Skip to main content
sharethis

หลังจากเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มภาคีคนฮักเชียงใหม่ นำโดยนายชัยพันธุ์ ประภาสะวัต ตัวแทนภาคีคนฮักเชียงใหม่ พร้อมผู้ร่วมฟ้องอีก 25 คนได้เข้ายื่นหนังสือถึงศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายปลอดประสพ สุรัสวดี พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ทั้งคณะ และคณะกรรมการบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีนั้น ได้สร้างความสนใจแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก ว่าทำไมภาคีคนฮักเจียงใหม่ถึงต้องฟ้อง และมีเหตุผลในการฟ้องอย่างไร!?


 


และนี่คือเอกสารประกอบคำฟ้องคดี โดยมีนายขวัญชัย โชติพันธุ์ และนายจรัส จุลสิกขี ทนายสิ่งแวดล้อม จากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นผู้ได้รับมอบหมาย และได้ชี้แจงถึงเหตุผลในการยื่นฟ้องคดีดังกล่าว


 


โดยคดีดังกล่าว มีลำดับการฟ้อง คือ 1.ฟ้องนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลองค์บริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) 2.ฟ้องคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งคณะ 3.ฟ้องคณะกรรมการบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี 4.ฟ้องนายปลอดประสพ สุรัสวดี ในฐานะประธานกรรมการองค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน( อพท.)


 


และมีประเด็นการฟ้องดังนี้ คือ


ประเด็นที่ 1. พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พ.ศ.2546 หรือ อพท. ที่ให้จัดตั้งโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ พระราชกำหนดของ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 จึงถือเป็นโมฆะ ไม่สามารถดำเนินการได้


 


กล่าวคือ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2546 รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ตราพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พ.ศ.2546 หรือ อพท.เพื่อดำเนินโครงการ โดยการตราพระราชกฤษฎีกานั้นอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542


 


เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 ตราเป็นกฎหมายขึ้น เพื่อการดำเินินงานตามโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ของรัฐ หรือการดำเนินงานตามแผนงานหรือนโยบายเพื่อจัดทำบริการสาธารณะด้านใดด้านหนึ่ง ที่มีความสลับซับซ้อน ความขัดแย้งในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผม ตลอดจนการทำงานอย่างมีเอกภาพ และประสานงานให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงานจึงได้ตราเป็นพ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 ขึ้น


 


แต่การดำเนินโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ไม่มีองค์ประกอบของนโยบายสาธารณะ ที่ได้กล่าวไว้ว่า "นโยบายสาธารณะ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นและปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดที่ผู้ที่กำหนดนโยบายเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ ประเด็นปัญหานี้มิใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องส่วนรวมหรือประเด็นสาธารณะ คือ เป็นปัญหาร่วมของสังคม"


 


ดังนั้น การดำเนินโครงการดังกล่าวมิใช่เป็นนโยบายสาธารณะ จึงไม่สามารถนำ พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 มากำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ ดังนั้น การดำเินินโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จึงเป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สามารถนำกฎหมายมาอ้างความชอบธรรมได้


 


โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นโครงการที่ต้องการแสวงหากำไร หาประโยชน์ทางการเมือง ไม่มีความหมายความเป็นนโยบายสาธารณะอยู่เลย เป็นการก่อสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นผลประโยชน์ทางการค้่า เพื่อทดแทนกลุ่มอุปถัมภ์ทางการเมืองเท่านั้น


   


ประเด็นที่ 2 คือกรณีนายวิชิต พัฒนโนสัย รองอธิบดีที่ปฏิบัติราชการแทนกรมอุทยานฯ ไม่มีอำนาจให้ใครหรือบุคคลใดเข้าไปใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือวนอุทยานแห่งชาติ


 


สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2546 นายวิชิต พัฒนโกสัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้วินิจฉัยและสั่งการ คำสั่งที่ ทส.0913.54/15771 ให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นทีี่ป่าอนุรักษ์ 16 ดำเนินการเป็นสาระสำคัญ คือ


