Skip to main content
sharethis




 


 


หลังจากคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ทำงานมากว่า 15 เดือน จนตกผลึกมาเป็นรายงานที่ชื่อ "เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์" เป็นมรดกสุดท้ายก่อนประกาศยุติบทบาทไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549


 


ถึงวันนี้เสียงพูดถึงรายงานดังกล่าวยังมีค่อนข้างน้อย เสมือนกับว่าถูกนำไปวางไว้ "บนหิ้ง" เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่เรื่องสถานการณ์ในภาคใต้เป็นเรื่องที่สำคัญและอ่อนไหว รายงานของ กอส. เองก็เป็นสิ่งที่ผ่านการทำงานและกลั่นกรองมาจากคณะบุคคล 50 คน ที่มีความหลากหลายที่สุดตั้งแต่เคยมีการศึกษาเรื่องราวใน 3 จังหวัดภาคใต้


 


ดังนั้น รายงานดังกล่าวจึงควรจะถูกนำมาวิเคราะห์ถกเถียงอย่างกว้างขวางเพื่อนำสันติในภาคใต้กลับคืนมาให้เร็วและยั่งยืนที่สุด


 


"ประชาไท" ขอเริ่มวิพากษ์ผ่านการวิเคราะห์คมๆ ของ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักการสื่อสารมวลชนจากค่ายเนชั่น ที่คลุกคลีกับปัญหาภาคใต้มานานนับสิบปีจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อย่างยากที่จะหาได้ และคงคมพอที่จะกรีดให้ กอส. และสังคมไทยต้องรู้สึกแสบๆ คันกับปัญหาภาคใต้จนอยากช่วยหายามาใส่แผลกันเสียที


 


0 0 0


 


ข้อเสนอที่ไปไม่สุดฝัน


โดยรวมแล้วสิ่งที่คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เสนอต่อสังคมไทยเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้นั้นถูกเรื่อง เพียงแต่มันน้อยไป ส่วนที่ถูกเรื่องคือระบุปัญหาได้เข้ากับสถานการณ์ พูดถึงเรื่องความแตกต่างและอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ว่าเป็นต้นตอของปัญหา เพียงแต่เมื่อถึงขั้นตอนข้อเสนอ กลับไม่เพียงพอกับปัญหาที่เป็นอยู่จริง


 


สิ่งที่ควรจะเป็นโครงสร้างอุดมคติสูงสุดอย่างที่พึงจะมีในสามจังหวัดภาคใต้คือ ควรจะพูดถึงลักษณะทางปกครอง ทำไม กอส. ไม่เสนอในลักษณะ "เขตปกครองพิเศษ" หรือเขตปกครองแบบอื่นที่ตอบปัญหาในเชิงประวัติศาสตร์ ภาษา และอัตลักษณ์ของคนมลายูมุสลิม


 


กอส.เสนอเพียงการตั้ง ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.) ซึ่งเป็นสิ่งที่คล้ายๆ กับเป็นการรื้อฟื้น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ในที่สุดแล้วก็คือ ศูนย์รวมข้าราชการ  ทั้งๆ ที่โครงสร้าง ศยส. ต้องมีผู้อำนวยการระดับสูงที่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง หรือเทียบเท่าตำแหน่งรัฐมนตรี การที่ ศยส.ที่เป็นเพียงการฟื้น ศอ.บต.จึงไม่เป็นสภาพสมกับฐานะและลักษณะพิเศษของภาคใต้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย


 


นอกจากนี้ ศยส.ยังให้มีตัวแทนคนพื้นที่แค่ 1 ใน 3 ทั้งที่คนในท้องถิ่นควรต้องมากกว่านี้ เพราะเป็นปัญหาของเขา การมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นถือว่าเป็นหัวใจของปัญหาที่เกิดขึ้น


 


ข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิในการแบ่งปันอำนาจนั้น กอส.เอาไปซ่อนไว้ในส่วนอื่น เช่น สภาที่ปรึกษา สภาพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เป็น 1 ใน 3 สิ่งที่ กอส.เสนอ โดยพูดถึงการใช้งบประมาณด้วยตนเอง แต่ตรงนี้ยังไม่พอเช่นกัน เพราะการเอาไปซ่อนก็เหมือนกับการกลัวมายาคติเรื่องการแบ่งแยกดินแดนที่มีอยู่อย่างชุกชุมในสังคมไทย คือกลัวจะถูกคัดค้านโดยพวกอนุรักษ์นิยม


 


"อาจจะจริงที่คนจำนวนมาก จะเกิดอาการฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดในข้อเสนอของ กอส.และวิจารณ์อย่างไร้เหตุผล ทำให้น่ากลัวมากว่าข้อเสนอจะถูกโยนทิ้งตั้งแต่ต้น แต่จำเป็นที่ควรจะต้องใส่ทุกสิ่งทุกอย่างไว้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพราะรัฐบาลทักษิณอาจจะทำไม่ได้ แต่ถ้ามองพุ่งไปให้ไกล ข้างหน้า บางทีสักวันในอนาคตคงมีใครอยากจะไปให้ถึง


 


"เข้าใจว่า กอส.พยายามจะประนีประนอม แต่คิดว่าเวลาเสนอรายงาน กอส.ไม่ได้คิดถึงรัฐบาลทักษิณ คงคิดถึงสังคมไทยโดยรวม รัฐบาลทักษิณอาจจะอยู่ไม่นาน สมมติว่าประชาชนไทยไล่แล้วไปจริง ดังนั้นอาจจะกลายเป็นรัฐบาลอื่นทำตามสิ่งที่เสนอ ดังนั้นทำไม กอส. ไม่เสนอให้มันสุดๆ ไปเลย" สุภลักษณ์กล่าว


 


สิ่งที่เรียกว่า "เขตปกครองพิเศษ" ในภาคใต้ ไม่มี กอส. คนใดปฏิเสธว่าไม่จำเป็นต้องมี ตรงกันข้ามหลายคนคิดว่ามีความจำเป็นในการทดลองหาสิ่งที่เรียกว่า เขตปกครองพิเศษ หรือ การปกครองตัวเอง หรือการอยู่ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นของประชาชนในภาคใต้ มากกว่าการทำแค่ฟื้นฟู ศอ.บต. ในชื่อใหม่


 


เพราะแม้แต่ ศอ.บต.ในอดีต ก็มีปัญหาในตัวเอง การมีอยู่ของ ศอ.บต.ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดความรุนแรง เนื่องจากปัจจุบันมีสภาพปัญหาหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยเฉพาะเงื่อนไขของโลกมุสลิมที่เปลี่ยนไปค่อนข้างมากหลังจากเหตุการณ์ "11 กันยายน"


 


กอส. ตรวจโรคแต่ไม่หา "เชื้อ"


วิธีการมองปัญหาของ กอส.เป็นวิธีที่นักสันติวิธีนิยมใช้ คือทำเหมือนกับการดูโรค วิเคราะห์โรค และวิธีรักษา แต่ในสาระสำคัญของการวินิจฉัยโรค เรื่อง "หน้าตาของพวกก่อการ" กอส.กลับให้ความสำคัญน้อยโดยมองผ่านเลยการมีอยู่อย่างมีนัยยะสำคัญต่อสถานการณ์ปัจจุบัน


 


กอส.ไม่ทำความรู้จักกับพวกนี้อย่างเพียงพอ ไม่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นผู้ต้องหาในคดีสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุการณ์รุนแรงที่ถูกจับได้ซึ่งมีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในเหตุการณ์ "กรือเซะ" หรือกรณี "ตากใบ" กอส.ไม่เข้าไปทำวิจัยว่า คนพวกนี้คิดอย่างไร มีหน้าตาความเป็นอยู่อย่างไร มีองค์กรหรือไม่ เซลล์ปฏิบัติการเป็นอย่างไร


 


"เขาพูดทำนองทึกทักเอาว่า ปัญหาทั้งหมดในภาคใต้มีสิ่งเหล่านี้อยู่ก็จริง แต่มีอยู่ไม่มาก ปัญหาเป็นเพราะเงื่อนไขของสังคมมากกว่าจะเป็นการขับดันโดยบริสุทธิ์ของคนเหล่านี้ ผมก็เชื่อเช่นนั้น แต่การไม่พูดถึงเลยทำให้ กอส. มีปัญหาในการคลำข้อเสนอในเวลาต่อมา"


 


ข้อเสนอที่ กอส.หลงทางในความหมายของ "สุภลักษณ์" ก็คือ "การสานเสวนา" หรือการสนทนากับผู้ก่อการ แต่เนื่องจาก กอส.ไม่ได้ทำความรู้จักกลุ่มเหล่านี้เลย ข้อเสนอดังกล่าวจึงอาจเป็นหมันไปตั้งแต่ต้น เพราะไม่รู้ว่าต้องคุยกับใคร


 


ในทางตรงข้าม กอส.พูดถึงคนเหล่านี้ในทำนองว่าเป็นพวกก่อความรุนแรง ทำผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นพวกก่ออาชญากรรม และเมื่อผลักให้ไปอยู่แดนอาชญากรรมแล้ว นัยยะก็คือ ไม่ต้องเสวนากัน


