คำถามที่ยังรอคำตอบ จากครอบครัว "คนหาย" ชายแดนใต้

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2006

ณรรธราวุธ เมืองสุข, ตูแวดานียา มือรีงิง

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

 

หลังจากยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงคณะกรรมการอิสระเพื่อความอำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอยส.) เรื่องการจัดการแก้ไขปัญหากรณีคนหายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

 

คณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน,มูลนิธิผสานวัฒนธรรม,เครือข่ายเยาวชนเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้,สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย และ นางอังคนา นีละไพจิตร ผู้ได้รับผลกระทบกรณีคนหาย(ทนายสมชาย นีละไพจิตร) จึงได้จัดกิจกรรมให้ญาติผู้สูญหายได้พบปะหารือกับทนายความจากสำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ ณ ศูนย์ประสานงานสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา

 

การนำครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีบุคคลสูญหายมาพบปะและปรึกษาหารือกับทนายความเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและการติดตามความคืบหน้าของคดีเมื่อบ่ายวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา มีครอบครัวของครอบครัวผู้สูญหายมาร่วมทั้งสิ้น 18 ครอบครัว จากทั้งหมด 23 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีภูมิลำเนาจากหลากที่หลายถิ่นใน 3 จังหวัด ทั้งหมดได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนผู้ประสบชะตากรรมเดียวกัน ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน บางคนถึงกับน้ำตาเอ่อซึมเมื่อรับทราบความทุกข์อันหนักหนาสาหัสของเพื่อนจากครอบครัวอื่น ซึ่งประสบกับความทุกข์ยากลำบากกว่าตนหลายเท่าหลังจากผู้นำครอบครัวต้องหายไปอย่างไร้ร่องรอย

 

ส่วนทางด้านคณะทำงานเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้มาให้ความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน โดยทำการสำรวจครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไปในด้านต่างๆ อาทิ ทุนการศึกษาของบุตรผู้สูญหาย เป็นต้น หลังจากนั้นก็เป็นการแบ่งกลุ่มครอบครัวต่างๆพูดคุยให้ข้อมูลกับทนายความ ซึ่งจะนำข้อมูลไปดำเนินการด้านการติดตามความคืบหน้าของคดีต่อไป

 

คณะทนายความในคณะทำงานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ที่มารับเรื่องราวจากครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบประกอบด้วย นายรัษฎา มนูรัษฎา รองประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ และกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ นางบุษบา ฉิมพลิตานนท์ นายอาเจ๊ะ บือราเฮง และนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ จากชมรมนักกฎหมายมุสลิม

 

"เราจะให้คำแนะนำเรื่องกฎหมาย เรื่องการจัดการทรัพย์สินของผู้สูญหายว่าจะทำอย่างไรต่อไป การช่วยเหลือจะสรุปได้เป็น 2 ประเด็น คือ 1.ความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และ 2.ความเดือดร้อนหรือสิ่งที่เขาควรได้รับการชดเชย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของญาติพี่น้อง หรือครอบครัวผู้สูญเสีย เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ ควรจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนที่สุด" รองประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าว

 

ด้าน นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ จากชมรมนักกฎหมายมุสลิม อธิบายว่า "การสูญหายมี 2 กรณี คือ กรณีสงคราม และ กรณีปกติ ในกรณีคนหายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องถือว่าหายไปในกรณีปกติ ไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม แต่ระยะเวลาของกฎหมายระบุว่า ต้อง 5 ปีขึ้นไป นับแต่วันที่ออกจากถิ่นที่อยู่กระทั่งศาลมีคำสั่งว่าสาบสูญ นอกจากนั้นก็มีเรื่องของกฎหมายมรดก ใน มาตรา 48 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ระบุว่าเมื่อคนหายไป 1 ปี ก็สามารถยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งเรื่องการจัดการมรดกได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่เข้าใจ จำเป็นต้องให้คำปรึกษาเพื่อให้เขานำไปจัดการเรื่องของมรดกให้เรียบร้อย"

 

ทนายความจากชมรมนักกฎหมายมุสลิมยังกล่าวอีกว่า "อีกเรื่องคือเรื่องการติดตามผู้สูญหาย วันนี้เราจึงมาขอข้อมูลเพื่อไปติดตามความคืบหน้ากับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป"

 

นอกจากนี้ ยังมีนายนิมุคตาร์ วาบา ว่าที่ส.ว.ปัตตานีและนายต่วนอับดุลเลาะ ดาโอ๊ะมารียอ ว่าที่ส.ว.ยะลาที่ส่งภรรยามารับฟังปัญหาและข้อมูลจากชาวบ้าน ส่วนนายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ ว่าที่ ส.ว.จังหวัดนราธิวาสติดภารกิจไม่สามารถเดินทางมาร่วมรับฟังข้อมูลได้

 

"หลังเปิดสภา จะนำเรื่องเข้าสู่กรรมาธิการยุติธรรม เพราะเรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งไม่ควรมองข้าม ทุกสิ่งทุกอย่างรัฐต้องตอบประชาชนได้ รัฐต้องดูแลและบอกประชาชนได้แม้ว่าเวลาจะผ่านไปยาวนานเพียงใดก็ตาม ส่วนประชาชนก็สามารถทวงถามสิทธิที่พึงจะได้รับจากรัฐ" นายนิมุคตาร์ วาบา ว่าที่ ส.ว.ปัตตานีกล่าวเป็นนัยยะถึงคำสัญญาที่สำคัญกับครอบครัวผู้สูญเสีย