 


"กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าสำนักงานวิจัยเกษตรภาคเหนือ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แล้วก็ตาม แต่ต่อมาภายหลังได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย สิทธิการใช้ประโยชน์พื้นที่ย่อมหมดไป ตามมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2532) ประกอบกับพื้นที่ที่สำรวจเพื่อจัดตั้งสวนสัตว์กลางคืน ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปใช้ประโยชน์ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ประกอบกับระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในหลักการให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 16 และหัวหน้าอุทยานแ่ห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 1,187-0-93 ไร่ เพื่อจัดตั้งสวนสัตว์กลางคืน และกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่องตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ หากจะต้องมีการดำเินินการใดๆ เพื่อให้มีสิ่งก่อสร้างจะต้องขอนุมัติตามข้อ 5 ของระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการปฎิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2536 ด้วย"


 


แต่มาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 นั้น "อนุญาตให้เฉพาะพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติการไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ หรือการศึกษา หรือวิจัยทางวิชาการ หรือเพื่ออำนวยความสะดวกในการทัศนาจร หรือพักอาศัยหรือเพื่ออำนวยความปลอดภัย หรือให้ความรู้แก่ประชาชน" ซึ่งกฎหมายมิได้อนุญาตให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะยกที่ดินในบริเิวณอุทยานฯ ไปให้ผู้อื่นหรือองค์กรอื่นใช้ประโยชน์ อีกทั้งสวนสัตว์กลางคืน ก็มิได้เป็นหน่วยงานที่ขออนุญาตเข้าไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ เข้าไปศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการแต่อย่างใด


 


หนังสือฉบับดังกล่าว ผู้วินิจฉัยยังยอมรับว่า พื้นที่นี้ เคยอนุญาตให้สำนักงานวิจัยเกษตรภาคเหนือ ใช้ในการวิจัยทางการเกษตร เมื่อเลิกใช้พื้นที่ก็ต้องกลับไปเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากมีองค์กรหรือหน่วยงานใดขอใช้เพื่อการศึกษาและวิจัย จึงสามารถใช้ มาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 การวินิจฉัยและสั่งการเพื่ออนุญาตให้สวนสัตว์กลางคืนใช้พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504


 


และหนังสือคำสั่งดังกล่าว ยังมีแนวทางที่จะอนุรักษ์พื้นที่อุทยานฯ โดยกำหนดให้ต้องขออนุมัติตามข้อ 5 ของระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ(ฉบับที่ 5) พ.ศ.2536 แต่ในความเป็นจริงของโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ก่อสร้างอาคารขึ้นมาในพื้นที่มากมาย โดยมิได้ขออนุญาตแต่อย่างใด


 


การเพิกถอนอุทยานแ่ห่งชาิติ จะทำได้ในกรณีที่เป็นที่ดินที่หมดสภาพความน่าสนใจและไม่มีสภาพการเป็นอุทยาน แต่ต้องเพิกถอนโดยปฏิบัติตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแ่ห่งชาติ พ.ศ.2504 โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา


 


ประเด็นที่ 3 การก่อสร้างโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 มาตรา 16 และขัดต่อพ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 42


 


เป็นที่รู้กันดีว่า การดำเินินโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีส่วนสำคัญของโครงการอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการก่อสร้างอาคาร และส่วนที่สอง เป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งการก่อสร้างทั้งสองส่วนต้องแผ้วถาง โค่นต้นไม้และเผาป่า นอกจาก มาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 จะไม่อนุญาตให้กระทำแล้ว ยังขัดต่อมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้จัดการพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องดำเนินการจัดทำแผนปฎิบัติการเรียกว่า "แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม" ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 นอกจากการก่อสร้างที่ขัดต่อกฎหมายแล้ว ในการสร้างอ่างเก็บน้ำ การตัดโค่นต้นไม้ ยังมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ที่ต้องรับกับภัยธรรมชาติน้ำท่วม อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนที่อาศัยและดำรงชีพกับธรรมชาติ


 


ประเด็นที่ 4.ประเด็นเกี่ยวกับการนำสัตว์เข้ามาอยู่ในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีนั้น ถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อปฏิญญาสัตว์ป่าสากลหรือไซเตส และยังผิด พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ นอกจากนั้น ยังเป็นการทารุณต่อสัตว์อีกด้วย


 


สวนสัตว์กลางคืน หรือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ดำเนินการโดยการนำสัตว์ป่าสงวนมาจากประเทศเคนยา โดยการบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างประเทศไทยกับเคนยา ซึ่งขัดต่อปฎิญญาสัตว์ป่าสากล CITES โดยมีการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าดุร้ายมาอยู่ในที่คุมขัง


 


ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2548 ศาลสูงประเทศเคนยา โดยนายโจเซฟ นยามู ผู้พิพากษาศาลสูงในกรุงไนโรบีี เมืองหลวงเคนยา มีคำสั่งห้ามทางการเคนยาส่งสัตว์ป่าจำนวน 175 ตัว มอบให้แก่รัฐบาลไทยอย่างน้อยเป็นเวลา 60 วัน โดยระบุว่า การลงนามระหว่างรัฐบาลไทยและเคนยาจะมอบสัตว์ป่า จำนวน 175 ตัว ให้้รัฐบาลไทยนั้น เป็นเพียงการลงนามในบันทึกความเข้าใจเท่านั้น ไม่ใช่สนธิสัญญาที่มีผลผูกพันระดับประเทศและไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ซึ่งทำให้การมอบสัตว์ป่าของเคนยาจำเป็นต้องระงับไป


 


เมื่อการนำสัตว์ป่าจากเคนยาต้องระงับไป สวนสัตว์กลางคืน หรือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จึงหันมาสัมพันธ์กับประเทศอื่นที่สามารถเลี่ยงปฎิญญาสัตว์ป่าสากลได้ โดยวิธีการนำสัตว์ป่าที่มีในประเทศไทยไปแลกเปลี่ยน อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง โดยขาดไร้ความสำนึกของผู้อำนวยการ และคณะกรรมการบริหาร อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


 


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2548 นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้แสดงเจตนาประกอบกิจการการค้า ประเภทภัตตาคาร ระดับหรู เมนูแปลก ผ่านรายการถึงลูกถึงคน สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวี 9 โดยใช้เนื้อสัตว์ป่ามาปรุงอาหาร โดยอ้างว่่านำเนื้อสัตว์ป่าเข้าประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย จากประเทศเคนยา ซึ่งจะเห็นได้ว่า การแสดงเจตนาในการประกอบกิจการภัตตาคาร ของ นายปลอดประสพ นั้น นอกจากจะขัดต่อปฎิญญาสัตว์ป่าสากลแล้ว ยังขัดต่อคำสั่งศาลสูงของประเทศเคนยา ที่ห้ามแม้กระทั่งการส่งสัตว์เลี้ยงในสวนสัตว์กลางคืน


 


ดังนั้น จึงเป็นการกระทำที่ นายปลอดประสพ ไม่สามารถจะนำกฎหมายมากล่าวอ้างได้ อีกทั้งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยขัดต่อเจตนารมณ์ และมาตรา 5 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542


 


ประเด็นที่ 5.โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีไม่ได้มีการจัดทำรายการถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และประชาพิจารณ์แต่อย่างใด


 


ทั้งนี้ การสร้างองค์กรหรือการจัดทำโครงการโดยภาครัฐใดๆ ที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมและคุณภาพสิ่งแวดล้อม รัฐจะต้องจัดให้มีการศึกษาผลกระทบที่มีต่อประชาชนและผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ตลอดจนประโยชน์และความเสียหายที่มีต่อสังคมเป็นหลัก และจะต้องแถลงให้ประชาชนได้ทราบถึงผลกระทบที่ได้มีการศึกษา แต่ภาครัฐกลับละเลยไม่ได้ทำการศึกษาผลกระทบ


