Skip to main content
sharethis

สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยจัดการประชุมวิชาการเรื่อง "สิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ" เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2549 ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปีที่ได้รณรงค์และทำกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สังคมได้เข้าใจ



 


 


0 0 0


 


อันที่จริงผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรักสักเท่าไหร่ แต่ในวันนี้ต้องพูดถึง "ความรักบนความหลากหลายทางเพศ" (เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย) เวลาผมมีปัญหามักจะเข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เลยได้เจออะไรที่มันทั้งรับได้และรับไม่ได้ เรื่องที่รับไม่ได้เกี่ยวกับความรักในอินเตอร์เน็ตก็คือความรักที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ อย่างที่ในเวบไซต์ของบีบีซี น่าสนใจนะครับ เขามีเกมให้เล่นด้วย แต่ความรักที่เรามาอ่านดูแล้ว มันจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างถูกอธิบายไว้หมดแล้ว


 


ในเวบไซต์ของบีบีซีเขาทำการทดลองและได้ข้อสรุปว่าผู้ชายมักจะเลือกคู่ครองที่มีใบหน้าเหมือนแม่ ส่วนผู้หญิงก็มักจะเลือกผู้ชายที่หน้าเหมือนพ่อ แต่อันนี้เป็นแค่ความรักแบบหญิงและชายนะครับ เพราะฉะนั้นยังไงเราก็หนีไม่พ้นพ่อกับแม่ของเราแน่ ส่วนอันที่สอง เขาให้ผู้หญิงทดลองดมเสื้อยืดของผู้ชายที่ไปเล่นกีฬามา มีเหงื่อเต็ม เขาให้ผู้หญิงดมเสื้อพวกนี้แล้วดูว่าผู้หญิงชอบหรือไม่ชอบกลิ่นไหน พบว่าผู้หญิงมักจะเลือกชอบกลิ่นของผู้ชายที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่างจากเรา


 


เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางเลือกอะไร นอกจากพ่อกับแม่เรา และคนที่มีกลิ่นตัวคนละแบบกับเรา ซึ่งอันนี้เป็นตัวอย่างความรักที่เราฟังแล้วมันเหมือนกับจะบอกว่าการมีความรักถูกกำหนดไว้หมดแล้ว แต่ไม่มีใครบอกว่าถ้าผู้ชายที่ชอบผู้ชาย หรือผู้หญิงที่รักผู้หญิง เวลาที่มีความรัก พวกเขาจะเลือกคู่ครองแบบไหน


 


ในขณะที่คนเรามีความรัก คลื่นแม่เหล็กในสมองของเราก็จะมีสภาพคล้ายกับคนที่เสียสติ แต่ว่าคำจำกัดความอีกอย่างของความรักที่พูดถึงกันมากก็คือความรักไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งผมก็ไม่ชอบความคิดที่ว่าความรักไม่สามารถอธิบายได้เช่นกัน


 


ในการนำเสนอครั้งนี้ ผมได้พยายามมองความรักที่สร้างสรรค์และเหมาะสมที่สังคมสมควรยอมรับ เฉพาะภายในกรอบของการเกิดผลดีต่อคนที่รักกัน เช่น ทำให้คนที่รักมีความสุขกัน ช่วยเสริมพลังชีวิตแก่กันและกัน ภายในกรอบของการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน การรับผิดชอบต่อกัน และความเท่าเทียมกันของคนที่รักกัน หมายความว่า เป็นกรอบการมองความรักในเชิงสุขภาวะและสิทธิมนุษยชน


 


ทั้งนี้ ผมพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยึดติดกับกรอบของสิ่งที่อาจเรียกว่า "บรรทัดฐานทางสังคม" ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและรุงรังเหมือนป่าไมยราบ และมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละสังคม และเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปได้เรื่อยๆ ซึ่ง "บรรทัดฐานทางสังคม" บางส่วนบางด้านอาจมีเหตุผลและมีความชอบธรรมอยู่ก็จริง แต่อีกหลายส่วนมักกลายเป็นแรงกดดันที่ทำลายสิทธิของคนที่จะรักกันหรืออยู่ด้วยกัน ทำลายความเท่าเทียมกัน ทำลายความสุขกระทั่งทำลายชีวิตของคน ที่รักกัน โดยขาดทั้งความยุติธรรมและเหตุผล


