เสวนา นิธิ-ศรีศักดิ์-สุเนตร : พระมหากษัตริย์ จักรพรรดิราชและพื้นที่ทางวัฒนธรรม

การเป็น "จักรพรรดิราช" เป็นเพียงการสำแดงตนของพระมหากษัตริย์แบบหนึ่งเท่านั้น เพราะพระมหากษัตริย์สามารถสำแดงตนได้หลายรูปแบบในต่างกรรมต่างวาระเพื่อการบางอย่าง แต่การสำแดงตนไม่ว่ารูปแบบใดล้วนมีผลผูกพันต่อประชาชนทั้งสิ้น  


 

อ่านปัจจัยใดที่หล่อหลอมความเป็นพระมหากษัตริย์สู่ความเป็น "จักรพรรดิราช" แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บนพื้นที่วัฒนธรรม "กรุงเทพมหานคร" ในมุมมอง "นิธิ เอียวศรีวงศ์" นักประวัติศาสตร์การเมืองวัฒนธรรม "ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม" นักวิชาการทวนกระแสนักโบราณคดีสายหลักที่เอาแต่จดข้อมูลตามวิทยาศาสตร์ และ "สุเนตร ชุติทรานนท์" ผู้ใช้หลักฐานทางพม่า คลี่คลายทัศนะผิดๆ เกี่ยวกับพม่าในทางประวัติศาสตร์

 

อ่านข้อมูลพื้นฐานเพื่อทำความเข้าใจสังคมไทยที่พระมหากษัตริย์มีบทบาทอย่างถึงจิตวิญญาณ

 

นักวิชาการทั้งสามมาบรรจบกันเนื่องในมหามงคลสมัย "ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี" ที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเป็นวงเสวนา "กรุงเทพฯพื้นที่ทางวัฒนธรรมของ มหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยาราชธานีวงศ์ - พระราม" ณ ท้องพระโรง วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549  

 

0 0 0

 

สุเนตร ชุติทรานนท์

 ผู้อำนวยการศูนย์ไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

หากคิดถึงสถานภาพของพระมหากษัตริย์ไทยในยุคจารีต หรือพระมหากษัตริย์บ้านเมืองอื่นในอุษาคเนย์ ความเป็นจักรพรรดิราชเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในการสำแดงพระองค์ให้เป็นที่ปรากฏ เพราะการสำแดงพระองค์มีหลายแบบ แบบแรกคือสำแดงตนเป็นธรรมราชา เป็นความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับราษฎร มีทศพิธราชธรรมเป็นบรรทัดฐาน

 

แบบสองคือสำแดงตนเป็นพระโพธิสัตว์ คือเป็นผู้ปกครองที่แสดงความเอื้ออาทรต่อปากท้องประชาราษฎร์ แบบนี้พระมหากษัตริย์พม่าเก่งมาตั้งแต่สมัยพุกาม หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งเขมรก็เป็นแบบนี้ เช่นสร้างโรงพยาบาลตามที่ต่างๆ ที่มีอิทธิพลไปถึง ส่วนผู้นำไทยก็มี เช่น พระเจ้าลิไทหรือรัชกาลที่ 1

 

ส่วนแบบการสำแดงตนเป็นจักรพรรดิราชนั้นไม่อยู่ในเรื่องความสัมพันธ์กับประชาราษฎร์ แต่จะใช้แสดงต่อเจ้าต่างแดน ในลักษณะที่เรียกว่าเป็นผู้หมุนกงล้อต่างๆ เช่น ล้อแห่งธรรม หรืออาวุธที่หมุนไปมีอิทธิพลตามทวีปอื่น เช่น จักร ตรงนี้จะต่างจากความเป็นธรรมราชาหรือพระโพธิสัตว์ เพราะต้องแสดงความเหนือกว่าเจ้าต่างแดนทั้งหลาย เป็นราชาแห่งราชา ในอินเดียก็มี มองโกลก็มี เช่น ข่านเหนือข่าน

 

คติราชาเหนือราชาของไทยมีพื้นฐานยึดโยงกับอินเดียเป็นหลัก คติเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราชมีต้นตอหรือต้นแบบอย่างน้อยสี่คติความเชื่อ คติแรกคือพราหมณ์ฮินดู สองพุทธเถรวาท สามพุทธมหายาน และสี่อาจจะมีเรื่องพระเจ้าราชาธิราชของศาสนาเชนด้วย

