Skip to main content
sharethis

โดย ยุกติ มุกดาวิจิตร 


 


สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้นับวันก็ยิ่งชี้ให้เห็นจุดอับจนทางนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลดูเหมือนจะทำได้แค่เพียงเพิ่มพลังและประสิทธิภาพ(?) ด้านการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ในขณะที่นโยบายทางการเมืองการปกครองท้องถิ่น ตลอดจนนโยบายทางสังคม-วัฒนธรรมที่หลายฝ่ายเสนอ กลับไม่มีท่าทีตอบรับจากรัฐบาล


 


อย่างไรก็ดี ทางเลือกสำหรับแก้ปัญหาที่เสนอโดยสายพิราบ(หลายแนวทาง) แม้จะไม่เคยได้ลองใช้อย่างจริงจัง ก็ใช่ว่าจะเป็นทางเลือกที่ชี้ทางออกได้ทันที ข้อเสนอให้มีการจัดการปกครองแบบพิเศษลักษณะต่างๆ รวมทั้งแนวทางต่างๆถูกเสนอออกมามากมาย แต่กรอบกว้างๆ เหล่านั้นอาจจะยังไม่ได้ศึกษาถึงประเด็นในรายละเอียดอีกหลายประเด็น


 


ขณะเดียวกัน การวิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาหลายทฤษฎีก็ยังไม่อาจให้ความเข้าใจปัญหาภาคใต้ได้ เช่น ทฤษฎี "สองนคราประชาธิปไตย" ไม่น่านำมาตอบได้ว่าทำไมการไปลงคะแนนงดออกเสียงในภาคใต้โดยเฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้ ไม่ได้สะท้อนความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท หรือคนชั้นกลางในเมืองกับคน "รากหญ้า" ในท้องถิ่นชนบท นอกจากนั้นยังมีการเลี่ยงประเด็นชาติพันธุ์และศาสนาไปสู่ชนชั้น เช่นการวิเคราะห์กรณีกรือเซะเป็น "กบฎชาวนา" จนล่าสุดเมื่อมีข่าวว่าจะมีการตั้งพรรคมุสลิม ก็มีการเลี่ยงประเด็นศาสนาไปสู่ชาติพันธุ์ แนะนำให้ตั้ง "พรรคมลายู" แทนอีก ทั้งๆที่ถ้าพรรคมุสลิมเกิดขึ้นมาจากท้องถิ่นเอง ก็ชี้อยู่แล้วว่าคนในท้องถิ่นเองมองว่าปัญหาเป็นการเมืองของศาสนาด้วย เพราะศาสนาในหลายกรณีไม่ได้แยกออกจากชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจน


 


ไม่ว่าจะอย่างไร ผลการสำรวจล่าสุดที่เผยแพร่โดยศูนย์ข่าวอิศราฯ ฟ้องว่า คนในสามจังหวัดเองไม่ได้ปักใจว่า ทางออกโดยการตั้งเขตปกครองตนเองพิเศษ จะให้ความมั่นใจได้ว่าเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาได้


 


ผู้เขียนอยากเสนอมุมมองทาง "ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์" (ethno-history) ลักษณะที่ไม่ได้เน้นเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชน ทั้งในปัจจุบันและความสัมพันธ์ในอดีต มาเป็นแนวทางทำความเข้าใจปัญหานี้ โดยนำกรณีเวียดนามมาเป็นบทเรียน เพราะเวียดนามมีพื้นที่ที่มีปัญหาทำนองเดียวกัน แต่มีประวัติศาสตร์ที่ต่างออกไป เวียดนามมีอะไรคล้ายกับไทย โดยเฉพาะร่วมประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกัน แต่เดินทางต่างกัน แถมเวียดนามมีทั้งประสบการณ์ช่วงที่มีและเลิกเขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย และอันที่จริงเวียดนามก็มีสัดส่วนประชากรและพื้นที่ที่เป็นถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยมากกว่าไทย ปัญหาความขัดแย้งจึงน่าจะมากกว่า น่าสนใจว่าเขาจัดการอย่างไร


 