 


ยกตัวอย่างคู่รักชายหญิงที่อินเดีย ถูกแขวนคอตายโดยชุมชน สาเหตุเนื่องจากทั้งสองคนสังกัดคนละวรรณะ ทำให้คู่รักคู่นี้ต้องตาย เพื่อรักษาเกียรติยศ ซึ่งก็ไม่ใช่เกียรติยศของคู่รักที่ตาย แต่เป็นการกอบกู้เกียรติยศของครอบครัวทั้งสองฝ่าย


 


ผมจึงพยายามมองออกนอกกรอบของ "ความคาดหวังของครอบครัว" หรือ "ความคาดหวังของชุมชน" หรือ "ความคาดหวังของสังคม" เพราะประการแรก ผมมองว่าสิทธิที่จะรักกันและอยู่ด้วยกันของคนที่รักกัน มาเหนือสิทธิของครอบครัวของเขาหรือสิทธิของชุมชนหรือสังคมของเขา ผมไม่ยอมรับว่าผลประโยชน์ที่ชอบธรรมของชุมชนใดจะถูกกระทบโดยการเปิดเสรีภาพในการรักกันและการอยู่ด้วยกันของคนในชุมชน ยกเว้นเฉพาะบางกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ ประการที่สอง ถ้าเราคิดที่จะต่อสู้เพื่อการปฏิรูปสังคมผมเห็นว่าเราก็ต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่ยุติธรรม หรือที่ไม่เคารพสิทธิของคนไปด้วย


 


ความรักเป็นเรื่องที่ดีงาม สวยงาม เป็นสิ่งที่ให้พลังแก่ชีวิต เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย นี่คือเรื่องหลักที่สังคมควรยอมรับ


 


แต่ความรักเป็นสิ่งที่ต้องผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝนในทางการจัดการ เพราะรักเป็นสิ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงได้หรืออาจไม่ยั่งยืน เป็นเรื่องที่อาจจะหรือมักจะต้องผ่านความผิดพลาดและ/หรือความเจ็บปวดมา กว่าจะพบ "รักแท้" และบางคนอาจพลาดไปซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือไม่พบ "รักแท้" เลยก็ได้


 


ความรักที่สร้างสรรค์ ที่เหมาะสม ที่สังคมควรยอมรับได้ มองในแง่ของสุขภาวะและสิทธิมนุษยชน ควรจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังต่อไปนี้:


 


1.เป็นความรักที่เต็มใจพร้อมใจเท่าทันกันทั้งสองคน (หรือทุกคน - เพราะอาจมีคนที่จะรักกันเป็นกลุ่มก็ได้) บนพื้นฐานการรู้จักกันและเข้าใจกันในสาระสำคัญ  (informed consent)  ไม่เกิดจากการกดขี่ บังคับขู่เข็ญ การกดดัน การใช้อำนาจ การหลอกลวง การรู้ไม่ทันกัน หรือจากความแตกต่างทางวัยวุฒิที่มีผลต่อความเท่าทันหรือความเท่าเทียมกัน


 


2.เป็นความรักที่เท่าเทียมกัน  ไม่มีใครใช้อำนาจเหนือใคร การตัดสินใจทุกอย่างในฐานะของการเป็นคู่ (หรือกลุ่ม) เกิดจากการปรึกษาหารือกันและเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย


 


3.เป็นความรักที่หวงแหน ทะนุถนอมกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ปราศจากการใช้ความรุนแรงทุกชนิดไม่ว่าทางกายหรือทางใจ


 


4.อยู่บนพื้นฐานความไว้วางใจ เชื่อใจ และความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ซึ่งกันและกัน (แต่ไม่อยากใช้คำว่า "ซื่อสัตย์ต่อกัน")  และปราศจากความระแวงต่อกัน


 


5.ไม่มีใครเป็นเจ้าของใคร แต่ทุกคนเคารพสิทธิที่จะมีชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน ทั้งนี้โดยปราศจากการหึงหวงกัน หรือ การสอดแนมกัน


 


6.การมีเพศสัมพันธ์และวิธีการมีเพศสัมพันธ์กันเกิดจากความสมัครใจกันทั้งสองคน (หรือทุกคน) โดยมีความพร้อมเพรียงกันทั้งทางกาย ทางใจ และทางวัยวุฒิ


 