 

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ของไทยก็มาจากคติไตรภูมิพระร่วงที่กล่าวถึงความเป็นจักรพรรดิราช เป็นพื้นฐานของพุทธเถรวาทที่เน้นการแผ่อำนาจด้วยวิธีสันติและบุญญาบารมีอันปกครองได้ทั้งสี่ทวีป

 

ทว่าเมื่อดูกันจริงๆ ทั้งกษัตริย์พม่าหรือไทยเวลาแผ่อำนาจจะไม่อาศัยวิธีอันสันติ มักขยายด้วยวิธีการค่อนข้างใช้กำลังเป็นหลัก แนวคิดนี้ผนวกมาจากความเชื่อสายมหายานที่บอกว่าพระเจ้าจักรพรรดิราชนั้นมีสี่ประเภท

 

หนึ่งคือจักรพรรดิ "จักรทอง" แผ่อำนาจโดยธรรมครองได้สี่ทวีป สองจักรพรรดิ "จักรเงิน" ครองสามทวีป สามจักรพรรดิจักร "ทองแดง" ครองสองทวีป และสุดท้ายจักรพรรดิ "จักรเหล็ก" ใช้กำลังแผ่อำนาจ ปกครองแค่ชมพูทวีปทวีปเดียว พม่าก็อ้างแค่การเป็นจักรพรรดิจักรเหล็ก คือขอครองชมพูทวีปแห่งเดียวก็เพียงพอ พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาเองก็คล้ายกัน คือใช้กำลังเป็นที่ตั้ง หากพิจารณาตามคติสายพุทธหมายถึงยอมรับเพียงการเป็นจักรพรรดิจักรเหล็กเท่านั้น

 

ความเชื่อจักรพรรดิราชที่เก่าแก่กว่านั้น มาจากศาสนาฮินดูที่ค่อยขยายผลไปยังศาสนาพุทธในภายหลัง ในคัมภีร์ต่างๆ ของศาสนาฮินดู จะพูดเรื่องจักรพรรดิที่ครองเมืองจากเหนือไปจรดใต้ คือจากเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงฝั่งสมุทร ความเชื่อแบบนี้งอกเงยไปในสายของประเทศเขมร มีปรากฏหลักฐานเป็นจารึกที่ปราสาทสะด๊อกก็อกธม

 

ต่อมาเขมรเมื่อนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ก็มีความเชื่อของมหายานไปผสมด้วย เช่น จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระบุว่า มีอำนาจไปจรดอีกฝั่งสมุทรหนึ่ง ความเชื่อนี้ไปปรากฏในสมัยสุโขทัยเช่นกัน หากเชื่อว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 สร้างในสมัยนั้น อำนาจของพ่อขุนรามฯที่ระบุไว้ก็ไปจรดฝั่งสมุทรเช่นกัน

 

สรุปได้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยสามารถแสดงความเป็นจักพรรดิราชได้ในหลายลักษณะไม่ใช่แค่มาจากทางไตรภูมิเพียงอย่างเดียว มีคติมาจากหลายที่หลายทางแล้วจับมาเป็นรูปลักษณ์เพื่อสำแดงตนให้ปรากฏ

 

นอกจากนี้การเป็นจักรพรรดิราชไม่ได้สำแดงตนเพียงในด้านอุดมคติ แต่จะมองหาต้นแบบทางประวัติศาสตร์เพื่อบอกว่ามีสถานะเช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ในอดีตพระองค์นั้น โดยต้นแบบที่ถูกอ้างถึงมากในช่วงแรกคือ "พระเจ้าอโศก" เจอทั้งหลักฐานในพม่าและสุโขทัย

 

ทว่าคนในพื้นถิ่นนั้นกลับไม่พอใจนัก ตรงนี้มีพลวัตรภายในเองด้วย ภายหลังจึงอ้างถึงพระมหากษัตริย์ในพื้นที่แทน องค์แรกที่ถูกอ้างคือพระเจ้าอนิรุทธ ปรากฏเป็นตำนานทั้งในพม่า มอญ ไทยไปจนถึงเขมร

 

องค์ต่อมาคือพระเจ้าราชาธิราชของมอญ ถูกบุเรงนองยกเอามาเป็นต้นแบบ โดยพูดถึงกฤษฎาภินิหารต่างๆ อาจเป็นเพราะตัวบุเรงนองเองไม่มีเชื้อกษัตริย์ที่แน่ชัดจึงต้องสร้างภาพลักษณ์ของราชาธิราชที่ยิ่งใหญ่ และแสดงตัวตนให้เป็นพระเจ้าสิบทิศ

 

ทีนี้มาในยุคต้นกรุงเทพบ้าง พงศาวดารที่ปรากฏในช่วงต้นกรุงกล่าวอ้างถึงกษัตริย์เพื่อเทียบความเป็นจักรพรรดิราชไว้สองคน คนแรกคือพระเจ้าหงสาวดี ส่วนคนที่สองคือพระนเรศวร

 

ในช่วงต้นกรุงนั้นต้องเผชิญปัญหาแรกคือ การไม่อ้างถึงหรือยอมรับราชวงศ์บ้านพลูหลวงแห่งกรุงศรีอยุธยาและให้ภาพผู้ร้ายที่ไม่ควรเอาแบบอย่าง ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงไม่มีหลักฐานในการสืบสันตติวงศ์จากกรุงศรีอยุธยาจึงต้องหาต้นแบบ ต้องอ้างความเป็นธรรมราชา อ้างความเป็นพระโพธิสัตว์ และจักรพรรดิที่ไม่ต้องสืบสายเลือดแต่มีบุญบารมี

 

ตอนนั้นยังไม่มีเรื่องชาตินิยม มีแต่ความคิดราชาเหนือราชา จึงต้องอ้างถึงภาพของพระเจ้ากรุงหงสาวดีเป็นต้นแบบทั้งที่เป็นผู้เคยมาตีกรุงศรีอยุธยาเสียด้วยซ้ำ

 

ปัญหาที่สอง คือต้องพิสูจน์ว่าราชธานีใหม่เป็นศูนย์กลางอำนาจหรือจักรวาลใหม่แทนกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ต้องเป็นที่ยอมรับ ตรงนี้ทั้งพระเจ้ากรุงหงสาวดีและพระนเรศวรก็เป็นผู้สถาปนาตัวเองมาเป็นจักรพรรดิได้จึงนำมาอ้างถึง

 

ปัญหาที่สามคือกรุงเทพยังติดศึกเจ้าต่างแดนโดยเฉพาะพม่า การแสดงความเป็นราชาเหนือราชาจึงยังจำเป็น ช่วงนี้เองตำนานพระนเรศวรถูกสร้างอย่างเป็นระบบ และมีมากมายที่ปรากฏในพงศาวดารช่วงต้นกรุง แต่เรื่องเหล่านี้จะไม่ปรากฏหลักฐานในพม่าหรือพงศาวดารที่เขียนในสมัยอยุธยาชัดเจน เป็นตำนานสร้างใหม่อย่างที่กรุงเทพอยากให้เป็น

 

แต่ต่อมาระบบการเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่อำนาจบารมีผูกติดกับปัจเจกบุคคล ปริมณฑลแห่งอำนาจเคยขึ้นกับบุญบารมี แต่เมื่อฝรั่งเข้ามาก็นำแนวคิดใหม่มาด้วยคือเรื่องผู้ปกครอง ความชอบธรรม และปริมณฑลอำนาจที่มีขอบเขตชัดเจน พระมหากษัตริย์ไทยยุครัตนโกสินทร์ช่วงหลังจึงไม่ยอมรับปริมณฑลอำนาจแบบโบราณอีก จนเมื่อเข้าสู่ยุครัฐชาติก็เกิดคติใหม่ บุเรงนองกลับกลายเป็นผู้ร้ายแทน คู่กับพระนเรศวรที่ไม่ใช่จักรพรรดิราชแต่เป็นในผู้กู้ชาติกู้แผ่นดิน เป็นตำนานคนละชุดกับสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในกระบวนการเดียวกันนี้ บุเรงนองในยุครัฐชาติก็ไม่ใช่บุเรงนองแบบที่พม่ารู้จัก

 

0 0 0

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

ถ้ามองว่าการกระทำของราชวงศ์จักรีเป็นการรื้อแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยาอย่างเดียวนั้น แสดงว่าไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ในรอบสองร้อยปีนี้ดีพอ แต่ถ้าเข้าใจว่าสร้างใหม่ก็จะเข้าใจมากขึ้น

 

แม้ว่าฝรั่งจะเข้ามาแล้ว แต่ไทยไม่เคยเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมเลย แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมโหฬารก็ตาม ที่เป็นอย่างนี้เพราะมีการปรับตัวของชนชั้นนำก่อนหน้าที่ฝรั่งจะเข้ามา และปรับตัวโดยรักษาอำนาจให้สืบเนื่องได้

 

หากพิจารณาจากเพลงยาวของวังหน้า ทำให้รู้สึกได้ว่า คนที่หนีพม่ามาสร้างประเทศใหม่นั้นช็อกเพราะแกนหลักของโลกที่เชื่อกันมาเสียไป จึงมีผลกระทบกับนโยบายการเมืองใหม่ที่ไม่อยากสืบทอดจากกรุงศรีอยุธยา

 

จักรพรรดิราชจึงต้องรักษาอำนาจให้มั่นคงในประเทศราชซึ่งในสมัยอยุธยาไม่ค่อยมีนัก เช่นการไม่สนในการรักษาเชียงใหม่ในสมัยหลังจากพระนเรศวร เป็นต้น แต่ในกรุงเทพตรงกันข้าม คือเข้าไปมีอิทธิพลที่ไหนต้องพยายามรักษาและพยายามแทรกแซงทางการเมืองเท่าที่จะทำได้ เช่นกษัตริย์กัมพูชาสวรรคตกรุงเทพก็คิดแต่งตั้งให้ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีทายาทเป็นพี่น้องกัน ก็ระบุให้กัมพูชาเลือกกษัตริย์ที่โง่กว่าอย่างชัดเจน

 

เชียงใหม่ก็ไม่ยอมให้เป็นศูนย์กลางของล้านนาอีกต่อไป ให้ทุกแคว้นขึ้นกับกรุงเทพ เป็นการแบ่งแยกแล้วปกครอง เหตุผลส่วนที่ทำแบบนี้ก็เพื่อกันพม่าให้อยู่ไกลขึ้น

 

เอกสารสมัยรัตนโกสินทร์ล้วนระบุว่า มีความพยายามคุมประเทศราชมากกว่าสมัยอยุธยา อีกอย่างคือขอบเขตการเก็บภาษีที่ขยายขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ในขณะที่อยุธยามีขอบเขตไปถึงแค่ลพบุรี สะท้อนความพยายามขยายอำนาจคุมหัวเมืองมากขึ้นและขยายไปสู่หัวเมืองที่ไม่เคยมีอำนาจเช่น ทวาย มะริด ตะนาวศรี

 

ส่วนการเมืองภายในมีความพยายามคานอำนาจเจ้ากับขุนนางพอสมควร ผลคือทำให้ขุนนางสะสมอำนาจมากจนถึงรัชกาลที่ 4 ขุนนางก็คุม ได้อำนาจพอสมควร

 

ด้านทางเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคือการเข้ามาของจีนแต้จิ๋ว ซึ่งในสมัยอยุธยามีบทบาทน้อยส่วนใหญ่จะเป็นพวกฮกเกี้ยน จีนแต้จิ๋วเข้ามาในลักษณะเสื่อผืนหมอนใบ พวกนี้มีพื้นที่ทำนาไม่พอจึงต้องออกไปหากินในทะเล ไปเป็นโจรสลัดก็มาก พวกแต้จิ๋วเมื่อล่องเรือมาไทยก็ต้องส่งเงินกลับไปบ้านเกิด ดังนั้นพวกนี้จึงเป็นแค่ชาวนาหรือใช้แค่เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ จึงก่อให้เกิดการผลิตภายในนอกเหนือจากข้าวและของป่า

 

การที่พวกนี้เข้ามาจึงมีการส่งออกน้ำตาลที่คุณภาพดีที่สุดในโลก มีการนำเหล็กมาหล่อเป็นกระทะและโซ่ส่งออก เป็นผู้ผลิตพริกไทย กาแฟ ซึ่งการผลิตเหล่านี้ในสมัยอยุธยามีน้อยมาก

 

การค้าภายในเจริญขึ้น เมืองและชุมชนการค้าก็เกิดมากขึ้น เช่น นครชัยศรี อยุธยา ฉะเชิงเทรา จึงกลายเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าสังคม เกิดการเกษตรเชิงพาณิชย์ เช่นสวนฝั่งธนบุรีที่มีการยกร่องสวนเรียงแถวและขุดร่องน้ำ เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นของจีน หรือแม้แต่การผสมพันธุ์ผักผลไม้ก็อาจจะใช่

 

อีกประเด็นคืออุดมการณ์พุทธถูกเน้นสำหรับชนชั้นนำเพื่อให้เกิดความชอบธรรมแห่งความเป็นเจ้า มีการประดิษฐ์ประเพณีใหม่มากกว่าการรื้อฟื้นตามความจำเป็นของสถานการณ์โดยเลือกสรรประเพณีบางอย่างมาให้ความหมายเพื่อสื่อหรือยืนยันให้ผู้ร่วมพิธียอมรับในโครงสร้างสังคมว่า ใครใหญ่ ใครเล็ก หรือใครมีบทบาทหน้าที่อย่างไร เป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงเชิงอำนาจที่ต้องประดิษฐ์ประเพณีใหม่จนเป็นทุกวันนี้

 

0 0 0

 

ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม

มูลนิธิเล็ก - ประไพ วิริยะพันธุ์

 

เป้าหมายของผู้จัดงานเสวนานี้ก็คือความไม่สบายใจที่ทำให้กรุงเทพจากพื้นที่วัฒนธรรมกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่สาธารณะกลายเป็นพื้นที่ของคนไม่มีหัวนอนปลายตีนเพื่อการค้าของคนบางกลุ่ม เป็นโครงสร้างเดรัจฉานที่ทำคนให้เป็นปัจเจกบุคคล จึงมองไม่เห็นประวัติศาสตร์ คนที่อยู่ในโครงสร้างนรกจะมองไม่เห็นอดีต เห็นแต่ปัจจุบัน

 

กรุงเทพเป็นพื้นที่วัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์และคน มีกิจกรรมที่ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว กรุงเทพนั้นเติบโตกว่ากรุงศรีอยุธยาหลายเท่าตัว เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชาติพันธุ์ คลองก็มีมากมาย รวมทั้งมีวัฒนธรรมราษฎร์และวัฒนธรรมหลวง

 

วัฒนธรรมกระฎุมพีก็สำคัญ ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 - 5 คลองทุกคลองก็วิ่งเข้าสู่กรุงเทพ พวกเจ๊กก็เข้ามาทำสวนที่นนทบุรี ธนบุรี เป็นกลุ่มใหม่ที่ทำให้เกิดการค้า ประเพณี และพิธีกรรม

 

สมัยรัชกาลที่ 5 ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงเทพ โครงสร้างก็เปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ แม่น้ำคลองถูกทับหรือถมเป็นถนน การจัดการน้ำจึงเสียหมด เกิดน้ำท่วมกรุงดังในปัจจุบัน เวนิสตะวันออกก็กลายเป็นแค่เมืองมั่วๆ

 

กรุงเทพเป็นเมืองพื้นที่ทางวัฒนธรรม จึงสำคัญกับคนที่อยู่ หมายถึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน หลายๆ อย่างเป็นความทรงจำและรู้สึกร่วมกัน ไม่ใช่พื้นที่ของปัจเจกบุคคล พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีความทรงจำแบบนี้ในประเทศต่างๆ ที่เจริญแล้วจะคงไว้ แต่คงมีแค่ไทยที่จะทำลาย เช่นเปลี่ยนราชดำเนินเป็นช็องเอลิเซ่ ความทรงจำเกี่ยวกับราชดำเนินก็เปลี่ยน จากเดิมที่มีประวัติศาสตร์จากวังสู่รัฐสภา มีหลายอย่างที่น่าจดจำถึงถนนเส้นนี้ แต่ถูกทำลายให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ

 

พระเจ้าแผ่นดินใช้ศาสนามาทำให้เกิดความมั่นคงในกรอบของจักรพรรดิราชย์เพื่อให้เกิดสำนึกร่วมกัน แต่ปัจจุบันไม่มี สัญลักษณ์บางอย่างถูกทำลาย เช่น วัดอรุณราชวราราม ที่จะมองเห็นก่อนวัดพระแก้ว

 

คนสมัยก่อนมาตามคลองมองไม่เห็นกรุงเทพ จึงสร้างแลนด์มาร์กเป็นเจดีย์วัดอรุณฯที่เป็นเสมือนศูนย์กลาง อย่างสมัยอยุธยาก็มีวัดชัยวัฒนาราม เป็นการสืบทอดให้เห็นสัญลักษณ์ผ่านคติศาสนา

 

วัดต่างๆ ล้วนถูกสร้างเป็นศูนย์กลางพิธีกรรมให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจและสังคม แต่เมื่อทุนหลายกลุ่มเข้ามาปฏิสัมพันธ์ เดี๋ยวนี้มองมาก็เห็นตึกคู่ศิวลึงค์ ตามโบราณถือว่าเป็นอัปมงคล เพราะทำลายวัดอรุณฯไป อย่างพม่าเข้าไปยังเห็นเจดีย์ชเวดากองอย่างชัดเจน เป็นสัญลักษณ์ในสังคมพุทธศาสนาเถรวาท

 

กรุงเทพมีลักษณะที่แบ่งเป็นย่าน มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลาง หรือเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น เสาชิงช้า หรือป้อมมหากาฬที่มีความทรงจำของกรุงเทพที่มีคนอยู่ตามชานพระนคร อันเป็นลักษณะของพื้นที่ทางเศรษฐกิจในอดีตที่มาทางเรือ แต่ก็จะถูกไล่ทำลานแอโรบิก อย่างนี้ก็เป็นปัญหาความไม่เข้าใจพื้นที่ทางวัฒนธรรม

 

โครงสร้างที่เริ่มออกฤทธิ์นี้มีมาตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่นำนโยบายเงินผันมาใช้ รวมทั้งปัญหาจากโครงสร้างของข้าราชการ แต่เดิมโครงสร้างอยู่กับพระมหากษัตริย์ที่ต้องมีกติกาคุม ปัจจุบันใช้ไม่ได้ ต้องรับใช้เศรษฐกิจทุนนิยมเสรี

 

ทุนนิยมเสรีนี้เป็นสิ่งผิดปกติเพราะมนุษย์อยู่กันเป็นกลุ่ม แต่ทุนนิยมสร้างปัจเจก ทำให้ตัดมิติทางจิตวิญญาณ กลายเป็นสัตว์ประหลาดรุ่นใหม่ คือปัจเจกเต็มไปหมด เศรษฐกิจพอเพียงก็ไม่เวิร์ค เพราะพระมหากษัตริย์ทรงพอเพียงอยู่คนเดียว 60 ปี ครองราชย์นี้ ก็ต้องกลับมาทบทวนว่า พระมหากษัตริย์มีคุณค่าอย่างไร เช่น พระมหากษัตริย์ใช้ชาดกเรื่องพระเวสสันดรเป็นบทบาทตามประเพณี ปัจจุบันก็ต้องเน้นทานบารมีให้มาก เพราะโครงสร้างเดรัจฉานแบบปัจจุบันคือเอาตะบัน

 

เราต้องมองว่าวัฒนธรรมนั้นไม่หยุดนิ่ง แต่ปรับตามความเป็นอยู่ ต้องสร้างสำนึกร่วมกันที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ของรัฐมันใช้ไม่ได้ ในอดีตใช้ประวัติศาสตร์ที่มีชาติพันธุ์หลากหลาย แต่ไทยบ้าตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้ไทยเป็นเชื้อชาติด้วยเลือดเนื้อเดียว ทั้งนี้ตัววัฒนธรรมต่างหากที่จะทำให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันจึงต้องมีพื้นที่วัฒนธรรมและสังคม กลับมามองกรุงเทพก็เห็นว่าตาย เพราะไม่เห็นสังคม มีคนไม่มีหัวนอนปลายตีนมากมาย ไม่รู้จักกัน ประเพณีใหญ่ๆ จะทำให้เชื่อมสัมพันธ์กันก็ทำให้เปรอะ เช่น สงกรานต์ที่ใช้พื้นที่ถนนขับรถสาดน้ำ แต่ไม่ได้ทำให้รู้จักกันระหว่างบ้านหรือย่านมันก็ไม่ใช่ สงกรานต์ฉิบหายหมดแล้วที่เอาไปขายต่างชาติ

 

คนกรุงเทพที่เข้ามาใหม่ก็สร้างความรู้สึกร่วมได้ แต่ไม่เคยทำ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไปทำแหลกหมด เห็นพื้นที่แต่ไม่เห็นคน มองกรุงเทพต้องเห็นและบวกธนบุรีด้วย แต่กลับไม่มีสัญลักษณ์เชื่อมกันเลย และรัฐไม่พยายามสร้างแบบนี้เพื่อให้เกิดความเป็นมนุษย์ขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท