Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 18 มิถุนายน 2549 ที่ห้องประชุม E 105 คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) และสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "ข้อเสนอสู่การปฏิรูปการเมืองของชาวประมงพื้นบ้าน 2549" มีเครือข่ายชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในภาคใต้ เข้าร่วม 90 คน


 


ที่ประชุมได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย เพื่อให้เสนอกระบวนการและเนื้อหาการปฏิรูปการเมืองของชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่ง กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย ตัวแทนชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล, ปัตตานี, นราธิวาส และสมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย ตัวแทนเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ต เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอำเภอเหนือคลองและอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง กลุ่มที่ 3 ประกอบด้วย ตัวแทนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่ง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่งจังหวัดฝั่งตะวันตก กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดระนองและชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดสงขลา และกลุ่มที่ 4 ประกอบด้วย ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน, อ่าวท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี, เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดชุมพร และกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช


 


ต่อมา เวลา 13.30 น. นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กองเลขานุการสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ ได้สรุปการประชุมว่า ที่ประชุมเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน ให้ชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาทุกระดับ ปรับปรุงกฎกติกาของสังคมเพื่อนำไปสู่ความสงบสุข สำหรับปัญหาที่ต้องปฏิรูปการเมือง เกิดจากการกระจายอำนาจที่ไม่เป็นจริง การไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและกำหนดแผนพัฒนา ปัญหาจากการสื่อสารข้อมูล


 


นายวิโชคศักดิ์ สรุปต่อไปว่า ที่ประชุมยังต้องการให้สร้างกระบวนการการเรียนรู้ในระดับพื้นที่สู่ระดับเครือข่าย ระดับภาค และระดับประเทศ ปฏิรูปการจัดการทะเลทั้งระบบ รวมทั้งที่ดิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ชายฝั่ง ป่าชายเลน ฯลฯ ทั้งนี้ ทรัพยากรท้องถิ่น ต้องให้คนท้องถิ่นใช้ก่อน ในการปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่ปฏิรูปการเมือง ภาคประชาชนต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม องค์กร เครือข่ายภาคประชาชนต้องสร้างสถาบันทางการเมืองในชุมชน สามารถกำหนดกฎกติกาภายในชุมชนและเชื่อมโยงเครือข่ายได้ ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาทั้งในระดับพื้นที่ ระดับเครือข่าย เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ


 


"ที่ประชุมเห็นว่า ต้องจัดตั้งสภาประชาชน เช่น สภาซูรอ สภาชุมชน ทำงานคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และองค์กรอิสระ ทั้งระดับชาติ ระดับปฏิบัติการเพื่อปฏิรูปการเมืองภาคประชาชน ต้องสื่อสาร 2 ทาง จัดเวทีระดมความคิดเห็น โดยใช้ภาษาถิ่น ต้องเชื่อมโยงศาสนา ให้จัดทำละครหลังข่าวว่าด้วยเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แก้ไขเนื้อหาในรัฐธรรมนูญจากที่ระบุว่า "ตามที่กฎหมายบัญญัติ" เป็น "ชุมชนกำหนด"" นายวิโชคศักดิ์ สรุป


 


นายวิโชคศักดิ์ สรุปอีกว่า ที่ประชุมยังได้เสนอให้มีการจัดเวทีสาธารณะ 2 ครั้ง ในชุมชน โดยครั้งแรกเป็นการแก้ไขเชื่อมโยงให้เป็นรูปธรรมว่า การปฏิรูปการเมืองจะนำไปสู่ทิศทางการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนได้อย่างไร ครั้งที่ 2 โครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จะต้องให้ชุมชนร่วมตัดสินใจ การปฏิรูปการเมือง จะต้องนำไปสู่การแก้ปัญหาเครื่องมือทำลายล้าง และเสนอให้เพิ่มเขตประมงหน้าบ้านจาก 3,000 เมตร เป็น 5 ไมล์ทะเล ห้ามมิให้มีกิจกรรมใดๆ ในเขตป่าชายเลน และให้ชุมชนร่วมดูแล


 


นายวิโชคศักดิ์ สรุปด้วยว่า พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังต้องการให้จัดระบบการปฏิรูปที่ดินให้มีประสิทธิภาพ มีกฎหมายจำกัดการถือครองที่ดิน มีการจัดระบบการเก็บภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า โดยคำนึงถึงวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมชุมชนเกี่ยวกับการดูแลที่ดิน ให้ยกเลิกหรือยุติการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินของราษฎร หยุดโครงการพัฒนาที่ทำลายทะเลสาบสงขลาโดยเด็ดขาด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net