช่น จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองปราบปราม หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะฉะนั้น ระบบการติดตามคนหายกับการพิสูจน์ร่างนิรนามทั่วๆ ไปจะมี 3 อันนี้

 

ถ้าถามว่า แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย ให้ดูท่อนที่ 2 กับกรณีภาคใต้ เราจะเห็นได้ว่าทั่วประเทศไม่มีเกณฑ์กำหนด ดังนั้น ในการดำเนินการเบื้องต้น บางทีหลักฐานต่างๆ มันถูกทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ บางทีการตรวจพิสูจน์อาจจะสมบูรณ์ หรือไม่สมบูรณ์ก็ได้ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เก็บรวบรวมเอาไว้ เอาไปศพไว้ที่วัดดอนยานนาวา เอาไปไว้ที่มูลนิธิ แล้วยังเผาทิ้งเสียอีก เผาทำลายโดยไม่ได้นำข้อมูลมารวมกัน อย่างน้อยน่าจะต้องมีศูนย์รวบรวมข้อมูลว่า เจอศพผู้ชาย - ผู้หญิงที่นี่ รูปถ่ายใบหน้าเป็นอย่างนี้ ศูนย์อันนั้นยังไม่มีเลย

 

ข้อมูลเบื้องต้นที่สุสานจังหวัดปัตตานี มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง แล้วจะตรวจพิสูจน์อย่างไร

ข้อมูลของที่นี่มันไม่แตกต่างไปจากข้อมูลศพนิรนามทั่วประเทศ แต่สิ่งที่เราเจอที่นี่นับว่าโชคดี คือ ทางมูลนิธิฯ ดูแลดี มีการจัดเก็บศพเป็นช่องๆ แล้วลงข้อมูลเอาไว้ แต่ถ้ามีเฉพาะข้อมูล แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นข้อมูลของช่องไหน มันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่รู้ว่าแต่ละข้อมูลเป็นข้อมูลของโครงร่างไหน พอมีการระบุมันก็พอจะพิสูจน์บุคคลได้ ตามหาหาสาเหตุได้

 

แนวทางในการตรวจสอบ จะต้องตอบให้ได้ว่า เป็นโครงร่างของใคร แต่ถึงแม้จะรู้ว่าเป็นใคร ก็คงยากที่จะตอบได้ว่า ใครทำให้เขาตาย เพราะไม่มีการบันทึกว่าเหตุเกิดขึ้นในท้องที่ใด การตรวจพิสูจน์เที่ยวนี้ เป็นเพียงโครงการนำร่อง สำหรับการวางระบบการลงที่เกิดเหตุในอนาคต

 

ที่มาที่ไปของการเข้ามาพิสูจน์ศพครั้งนี้

หมอทำเรื่องนี้มา 10 ปี แต่ไม่ค่อยคืบหน้า เราผลักดันในเชิงระบบมานานแล้ว จนกระทั่งปี 2548 รัฐบาลมีนโยบายเรื่องนี้ขึ้นมา ก็พอดีเกิดกรณีคุณสมชาย นีละไพจิตร และคนในภาคใต้ถูกอุ้มหาย เราเลยเริ่มทำเรื่องนี้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน ต้องไปหาศพนิรนาม มีกี่คน ที่ไหนบ้าง เอามาผนวกกัน ไม่ว่าคุณสมชายหาย หรือใครหาย นี่คือที่มาที่ไป

 

ดำเนินการเรื่องนี้ในระดับนโยบายอย่างไรบ้าง

นโยบายนี่ส่วนใหญ่เป็นคำพูดว่าสนับสนุน แต่ในภาคปฏิบัตินี่ไม่ สังเกตได้ว่ามันมีปัญหาในการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีข้อขัดข้องตลอดก็ไม่มีผู้แก้ไขให้ เรื่องตั้งศูนย์พิสูจน์ศพก็ไม่สำเร็จ มันเลยทำให้งานมันไม่คืบ ไม่สามารถตกลงกันได้ ถ้าหน่วยงานหนึ่งไม่ร่วมมือ พอเราเสนอแก้ระเบียบกฎหมายบางอันเข้าที่ประชุม ระเบียบนั้นก็ถูกดองเอาไว้อีก ถ้าถามในระดับกระทรวงก็ทำได้สูงสุดแค่นี้ เพราะปลัดฯ ไม่มีอำนาจจะไปบังคับตำรวจ ถามทางรัฐมนตรี ก็บอกว่าเป็นหน้าที่ปลัดฯ ก็จบ ไม่มีอะไรคืบหน้าไปกว่านี้

 

ในเมื่อต้องทำงานร่วมกับตำรวจ การที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกมาผลักดันศูนย์ติดตามคนหาย มันจะเกิดปัญหาในการทำงานหรือไม่

ถ้าพูดถึงเรื่องอำนาจปุ๊บ มีปัญหาแน่ทุกจุด แต่ถ้าเรามาพูดถึงเป้าหมายของงานว่า มันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เชื่อว่าตำรวจไม่มีปัญหา หน่วยงานใดก็ไม่มีปัญหา วันนี้ กระทรวงยุติธรรม และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่มีอำนาจเรียกตำรวจมาให้ข้อมูล ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจเชิญตำรวจมาให้ข้อมูลได้ เราก็ต้องใช้เส้นทางที่มี เพราะทั้งหมดมันเป็นเส้นทางที่ทำเพื่อประชาชน เป็นกระบวนเข้าถึงความยุติธรรม ซึ่งมีหลายช่องทาง

 