7.ทุกคนยอมรับพร้อมใจในสิทธิที่ของแต่ละคนที่จะเลิกความสัมพันธ์รักและ/หรือแยกทางไป แม้จะเกิดผลกระทบต่อคนอื่นก็ตาม


 


8.หากเกิดการแยกทางกัน ก็เป็นการแยกทางกันแบบรับผิดชอบต่อกันและกัน และรับผิดชอบร่วมกันต่อบุตรหรือบุตรบุญธรรม หรือต่อภาระต่างๆ ที่เป็นภาระร่วมกัน และทุกคนมีความพยายามตั้งใจที่จะรักษาน้ำใจและความรู้สึกที่ดีต่อกันและกันต่อไป


 


ความรักเป็นสิ่งที่ซับซ้อนซึ่งต้องผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝนในทางจิตใจและการจัดการ ดังนั้นการเรียนรู้เรื่องความรักและการจัดการความรักควรจะต้องเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรการศึกษาไทย


 


ความรักกับการมีเพศสัมพันธ์กันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คนเรามีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องรักกัน มีรักได้โดยไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์กัน แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่รักกันสามารถเสริมความรัก ความอบอุ่น และพลังชีวิตของกันและกันได้ - หากเป็นเพศสัมพันธ์ที่ดี  ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์กันจึงมักเป็นความต้องการของคนที่รักกัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการทะนุถนอมต่อกันและความเข้าใจต่อกัน รวมทั้งการยืดหยุ่นต่อกันและกัน


 


การมีเพศสัมพันธ์ที่ดีที่ให้ความสุขแก่กันและกัน (ไม่ใช่ความสุขข้างเดียว) ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เป็นสิ่งที่ต้องผ่านการเรียนรู้และการฝึกฝน ต้องมีลักษณะเป็นการ "ให้" ไม่ใช่การ "กอบโกย" การเรียนรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ ตลอดจนการมีเพศสัมพันธ์ที่ให้ความสุขแก่คนอื่น จึงควรต้องเป็นส่วนสำคัญของหลักสูตรการศึกษาไทย


 


ความรักไม่จำเป็นจะต้องควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นคู่ หรือเป็นกลุ่ม หรืออย่างครอบครัว และไม่จำเป็นต้องควบคู่กับการจดทะเบียนสมรสหรือการแต่งงานกันตามประเพณี แต่คนที่รักกันก็มักจะมีความต้องการหาโอกาสหรือเงื่อนไขที่จะอยู่ร่วมกันในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งก็ไม่จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับ "บรรทัดฐานของสังคม"


 


การมีความรัก การถูกรัก การเลือกคนรักที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ในความรักที่มีต่อกัน น่าจะถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน (ภายใต้กรอบของความสัมพันธ์ที่เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน) และสิทธิดังกล่าวย่อมรวมถึงสิทธิที่จะรักกันอย่างเปิดเผย สิทธิที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเปิดเผย และสิทธิที่ความรักดังกล่าวจะได้รับการยอมรับและรับรองจากสังคม


 


ความรักเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างบุคคล สังคมควรมีบทบาทเข้ามาแทรกแซงตรวจสอบเฉพาะในแง่มุมของการละเมิดสิทธิ การใช้ความรุนแรงทางกายหรือใจ การใช้อำนาจ การบังคับขู่เข็ญ การข่มขืน หรือการเอาเปรียบผู้เยาว์ แต่หากไม่เกิดปัญหาเหล่านี้แล้วสังคมควรปล่อยให้คนที่รักกันใช้ชีวิตร่วมกันตามแบบที่ตกลงกันเอง รวมทั้งให้โอกาสเขาเรียนรู้กันเอง และแยกทางกันได้โดยไม่ต้องซ้ำเติม


 


การเลิกกัน การแยกทางกัน เมื่อความรักเดิมเปลี่ยนแปลงไป หรือมีรักใหม่เกิดขึ้น หรือเมื่อเกิดความผิดพลาด หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ก็ควรจะต้องเป็นสิทธิของคนที่อยู่ในความสัมพันธ์รักเดิมทุกคน ซึ่งสังคมควรจะต้องยอมรับและรับรองเช่นเดียวกัน เพียงแต่คนที่แยกทางไปจะต้องรับผิดชอบต่อภาระที่มีร่วมกับคนรักเดิม เช่น ในเรื่องการเลี้ยงดูบุตร และจะต้องมีการชดเชยกันและแบ่งทรัพย์สินกันอย่างเป็นธรรม  ในเรื่องนี้สังคมอาจต้องมีบทบาทเข้ามาดูแลความยุติธรรมของการจัดการต่างๆ ในการแยกทางกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ตกลงกันเองไม่ได้


 


ความรักควรต้องได้รับการยอมรับให้สามารถอยู่บนพื้นฐานความหลากหลายตามธรรมชาติ เช่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทางศาสนา ทางฐานะและชนชั้น ทางอายุและประสบการณ์ชีวิต ตลอดจนความหลากหลายทางเพศ และความหลากหลายทางความชอบทางเพศ


 


สำหรับชาว LGBT++ (คนที่รักคนเพศเดียวกันหรือรักคนหลายเพศ) ย่อมต้องมีสิทธิเท่าเทียมชายที่รักหญิงหรือหญิงที่รักชาย คือย่อมมีสิทธิที่จะรักกัน มีสิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์กัน มีสิทธิอยู่ด้วยกัน มีสิทธิจดทะเบียนสมรสกัน (ถ้าต้องการ) มีสิทธิแต่งงานกันตามประเพณี (ถ้าต้องการ) มีสิทธิใช้หรือไม่ใช้นามสกุลของคนรัก  มีสิทธิมีบุตรหรือบุตรบุญธรรมกัน (ถ้าต้องการ) รวมทั้งมีสิทธิในการได้รับการยอมรับทางสังคมว่าเป็นคนรักกัน เป็นคู่กัน เป็นคู่สมรสกัน รวมทั้งความเสมอภาคในสิทธิอื่นๆ และหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมาย เช่นในเรื่องการลดหย่อนภาษี สิทธิทางมรดก เป็นต้น และที่สำคัญคือจะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องใดๆ  (เช่นในเรื่องการทำงาน)


 


ปัจจุบันหลายประเทศในโลกมีกฎหมายรองรับการจดทะเบียนสมรสของคนที่รักกันที่เป็นเพศเดียวกัน เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม สเปน  แคนาดา แอฟริกาใต้ และรัฐแมสซาชูเซตของสหรัฐอเมริกา  ส่วนอีกหลายประเทศให้การยอมรับต่อการจดทะเบียนอยู่ร่วมกันเป็นคู่ (Civil Union) เช่น อันดอร์รา อาร์เจนตินา บราซิล โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ อิสราเอล ลักเซมเบิร์ก นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สโลวีเนีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร รัฐส่วนใหญ่ของประเทศออสเตรเลีย (ยกเว้นออสเตรเลียใต้กับออสเตรเลียตะวันตก) ตลอดจนรัฐแคลิฟอร์เนีย คอนเนตทิคัต ฮาวาย เมน นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก เวอร์มอนต์ และวอชิงตันดีซี ของสหรัฐอเมริกา


 


แต่สำหรับประเทศไทยนั้น กว่าเราจะบรรลุความยุติธรรมต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ทั้งหมด เราคงจะต้องร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ความรักบนพื้นฐานความหลากหลายทางเพศ  รวมทั้งสิทธิทั้งหลายของคนที่รักกัน กลายเป็นประเด็นสำคัญของการปฏิรูปทางสังคมควบคู่กับการปฏิรูปทางสังคมด้านอื่นๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญในสถานการณ์ปัจจุบัน


 


เครือข่ายของคนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในด้านการยอมรับความหลากหลายทางเพศ ควรต้องรวมพลังกับเครือข่ายอื่นๆ ที่ต่อสู้ทางสังคมในเรื่องอื่นๆ  โดยหาโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ความเข้าใจและมุมมองซึ่งกันและกัน และหลีกเลี่ยงการเจาะจงต่อสู้เฉพาะประเด็นผลประโยชน์ของตนโดยลำพังอย่างคับแคบ ทั้งนี้เป็นเพราะความอยุติธรรม และการละเมิดสิทธิต่างๆ ทางสังคมมีมากมาย หลากหลาย และมีความเชื่อมโยงโยงใยกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยการรวมพลังกันของทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมต่างๆ เพื่อการสร้างสรรค์สังคมที่เคารพและประกันสิทธิของทุกคนมากกว่าสังคมในปัจจุบัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net