ผู้เขียนใคร่เสนอว่า แนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ควรจะเข้าทำนองหนีเสือปะจระเข้ แก้ปัญหาคลั่งชาติแล้วกลับไปคลั่งท้องถิ่นแทน เรียกร้อง(แบบนักวิชาการ"หัวก้าวหน้า")ให้อย่ารักชาติแบบคลั่งชาติ แต่กลับไปติดกับ "การหลงชนชาติแบบบ้าคลั่ง" (ethnic nationalism) เข้าอีก  จนกลายเป็นไปสนับสนุนกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้วยความรุนแรงขณะนี้บางกลุ่มยึดเป็นแนวทางทางอ้อม


 


เวียดนามมีบทเรียนเรื่องเขตปกครองตนเองสมัย ค.. 1955-1975 (.. 2498-2518) วิธีที่เขาเคยทำคือตั้งเขตปกครองตนเอง 3 เขต ทั้งหมดเป็นเขตที่สูง รายรอบที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง เขตหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง เขตที่สองอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เขตที่สามอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หากดูคร่าวๆ พื้นที่เขตปกครองตนเองเหล่านี้ทั้งหมดรวมกันน่าจะเกินครึ่งหนึ่งของพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงที่เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเวียด (หรือ Kinh-กิงญ์)


 


ในแง่การเมืองการปกครอง เขตปกครองตนเองมีคนในท้องถิ่นเป็นประธานเขต ส่วนการปกครองระดับล่างลงมา ระยะแรกแบ่งเป็นเจิว (chau) หรือ "เมือง" ที่น่าสังเกตคือเจิวเหล่านี้ตั้งขึ้นบนพื้นฐานของเขตอำนาจเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในท้องถิ่น  ในแง่นี้การปกครองท้องถิ่นจึงให้อำนาจคนในท้องถิ่นปกครองตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยมีสัดส่วนของคนเวียดในผู้บริหารระดับสูงบ้าง


 


อย่างไรก็ดี นโยบายส่วนใหญ่ยังคงมาจากส่วนกลาง เช่นนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม บังคับใช้ทั้งในส่วนกลางดินแดนพื้นราบและที่สูงอย่างทัดเทียมกัน การเกณฑ์ทหาร การผันทรัพยากรไปสู่สงคราม(ที่กำลังรบอยู่ในภาคใต้และสงครามพิเศษในลาว) ก็ไม่ได้แตกต่างกันระหว่างพื้นที่นอกเขตปกครองตนเองและพื้นที่ในเขตปกครองตนเอง


 


นโยบายที่ท้องถิ่นมีส่วนอย่างโดดเด่นเป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งคือนโยบายการศึกษา แม้ว่ากระทรวงศึกษาจากส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและหลักสูตรการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด แต่เขตปกครองตนเองมีการให้ชนกลุ่มน้อยสามารถเลือกเรียนภาษาตนเองในชั้นประถม อย่างน้อยสามปี จนปีที่สี่และห้า (การศึกษาภาคบังคับของเวียดนามขณะนั้นห้าปี) ยิ่งกว่านั้นยังมีการคิดอักษรมาตรฐานสำหรับใช้เขียนภาษาชนกลุ่มน้อยและตีพิมพ์ตำราเรียน  วรรณคดีโบราณและสมัยใหม่ ตลอดจนหนังสือพิมพ์เป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยเอง


 


ผู้เขียนอยากเสนอว่า ที่เวียดนามตั้งเขตปกครองตนเองขณะนั้นเนื่องด้วยเงื่อนไขทางการเมืองและประวัตศาสตร์ ในแง่เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ เวียดนามเพิ่งรวมเป็นประเทศเมื่อ 1954 (หรือก่อนนั้นเล็กน้อย) จากที่เคยเป็นส่วนๆ ไม่ว่าจะถิ่นของชนกลุ่มน้อยเดิมที่ถูกปกครองแยกจากส่วนของคนเวียด แทนที่จะรวบรัดและกลืนกลายชนกลุ่มน้อยมาเป็นเวียดโดยทันทีทันใด เวียดนามเลือกที่จะประวิงเวลาให้มีระยะเปลี่ยนผ่าน


 


สอดคล้องกันไปกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์คือเงื่อนไขทางการเมือง เวียดนาม(เหนือ)จำเป็นต้องอาศัยชนกลุ่มน้อยเพื่อการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมทั้งฝรั่งเศสในทศวรรษ 1940s -50s และอเมริกันในทศวรรษที่ 60s - ต้น 70s (และที่จริงบางคนอาจเห็นร่องรอยนี้ตั้งแต่สมัยที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆร่วมกับชนชาติเวียดต้านอำนาจจีน) เงื่อนไขนี้ทำให้เวียดนามต้องต่อรองกับชนกลุ่มน้อย หรืออีกนัยหนึ่ง ชนกลุ่มน้อยในหลายพื้นที่ (ไม่ใช่ทั้งหมด) มีอำนาจต่อรองกับชนชาติเวียด


 


นโยบายที่เวียดนามเหนือปฏิบัตินี้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับนโยบายของรัฐบาลเวียดนามใต้ (ที่ถูกชักใยโดยสหรัฐอเมริกาและมีมิตรประเทศที่สำคัญคือไทย) เวียดนามใต้ขณะนั้นบุกรุก กดขี่ และมุ่งกลืนกลายกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั้งในพื้นที่สูงและที่ราบในภาคใต้ จนก่อให้เกิด "เงื่อนไขภายใน" เองที่เปิดช่องให้เวียดนามเหนือเข้ามาจะเรียกว่าแทรกซึมหรือสร้างแนวร่วมร่วมก็แล้วแต่มุมมอง แต่นโยบายชนกลุ่มน้อยของเวียดนามเหนือย่อมจูงใจให้ชนกลุ่มน้อยให้การสนับสนุนเวียดนามเหนือ อย่าลืมว่า Ho Chi Minh Trail เส้นทางที่โฮจิมินห์ใช้เป็นหลักในการ "เจาะ" ภาคใต้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้


 


เหล่านี้เป็นเงื่อนไข "จำเป็น" ในระยะต้น ในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่เวียดนามจะต้องยอมให้มีเขตปกครองตนเอง แต่ในที่สุด หลัง 1975 เมื่อยึดไซ่ง่อนได้ เขตปกครองตนเองดังกล่าวถูกเลิกไป


 


นักวิชาการหลายคน (โดยเฉพาะนักวิชาการอเมริกัน) มองว่า การยกเลิกเขตปกครองตนเองสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การตั้งเขตปกครองตนเองก่อนสงครามเวียดนามยุติเป็นเพียงเงื่อนไขล่อใจชนกลุ่มน้อยในภาคใต้ เวียดนามไม่มีความจริงใจในการเคารพสิทธิ์ชนกลุ่มน้อย แต่ผู้เขียนเห็นต่างออกไป ดังที่ได้เสนอปัจจัยต่างๆข้างต้น ในขณะเดียวกัน ใคร่เสนอปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เวียดนามต้องยกเลิกเขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยให้พิจารณาและนำมาเป็นบทเรียนให้ประเทศไทยดังนี้


 


ประการแรก การอาศัยอยู่ปะปนกันระหว่างหลายชาติพันธุ์และศาสนาในแต่ละท้องถิ่น ก่อให้เกิดปัญหาว่าการปกครองท้องถิ่นโดยให้อำนาจกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในถิ่นนั้นเหนือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ด้วยความจำเป็นของการที่กลุ่มนั้นเป็นประชากรส่วนใหญ่และข้อจำกัดทางการเมืองและเศรษฐกิจที่จำเป็นให้ต้องเลือกยกย่องกลุ่มนั้นขึ้นมาเหนือกลุ่มอื่น จึงทำให้เกิดความชิงชังขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนที่แตกต่างกันในท้องถิ่นนั้นๆอีก การปกครองแบบเขตปกครองตนเองจึงเสี่ยงต่อการสร้างความขัดแย้งในท้องถิ่น เพราะทำให้เกิด "ชนกลุ่มน้อยซ้อน" ขึ้นมาในเขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยอีกไม่รู้จบ ลักษณะนี้เกิดขึ้นในทุกเขตปกครองตนเองของเวียดนาม