การมาทำงานในพื้นที่ภาคใต้มีผลอย่างไร

หมอเป็นคนเริ่มทำงานนี้ที่ภาคใต้เลย เพราะเราทำงานนิติวิทยาศาสตร์มานาน มันเป็นความผูกพันกับแผ่นดิน เราไม่สามารถปล่อยให้เกิดความวุ่นวาย จนกระทั่งทำให้สูญเสียแผ่นดินได้ มันไม่เหมือนกับกรณีอื่นที่หมอจะอยู่เฉยๆ แต่ในกรณีภาคใต้ หมอคิดว่าเราจำเป็นจะต้องทำเรื่องนี้ เราจึงเสนอตัวเข้ามาทำงานนี้ เมื่อเสนอตัวเข้ามาแล้ว ก็พบว่ามันมีประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเยอะ รวมถึงกรณีมีการอ้างกันว่า มีคนถูกอุ้มหาย เราก็พบว่ามันไม่มีการชันสูตรศพที่สมบูรณ์ การที่มีตำรวจผู้ใหญ่ออกมาบอกว่า มีการชันสูตรตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว เป็นคำพูดของคนที่ไม่รู้เรื่องการตรวจพิสูจน์ศพ ไม่เคยสัมผัสงานด้านนี้ เขาพูดแต่เรื่องกฎหมาย ไม่ได้พูดถึงเรื่องคุณภาพว่า ได้งานที่ทำออกมาดีมีความสมบูรณ์หรือไม่ นี่คือตัวอย่างที่เรามาเจอปัญหา

 

ทำไมถึงถอนตัวออกมาช่วงหนึ่ง

เหตุผลที่ถอนตัว ตอนแรกต้องยอมรับว่ามีความขัดแย้งสูงมาก แล้วไม่มีใครแก้ให้ได้ การทำงานมันเปล่าประโยชน์ คือ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการทำงานของทีมเรา หมอเลยถอนตัวไปทำงานภายใต้ร่มของกองทัพ เพื่อที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง แต่มันขาดงบประมาณสนับสนุน ก็เลยมีคำสั่งยุบหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ของทหาร เราก็เลยไม่มีร่มให้มาทำงานในภาคใต้ เป็นการถอนเพื่อไม่ต้องจัดเตรียมงบประมาณในส่วนเบี้ยเสี่ยงภัย ถ้าถามจริงๆ ถึงปัญหา หมอเชื่อว่าลึกกว่านั้น มันเป็นความพยายามที่จะให้เราถอนออกไปจากพื้นที่ให้ได้ เขาต้องการให้เหลือเพียงหน่วยงานเดียว ไม่มียุติธรรม ไม่มีทหาร มีแต่ตำรวจ

 

ถอนตัวตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549

 

อยู่ใต้ร่มของทหารหมายความว่าอย่างไร

หมายความว่า ตั้งแต่ตอนแรกเราเข้าลงมาเราก็อยู่ภายใต้กองทัพภาคที่ 4 เนื่องจากภายใต้กฎอัยการศึกทหารเองก็มีอำนาจ ในการเข้าถึงคดีด้วย พอมาวันนี้มันอยู่ภายใต้พระราชกำหนดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อำนาจมันไปอยู่ที่ตำรวจหมด ซึ่งที่ผ่านมามันคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง

 

แล้วมีผลกับคดีหรือเปล่า

ไม่มี เพราะมันเหมือนเดิม ผลการทำงานของเราเขาไม่ได้เอาไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นผลตรวจดีเอ็นเอ ผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น มันจึงไม่มีอะไรแตกต่าง

 

กรณีพิสูจน์ศพสึนามิเอามาปรับใช้กับการพิสูจน์ศพที่นี่ได้หรือไม่

กรณีสึนามิกับจังหวัดชายแดนภาคใต้เทียบกันไม่ได้ เพราะที่สึนามิมันเป็นอุบัติภัยหมู่ ตอนพิสูจน์บุคคลมันจะเป็นอีกแบบหนึ่ง มันต้องเร่งรีบ ถามว่าได้ประสบการณ์อะไร ก็ได้อยู่แล้วเยอะแยะ เป็นประสบการณ์ที่หลายคนไม่เข้าใจ คิดว่าศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์เป็นเรื่องเดียวกับการพิสูจน์บุคคลสูญหาย มันไม่ใช่ เรื่องพิสูจน์เอกลักษณ์มันเป็นเรื่องการพิสูจน์บุคคล แต่ศูนย์พิสูจน์คนหายมันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน คือ พูดง่ายๆ ก็คือว่า คุณสมชายที่ถูกอุ้มหาย ใครจะเป็นคนตามหาให้เจอ

 

ทราบว่าประเทศไทยขาดผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากกระดูก ตรงนี้จะทำอย่างไร

จริงๆ ศพตอนที่เข้ามามันไม่เน่า แต่เป็นเพราะเราขาดระบบบันทึกและจัดเก็บข้อมูล ไม่ได้ถ่ายรูป ไม่ได้อะไรเลย ตรงนี้ถ้าเราจะพิสูจน์บุคคล ก็เป็นศพที่เหลือเพียงกระดูก จำเป็นต้องพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญกระดูกเท่านั้น นั่นคือ พิสูจน์เบื้องต้นว่าอายุเท่าไหร่ รูปพรรณสัณฐานอย่างไร อะไรประมาณนี้ ต้องพิสูจน์จากกระดูก ตรงนี้เราจะพิสูจน์ที่ฟันก็ได้

 

ในภาคใต้บางครั้งต้องทำงานกับมุสลิม อาจจะต้องขุดศพในกุโบร์ขึ้นมาจะทำอย่างไร

หมอเชื่อว่า ความจริงใจและความมุ่งมั่น ที่จะทำเพื่อความยุติธรรม เพื่อความโปร่งใส ปัญหาอุปสรรคจากข้อบังคับของศาสนาคงไม่มี จุดนี้จะไม่เป็นปัญหา ถ้าเราดูจากระบบมุสลิมสากล จะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท