Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดการสัมมนาวิชาการเรื่อง นโยบายสาธารณะว่าด้วยสวัสดิการและการพัฒนาระบบสวัสดิการ เพื่อการกินดี อยู่ดี มีสุข และมีสิทธิของประชาชน ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

 


รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กล่าวในการนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง นโยบายสาธารณะว่าด้วยการกินดี อยู่ดี มีสุข และมีสิทธิ ว่า สวัสดิการเป็นสิทธิที่รัฐต้องจัดให้ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 หมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพ พูดถึงเรื่องสิทธิไว้มากมาย สิ่งที่พรรคไทยรักไทยจัดให้ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรัฐธรรมนูญ


 


สังคมไทยไม่ใช่สังคมเกษตรกรรมอีกต่อไป โดยได้เริ่มเปลี่ยนเป็นสังคมทุนนิยมแล้ว เห็นได้จากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนประจำปี 2547 พบว่า รายได้ในสังคมไทยประมาณ 40% มาจากค่าจ้างและเงินเดือน ดังนั้น การจัดสวัสดิการจึงต้องศึกษาโครงสร้างของสังคมด้วยว่า คนส่วนใหญ่เป็นใคร มีรายได้จากไหน


 


ทั้งนี้ มีข้อเสนอคือ ควรมีการตรวจสุขภาพถ้วนหน้าอย่างน้อยปีละครั้ง มีประกันสังคมถ้วนหน้า ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม คุ้มครองแรงงานทุกกลุ่มให้มีสิทธิและสวัสดิการอย่างทั่วถึง สงเคราะห์คนชรา เด็กและคนพิการเพื่อสร้างโอกาสและให้ช่วยเหลือตนเองได้ตามอัตภาพ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นฐานสวัสดิการของคนชนบทและประกันราคาพืชผล และส่งเสริมและเพิ่มเติมโครงการสวัสดิการของชุมชน อาทิ การสมทบเงินกลุ่มออมทรัพย์


 


นอกจากนโยบายด้านสวัสดิการ รศ.ดร.ณรงค์ ได้เสนอนโยบายบูรณาการด้านค่าจ้างแห่งชาติ ซึ่งเพิ่มค่าจ้างให้แรงงานมีกำลังซื้อและสามารถส่งเงินกลับบ้านได้ ทั้งนี้ นโยบายนี้จะส่งผลเสียต่อนายจ้าง ทำให้ต้องมีนโยบายผลิตภาพแห่งชาติ ซึ่งจะพัฒนาทักษะของแรงงานให้ดีขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุนของนายจ้าง ซึ่งทั้งสองนโยบายนี้จะทำให้ค่าจ้างเป็นห่วงโซ่หลักของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของไทย   


 


ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง นโยบายสาธารณะว่าด้วยการกินดี อยู่ดี มีสุขและมีสิทธิของกลุ่มแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ว่า การจะพัฒนาสวัสดิการแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รัฐต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนาประเทศเสียใหม่ เนื่องจากเดิมรัฐไปเน้นที่ระบบเศรษฐกิจมากกว่าคุณภาพชีวิตของคน การพัฒนาสวัสดิการจึงน้อย ดังนั้น ต้องเปลี่ยนมาเน้นที่คุณภาพชีวิต


 


โดยรัฐต้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ป่า เพื่อให้คนจน เกษตรกร และแรงงานนำไปใช้ได้ ทั้งนี้ ควรส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม โดยให้คนในชุมชนได้อนุรักษ์ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นได้ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 46


 


นอกจากนี้ รัฐต้องส่งเสริมศักยภาพในการสร้างสวัสดิการของแรงงาน โดยส่งเสริมระบบสหภาพแรงงาน ของลูกจ้างทั้งในและนอกระบบ เพื่อให้ลูกจ้างสามารถต่อรองเรื่องสวัสดิการได้ พัฒนาระบบค่าจ้างขั้นต่ำ  โดยในนิยามของสากล ค่าจ้างขั้นต่ำนอกจากจะทำให้ลูกจ้างเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ต้องมีเงินเหลือเก็บด้วย  


 


และควรให้แรงงานมีส่วนร่วมตรวจสอบ บริหารจัดการระบบสวัสดิการของตนเอง ปัจจุบันกองทุนประกันสังคม ทั้งรัฐ นายจ้างและลูกจ้าง ต่างต้องจ่ายเงินสมทบ แต่รัฐกลับมีสิทธิตัดสินใจฝ่ายเดียว โดยนายจ้างและลูกจ้างไม่ได้รับรู้ ตัดสินใจและตรวจสอบการบริหารกองทุนเลย ในขณะเดียวกัน จะเห็นว่า แม้รัฐจะจัดให้มีสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ตามที่ได้มีการเรียกร้องมาตั้งแต่กรณีโรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์แล้ว แต่ก็ยังไม่ตรงกับหลักการที่ลูกจ้างเรียกร้อง