 


ประการที่สอง ความหลากหลายของชนกลุ่มใหญ่ในท้องถิ่น ภายในท้องถิ่นเอง ที่เราเข้าใจว่าเป็นชนกลุ่มเดียวกัน เอาเข้าจริงแล้วมีความเป็นเอกภาพแค่ไหน เฉพาะกลุ่มที่เราคิดว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน เขามีความแตกต่าง หลากหลายภายในกลุ่มอย่างไร มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของท้องถิ่นอย่างไร เวียดนามในที่สุดแม้จะเข้าใจ แต่ก็แก้ปัญหานี้ด้วยการคงเขตปกครองตนเองไว้ไม่ได้ เพราะกลุ่มที่มีอิทธิพลกลับอยู่ในฐานะเป็นชนส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับคนเวียด จึงก่อเงื่อนไขความขัดแย้งกับกลุ่มย่อยในกลุ่มใหญ่ในท้องถิ่นอีก


 


เช่นพวกถาย (Thai นี่ออกเสียงแบบเวียด ถ้าเป็นบ้านเราก็เรียกว่า ไท หรือ ไต) ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่ได้มีเฉพาะถายเดียว แต่มีอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ถายที่ต่างกันไปอย่างน้อย 4-5 กลุ่ม การที่จะดำเนินนโยบายภายใต้ร่ม "ถายเดียว" กันหมด ก็ต้องสร้าง "อัตลักษณ์ถายประดิษฐ์" ที่มีรัฐและนักมานุษยวิทยา(ทั้งในและนอกประเทศเวียดนาม)ร่วมกันสร้าง แต่สุดท้ายก็ก่อปัญหาความขัดแย้งภายในกลุ่มถายต่างๆขึ้นมา


 


ประการที่สาม ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างชนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ครองอำนาจรัฐสมัยใหม่ กับกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยในแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันออกไป ถึงที่สุดแล้ว นโยบายเขตปกครองตนเองลักษณะเดียวกันหมดไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกๆถิ่นทั่วประเทศ


 


เช่น ชาวเวียดมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวไต่ (Tay) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ มากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่น อาจเพราะอาศัยชุมชนชาวไต่เป็นกันชนหรือช่วยป้องกันจีนมาเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดเงื่อนไขของการทั้งร่วมมือและให้อิสระกันและกันมานาน แต่กับบรรดาชนเผ่าจำนวนมากมายหลายเผ่าในที่สูงภาคกลางตอนใต้ ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดกับชนกลุ่มน้อยยิ่งห่างไกลกันมาก และมีลักษณะที่ชาวเวียดดูแคลนในทางวัฒนธรรมแต่ต้องการเข้าไปครอบครองจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์


 


ระหว่างดินแดนในพื้นที่อำนาจของคนสองดินแดนนี้ รัฐเวียดนามสมัยใหม่ก็ต้องเลือกจัดการด้วยวิธีที่ต่างกัน เช่นสำหรับไต่ อยู่ในเงื่อนไขที่กลืนกลายง่ายกว่าชนกลุ่มต่างๆในภาคกลางตอนใต้ เพราะใกล้ชิดผูกพันกันมากกว่า แต่สำหรับในภาคกลางตอนใต้เวียดนามยังไม่สามารถจัดการได้อย่างสงบเรียบร้อยดีนักแม้ในปัจจุบัน


 


ปี ค.. 1963 เวียดนามจึงเปลี่ยนการแบ่งเขตปกครองภายในเขตปกครองตนเอง จากที่เดิมเป็นเจิวไปเป็นติ่งญ์ (tinh) หรือจังหวัด (หน่วยการปกครองที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) นั่นแสดงให้เห็นว่า เวียดนามเริ่มเห็นความล้มเหลวของการแบ่งเขตปกครองตนเองตั้งแต่ก่อนสงครามยุติ จนในปี 1975 จึงยกเลิกเขตการปกครองตนเอง


 


อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่าในปัจจุบันเวียดนามให้หลักประกันสิทธิชนกลุ่มน้อยในสองส่วนด้วยกัน กล่าวคือ ในแง่อำนาจทางการเมืองการปกครอง และในแง่วัฒนธรรม


 


ทางการเมือง โครงสร้างการปกครองท้องถิ่นของเวียดนามเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างที่เรียกได้ว่า ชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นได้รับหลักประกันในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องได้รับเลือกตั้งจากท้องถิ่น และต้องสะท้อนสัดส่วนของความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในท้องถิ่น ทั้งในส่วนที่เป็นผู้บริหาร สภาท้องถิ่น พรรค และงานมวลชน(ที่เป็นส่วนหนึ่งของพรรคอีกที) ในทุกๆระดับ นับตั้งแต่หมู่บ้านขึ้นมาถึงจังหวัด


 


ในแง่วัฒนธรรม แน่นอนว่าเวียดนามในฐานะรัฐสังคมนิยมสมัยใหม่ย่อมไม่ได้ต้องการให้ท้องถิ่นคงไว้ซึ่งหรือรื้อฟื้นวัฒนธรรมโบราณสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่นโยบายที่สนองความต้องการทางอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของท้องถิ่น เช่นนโยบายอักษรและภาษา เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่รัฐธรรมนูญรับรอง และขณะนี้รัฐบาลท้องถิ่นในหลายๆที่ก็ริเริ่มนโยบายนี้ โดยไม่ขัดแย้งกับนโยบายส่วนกลางของกระทรวงศึกษา


 


การให้หลักประกันการมีส่วนร่วมและสิทธิทางวัฒนธรรมดังกล่าวทำให้เห็นสิ่งที่ยังคงเห็นได้ยากในประเทศไทยหลายประการ เช่น แม้ว่าจะรับนโยบายส่วนใหญ่จากส่วนกลาง แต่รัฐบาลท้องถิ่นของเวียดนามก็ยังสามารถดำเนินนโยบายที่สนองความต้องการของท้องถิ่นเองได้ หากไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดนโยบายพรรคและรัฐบาล ในเวียดนามเราจึงสามารถเห็นชนกลุ่มน้อยมีอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างๆในระดับท้องถิ่น อย่างผู้อำนวยการศึกษาธิการจังหวัด งานวัฒนธรรมและข่าวสารจังหวัด หรือแม้แต่งานตำรวจจังหวัด ต่างก็เป็นชนกลุ่มน้อยในจังหวัดนั้นเอง ในขณะเดียวกัน เราจึงได้เห็นคนถาย ที่พูดได้ทั้งภาษาถาย เวียด และม้ง เป็นผู้พิพากษาในถิ่นที่มีคนถายและคนม้งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ในขณะที่โรงเรียนตำรวจในจังหวัดทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ก็เต็มไปด้วยนักเรียนตำรวจที่มีพื้นเพเป็นชนกลุ่มน้อยเกือบร้อยทั้งร้อย


 


สำหรับประเทศไทย ทางเลือกเรื่องเขตปกครองตนเองจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือแม้แต่ประเทศไทยจะจัดให้มีการปกครองท้องถิ่นที่ให้หลักประกันกับชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่น ก็ยังเป็นเรื่องยากเย็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว จากบทเรียนของเวียดนาม มีประเด็นที่น่าจะต้องพิจารณาหลายประการดังนี้


 