 

เขากล่าวอีกว่า "ประเด็นเรื่องยุติธรรมเป็นเรื่องที่นักการเมืองดูจะไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก จริงๆไม่ใช่เฉพาะเรื่องคนหายใน 3 จังหวัดเท่านั้น แต่ทั่วประเทศก็มีกรณีประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมค่อนข้างมาก ความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังมีอยู่สูง เพราะฉะนั้นจะต้องดูแลให้เป็นวาระพิเศษ เรื่องบุคคลสูญหายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ ผมจะนำไปบอกกล่าวให้ดังทั่วประเทศ คนไทยทุกคนต้องได้รับรู้ และ ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เรื่องที่เป็นความทุกข์อย่างหนักหนาสาหัสของครอบครัวผู้ที่สูญหาย"

 

เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม อดีตนายตำรวจซึ่งเคยปฎิบัติภารกิจอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มายาวนาน ปัจจุบันแม้ลาออกจากราชการแล้วก็ยังทำงานช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เขาให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านเกี่ยวกับกรณีคนหายว่า

 

"ถ้ากรณีคนในครอบครัวถูกจับ จะต้องส่งฟ้องศาลและแจ้งให้กับครอบครัวได้รับทราบ หากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวจะถือว่าเจ้าหน้าที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีความผิดขั้นรุนแรง ตำรวจต้องแจ้งให้เราทราบว่าเขาจับทำไม มีข้อหาอะไร จับไว้ที่ไหน ทุกอย่างต้องให้ครอบครัวเขารับรู้ เพื่อที่จะได้เตรียมการเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหา หรือ ได้ดำเนินการเรื่องการติดต่อทนายความต่อไป บางรายหายไปเป็นอาทิตย์แล้ว เจ้าหน้าที่เพิ่งมาบอกให้ครอบครัวรู้ ชาวบ้านเขาก็ไม่รู้เรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งความจริงสามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ แต่ชาวบ้านไม่ทราบจึงรอดตัวไป"

 

นางอังคนา นีละไพจิตร ผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีบุคคลในครอบครัวสูญหาย คือ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งนับว่าเป็นกรณีที่ทำให้เรื่องคนสูญหายได้รับความสนใจและถูกจับตามองจากสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง นอกจากความเจ็บปวดที่ได้รับจากการถูกพรากสามีไปจากครอบครัว เธอก็มีประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ ในการติดตามความคืบหน้าของคดีหรือการดำเนินการช่วยเหลือครอบครัวของเธอที่ได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตหลังสูญเสียผู้นำครอบครัว แต่ในจำนวนสิ่งที่ได้รับการชดเชย ก็ไม่มีวันจะทดแทนความสูญเสียนั้นได้ เธอจึงเป็นสตรีมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐคนแรก ที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม และให้ลงโทษผู้ที่กระทำผิดให้ถึงที่สุด

 

การนำครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบมาพบปะและให้ข้อมูลกับทนายความครั้งนี้ นางอังคนาจึงเป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญ เธอบอกว่า "ความยุติธรรมเป็นเรื่องใหญ่ ประชาชนทุกคนต้องได้รับความเป็นธรรมเสมอเหมือนกันทุกกรณี ทุกวันนี้เราถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้รักษากฎหมายมามากพอแล้ว"

 

ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบนั้น นางอังคนากล่าวว่า "นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานศูนย์ให้ความช่วยเหลือกรณีคนหาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เคยรับเรื่องและรับปากว่าจะช่วยเหลือ แต่ถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเลย ทุกอย่างเงียบหายไปตามกาลเวลา จึงไม่รู้จะไปหาคนรับผิดชอบได้ที่ไหน ไม่รู้จะไปพึ่งพาใคร พวกเราเจ็บปวดมามากพอแล้วแต่ต้องมาพบกับความไม่จริงใจของรัฐบาลอีก จึงไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งพาใครอีกแล้ว"

 

นี่จึงเป็นอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งของกลุ่มผู้ทำงานเรื่องบุคคลสูญหายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลากหลายเสียงสะท้อนจากชาวบ้านที่มาร่วมพบปะพูดคุยกัน บอกกล่าวคล้ายคลึงกันว่า "เจ็บปวดอยู่เสมอแม้เวลาจะผ่านมานานสักเท่าไหร่ก็ตาม" บางรายคือผู้เป็นพ่อของผู้สูญหาย เมื่อเข้าไปสอบถามความรู้สึก เขาถึงกับหลั่งน้ำตาลูกผู้ชายอย่างไม่อายใคร ก่อนจะบอกว่าเขายังรอคอยการกลับมาของลูกชายผู้เป็นที่รักอยู่เสมอ

 

"หวังว่าวันหนึ่งเขาจะกลับมา ไม่ว่าเงินช่วยเหลือที่จะได้รับมากมายสักเท่าไหร่ ก็ทดแทนชีวิตลูกชายของผมไม่ได้ คนไม่เคยพบกับความสูญเสียอย่างที่ผมได้รับ ไม่มีวันเข้าใจความเจ็บปวดของผมหรอก...."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท