Skip to main content
sharethis


 



ตัวแทนญาติของ "อองซาน ซูจี" ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นกรณีรัฐบาลทหารพม่ากักบริเวณนางซูจี และต่ออายุคำประกาศของคณะข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็นที่เพิ่งถูกยกเลิกไปด้วย


 


คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 หลังจากถูกยกระดับให้เป็นหน่วยงานที่มาแทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกยกเลิกไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตามแผนการปฏิรูปขององค์การสหประชาชาติ


 


ด้วยเหตุนี้ จาเรด แกนเซอร์ ทนายความชาวอเมริกัน ผู้เป็นประธานกลุ่ม Freedom Now และเป็นตัวแทนญาติของนางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะทำงานฯ ว่าด้วยการกักตัวตามอำเภอใจ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่าคำประกาศของคณะทำงานชุดนี้เมื่อปี 2547 ที่ระบุว่าการกักบริเวณอองซาน ซูจี เป็นการละเมิดกฎหมายสากลนั้นได้หมดอายุไปแล้ว หลังจากรัฐบาลพม่าประกาศกักบริเวณนางซูจี ครั้งใหม่เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 จึงจำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์เพื่อย้ำในเรื่องนี้อีกครั้ง


 


การยื่นอุทธรณ์คดีนี้เป็นคดีแรกนับตั้งแต่เปิดตัวคณะมนตรีฯ จึงถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะการปล่อยตัวนางซูจีเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนของประชาคมโลก แต่ทั้งนี้ ทนายความแกนเซอร์ขอสงวนชื่อญาติของนางซูจี ไว้เป็นการส่วนตัว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับญาติผู้นั้น


 


ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้ลงคะแนนเลือกประเทศสมาชิกทั้งหมด 47 ประเทศ เพื่อเข้าเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนที่ตั้งขึ้นใหม่


 


อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ถูกกล่าวหาว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังคงได้รับเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกของหน่วยงานใหม่นี้ ซึ่งได้แก่ประเทศจีน คิวบา ปากีสถาน รัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย ขณะที่เวเนซุเอล่า อาร์เซอร์ไบจัน และอิหร่าน เป็น 3 ชาติซึ่งเสนอตัวเข้ารับเลือก แต่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนไม่ถึง 96 เสียง ตามที่กำหนดไว้


 


ด้านสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยลงคะแนนเสียงคัดค้านการก่อตั้งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ไม่ได้เสนอตัวเข้ารับเลือกเพื่อเป็นสมาชิกของคณะมนตรีดังกล่าว และจอห์น โบลตัน ทูตสหรัฐประจำยูเอ็น ได้กล่าวหลังจากเสร็จสิ้นการลงคะแนนว่าสหรัฐฯ จะยังคงทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนต่อไป และจะใช้อิทธิพลที่มีอยู่ ช่วยให้องค์กรใหม่มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


 


ทั้งนี้ การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะจัดขึ้นวันที่ 19 มิถุนายน 2549 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของอองซาน ซูจีพอดีอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net