หนึ่ง เรื่องมุมมองทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่ว่าท้องถิ่นเคยเป็นอิสระ แล้วจะสามารถให้อิสระเขาได้ทันที แต่ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนรอบนอก และระหว่างชาติพันธุ์ส่วนใหญ่กับส่วนน้อย ทั้งก่อนและหลังจากเกิดรัฐชาติขึ้นมาแล้ว เมื่อเทียบไทยกับเวียดนาม ไทยเริ่มสร้างเอกภาพมาตั้งแต่สมัยอาณานิคมฝรั่งเศสเข้ามา คือขณะที่เราต่อสู้กับอาณานิคมด้วยการพยายามสร้างเอกภาพขึ้นมาใหม่ เวียดนามยุคอาณานิคมกลับถูกแยกไว้เป็นส่วนๆไว้อีกนานกว่าครึ่งศตวรรษ กว่าเวียดนามจะรวมกัน ก็หลังไทยร่วมครึ่งศตวรรษ ไทยจึงกดชนกลุ่มน้อยไว้มากกว่า นานกว่า และส่วนกลางของไทยจึงแข็งกว่า ในทางกลับกัน ปัญหาชนกลุ่มน้อยไทยจึงอาจรุนแรงกว่า เพราะไทยมองตนเองเป็นเอกภาพมากเกินไปไทยมองตนเองเป็นเนื้อเดียวมากไป จึงไม่ค่อยยอมท้องถิ่นและชนกลุ่มน้อยได้ง่ายๆ


 


สอง เรื่องความหลากหลายในท้องถิ่นเอง ไทยก็อาจเจอเงื่อนไขต่างๆคล้ายๆเวียดนาม เช่นเราอาจเจอปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาวมาลายู-มุสลิม กับชาวไท-พุทธ และยังไม่นับว่าเราอาจจะยังไม่เข้าใจชัดเจนว่าชาวมาลายู-มุสลิมจริงๆมีกี่กลุ่ม มีกี่เครือข่ายที่อาจขัดแย้งกันเอง


 


สาม เรื่องการประสาน-ขัดแย้งกันของนโยบายส่วนกลางกับส่วนภูมิภาค และแม้แต่ภายในท้องถิ่นเอง เช่นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งคือเรื่องภาษา ทั้งที่มีการเสนอให้ใช้ในโรงเรียนและในทางราชการ หากภาษามาลายูมีหลายสำเนียง จะเลือกสำเนียงไหนเป็นสำเนียงกลาง เรื่องอักษร จะใช้อักษรอะไร อักษรโรมันประยุกต์ อักษรอาหรับ หรืออักษรไทยประยุกต์สำหรับเขียนภาษามลายูท้องถิ่น จะประยุกต์อักษรจากมาเลเชียมาใช้เลยได้หรือไม่ ในทางปฏิบัติหากภาษามาเลเชียต่างกับภาษามลายูในไทย จะปรับอักษรอย่างไร หรือในทางการเมือง การนำอักษรมาเลเชียมาใช้ จะกลับกลายเป็นเงื่อนไขที่อ่อนไหวทางการเมืองอีกหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้อาจต้องทะเลาะกันไปอีกนาน


 


สิ่งที่ทำให้แนวคิดตั้งเขตปกครองตนเองมีความสลับซับซ้อนยังมีอีกหลายประการ เช่น การที่ส่วนกลางจะต้องยอมรับเงื่อนไขที่ไม่ค่อยเคยคิดมาก่อนว่ามีอยู่ คือความสำคัญของท้องถิ่นและพลังต่อรองของท้องถิ่น แต่ในความเข้าใจของชนชั้นนำไทย เจ้าหน้าที่รัฐ และคนทั่วไป การไม่ใช่ "ชนชาติไท" กลายเป็นสิ่งเดียวกับการไม่ใช่คน "สัญชาติไทย" ไปแล้ว


 


ที่สุดแล้ว ในเมื่อเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการให้หลักประกันสิทธิทางการเมืองและวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยไม่ชัดเจนจริง หากมีการตั้งเขตปกครองตนเองขึ้นมา ก็อาจกลายเป็นแบบจีน คือเป็นเขตปกครองตนเองแค่ในนาม โดยไม่ได้ยกระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสิทธิทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเท่าไรนัก หรือไม่ ก็อาจกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความคลั่งท้องถิ่นขึ้นมาอีก


 


บางทีทางเลือกอย่างการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นแบบจริงจัง ทำนองเดียวกับที่เวียดนามกำลังดำเนินอยู่ อาจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่า และอาจช่วยลดเงื่อนไขทั้งการคลั่งชาติและคลั่งท้องถิ่นได้ดีกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net