 


ความจริงแล้ว ประเด็นหน้าตาของผู้ก่อการ กอส.ไม่ได้มองข้ามไปเสียเลยทีเดียว ในรายงานของ กอส.บางบทพูดถึงความพยายามที่จะเข้าถึงเหมือนกัน แต่ขาดข้อมูลที่ดี เพราะเป็นการเอารายงานของหน่วยข่าวกรองตำรวจมาตัดต่อกัน ซึ่งรายงานพวกนี้ส่วนมากทึกทักหรือเขียนจากไฟล์เก่าๆ แล้วยัดตัวละครใหม่ๆ ลงไปเท่านั้น จึงยากที่จะบอกว่าได้ว่าใครเป็นคนทำ


 


ดังนั้น สิ่งที่ กอส.ควรทำกลายเป็นไม่ได้ทำ โดยเฉพาะการคุยกับคนที่มองเห็นตัวอยู่แล้วซึ่งถูกจับ กอส.กลับปล่อยให้ติดคุกไปเฉยๆ


 


เหตุที่ กอส.ไม่เสียเวลากับเรื่องตรงนี้คงเป็นเพราะคิดว่า ถ้าไม่มีสภาพแวดล้อมอื่นๆ ผู้ก่อการก็จะตายไปเอง ทว่าข้อถกเถียงตรงนี้อาจจะมีอยู่ เพราะการก่อตัวของกลุ่มที่สร้างความรุนแรงในภาคใต้มีมาแล้วระยะหนึ่งแต่อาจไม่มีใครสังเกต การปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม ไม่ใช่ครั้งแรก แต่อาจจะเป็นครั้งท้ายๆ ก่อนหน้านั้นมีการปล้นปืนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ค่ายบางลาง หรือมีการวางระเบิดรถไฟที่สถานีหาดใหญ่ เหตุการณ์แบบนี้มีตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน


 


เพียงแต่รัฐบาลชวนมีรีแอคต่างออกไป สภาพปัญหาจึงต่างกัน ดังนั้นสภาพแวดล้อมจึงไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด ต้องยอมรับว่าการปฏิบัติการมีอยู่และเป็นแรงขับดันที่มากพอสมควร กอส.กลับไม่รู้เลยว่า กลุ่มนักสู้ในรุ่นนี้อาศัยมูลเชื้ออะไร มีหน้าตาต่างจากรุ่นพวก "พูโล" หรือ "บีอาร์เอ็น" ที่เป็นรุ่นก่อนอย่างไร


 


เมื่อ กอส.ไม่ได้ทำความรู้จักกับพวกนี้ สิ่งที่ตามมาคือ เจ้าหน้าที่รัฐมีแนวโน้มที่จะใช้การจัดการแบบเก่าๆของเขา โดยมองว่าพวกนี้เป็นพวกแบ่งแยกดินแดน เป็นพวกโจร ก็ไปจัดการเลยด้วยการจับหรือฆ่าทิ้ง


 


การ "อภัย" ที่เป็นหมัน


ในรายงาน กอส. มีการเสนอหลักของการสมานฉันท์ 9 ข้อ ข้อหนึ่งที่สำคัญคือ "การให้อภัย" แต่การผลักกลุ่มก่อการไปอยู่ในแดนของสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้เสียแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ "การให้อภัย" เป็นหมันตั้งแต่ต้น


 


กอส.ไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนในเรื่อง "การให้อภัย" เพราะไม่มีการพูดถึงการนิรโทษกรรมในทุกกรณี เพราะกรรมการบางคนใน กอส. โต้แย้งว่า ผู้ต้องหาในเหตุการณ์ตากใบ ไม่อยากได้การนิรโทษกรรม เพราะต้องการพิสูจน์ความจริงว่า ไม่ได้ทำผิดและต้องการขึ้นศาล


 


แต่สุภลักษณ์มองว่า ในกลุ่มอื่นๆ ที่มีคดี อาจต้องการการให้อภัย เพียงแต่ยังไม่ได้ดูว่ามีความต้องการหรือไม่ จึงค่อนข้างจะไม่แฟร์ที่ยกกรณีตากใบกรณีเดียวมาอ้างและล้มการนิรโทษกรรมทั้งหมดไป ดังนั้นแม้มีข้อเสนอ "การให้อภัย" ก็ตาม แต่ก็ไม่มีข้อปฏิบัติที่เป็นจริงมาสอดรับ


 


ความจริงอำพรางที่ กอส.ไม่กล้าเปิด


15 เดือนในการทำงานของ กอส. มีการเปิดเผยรายงานความจริงในพื้นที่แค่ 2 ชิ้น ได้แก่ ผลการสอบสวนกรณีกรือเซะและตากใบ แต่ที่ไม่เคยเปิดเผยออกมาก็คือ ความจริงที่เกิดขึ้นที่อำเภอสะบ้าย้อย หรือกรณีคนหาย


 


ทั้งนี้ กระบวนการสร้างความไว้วางใจเป็นอีกข้อหนึ่งที่สำคัญของการสมานฉันท์ ปัจจุบันความไว้วางใจในภาคใต้มันเหลืออยู่น้อยมาก กรณี "ตันหยงลิมอ" กรณี "ครูจูหลิง" คือการบอกว่า ไม่มีความไว้วางใจเหลืออยู่ การที่ชาวบ้านจับครูสองคนมาอยู่ในการดูแลของตัวเอง แล้วเจ้าหน้าที่รัฐไม่กล้าเข้าไปช่วย ทำให้เห็นอย่างหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ไม่กล้า การไม่กล้าหมายถึงว่าไม่รู้จักคนที่จะไปคุยด้วยตั้งแต่แรก


 


15 เดือนของ กอส. ไม่ได้ทำให้เกิดกระบวนการสร้างความไว้วางใจ ตรงกันข้ามกลับมีความร้าวฉานเกิดขึ้น ตั้งแต่ขั้นต้นเรื่องคนที่เข้ามานั่งใน กอส. ด้วยซ้ำ เช่นพระในปัตตานีที่ตั้งคำถามว่า ทำไมจึงให้พระไพศาล วิสาโล ซึ่งเป็นพระนอกพื้นที่ และเป้นพระในธรรมยุตินิกายมาเป็นคณะกรรมการ ในขณะที่พระในปัตตานีเป็นพระในมหานิกาย ตรงนี้เป็นปัญหามาตั้งแต่ต้น แต่ กอส.รู้ปัญหานี้ในช่วงท้ายๆ ทำให้ไม่ทันสำหรับการปูพื้นฐานที่จะสร้างกระบวนการสมานฉันท์


 


สายสัมพันธ์ของประชาชนกับประชาชน และ ประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในระยะสองปีที่ผ่านมา มันก็พังไปหมด จึงต้องค่อยๆ สร้างใหม่ แต่ กอส. ไม่ได้พูดให้ชัดเจนว่า กระบวนการในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจะเริ่มตรงไหน


 


กอส.วางน้ำหนักของกระบวนการสมานฉันท์ไว้ที่สันติวิธีมาก แต่การสมานฉันท์ในโลกนี้ การหาความจริงกับการสมานฉันท์ เป็นสิ่งที่ต้องทำคู่กัน ในตัวอย่างของอาฟริกา เขาใช้คำว่า คณะกรรมการแสวงหาความจริงและสมานฉันท์ การหาความจริงในพื้นที่ต้องถูกไฮไลท์ใหญ่กว่านี้


 


กอส.ต้องชัดเจนว่า ต้องการจะเผชิญความจริงอย่างตรงไปตรงมา การเปิดเผยรายงานสองชิ้นคงยังไม่พอเพราะยังมีความจริงอีกมากในภาคใต้ที่ยังไม่ถูกเปิดเผย เพราะมีคนจำนวนมากอมพะนำมันไว้


 


โดยทั่วไป การแสวงหาความจริงและกระบวนการสมานฉันท์ มักจะออกมาหลังจากเหตุการณ์ขัดแย้งจบแล้ว  แต่ในกรณีภาคใต้คงไม่ต้องรอให้ถึงขนาดนั้น เพราะพิสูจน์แล้วว่าไม่ต้องรอ ในกรณีของกรือเซะและตากใบ ซึ่งเป็นคีย์ของปัญหาเกือบทั้งหมด เพราะความจริงเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับความยุติธรรมด้วย ถ้าหาความจริงไม่ได้ ก็หาความยุติธรรมให้ใครไม่ได้


 


ในกรณีคนตายรายวัน ตำรวจบอกไม่ได้เลยว่าใครเป็นคนกระทำ เมื่อความสามารถของรัฐต่ำขนาดนี้แล้วไปจับใครมาโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าคนที่หายกับคนที่ถูกจับเชื่อมโยงกัน หลายกรณีคนที่ถูกจับถูกปล่อยไปด้วยเรื่องง่ายๆ เช่น การไม่มีพยานหลักฐาน กลายเป็นการสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่หาหลักฐานไม่ได้ หรือไม่มีความพยายามที่จะหา หรือไม่มีความสามารถที่จะหา ทำให้ความเชื่อมั่นในการตอบความจริงในภาคใต้ไม่เกิดขึ้น ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมก็หายไปด้วย ดังนั้นพอเข้าไปจับใครในหมู่บ้าน เขาก็จะล้อมเจ้าหน้าที่ไว้


 


"กระบวนการที่น่าละอายมาก คือการไปเอาคนมารายงานตัวแล้วจับเข้าโรงเรียนดัดสันดาน เป็นกระบวนการสร้างความแตกแยก หรือเป็นการทำลายโครงสร้างสังคมมุสลิมมลายูในภาคใต้อย่างรุนแรงมาก ทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจกันและฆ่าคนโดยไม่ใช้กระสุนเลย


 


"คนที่กลับไป ไม่ว่าจะเป็นคนอะไรแบบไหนก็ตาม คนในหมู่บ้านจะมองว่าเขาเป็นสายให้ทางราชการ สมมติว่าเขาเป็นตัวจริง ขบวนการของเขาจะมาจัดการเอง วิธีการนี้เลวมากในทรรศนะของผม จับมาเข้าแถวร้องเพลงชาติ ร้องเพลงช้าง แล้วก็ปล่อยกลับบ้านด้วยเสื้อสักตัวที่มีธงไทยที่แสดงว่ารักชาติ แต่กลับไป คนในหมู่บ้านจะมองด้วยสายตาว่าประหลาด"


 


รายงานของ รศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ก็ชี้ไปที่จุดสังเกตว่าหลังๆ คนมุสลิมตายมากกว่าคนพุทธ อาจเป็นเพราะมีการฆ่าเนื่องจากความระแวงกัน มีหลายกรณีที่กลับไปหลังถูกจับแล้วไม่มีชีวิตรอด ถามว่ารัฐรู้หรือไม่ คิดว่าเป็นการจงใจ แต่ กอส.ไม่ได้พูดในปัญหาเหล่านี้อย่างถึงรากถึงโคน


 


หรือแม้แต่สิ่งที่ประธาน กอส.เคยประณามหยามเหยียดมาก อย่างพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเรียกมันว่าเป็น "ใบอนุญาตฆ่า" ในรายงานของ กอส. กลับไม่ได้เสนอเลยว่า ให้เลิก ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ไม่จำเป็น มันมีกฎหมายอย่างอื่นใช้ได้มากมาย แต่กลับบอกเพียงให้ใช้อย่างระมัดระวัง เป็นการประนีประนอมกับสิ่งที่เป็นอยู่ ดังนั้นรายงานของ กอส.ทั้งหมด จึงเป็นรายงานที่มาจากการประนีประนอมและผลักไปไม่สุด


 


รายงาน กอส. เรื่องของ "คนถอดใจ" ?


หากมองว่ารายงานของ กอส. สะท้อนอาการถอดใจกับปัญหาต่างๆ ที่ล้วนทิ่มแทงเข้ามาโดยตรง สุภลักษณ์มองว่า นายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส.อาจจะมีอาการนี้ให้เห็น แต่คนอื่นๆ อาจจะไม่ใช่ เพราะเนื้อหาของรายงาน ไม่ได้สะท้อนสภาพถอดใจที่มากมายนัก แต่การยื่นรายงานในสถานการณ์ปัจจุบัน คืออาการถอดใจ


 


เพราะความตั้งใจเดิมของ กอส.คือ รอรัฐบาลใหม่ก่อนแล้วค่อยเสนอรายงาน แต่เนื่องจากสถานการณ์ดูจะยืดเยื้อออกไปอีก โดยไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะมาเมื่อไหร่ ถ้า กอส.รักษาสภาพไว้และสร้างกระบวนการในการทำงานมากขึ้นกว่านี้จนกว่าจะถึงตอนนั้นจะเป็นการดี


 


ทั้งนี้เพราะในระหว่างทาง กอส. ยังทำงานน้อยไป โดยเฉพาะในการทำความเข้าใจให้กับสังคมไทยเรื่องปัญหาภาคใต้


 


"หากดูคนที่มาโพสต์ไว้ตามเว็บไซต์ คนเหล่านี้ไม่มีความเข้าใจอะไรเลยในปัญหา ซึ่งเป็นจุดใหญ่ในสังคมไทย สิ่งที่สื่อพูด นักวิชาการพูด นักสันติวิธีพูด หรือที่ กอส.พูด ไม่เข้าหูคนในสังคมไทยเลย อยากจะฆ่าแขกกันท่าเดียว


 


"คิดแต่ว่า การทำอะไรก็ตามเป็นการตามใจแขกไปหมด มองว่ามันจะแบ่งแยกดินแดนไปแล้ว ผมว่ามันเป็นทัศนะที่ไม่เรียนรู้อะไรเลยในช่วงที่ผ่านมา และ กอส. ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก ท่านประธานใช้ท่าทีที่เย่อหยิ่ง เพื่อให้คนต้องมาเข้าใจตัวเอง มันต้องทำงานมากกว่านี้สำหรับสังคม ควรมีกิจกรรมต่างๆ เช่น  public hearing หรือกระบวนการรับฟังสื่อสารทั่วประเทศที่ใหญ่หรือยาวนานกว่านี้ ก่อนที่จะสรุปและส่ง 


 


"กลายเป็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ มีสิ่งที่น่ารังเกียจขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งคือ กอส.เอง คนเกลียดสถานการณ์ทางภาคใต้อยู่แล้ว พอ กอส.เข้ามา ก็เกลียดขึ้นมาก  กอส.พูดว่า เราต้องอาศัยความอดทนมากกว่านี้ในการทำงานกับส่วนที่เหลือของประเทศ แต่น่าเสียดายที่ยังทำไม่พอ  กับสื่อมวลชนก็ยังไม่ได้ทำ ศูนย์อิศราฯ ก็ไม่มีพลังพอจะชี้นำกระแสสังคม"


 


"สันติเสนา" ที่ยังต้องลุ้นท่าทีของกองทัพ


ข้อเสนอของ กอส. ที่ให้มีการจัดตั้งกองกำลังไม่ติดอาวุธ หรือ "สันติเสนา" เพื่อจัดการกับปัญหาบางกรณีที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่คล้ายกับเหตุการณ์ที่ตันหยงลิมอ หรือที่เกิดขึ้นกับครูจูหลิงนั้น เมื่อเสนอไปในขั้นต้น ดูเหมือนว่าท่าทีของทางกองทัพจะต้อนรับ แต่ยังต้องประเมินกันต่อไปว่า จะนำไปปฏิบัติจริงแค่ไหน


 


เนื่องจากกองทัพชินกับ "ปฏิบัติการจิตวิทยา" ตามโครงสร้างและวิธีคิดแบบเดิม แต่การสร้างหน่วยสันติเสนา ต้องคิดนอกกรอบ เช่น หาคนที่ไม่มีอะไรเจือปนกับกองทัพ หรือถ้าเกี่ยวกับกองทัพ ก็ต้องเป็นคนที่รู้ทางศาสนา เข้าใจจิตวิทยาชาวบ้าน มีความสามารถในการเจรจา แต่ตอนนี้ยังไม่มีการฝึกคนแบบนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาจากเหตุการณ์ตันหยงลิมอที่เกิดเหตุตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2548 มาจนถึงกรณีครูจูหลิง ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอที่จะเตรียมคนมาทำหน้าที่นี้ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำ จนเกิดเหตุขึ้นอีกครั้ง


 


"เรื่องครูจูหลิงนั้น ใช้เวลาตั้ง 2 ชั่วโมงกว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปถึง โดยอ้างเหตุเรื่องเรือใบซึ่งตลกมาก ตะปูอันเล็กๆ กับอุปกรณ์ทางทหาร ที่อย่าว่าแต่ตะปูเลย กับระเบิดก็ยังฝ่าไปได้ อ้างเรื่องนี้มันไม่เมคเซนส์ เฮลิคอปเตอร์ก็จอดอยู่ที่ อ.ระแงะตั้ง 4-5 ลำ ทำไมไม่ใช้ ที่ไม่ใช้เพราะไม่รู้จะใช้อย่างไร ไม่รู้ว่าคนที่จะโรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ ควรเป็นคนเยี่ยงใด เอาทหารถือปืนไป เขาก็ซัดเละ"


 


สังคมไทยที่ต้องนับหนึ่ง


จากกรณีครูจูหลิง เมื่อพิจารณาปฏิกิริยาของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อเหตุการณ์ นับว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะเท่ากับว่าต้องนับหนึ่งใหม่ และผลิตวาทกรรมชุดเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่ยอมเข้าใจกันเลยว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร


 


"ขอทึกทักเอาว่าชาวบ้านคงมีเครื่องมือเดียวในการต่อรอง นั่นคือการจับชาวพุทธ โดยเฉพาะครู เพราะมันครอบคลุมความหมายหลายอย่าง ทั้งความเป็นอื่นและความเป็นรัฐ แต่ที่แย่ก็คือ พอเอาครูเป็นตัวประกันแล้ว ชาวบ้านเองกลับคุ้มครองครูไม่ได้ ในโลกมุสลิม คนที่มาอยู่ในความอารักขาต้องคุ้มครอง แต่เขาทำไม่ได้ ใครก็ไม่รู้แอบมาทำร้ายครู ซึ่งแสดงว่าสังคมของเขาเองมันก็อ่อนแอมากและปกป้องใครไม่ได้ เหมือนตัวเขาเองก็ตกเป็นเหยื่อของกันและกัน เรื่องของครูจูหลิงจึงต้องจบด้วยความเศร้า เพราะสายใยบางอย่างหรือภูมิคุ้มกันขาดไปแล้ว และ กอส. ก็ควรจะมองหามันให้เจอ แต่ก็ไม่"


 


สรุปแล้วสิ่งที่ กอส.ทิ้งไว้เป็นมรดก เหมือนวางทิ้งไว้ส่งๆ เพราะหลายต่อหลายข้อเสนอ ไม่ได้บอกว่าใครต้องเป็นคนทำ แต่ใช้วิธีโยนทั้งหมดใส่หน้าสังคมไทย ทว่าสังคมไทยคงจะเมินหน้าหนี แล้วปล่อยให้ผ่านไป 


 


หลายข้อเสนอก็เป็นการทดลองเสนอมากๆ เช่น เรื่องการใช้ภาษามลายูเป็น "ภาษาทำงาน" ทั้งที่เมื่อมีข้อเสนอก็ควรให้มีการนำร่อง โดยอาจลองทำในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีก่อนก็ได้ เป็นต้นว่า อนุญาตให้ทำข้อสอบเป็นภาษามลายูมุสลิม ในข้อเสนอนั้นควรจะมีบทแนบท้ายแบบนี้


 


อีกเรื่องก็คือระบบกฎหมายเชิงเดี่ยวที่มีปัญหาในการใช้กับภาคใต้ เป็นต้นว่า กฎหมายครอบครัว เพราะคนมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนสำหรับกฎหมายไทยแบ่งมรดกไม่ได้ แต่การมีภรรยามากกว่าหนึ่งไม่ได้เป็นข้อห้ามทางศาสนาอิสลาม ดังนั้นอาจต้องมีการยกเว้นการใช้กฎหมายไทยบางอย่างที่ควรมีพื้นฐานรองรับ เช่น ยอมรับการมีอยู่ของกฎหมายชาริอะห์จริงๆ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้เจรจากันเอง


 


"ถ้าไทยจะทำตรงนี้ รัฐธรรมนูญต้องรองรับ ก็ต้องเลยมาถึงการปฏิรูปการเมือง ถ้ามีก็ต้องใส่ตรงนี้ด้วย คืออาจต้องยอมยกเว้นการใช้กฎหมายครอบครัวกับเฉพาะกลุ่มคน"


 


กอส. ควรพาสังคมไทยไปให้ไกลกว่านี้


กอส.ควรพิจารณาเรื่องการมีส่วนร่วมในพื้นที่อย่างเข้มข้น หรือควรมีข้อเสนอในหลายๆ ทาง เช่นในเรื่องรูปแบบการปกครองเผื่อไว้ เป็นต้นว่าเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" ควรพูดและกล้าใส่ลงไปในรายงาน แต่กลับกลัวกลุ่มอนุรักษ์นิยมจะตีความเข้ากับคำภาษาอังกฤษว่า "ปกครองตนเอง" ที่หมายถึงแยกตัว


 


เดิมที กอส.ตั้งธงไว้ในเรื่องการแบ่งปันอำนาจเยอะมาก แต่คงกลัวจะพ่วงเอาข้อเสนออื่นๆ ลงถังขยะหมดไปด้วย จึงเสนอแนวทางคล้ายการฟื้น ศอ.บต. ซึ่งอาจเป็นข้อเสนอขั้นต่ำสุด อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดว่าเสนอแนวทางขั้นต่ำสุดไว้แล้ว ก็ควรเสนอขั้นสูงสุดไว้ด้วย ไม่ใช่ผลักแล้วไม่ไปไหนเลย


 


กอส.ไม่ได้ให้บทเรียนกับสังคมไทยมากนัก ทั้งๆ ที่น่าจะช็อกสังคมไทยสักครั้ง เพื่อทำให้สังคมไทยฉุกคิด ถ้าจะรอให้มีคนมาระเบิดในกรุงเทพฯ ก่อน คงไม่ไหว กอส.ไม่ได้ล้มเหลว แต่สูญเปล่า เพราะไม่ได้กรีดอะไรลงไปในใจของสังคมไทยสักเท่าไร 


 


ความป็อปปูล่าของคุณอานันท์ ปันยารชุน เองก็ไม่เพียงพอที่จะต้านทานความคิดกระแสหลักในสังคมไทยได้ การที่สังคมไทยฟังรายงาน กอส.แบบขาดๆ วิ่นๆ มันสะท้อนการไม่รับรู้ ไม่ใส่ใจ และการคิดเอาเองของสังคมไทย สิ่งที่ห่วงคือ รายงานของ กอส.จะถูกจับขึ้นหิ้งไปอีกนานเท่านาน


 


ความหวังอยู่ที่ไหน


ในสายตาสุภลักษณ์ต่อสถานการณ์ภาคใต้ ออกจะเป็นไปในแง่ลบมากถึงมากที่สุด เพราะเขามองว่าไม่มีความหวังเลย หรือแทบมองไม่เห็น เพราะแม้กระทั่งคนในท้องถิ่นจะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของตัวเองก็ยังไม่มี ส่วนคนในสังคมส่วนใหญ่ก็ไม่มีจินตนาการเกี่ยวกับ "ปัตตานี" ว่าคืออะไร เกือบไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนด้วยซ้ำ ในจินตนาการมีแต่ความรุนแรง เลยคิดว่ากำจัดไปเสีย เรื่องแบบนี้กลายเป็นสิ่งที่สังคมไทยพอนึกออก 


 


"พอพูดอย่างนี้ก็จะโดนมองว่าไอ้นี่มันฝักใฝ่ หนักไปอีกก็มองว่า ไม่ใช่คนไทย สุดท้ายแล้วจึงขอมองแบบโหดเลยก็คือ มันอาจจะต้องรุนแรงไปเรื่อยๆ ถ้าดอนเมืองไม่โดนระเบิด สังคมไทยก็คงไม่คิด ต้องมีใครเอาระเบิดพันใส่ตัวมาบอมบ์ สังคมไทยมันประนีประนอมทุกอย่าง แล้วมันไม่ได้อะไรซักอย่าง เราไม่กล้าไปให้ถึงแก่นสารของเรื่องที่ควรจะเป็น ก็คงยังต้องฆ่ากันจนเหนื่อยอ่อน สักสิบปี ในเวฟนี้ ตอนนี้ผ่านมาสามปีแล้ว"


 


สุภลักษณ์ วิเคราะห์ว่า เหตุที่ความรุนแรงยังไม่เข้ากรุงเทพ มีปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งความจงใจ สองไม่มีศักยภาพ สาม มองไม่เห็นประโยชน์ คือผู้นำอาจไม่คิดไกลขนาดนั้น เพราะการแบ่งแยกดินแดนหรือการมีประเทศเป็นของตัวเองนั้นต้องการการลงทุน สิ่งที่บีอาร์เอ็น หรือพูโลทำนั้น ไม่สามารถแยกประเทศได้แน่นอน


 


ทุกวันนี้ที่เหตุการณ์ประทุขึ้น เป็นเพราะมีแรงส่งจากการก่อการร้ายสากล ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกัน แต่เขารู้สึกว่าการลุกฮือมันมีพลัง มีคนขับ มีคนตอบสนอง มีปฏิกริยาจากรัฐ


 


อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนของสถานการณ์ของภาคใต้ครั้งนี้ ยังมองไม่เห็น เพราะยังไม่รู้จักหน้าตาของผู้ก่อการ ไม่รู้เงื่อนไขทั้งหมด เวฟความรุนแรงครั้งก่อน รัฐไทยทำการบ้านเยอะและรู้เงื่อนไข มีการไปหา "กัดดาฟี่" ในตะวันออกกลาง หรือไปหาใครต่อใครเพื่อตัดช่องทางขององค์กรก่อการร้าย เมื่อองค์กรเหล่านี้หมดช่องทางในประเทศและอยู่ไม่ได้ ก็หนีไปสวีเดน แต่กลุ่มก่อการรุ่นใหม่นี้ เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว และไม่รู้เงื่อนไข


 


" ข้อความที่เขาต้องการส่งสุดท้าย อาจแค่จะบอกว่า อยู่แบบนี้มันไม่สบาย อยู่แบบที่คุณไม่เข้าใจเรา มันโคตรไม่สบาย มันอึดอัด"


 


บางทีอาจต้องการบอกแค่นี้เอง.... จริงๆ นะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net