 


ด้านระกาวิน ลีชนะวานิชพันธ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการเศรษฐกิจนอกระบบ ความยากจน และการจ้างงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO: International Labor Organization) ประจำประเทศไทย แสดงความเห็นว่า สหภาพแรงงานตามกฎหมายไทยนั้นมีความหมายแคบ โดยแรงงานนอกระบบไม่สามารถมีสหภาพได้ เนื่องจากไม่มีนายจ้าง ด้านข้าราชการก็ตั้งสหภาพไม่ได้ ขณะที่ต่างประเทศทุกๆ ภาคส่วนสามารถตั้งสหภาพได้


 


ระกาวิน ได้ยกตัวอย่าง แผงลอยในอัฟริกาใต้ว่า พ่อค้าแม่ค้าได้รวมตัวกันตั้งเป็นสหภาพเพื่อต่อรองกับเทศบาลให้จัดบริการสาธารณสุข เช่น ห้องน้ำ ให้ แสดงให้เห็นว่า สหภาพไม่จำเป็นต้องพูดถึงแต่เรื่องค่าจ้าง แต่เป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อรองให้แก้ไขปัญหา 


 


ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง นโยบายสาธารณะว่าด้วยการกินดี อยู่ดี มีสุขและมีสิทธิของกลุ่มเกษตรกร ว่า รัฐควรเปลี่ยนรูปแบบกองทุนสวัสดิการให้มีขนาดเล็กลง เป็นระดับท้องถิ่น โดยแต่ละท้องถิ่นมีรูปแบบกองทุนเฉพาะของตัวเอง เนื่องจากชาวบ้านในชุมชนมีการจัดสวัสดิการ เช่น การจัดกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มฌาปนกิจ กันเองอยู่แล้ว ในรูปแบบแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ขณะที่กองทุนที่รัฐจัดให้นั้นมีขนาดใหญ่เกินไป ทั้งยังเป็นนโยบายที่มาจากส่วนกลาง ทำให้คนในชุมชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของกองทุน


 


ศิริพร ยอดกมลศาสตร์ โครงการการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวในการนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง นโยบายสาธารณะว่าด้วยการกินดี อยู่ดี มีสุขและมีสิทธิของกลุ่มประชากรด้อยโอกาสที่ประสบความยากลำบากทางสังคม ว่า กลุ่มคนด้อยโอกาส อันได้แก่ กลุ่มคนที่ขาดสิทธิ ขาดโอกาสทางสังคม และหรือมีมลทินประทับ เช่น คนพิการ ผู้เคยต้องขัง กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ติดเชื้อ ในระยะสั้น ควรได้รับการดูแลจากรัฐ ส่วนในระยะยาวรัฐควรส่งเสริมให้คนกลุ่มนี้ผนวกเข้ากับสังคมให้ได้


 


โดยศิริพรได้ยกตัวอย่างรัฐมินิโซต้า ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรัฐที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในสหรัฐฯ ว่า ในรัฐนี้ ใช้งบด้านคุณภาพชีวิตถึง 60% โดยใช้อุดหนุนภาคชุมชน สร้างสวัสดิการให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชน เน้นให้คนในชุมชนดูแลกันเอง ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้งบไปกับการสร้างสถานเลี้ยงเด็กหรือสถานสงเคราะห์ ซึ่งนอกจากจะมีผลทางจิตใจในด้านลบต่อผู้ที่เข้าไปอยู่แล้วยังมีค่าใช้จ่ายสูงด้วย


 


การจัดสวัสดิการสำหรับกลุ่มคนด้อยโอกาสยังมีน้อย จะสังเกตว่า หากก่อนหน้านี้ไม่มีการเรียกร้อง รถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟใต้ดินก็จะไม่มีลิฟท์อำนวยความสะดวก ทั้งนี้ หากรัฐจะอุดหนุนจัดสวัสดิการให้คนกลุ่มนี้ต้องมากกว่าปกติ การพัฒนาที่กลไกของรัฐให้เขาช่วยตัวเองได้ มีผลดีในระยะยาวดีกว่าการลงไปช่วยที่ตัวเขาโดยตรงซึ่งเป็นการทอนความเป็นมนุษย์ของเขา ทั้งยังประหยัดกว่าด้วย ศิริพร กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net