 


ซึ่งก่อนหน้านั้น ทางมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้มีหนังสือที่ ลข.053/2548 ลงวันที่ 23 ธ.ค.2548 ให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ชี้แจงผลการศึกษาผลกระทบ โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้รับหนังสือแล้ว แต่มิได้ชี้แจงให้กับประชาชนและมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ ทราบแต่อย่างใด


 


นอกจากนั้น โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จะต้องจัดให้มีการทำประชาพิืจารณ์ ตามวิถีทางประชาธิปไตย สำหรับประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยเฉพาะการทำประชาพิจารณ์ในสังคมที่ได้รับผลกระทบและต้องจัดทำก่อนตราเป็นพระราชกฤษฎีกา หรือก่อนเริ่มโครงการ แต่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือภาครัฐ ก็มิได้จัดให้มีขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิของประชาชน ที่ขัดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างร้ายแรง


 


 


ประเด็นที่ 6 ได้มีการพูดถึงการเข้าดำรงตำแหน่งของประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ของนายปลอดประสพ สุรัสวดี ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 และพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 เนื่องจากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในขณะนั้น


 


โดยในคำฟ้อง ได้ระบุไว้ว่า การเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของนายปลอดประสพ สุรัสวดี นั้น เป็นการเข้ามาดำรงตำแหน่งโดยขัดต่อมาตรา 35 แห่งพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 ประกอบกับมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 คือ ในขณะที่นายปลอดประสพ เข้ารับตำแหน่ง นายปลอดประสพ มีตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี อันเป็นตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องห้ามตามกฎหมายในการเข้ามาบริหาร อพท. และไม่มีเจตนาที่จะสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งให้ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งนายปลอดประสพ ก็ไม่ได้เป็นนักวิชาการทางด้านสวนสัตว์และสัตว์ป่าแต่อย่างใด การเข้ารับตำแหน่งของนายปลอดประสพ จึงไม่มีผลมาตั้งแต่ต้น


 


ประเด็นสุดท้ายในคำฟ้อง ระบุว่า ก่อนฟ้องคดีนี้ องค์กรเอกชนและกลุ่มบุคคลได้คัดค้านมาตลอด แต่รัฐกลับเพิกเฉย


 


โดยก่อนหน้า ที่จะยื่นฟ้องคดีมาสู่ศาล ทั้งผู้ฟ้องคดีและองค์กรเอกชนอื่นๆ ได้ทำการยื่นคัดค้านการกระทำของรัฐมาโดยตลอด แต่รัฐก็เพิกเฉย นับว่าผู้ฟ้องคดีได้ดำเินินการตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ให้แก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้ง จากการกระทำของรัฐไว้แล้ว ดังนั้น การยื่นฟ้องในครั้งนี้จึงเป็นการฟ้องคดีที่ชอบด้วยกฎหมาย


 


นี่่คือประเด็นทั้งหมด ว่าเหตุใดตัวแทนภาคีคนฮีกเจียงใหม่ ต้องยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายปลอดประสพ สุรัสวดี พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.)ทั้งคณะ และคณะกรรมการบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา


 


โดยในคำขอท้ายฟ้อง ได้ขอให้ศาลปกครองเพิกถอน พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) พ.ศ.2546 ที่ประกาศใช้กับพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย เพื่อสร้างสวนสัตว์กลางคืน หรือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี


 


และขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คืนพื้นที่ก่อสร้างเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ให้กลับไปอยู่ในความครอบครองของวนอุทยานแห่งชาติ สุเทพ-ปุย ตามเดิม


 


นอกจากนั้น คำขอท้ายฟ้อง ยังขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งให้เพิกถอนตำแหน่งประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของนายปลอดประสพ สุรัสวดี โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันรับตำแหน่ง และให้มีการคืนเงินเดือน และค่าใช้จ่ายประจำตำแหน่งที่ได้รับไปทั้งหมดด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net