Skip to main content
sharethis

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 17 มิ.ย.49 รายงานคำพิพากษาของศาลแพ่ง ตัดสินคดีประวัติศาสตร์ให้คนพิการชาวเยอรมัน ซึ่งใส่ขาเทียมชนะคดี โดยสั่งให้ คอนโดฯ ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของชาวเยอรมันผู้นี้ จัดให้มีที่จอดรถสำหรับคนพิการ ตามกฎกระทรวง พ.ศ. 2548 ที่รับรองสิทธิของคนพิการที่จะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกตามกฎหมาย ด้านภรรยาชาวไทยระบุ เป็นคดีตัวอย่างที่จะทำให้คนพิการทุกคนรู้และรักษาสิทธิของตนเองมากขึ้น


 


ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษาในคดีที่นายแวร์เนอร์ เทรเดอร์ ชาวเยอรมันวัย 64 ปี ซึ่งเป็นผู้พิการใส่ขาเทียม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนิติบุคคลอาคารชุด เดอะ ทรีโอ การ์เด้น ย่านศรีนครินทร์ เป็นจำเลย เนื่องจากนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวซึ่งนายแวร์เนอร์ พักอาศัยอยู่ ไม่ยอมจัดให้มีที่จอดรถสำหรับคนพิการให้กับนายแวร์เนอร์ ทั้งที่ตามกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ.2548 กำหนดว่าที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ ให้จัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด มีพื้นผิวเรียบ มีระดับเสมอกันและมีสัญลักษณ์รูปผู้พิการนั่งเก้าอี้ล้ออยู่บนพื้นของที่จอดรถด้านที่ติดกับทางเดินรถ ในตำแหน่งที่เห็นชัดเจน


 


ทั้งนี้ ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยจัดให้มีที่จอดรถสำหรับคนพิการให้แก่นายแวร์เนอร์ในอาคารที่จอดรถในชั้นที่มีลิฟต์หรือมีทางเข้าออกให้มีขนาดกว้าง 3.80 เมตรคูณ 6.00 เมตร โดยทำสัญลักษณ์แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เป็นที่จอดรถสำหรับคนพิการตามระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ.2544 ให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลภายใน 30 วัน มิฉะนั้น จะถูกจับกุมและถูกคุมขังตามกฎหมาย


 


นางรัศมี เทรเดอร์ ภรรยาชาวไทย กล่าวภายหลังศาลมีคำพิพากษาว่า รู้สึกพอใจในคำพิพากษาของศาลและเห็นว่าเป็นคดีตัวอย่างที่จะทำให้คนพิการทุกคนรู้และรักษาสิทธิของตนเองมากขึ้น


 


ด้านนายบุญฤทธิ์ จีโน ทนายความของนายแวร์เนอร์ กล่าวว่า กฎหมายที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิคนพิการก็ถือว่ายังศักดิ์สิทธิ์และใช้ได้อยู่ โดยโครงสร้างของกฎหมายครอบคลุมดีแล้ว แต่สิ่งที่ควรแก้ไขเพิ่มเติม คือ การเพิ่มสภาพบังคับหรือบทลงโทษไว้ด้วย และคดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและดีใจที่ชนะคดีเพราะนั่นหมายความว่า คนพิการก็มีสิทธิและศักดิ์ศรีที่ต้องได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกันกับบุคคลทั่วไป


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่จะมีการฟ้องร้องคดีนี้ นายแวร์เนอร์ มีที่จอดรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ต่อมาทางนิติบุคคลอาคารชุดได้ยกเลิกป้ายสัญลักษณ์ดังกล่าว และไม่ให้สิทธิในการจอดรถในบริเวณที่ใกล้ทางเข้าออกตัวอาคาร โดยอ้างว่านายแวร์เนอร์ ใส่ขาเทียม สามารถเดินทางไปไหนได้เอง ไม่ได้ใช้รถเข็นหรือวิลแชร์ จึงไม่ถือว่าเป็นผู้พิการที่จะต้องมีที่จอดรถเฉพาะ อีกทั้งนายแวร์เนอร์ สามารถจอดรถได้ทุกพื้นที่ในอาคารจอดรถทั้ง 5 ชั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องจอดชั้นล่างสุดใกล้ทางออกซึ่งเป็นที่จอดรถสำหรับผู้พิการ และตามกฎหมายไม่มีสภาพบังคับหรือบทลงโทษกำหนดเอาไว้ว่าสถานที่ที่เป็นของเอกชนและมีความเป็นส่วนตัว จะต้องกำหนดที่จอดรถให้กับผู้พิการ เพราะฉะนั้นการที่ไม่ให้สิทธิจอดรถกับนายแวร์เนอร์ ก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย


 


อย่างไรก็ตามนายแวร์เนอร์ เห็นว่า ตนเองมีสิทธิที่จะมีที่จอดรถสำหรับผู้พิการ ตามที่กฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องการกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548 ได้บัญญัติคุ้มครองสิทธิไว้ อีกทั้งนายแวร์เนอร์ ก็ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการกับทางราชการไทยไว้แล้ว จึงถือว่าเป็นผู้พิการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และได้นำเรื่องมายื่นฟ้องต่อศาล จนได้รับชัยชนะไปในที่สุด


 


…………………………………….


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net